แสนสิริ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของไทย จับมือกับ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) บริษัทในเครือบางจาก ร่วมกันนำร่องโครงการซื้อขายไฟฟ้าแบบ Peer-to-Peer ด้วยเทคโนโลยี Blockchain ในโครงการ T77 ย่านสุขุมวิท 77 ด้วยงบลงทุน 50 ล้านบาท พร้อมแผนขยายไปยังโครงการของแสนสิริอีก 20 โครงการภายในปี 2018
โครงการนำร่องดังกล่าวเป็นการใช้เทคโนโลยี Blockchain ในโครงการที่พักอาศัยที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นครั้งแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยโครงการเป็นความร่วมมือภายใต้ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการพลังงานเพื่ออนาคต (Energy Management for the Future) ด้วยการเปลี่ยนจาก Consumer หรือผู้บริโภคเป็น Prosumer ที่ทั้งบริโภค (Consume) และผลิต (Produce) ไปพร้อมกัน
การนำร่องจัดการพลังงานไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยี Blockchain นี้จะช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีกำลังการผลิตพลังงานสะอาดในพื้นที่โครงการ T77 เพื่อใช้กับทั้งที่พักอาศัย ร้านค้า โรงเรียนคิดเป็นสัดส่วน 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดค่าไฟฟ้าให้ผู้อยู่อาศัยในโครงการราว 15 เปอร์เซ็นต์ และลดการใช้คาร์บอนเทียบเท่ากับการปลูกป่าถึง 400 ไร่
ส่วนวิธีผลิตพลังงานสะอาดที่ใช้เป็นพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งในพื้นที่ราว 50 ไร่ในโครงการ ซึ่งติดตั้งอยู่บนหลังคาของอาคารต่างๆ โดยสามารถผลิตไฟฟ้าได้มากถึง 635 กิโลวัตต์ แบ่งเป็น 54 กิโลวัตต์สำหรับ Habito Mall, 413 กิโลวัตต์สำหรับโรงเรียนนานาชาติบางกอกเพรพ (Bangkok Prep International School) และ 168 กิโลวัตต์ สำหรับพาร์ค คอร์ท คอนโดมิเนียม (Park Court Condominium) รวมถึงโรงพยาบาลฟันที่เข้าร่วมเป็นสมาชิก โดยหากมีไฟฟ้าเหลือใช้ ก็จะกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ภายในโครงการ และการเชื่อมโยงกับสายส่งของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ซึ่งเป็นการเตรียมการพร้อมสำหรับขายพลังงานคืนสู่เจ้าของโครงสร้างพื้นฐานในอนาคต
นอกจากโครงการพักอาศัยแล้ว แสนสิริยังนำ Platform จาก Blockchain นี้ไปติดตั้งที่โรงงานผลิตคอนกรีตสำเร็จรูป ซึ่งเป็นภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมรายแรกๆ ที่นำ Platform ดังกล่าวไปใช้งาน
คุณอุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “แสนสิริมุ่งมั่นและให้ความสำคัญกับการสร้างชุมชนที่พักอาศัยอย่างยั่งยืนภายใต้แนวทางที่ชาญฉลาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และประหยัดพลังงาน (Green Sustainable Living) ด้วยการแสวงหาเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง ซึ่งถือได้ว่าเป็นวาระสำคัญในการดำเนินธุรกิจของแสนสิริมาอย่างยาวนาน โดยหนึ่งในเป้าหมายของแสนสิริคือการนำพลังงานทดแทนมาใช้ในทุกโครงการ ภายใต้ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการพลังงานเพื่ออนาคต(Energy management for the future) ประกอบกับในปัจจุบันเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคากำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย เราจึงได้ริเริ่มนำระบบการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ไปติดตั้งในหลาย ๆ โครงการที่กำลังก่อสร้างอยู่ การจับมือกับบีซีพีจีในฐานะพันธมิตรระดับกลยุทธ์ (Strategic Partnership) ในครั้งนี้นับเป็นการผลักดันวาระ Green Sustainable Living ของแสนสิริให้ก้าวล้ำไปอีกระดับ”
คุณบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ในฐานะผู้นำในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิค บีซีพีจีมุ่งมั่นสร้างอนาคตที่ยั่งยืนทางพลังงานร่วมกับพันธมิตรต่างๆ โดยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ชาญฉลาด มาใช้ในการบริหารจัดการไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เริ่มต้นจากโครงการนำร่องแลกเปลี่ยนซื้อขายไฟฟ้าทางอินเตอร์เน็ตที่โครงการที 77 (T77) ร่วมกับแสนสิริ และพาวเวอร์ เล็ดเจอร์ ผู้บุกเบิกแพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนพลังงานทดแทนระดับโลกจากออสเตรเลีย ซึ่งเราคาดว่าจะพร้อมซื้อขายจริงในเดือนกันยายนหลังจากช่วงนำร่อง ถือเป็นก้าวแรกของเราในโครงการที่พักอาศัยของประเทศไทย และเป็นการเปิดใช้แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนซื้อขายพลังงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่งผลให้ลูกบ้านแสนสิริกลายเป็นทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิตไฟฟ้าหรือ Prosumers สามารถซื้อขายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดที่เหลือใช้ผ่านอินเทอร์เน็ตให้แก่ผู้ร่วมโครงการ โดยจะช่วยประหยัดค่าไฟได้ประมาณ 15% ของค่าไฟฟ้าในปัจจุบัน”
การพัฒนา Platform ด้วย Blockchain ช่วยรองรับการแลกเปลี่ยนพลังงานแบบ Peer-to-Peer ที่ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถซื้อขายพลังงานบน Platform ด้วย Token ที่ง่าย รวดเร็ว ปลอดภัย และแม่นยำ ทั้งยังไม่ต้องพึ่งคนกลางทำให้มีราคาถูก ซึ่งระบบ Blockchain ได้รับการพัฒนาโดย Power Ledger
Mr.David Martin, Co-Founder และ Managing Director ของ Power Ledger นักพัฒนา Platform การแลกเปลี่ยนและซื้อขายพลังงานไฟฟ้าในระบบบล็อกเชนเสริมว่า “วิสัยทัศน์ของเรา คือการนำเอาอำนาจในการบริหารจัดการด้านพลังงานมาสู่มือผู้บริโภคทั่วโลก (Democratization of Energy) โดยที่ยังคงไว้ซึ่งคุณค่าของเครือข่ายการกระจายพลังงานที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เรามุ่งมั่นที่จะปฎิรูปอุตสาหกรรมพลังงานโดยนำเอาเทคโนโลยีมาใช้เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคสามารถประหยัดค่าไฟฟ้า จำหน่ายพลังงานเหลือใช้ในราคาที่ดี และใช้พลังงานที่สะอาดมากขึ้น การนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในระบบการแลกเปลี่ยนและซื้อขายพลังงานจะช่วยสร้างแพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนและซื้อขายแบบอัตโนมัติสำหรับทั้งอาคารที่พักอาศัยและอาคารเพื่อการพาณิชย์ในการขายพลังงานที่เหลือใช้ให้กับลูกค้าที่สามารถเลือกได้ในราคาที่พอใจ การร่วมมือกับแสนสิริและบีซีพีจีนับเป็นก้าวแรกของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ส่งเสริมให้เกิดการรวมพลังกันระหว่างผู้บริโภค ชุมชน และผู้ผลิตพลังงานเพื่อร่วมกันสร้างอนาคตที่ยั่งยืนทางด้านพลังงาน”
สำหรับการแลกเปลี่ยนซื้อขายไฟฟ้าระหว่างอาคารนั้น ทุกฝ่ายสามารถเป็นได้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ผ่านการตกลงกันไว้ล่วงหน้าด้วย Smart Contract โดยผู้ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าจะซื้อไฟฟ้าจากผู้ที่ผลิตเหลือใช้ด้วยราคาที่ต่ำที่สุด ส่วนผู้ที่ผลิตได้เกินจากความต้องการก็จะขายให้กับผู้ซื้อที่ให้ราคาสูงที่สุด ทั้งนี้ ในการทำธุรกรรมจะใช้ Sparkz Token ที่ใช้แลกเปลี่ยนไฟซื้อขายในระบบเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับกระบวนการ Cryptocurrency และไม่มีผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนใดๆ
นับเป็นอีกหนึ่งข้อได้เปรียบของแพลตฟอร์มของเราที่สามารถแยกระดับการเข้าถึงและการแลกเปลี่ยนเป็น 2 ขั้นตอน คือระหว่างผู้บริโภคกับ bcpg และระหว่าง bcpg กับ Power Ledger เพื่อปิดความเสี่ยงต่อผู้บริโภคในเรื่อง Cryptocurrency
“เป้าหมายที่สำคัญที่สุดของแสนสิริในการนำเทคโนโลยีระดับโลกในด้านนวัตกรรมพลังงานสะอาดเพื่อการประหยัดพลังงานมานำร่องทดลองใช้ครั้งนี้ไม่ใช่การมุ่งหวังถึงรายได้จากการขายไฟฟ้า แต่เรามุ่งเน้นการสร้างประสบการณ์ในการพักอาศัยที่เหนือชั้นและสร้างชุมชนที่พักอาศัยที่มีความยั่งยืนในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้เรามุ่งหวังให้เป็นกรณีศึกษาถึงความสำเร็จในการใช้ระบบแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าในโครงการที่พักอาศัยหรือภายในชุมชนในระดับมหภาค ที่จะช่วยสนับสนุนการเดินหน้าประเทศไทยสู่ประชาธิปไตยทางพลังงานอย่างเช่นความสำเร็จที่เกิดขึ้นแล้วในหลาย ๆ ประเทศ รวมทั้งการมีส่วนร่วมในการช่วยลดภาระของภาครัฐในการลงทุนสร้างโรงผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น แสนสิริยังคงมุ่งมั่นที่จะสรรหาพันธมิตรเพื่อร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมและนวัตกรรมด้านอสังหาริมทรัพย์เพื่อเดินหน้าสู่การพัฒนาแนวทางการอยู่อาศัยอย่างยั่งยืนต่อไป” คุณอุทัย กล่าวปิดท้าย
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด