SCB 10X เปิดตัว เหมา-เหมา ศูนย์รวมแบรนด์และผู้ผลิตแบบค้าส่งสำหรับแม่ค้าออนไลน์ | Techsauce

SCB 10X เปิดตัว เหมา-เหมา ศูนย์รวมแบรนด์และผู้ผลิตแบบค้าส่งสำหรับแม่ค้าออนไลน์

SCB 10X เดินหน้าพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง ภายใต้แนวคิดเชื่อมั่นใน “คน” ที่มาพร้อมการฟังเสียงความต้องการของ “ลูกค้า” เป็นสำคัญ ล่าสุดเปิดตัว “เหมา-เหมา” แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซช่วยคนขายของออนไลน์สามารถหาสินค้าไปขายในราคาส่งจากผู้ผลิตหรือเจ้าของแบรนด์โดยตรง 

พร้อมช่วยผู้ผลิต แบรนด์ และร้านค้าส่งต่าง ๆ ในการระบายสต็อกและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มคนขายออนไลน์นับล้านคน รองรับรูปแบบขายส่ง ขายผ่านตัวแทนจำหน่าย และขายแบบไม่ต้องสต็อกสินค้า เปิดให้ใช้แพลตฟอร์มได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย หวังหนุนผู้ประกอบการ SMEs ไทยโดยเฉพาะรายย่อยให้พร้อมรับวิถีธุรกิจยุค New Normal นอกจากนี้ “เหมา-เหมา” ยังได้สร้างการรับรู้ผ่านคาแรกเตอร์ “น้องหมู” สัตว์นำโชคที่สื่อถึงความเจริญรุ่งเรือง เปรียบเสมือนการอวยพรให้พ่อค้าแม่ค้า และผู้ผลิต รวมถึงเจ้าของแบรนด์ต่าง ๆ ขายดีมีกำไรง่าย ๆ แบบ หมูๆ

ภายหลังเปิดให้ทดลองใช้งาน 1 เดือนในวงจำกัด พบว่าได้รับการตอบรับจากผู้ผลิตและแบรนด์ชั้นนำมากมาย เช่น ADVICE IT, AMADO, ANELLO, ANITECH, BODUM, BOSSINI, ESPRIT, ETAM, FN OUTLET, JOSEPH JOSEPH, MALEE, RADLEY, ZWILLING และดอยคำ เป็นต้น ตลอดจนร้านค้าส่งรายย่อยต่าง ๆ และมีคนขายลงทะเบียนแล้วหลายพันคน ตั้งเป้ามีจำนวนคนขายออนไลน์กว่า 500,000 คน ที่มาหาสินค้า สร้างอาชีพ สร้างรายได้จากแพลตฟอร์ม “เหมา-เหมา” ภายในสิ้นปี 2563

จาก “ปาร์ตี้หาร” สู่ “เหมา-เหมา” ผลผลิตจากวัฒนธรรมองค์กรที่มุ่งแก้ “Pain Point” ให้กับลูกค้า

คุณกวีวุฒิ เต็มภูวภัทร Head of Venture Builder บริษัท เอสซีบี เท็นเอกซ์ จำกัด เล่าว่า “ทีม “Venture Builder” หรือ “ทีมลงทุนร่วมสร้าง” ให้ความสำคัญกับการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคและผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยกระบวนการทำงานที่คล่องตัวของ SCB 10X ทำให้เราสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ได้อย่างต่อเนื่องและเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับผู้ใช้งาน 

โดยในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาแอปพลิเคชัน “ปาร์ตี้หาร” (PartyHaan) ผลผลิตแรกจากทีม Venture Builder ได้เริ่มเปิดตัวสู่ตลาด โดยเป็นแอปพลิเคชันอันดับหนึ่งในการ “หาคนหารโปรโมชัน”  และเมื่อไม่นานมานี้ได้ปล่อยฟีเจอร์ใหม่ “ปาร์ตี้หาร Seller Center” ที่พัฒนาขึ้นเพื่อตอบโจทย์ให้พ่อค้าแม่ค้ารวมถึงแบรนด์ต่าง ๆ สามารถเอาของเข้ามาขายในรูปแบบของ “การซื้อเป็นกลุ่ม” (Group Buying) คนซื้อสามารถสร้างกลุ่มในการซื้อของโปรโมชันได้แบบง่าย ๆ 

ปัจจุบันมีผู้ใช้งานแอปฯ “ปาร์ตี้หาร” กว่า 55,000 ราย และมีของขายกว่า 200 รายการ และทีมงานไม่ได้หยุดที่จะคิดค้นและพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ ในวันนี้เราพร้อมนำเสนอ “เหมา-เหมา” แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซศูนย์รวมค้าส่งที่จับเอาอินไซต์ของกลุ่มผู้ผลิตเจ้าของแบรนด์ และ Pain Point กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์มาพัฒนา โดยเราเชื่อว่า “เหมา-เหมา” จะเป็นแพลตฟอร์มที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs เพิ่มยอดขาย ขณะเดียวกันช่วยพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ รวมถึงผู้ที่สนใจอยากหาอาชีพเสริม สามารถสร้างรายได้ เพิ่มยอดขาย และเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดในยุค New Normal”

เจาะลึกผู้ผลิต... สมรภูมิการขายออนไลน์ที่กลายเป็น Red Ocean

สำหรับผู้ผลิตหรือเจ้าของแบรนด์ต่าง ๆ สมรภูมิออนไลน์ไม่ใช่เรื่องใหม่หากแต่เป็น Red Ocean ที่ผ่านมาช่องทางการขายผ่านออนไลน์ของบรรดาเจ้าของสินค้า คือ โซเชียลมีเดียของตัวเอง เว็บไซต์ตัวเอง และการนำสินค้าไปขายบนมาร์เก็ตเพลสที่มีอยู่ ความท้าทายที่เจ้าของสินค้าต้องเจอ คือ ช่องทางออนไลน์ของตัวเอง traffic ไม่ค่อยดีคนเข้าชมมีจำนวนไม่มาก ค่าโฆษณาที่แพงขึ้นทุกปี และเมื่อลองยิงโฆษณาด้วยตนเองก็สู้มืออาชีพได้ยาก รวมถึงช่องทางบนมาร์เก็ตเพลสก็มีคู่แข่งจำนวนมาก เพราะถนนทุกสายมุ่งตรงสู่ช่องทางนี้ รวมถึงคู่แข่งจากจีน แม้จะมีคนเริ่มหาช่องทางใหม่ อาทิ ระบบ membership-based commerce หรือแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซแบบขายตรงที่ต้องสมัครสมาชิกก่อนจึงจะใช้งานได้ แต่ทว่าสุดท้ายแล้วรูปแบบธุรกิจกลายเป็นเน้นสร้างรายได้จากการชวนคนเข้าร่วมแพลตฟอร์ม

ส่องอินไซต์ “คนขายออนไลน์” ปัญหาใหญ่ คือ ไม่รู้หาของขายจากไหน และเงินทุนหมุนเวียน

“กลุ่มคนขายของออนไลน์” ตลาดใหญ่ที่ใคร ๆ ก็สนใจ ในช่วงโควิดพบว่ามีกลุ่มแม่ค้าออนไลน์มาลงทะเบียนกับภาครัฐกว่า 2 ล้านราย แต่ก็มีการคาดการณ์ว่าตัวเลขจริง ๆ ของคนขายของออนไลน์น่าจะอยู่ที่ระดับ 5 ล้านราย มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว

เมื่อทีม SCB 10X ลงสัมผัสพูดคุยกับกลุ่มคนขายของออนไลน์ เพื่อค้นหาอุปสรรคและปัญหา (Pain Point) ก็พบว่าหลายคนมีทักษะและความสามารถในการขายของออนไลน์ที่โดดเด่นชนิดที่เรียกว่าขายเก่งมาก มีความสามารถในการเขียนคอนเทนต์และปิดการขายที่น่าทึ่ง ที่น่าสนใจ คือ ขายกันผ่านทางไลน์กรุ๊ปลับ เฟซบุ๊กกรุ๊ปลับ (ที่ไม่ลับ) ที่มีกลุ่มลูกค้าแฟนประจำคอยติดตาม แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะประสบความสำเร็จ ซึ่งปัญหาใหญ่ของกลุ่มนี้ คือ เงินทุนหมุนเวียน ต้องคอยหาของใหม่ ๆ สินค้าใหม่ ๆ มาขายอยู่เสมอ บางกลุ่มไปสั่งของจากเว็บจีนยอดนิยมแต่ก็เจอปัญหาเรื่องส่งช้า โดนโกงบ้าง และร้านจีนเหล่านั้นมาตั้งร้านขายของเองบนมาร์เก็ตเพลสชั้นนำในเมืองไทย ส่วนบางกลุ่มหันมาติดต่อโรงงานในไทยหรือแบรนด์ไทยโดยตรง ก็พบอุปสรรคเรื่องการตอบที่ช้า การสั่งซื้อที่ไม่สะดวก หรือการที่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นหาของจากผู้ผลิตไทยได้ที่ไหน และสิ่งหนึ่งที่พวกเขาพูดเหมือนกัน คือ ทำไมประเทศไทยไม่มีแพลตฟอร์มเหมือนจีนที่รวมผู้ผลิตและแบรนด์มาไว้ที่เดียว เพื่อให้คนขายสามารถไปหาของและสั่งของมาขายได้ง่าย ๆ ไม่ยุ่งยาก 

“เหมา-เหมา” แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซค้าส่งศูนย์รวมผู้ผลิตและแบรนด์ เพื่อคนขายออนไลน์

คุณมาโนช พฤฒิสถาพร ผู้ก่อตั้ง “เหมา-เหมา” บริษัท เอสซีบี เท็นเอกซ์ จำกัด เล่าถึงแพลตฟอร์มน้องใหม่ว่า “เหมา-เหมา” เกิดจากความตั้งใจที่ต้องการช่วยเหลือทั้งฝั่งผู้ผลิตไทยให้เข้าถึงและมีคนขายออนไลน์ที่ขายเก่งมากมาช่วยขายของเพื่อเพิ่มยอดขาย ขณะเดียวกันก็ช่วยให้คนขายออนไลน์ให้สามารถเข้าถึงผู้ผลิตและแบรนด์ต่าง ๆ ในราคาขายส่งได้อย่างง่าย ๆ ในแพลตฟอร์มเดียว ผ่านเว็บไซต์ www.mhao-mhao.com ช่วยสร้างรายได้ในช่วงโควิดที่ผู้บริโภคนิยมซื้อสินค้าทางออนไลน์ 

ซึ่งหลังจากที่ทีมได้คลุกคลีและพูดคุยกับทั้งกลุ่มผู้ผลิตและกลุ่มผู้ขาย เพื่อนำเอา Pain Point ของคนทั้งสองกลุ่มมาเป็นจุดตั้งต้นในการพัฒนาแพลตฟอร์ม เราใช้เวลา 3 เดือน ด้วยทีมงานจำนวน 5 คนที่มีแบคกราวด์ด้านเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพในการพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ขึ้นมาจนกลายเป็น “เหมา-เหมา” ศูนย์รวมผู้ผลิตไทยให้คนขายออนไลน์ในไทยหลายล้านคนมาหาสินค้าไปขายในราคาขายส่ง โดยสามารถทำได้ทั้งรูปแบบซื้อส่ง เป็นตัวแทนจำหน่าย ขายแบบไม่ต้องสต็อกสินค้า และขายลดราคาเพื่อโละสต็อก ไม่คิดค่าธรรมเนียมการใช้งานแพลตฟอร์มแต่อย่างใด ซึ่งตอบโจทย์การขายออนไลน์ในยุคนี้”

“เหมา-เหมา” จึงเป็นช่องทางขายของออนไลน์ช่องทางใหม่ที่ให้บริการกับ “ผู้ผลิต” ที่จะช่วยพวกเขาในเรื่องของการทำการตลาดให้ ไม่ต้องแข่งกันยิงโฆษณา สามารถเอาเงินค่าโฆษณานั้นมาต่อยอดเป็นส่วนลดให้กับ “คนขาย” ออนไลน์แทน ด้วยฟีเจอร์และออปชันให้คนที่จะขายบนแพลตฟอร์มนี้ได้ต้องทำการสมัครเพื่อให้ร้านค้าหรือผู้ผลิตทำการอนุมัติก่อน มีออปชันตั้งค่าออเดอร์ขั้นต่ำ ระบบส่วนลดที่รองรับทั้งการลดตามจำนวนชิ้นที่ซื้อ ลดตามประเภทลูกค้า และลดตามยอดซื้อ รวมถึงระบบแบนคนขายตัดราคา 

หลังจากได้ทดลองเปิดใช้งานเป็นเวลา 1 เดือนในวงจำกัด พบว่าได้รับการตอบรับจากผู้ผลิตและแบรนด์ชั้นนำมากมาย เช่น ADVICE IT, AMADO, ANELLO, ANITECH, BODUM, BOSSINI, ESPRIT, ETAM, FN OUTLET, JOSEPH JOSEPH, MALEE, RADLEY, ZWILLING และดอยคำ เป็นต้น ตลอดจนร้านค้าส่งรายย่อยต่าง ๆ และมีคนขายลงทะเบียนแล้วหลายพันคน โดยหมวดสินค้าที่คนขายสนใจมากที่สุดเรียงตามลำดับคือ ของใช้ของตกแต่งบ้าน เครื่องสำอาง อาหารเสริม แฟชั่นผู้หญิง และเครื่องใช้ไฟฟ้า นอกจากนี้ยังพบว่าสินค้าที่จะได้รับความสนใจ คือ สินค้าแบรนด์ชื่อดังลดราคา สินค้าที่รูปสามารถขายได้ด้วยตนเอง สินค้าโละสต็อก รวมถึงสินค้าคุณภาพดียังไม่ดังมากแต่ให้ผลตอบแทนสูง” มาโนช กล่าวเสริม 

ทำไมต้อง “เหมา-เหมา” และ “หมูหมู”

ชื่อ “เหมา-เหมา” มาจากรูปแบบการขายสินค้าให้คนขายออนไลน์ที่เน้นการซื้อขายของจำนวนมาก หรือซื้อของแบบเหมาโหล จึงได้หยิบคีย์เวิร์ดคำว่า “เหมา” มาใช้เป็นชื่อแพลตฟอร์ม ซึ่ง “เหมา-เหมา” เป็นคำที่จำง่ายติดหูและสื่อถึงรูปแบบธุรกิจได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังได้นำเอาคาแรกเตอร์ของ “น้องหมู” ที่สะท้อนเรื่อง “ความสะดวก” และ “ความง่ายในการใช้งาน” ที่แพลตฟอร์มนี้มอบให้แก่เจ้าของแบรนด์ในการขายส่งสินค้าให้ตัวแทน หรือร้านค้ารายย่อยก็สามารถเข้ามาหาของเพื่อขายได้อย่างง่าย ครบวงจร รวมถึงวิธีการชำระเงินที่หลากหลายและสะดวก แบบ “หมูหมู” นอกจากนี้ “หมู” ตามความเชื่อของคนค้าขาย เป็นสัตว์นำโชคที่สื่อถึงความเจริญรุ่งเรือง การเอา “หมู” มาใช้เป็นคาแรคเตอร์จึงเปรียบเสมือนเป็นการอวยพรให้พ่อค้าแม่ค้า รวมถึงผู้ผลิตและเจ้าของแบรนด์ที่มาใช้แพลตฟอร์ม “เหมา-เหมา” ซื้อง่ายขายคล่อง และเจริญรุ่งเรือง 

ตั้งเป้าสานฝันสู่การเป็น “ศูนย์รวมแบรนด์และผู้ผลิตที่ใหญ่ที่สุดในไทย”

“ทีมงาน SCB 10X ผู้ก่อตั้งและพัฒนาแพลตฟอร์มคาดหวังว่า “เหมา-เหมา” จะเป็นประโยชน์สามารถตอบโจทย์และช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ไทยรวมถึงคนขายของออนไลน์ มีรายได้ มีกำไร และเติบโตได้อย่างแข็งแรงในยุค New Normal โดยเป้าหมายในระยะสั้นเรามองว่าจะมีจำนวนคนขายออนไลน์กว่า 500,000 คน ที่มาหาสินค้า สร้างอาชีพ สร้างรายได้จากแพลตฟอร์ม “เหมา-เหมา” ภายในสิ้นปี 2563 ส่วนเป้าหมายระยะยาว คือ การพัฒนาให้ “เหมา-เหมา” กลายเป็นศูนย์รวมแบรนด์และผู้ผลิตที่ใหญ่ที่สุดในไทย เติบโตไปพร้อมกับผู้ประกอบการ SMEs และคนขายออนไลน์ต่อไป” กวีวุฒิ กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับผู้ผลิต/แบรนด์ ที่สนใจร่วมเปิดร้านบนแพลตฟอร์ม “เหมา-เหมา” สามารถสมัครลงขายฟรีได้แล้ววันนี้ที่ www.mhao-mhao.com  หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Line OA: @mhaomhaosupplier

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

OpenAI เพิ่มฟีเจอร์ใหม่ใน ChatGPT วิเคราะห์-โต้ตอบวิดีโอได้แบบเรียลไทม์

OpenAI อัปเดทความสามารถ ChatGPT บนโหมดสนทนาด้วยเสียงหรือ Advanced Voice Mode สามารถวิเคราะห์และโต้ตอบจากวิดีโอได้แบบเรียลไทม์ นับเป็นการเปิดตัวฟีเจอร์ต่อเนื่องเป็นวันที่ 6 ในแคมเปญ...

Responsive image

Microsoft เปิดตัว Phi-4 โมเดล AI รุ่นใหม่ เน้นแก้โจทย์คณิตศาสตร์

Phi-4 ถูกพัฒนาภายใต้แนวคิด Small Language Model (SLM) มีขนาด 14 พันล้านพารามิเตอร์ ซึ่งเล็กกว่าโมเดลภาษาขนาดใหญ่อย่าง GPT-4 แต่ยังคงความรวดเร็วและต้นทุนการประมวลผลที่ต่ำกว่า และพร้...

Responsive image

เคอีเอ็กซ์ประกาศ การลาออกของซีอีโอ พร้อมตั้งผู้บริหารร่วม (Co-CEO) รับช่วงต่อ

บริษัท เคอีเอ็กซ์ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEX รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2567 ว่า บริษัทฯ ได้รับหนังสือแจ้งการลาออกจากตำแหน่งประธ...