เศรษฐกิจไทย ‘เหมือนจะดี’ SCB EIC วิเคราะห์ ที่หน่วงหนักคือ ‘ภาคการผลิต’ | Techsauce

เศรษฐกิจไทย ‘เหมือนจะดี’ SCB EIC วิเคราะห์ ที่หน่วงหนักคือ ‘ภาคการผลิต’

ภาคการผลิตไทยปรับตัวช้า ฉุดเศรษฐกิจระยะยาว นี่คือสิ่งที่ SCB EIC วิเคราะห์คาดการณ์ไว้อย่างน่าสนใจ และยังเผยอีกว่า ดอกเบี้ยไทยจะปรับลด 2 ครั้ง ภายในครึ่งแรกของปีนี้ 

SCB EIC

SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจโลกในปี 2567 มีแนวโน้มเติบโต 2.6% ใกล้เคียงปีก่อน มุมมองปรับดีขึ้นจากแรงส่งที่ดีในไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวได้ดีในช่วงต้นปีนี้ โดยกิจกรรมในภาคบริการขยายตัวเร่งขึ้น ขณะที่กิจกรรมในภาคการผลิตเริ่มกลับมาขยายตัวจากที่หดตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกจะได้รับแรงสนับสนุนจากการค้าโลกที่มีแนวโน้มปรับดีขึ้นและอัตราเงินเฟ้อโลกที่ชะลอตัวลง แต่ยังมีแรงกดดันจากผลกระทบของภาวะดอกเบี้ยสูง ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ยืดเยื้อ และปัญหาห่วงโซ่อุปทานโลกจากปัญหาการขนส่งบริเวณทะเลแดงและคลองปานามาที่แห้งแล้ง 

ธนาคารกลางกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักจะเริ่มปรับทิศการใช้นโยบายการเงินไตรมาส 2 ปีนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้ง รวม 75 BPS ขณะที่ธนาคารกลางยุโรปและธนาคารกลางอังกฤษจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้ง รวม 100 BPS ตามทิศทางเงินเฟ้อที่ปรับชะลอลง ด้านธนาคารกลางญี่ปุ่นมีแนวโน้มจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้ง รวม 20 BPS ซึ่งเป็นการยุตินโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ ขณะที่ธนาคารกลางจีนจะยังใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพยุงเศรษฐกิจต่อเนื่อง

SCB EICดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด มหาชน สำหรับมุมมองต่อเศรษฐกิจไทย SCB EIC ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี 2567 เหลือ 2.7% (เดิม 3%) แม้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องได้ จากแรงขับเคลื่อนของการท่องเที่ยวและภาคบริการรวมถึงเศรษฐกิจด้านอุปสงค์อื่นที่กลับมาขยายตัวเร่งขึ้นในหลายองค์ประกอบ โดยเฉพาะการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มดีขึ้น แต่แรงส่งภาครัฐจะยังหดตัวต่อเนื่องในไตรมาสแรกจากความล่าช้าของการประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณฯ ปี 2567 กอปรกับปัญหาสินค้าคงคลังสะสมสูงจากปีก่อนจะยังไม่สามารถคลี่คลายได้เร็ว ส่วนหนึ่งจากปัญหาเชิงโครงสร้างในภาคการผลิตไทย โดยเฉพาะภาคการส่งออกไทยที่สูญเสียความสามารถในการแข่งขัน จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาคอุตสาหกรรมไทยจะยังฟื้นช้าต่อเนื่องมาในปีนี้

SCB EIC

"เศรษฐกิจไทย ‘เหมือนจะดี’ การบริโภคจากภาคเอกชนเติบโตดี แต่ภาคการผลิตติดลบเยอะ ภาคการท่องเที่ยวดีกว่าที่คาดการณ์ราว 10% เพราะนักท่องเที่ยวจีนและนักท่องเที่ยวที่เดินทางไกล มีค่าเฉลี่ยสองเท่าของนักท่องเที่ยวระยะใกล้ (16 วัน/8 วัน) เศรษฐกิจไทยโตช้า โครงสร้างที่เปลี่ยนไปจากนอกประเทศ ทำให้เราอ่อนแอมากขึ้น" ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด มหาชน กล่าวเชิงสรุป

ในส่วนของเงินเฟ้อไทยที่ติดลบต่อเนื่องหลายเดือน SCB EIC ประเมินว่า ไทยยังไม่เผชิญภาวะเงินฝืด โดยเงินเฟ้อจะกลับมาเป็นบวกตั้งแต่เดือน พ.ค. เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือด้านราคาพลังงานจะสิ้นสุดลง โดยเฉพาะราคาน้ำมันในประเทศที่จะเริ่มปรับสูงขึ้น นอกจากนี้ เงินเฟ้อยังมีความเสี่ยงด้านสูงท่ามกลางความเสี่ยงห่วงโซ่อุปทานโลกชะงักจากสถานการณ์ทะเลแดง สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง รวมถึงนโยบายควบคุมการส่งออกของบางประเทศที่อาจทำให้ราคาสินค้าเกษตรบางชนิดเพิ่มขึ้น เช่น ข้าวและน้ำตาล เงินเฟ้อทั่วไปในช่วงครึ่งหลังของปีจึงจะเร่งกลับไปแตะกรอบเงินเฟ้อได้ โดย SCB EIC ประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2567 อยู่ที่ 0.8% และ 0.6% ตามลำดับ

ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)  

ในระยะยาว ปัญหาเชิงโครงสร้างในภาคการผลิตไทยที่รุนแรงขึ้นยังกดดันให้ศักยภาพเศรษฐกิจไทยปรับลดลงจากประมาณการในอดีต 

SCB EIC ประมาณการศักยภาพเศรษฐกิจไทยในช่วงก่อนเกิดโควิด (ปี 2560 – 2562) อยู่ที่ระดับ 3.4% ขณะที่ศักยภาพเศรษฐกิจไทยในระยะยาวเติบโตต่ำลงเหลือ 2.7% (จากเดิม 3% ประเมิน ณ เดือน ธ.ค. 2566) ซ้ำเติมเทรนด์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาวที่มีทิศทางลดลงอยู่ก่อนแล้ว สาเหตุหลักมาจาก 

  • 1) ผลิตภาพการผลิต (Total factor productivity) ของไทยต่ำลงเรื่อย ๆ ส่วนหนึ่งจากปัญหาผลิตภาพแรงงานไทยลดลงและกฎเกณฑ์ภาครัฐจำนวนมากที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ  

  • 2) ปัจจัยทุน (Capital) ของไทยที่มีแนวโน้มลดลงจากสัดส่วนการลงทุนในประเทศที่ลดลงกว่าครึ่ง เหลือประมาณ 24% ของ GDP ในช่วง 2 ทศวรรษหลัง และความสามารถในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (FDI) ของไทยต่ำลงหากเทียบประเทศในภูมิภาคอาเซียน และ 

  • 3) ปัจจัยกำลังแรงงาน (Labor) ที่มีแนวโน้มลดลงจากการเข้าสู่สังคมสูงวัยเร็ว

SCB EICSCB EIC ประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะทยอยลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากระดับปัจจุบันที่ 2.5% มาอยู่ที่ 2% ภายในครึ่งแรกของปีนี้ เพื่อรักษาบทบาทนโยบายการเงินที่เป็นกลางต่อเศรษฐกิจไว้เช่นเดิม หลังการ Recalibrate กลไกการทำนโยบายการเงินจากปัจจัยเชิงโครงสร้างภาคการผลิตที่รุนแรงขึ้นและประเมินนัยต่อระดับอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว (Neutral rate) ที่ต่ำลง โดย SCB EIC ประเมินว่า Neutral rate ของไทยได้ลดต่ำลงมาอยู่ที่ราว 2.1% แล้ว (จากระดับเดิม 2.5%) ซึ่งการปรับลดดอกเบี้ยครั้งนี้นอกจากจะเป็นการปรับ Stance ของนโยบายการเงินให้เหมาะสมกับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่เปลี่ยนไปได้ทันสถานการณ์แล้ว จะยังมีผลช่วยบรรเทาภาระหนี้สูง โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจและครัวเรือนเปราะบางที่อาจได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยขาขึ้นมากกว่ากลุ่มอื่น รวมถึงช่วยเพิ่มปัจจัยบวกต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของไทยท่ามกลางแรงส่งภาครัฐที่ยังติดขัดในปีนี้ได้อีกทาง

ส่วนค่าเงินบาทในระยะสั้น คาดว่าจะทรงตัวในกรอบ 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากปัจจัยต่างประเทศมีผลทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นมากแล้ว และเงินบาท ณ สิ้นปีมีแนวโน้มแข็งค่าในกรอบ 33.50-34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากเงินดอลลาร์สหรัฐที่จะอ่อนค่าลงตามการลดดอกเบี้ยของ Fed และเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนขึ้น

มองไปข้างหน้า ประเทศไทยมีความท้าทายสำคัญจากปัญหาเชิงโครงสร้างในภาคการผลิตอุตสาหกรรม 

   คุณปราณิดา ศยามานนท์ ผู้อำนวยการฝ่าย Industry Analysis ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)

แม้การผลิตในปี 2567 จะมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวได้จากแรงส่งของสินค้าอุปโภคบริโภคที่ฟื้นตัวตามอุปสงค์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมของไทยยังผูกโยงกับห่วงโซ่อุปทานเก่าอยู่มาก กอปรกับการที่เศรษฐกิจไทยเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจจีนและห่วงโซ่การผลิตจีนมากท่ามกลางกระแสภูมิรัฐศาสตร์โลก รวมถึงความสามารถของภาคการผลิตไทยในการปรับตัวกับห่วงโซ่การผลิตโลกใหม่และรูปแบบความต้องการสินค้าในตลาดโลกที่เปลี่ยนไปได้ช้า ทำให้การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคส่งออกไทยยังทำได้ค่อนข้างจำกัด สะท้อนจากส่วนแบ่งยอดขายสินค้าส่งออกของไทยในตลาดโลกที่ยังใกล้เดิมมาตลอดทศวรรษ

SCB EIC

ดังนั้น การปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมไทยให้สอดรับกับกระแสความยั่งยืน การยกระดับขีดความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยี และการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานให้ยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงและเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลกใหม่ จึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วน

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

NVIDIA เปิดตัว Jetson Orin Nano Super Developer Kit ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ AI จิ๋ว เตรียมใช้ในหุ่นยนต์ AI

NVIDIA กำลังก้าวไปในสู่โลกของหุ่นยนต์อย่างเต็ม หลังเมื่อต้นปี 2024 ที่ผ่านมา ได้เปิดตัวของสำคัญหลายอย่างทั้ง Blackwell ชิปกราฟิกประสิทธิภาพสูงสำหรับประมวลผล AI โดยเฉพาะ ไปจนถึง Pro...

Responsive image

Openspace กองทุนแห่ง SEA ตั้งเป้า 2 ปี ลงทุนสตาร์ทอัพไทยไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท

โอเพ่นสเปซ (Openspace) กองทุนที่ลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพ SEA ประกาศแผนลงทุนในสตาร์ทอัพไทย ส่งเสริมระบบนิเวศสตาร์ทอัพไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท ในช่วงปี พ.ศ. 2568 - 2569...

Responsive image

ยักษ์ใหญ่ญี่ปุ่นจับมือ! Honda-Nissan เตรียมควบรวมกิจการ

รายงานระบุว่า ทั้งสองบริษัทกำลังพิจารณารวมตัวกันภายใต้บริษัทโฮลดิ้ง ซึ่งคาดว่าจะมีการลงนามข้อตกลงในเร็วๆ นี้ โดยมีแผนจะดึงมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ที่นิสสันถือหุ้น 24% เข้ามาร่วมด้วย เพื...