หลังมีกระแส Libra สกุลเงินใหม่ล่าสุดจาก Facebook ล่าสุดกรมสรรพากรเตรียมชงกฎหมาย e-Business นับ Libra อาจเข้าเกณฑ์สินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึง Digital Platfrom ต่างชาติที่ทำรายได้ในประเทศไทยเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี
คุณเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เผยว่า กรณี Facebook ออกสกุลเงินใหม่ Libra ต้องรอการจะการพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรม การกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อตรวจสอบว่า Libra จะเข้าข่ายทรัพย์สินดิจิทัลหรือไม่ เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยมีกฎหมาย พระราชกำหนดการ (พ.ร.ก.) ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 หากเข้าข่ายจริง จะต้องมีการเสียภาษีจากกำไรการค้าขายสกุลเงินหัก ณ ที่จ่ายที่ 15%
"ขณะนี้ประเทศไทยมีกฎหมายเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นสกุลดิจิทัลอะไรที่เกิดขึ้นใหม่ และ ก.ล.ต. พิจารณาว่าเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลก็ต้องเสียภาษีจากกำไร 15%" คุณเอกนิติ กล่าว
คุณเอกนิติ กล่าวเสริมว่า ตอนนี้กรมสรรพากรกำลังเตรียมเสนอกฎหมาย e-Business ต่อรัฐบาลเพื่อจัดการร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ที่มีเนื้อหาในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ในต่างประเทศ กรณีผู้ให้บริการแพลตฟอร์มสามารถทำรายได้ในไทยได้มากกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องมาลงทะเบียนเสียภาษีมูลค่าเพิ่มต่อกรมสรรพากร เนื่องจากสรรพากรจำเป็นต้องปรับตัวให้ทันกับยุคดิจิทัล เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ประกอบการชาวไทย
ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว แต่กำลังรอการยืนยันจากรัฐบาลใหม่ จากนั้นจะสามารถส่งให้คณะรัฐมนตรี เห็นชอบเพื่อส่งเรื่องต่อให้สภาผู้เแทนราษฎรพิจารณาเป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป
คุณรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. เผยว่าเนื่องจาก Libra ยังไม่มีการแจ้งขอต่อ ก.ล.ต. ในการเป็นตัวแทนการซื้อขายแลกเปลี่ยนสกุลเงิน ทำให้ Libra ยังไม่จัดเป็นทรัพย์สินดิจิทัลในไทย และยังไม่สามารถเก็บภาษีได้ นอกจากนี้ ก.ล.ต. ได้มีการออกมาแจ้งเตือนการถูกหลอกลวงผ่านสกุลลเงินดิจิทัลที่ ก.ล.ต. ยังไม่ได้ทำการรับรองอีกด้วย
อ้างอิงข้อมูล: โพสต์ทูเดย์
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด