SCB EIC เปิดบทวิเคราะห์ตลาดรถหรูในไทย กับโอกาสและความท้าทายที่น่าจับตามอง | Techsauce

SCB EIC เปิดบทวิเคราะห์ตลาดรถหรูในไทย กับโอกาสและความท้าทายที่น่าจับตามอง

SCB EIC เปิดเผยว่า ท่ามกลางการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในปี 2020 ส่งผลให้ภาพรวมยอดขายรถยนต์ทั่วโลกหดตัวลงอย่างรุนแรง แต่จากข้อมูลพบว่ายอดขายรถยนต์หรูในทุกภูมิภาคกลับได้รับผลกระทบที่น้อยกว่าโดยเปรียบเทียบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งพบว่ายอดขายรถยนต์หรูยังคงสามารถเติบโตสวนทางกับยอดขายรถยนต์ประเภทอื่น ๆ โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการเติบโตของยอดขายรถหรูในตลาดหลักอย่างจีน สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจจีนที่สามารถพลิกฟื้นกลับมาได้อย่างรวดเร็วจากวิกฤติ COVID-19

SCB EIC เปิดบทวิเคราะห์ตลาดรถหรูในไทย กับโอกาสและความท้าทายที่น่าจับตามอง

ตลาดรถยนต์หรูในไทย ได้รับปัจจัยหนุนจากกำลังซื้อของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้สถานการณ์ของตลาดรถยนต์หรูในไทยนั้นได้รับผลกระทบน้อยกว่าเช่นเดียวกัน โดยยอดจดทะเบียนรถยนต์ใหม่ป้ายแดงของประเภทรถหรูในปี 2020 หดตัวเพียง -6.4%YOY เทียบกับยอดจดทะเบียนรถยนต์ประเภทอื่น ๆ ที่หดตัวสูงถึง -24.1%YOY ส่วนหนึ่งเนื่องจากกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลักของเซ็กเมนต์รถหรู คือผู้บริโภคที่มีรายได้และกำลังซื้อสูงที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจน้อยกว่า 

สอดคล้องกับข้อมูลปริมาณเงินฝากในระบบในปี 2020 ที่เพิ่มขึ้น 9.9%YOY ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นจากบัญชีที่มีเงินฝากมากกว่า 10 ล้านบาทเป็นหลัก (56.7%) สะท้อนถึงศักยภาพ และกำลังซื้อของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายรถยนต์หรูในไทยที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเรายังคงเห็นแนวโน้มการเพิ่มขึ้น
ของปริมาณเงินฝากในลักษณะดังกล่าวต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

โดยพบว่าแบรนด์รถยนต์หรูที่ได้รับความนิยมสูงสุดในไทยคือ Mercedes-Benz ซึ่งในปี 2020 มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดที่ 42.7% รองลงมาได้แก่ BMW และ Volvo ซึ่งทั้ง 3 แบรนด์นี้ครองส่วนแบ่งตลาดรวมกันมากถึงเกือบ 90% ของยอดจดทะเบียนรถยนต์หรูทั้งหมดในไทย

SCB EIC เปิดบทวิเคราะห์ตลาดรถหรูในไทย กับโอกาสและความท้าทายที่น่าจับตามอง

ในปี 2021 ปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์เริ่มส่งผลต่อตลาดรถยนต์หรูชัดเจนขึ้น

สถานการณ์ในปี 2021 กลับเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม โดย EIC พบว่าตลาดรถยนต์หรูได้รับผลกระทบที่รุนแรงกว่ารถยนต์ทั่วไป ซึ่งสาเหตุหลักมาจากปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกที่ยังคงยืดเยื้อและทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการผลิตรถยนต์หรูที่จำเป็นต้องใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงจำนวนมากกว่าโดยเปรียบเทียบ 

ทำให้ผู้ผลิตไม่สามารถส่งมอบรถยนต์หรูได้ตามแผนที่วางไว้แม้ว่าจะมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่องก็ตาม สะท้อนได้จากยอดจดทะเบียนใหม่ป้ายแดงประเภทรถยนต์หรูของไทยในปี 2021 ที่หดตัว -9.5%YOY ขณะที่ยอดจดทะเบียนใหม่ป้ายแดงประเภทรถยนต์ทั่วไปหดตัว -4.4%YOY

ตลาดรถยนต์หรูของไทยมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวเป็นบวกในปี 2022

สำหรับแนวโน้มในปี 2022 นั้น EIC คาดว่ายอดจดทะเบียนใหม่ป้ายแดงของรถยนต์หรูจะกลับมาขยายตัวได้ที่ 14%YOY ตามการทยอยฟื้นตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจไทย ซึ่งจะส่งผลดีต่อการใช้จ่ายของครัวเรือนในทุกระดับ รวมถึงปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ที่มีแนวโน้มดีขึ้นในปีนี้จากการคาดการณ์ของผู้ประกอบการและสำนักวิจัย IHS Markit

การแข่งขันในตลาดรถยนต์หรูมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น

ภาพรวมการแข่งขันในตลาดรถยนต์หรูยังเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง ซึ่งพบว่ากลุ่มผู้เล่นที่เป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการของค่ายรถยนต์ (Official dealer) จะมีข้อได้เปรียบมากกว่ากลุ่มผู้นำเข้าอิสระ (Grey market) ทั้งความสามารถในการแข่งขันด้านราคาที่ดีขึ้นจากการที่รถยนต์หรูบางแบรนด์ได้เข้ามาจัดตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ในไทย รวมถึงปรับปรุงการให้บริการหลังการขายเพื่อตอบโจทย์การให้บริการผู้บริโภคมากขึ้นกว่าในอดีต ด้วยการขยายระยะเวลาของโปรแกรมการบำรุงรักษาให้ยาวนานขึ้นกว่าเดิม

SCB EIC เปิดบทวิเคราะห์ตลาดรถหรูในไทย กับโอกาสและความท้าทายที่น่าจับตามอง

ความท้าทายในระยะยาวที่ต้องเตรียมรับมือ

การตอบโจทย์เทรนด์ตลาดที่เปลี่ยนไปคือความท้าทายในระยะยาวที่ต้องเตรียมรับมือ สำหรับประเด็นความท้าทายและความเสี่ยงของตลาดรถยนต์ทั่วไปและตลาดรถยนต์หรูที่ต้องจับตาในระยะสั้น ได้แก่ ปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ในตลาดโลกที่อาจส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิตของรถยนต์หรูบางรุ่นที่จำเป็นต้องใช้ชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ รวมถึงประเด็นความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ Omicron ที่อาจกระทบต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและภาพรวมการใช้จ่ายของผู้บริโภค 

รวมไปถึงประเด็นความท้าทายในระยะยาวที่ต้องเตรียมรับมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตอบโจทย์แนวโน้มตลาดที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็น เทรนด์ในเรื่องรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ทำให้ค่ายรถยนต์หรูต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อรองรับการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น หรือแม้แต่เทรนด์ sharing economy ที่อาจช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจ Car sharing ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต

ดังนั้นโดยภาพรวมแล้ว EIC มองว่าตลาดรถยนต์หรูในไทยยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้และกำลังซื้อสูง ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลักและเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจน้อยกว่ารถยนต์ประเภทอื่น ประกอบกับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรถหรูของค่ายรถยนต์ต่าง ๆ ให้ทันสมัย และสอดคล้องกับความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น รถยนต์หรูพลังงานไฟฟ้า เป็นต้น 

อ้างอิง SCB EIC

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

สภาดิจิทัลฯ สกสว. บพข. ร่วมทำ MOU ดัน ‘วิจัย-นวัตกรรม-ดิจิทัล-AI’ มุ่งสู่ผู้นำเศรษฐกิจดิจิทัล

สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (DCT) จัดงาน MOU ลงนามความร่วมมือกับ สกสว. (TSRI) และ บพข. (PMUC) เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลด้วยงานวิจัย นวัตกรรม ดิจิทัล และปัญญาป...

Responsive image

รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศชัยชนะ เลิกใช้ ‘Floppy Disk’ ได้สักที

ประกาศชัยชนะเหนืออดีต และปักธงสู่ยุคใหม่ รัฐบาลญี่ปุ่นเลิกใช้ Floppy Disk ได้แล้ว ถือเป็นก้าวสำคัญในการปฏิรูประบบราชการให้ทันสมัย...

Responsive image

ปิดดีล! LG เข้าซื้อหุ้น 80% ของ Athom บริษัทแพลตฟอร์มสมาร์ทโฮม Homey พร้อมเร่งขยายธุรกิจ LG ThinQ ที่ขับเคลื่อนด้วย Gen AI

บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ จำกัด เข้าซื้อหุ้น 80% ของ Athom บริษัทแพลตฟอร์มสมาร์ทโฮมสัญชาติดัตช์ Homey พร้อมตั้งเป้าเข้าซื้อหุ้นที่เหลืออีก 20% ภายใน 3 ปีข้างหน้า และขยายธุรกิจ LG ...