SCB EIC ลดประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2020 ลงเหลือ -7.8 เปอร์เซ็นต์ พร้อมบทวิเคราะห์เศรษฐกิจโลกไตรมาส 3 | Techsauce

SCB EIC ลดประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2020 ลงเหลือ -7.8 เปอร์เซ็นต์ พร้อมบทวิเคราะห์เศรษฐกิจโลกไตรมาส 3

SCB EIC ปรับลดประมาณการ เศรษฐกิจไทย ปี 2563 เป็นหดตัว -7.8% จากเดิมคาด -7.3%  โดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเป็นไปอย่างช้า ๆ ท่ามกลางความเสี่ยงสำคัญหลายด้านโดยเฉพาะความเปราะบางในตลาดแรงงานและการปิดกิจการของธุรกิจที่โน้มสูงขึ้น

Photo by Road Trip with Raj on Unsplash

SCB CEI ชี้ตัวเลขเศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณการฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 2 (Bottomed out) ตามการผ่อนคลายของมาตรการปิดเมือง โดยได้รับแรงสนับสนุนหลักจากมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ การหดตัวที่ลดลงของภาคส่งออกสินค้า ตลอดจนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งมีส่วนช่วยประคับประคองการบริโภคภาคเอกชนในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ในระยะหลัง ข้อมูลเร็ว (high frequency data) บ่งชี้ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอลง (stalling recovery) สอดคล้องกับที่ EIC คาดการณ์ไว้ว่าการฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างช้า ๆ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังมีอุปสรรคต่อการฟื้นตัวอีกหลายประการ ทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2563 ที่ EIC ปรับลดคาดการณ์ลงเหลือเพียง 6.7 ล้านคนตามนโยบายควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังไม่มีแนวโน้มผ่อนคลาย ประกอบกับเม็ดเงินช่วยเหลือจากภาครัฐภายใต้ พรก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทที่มีแนวโน้มเข้าสู่เศรษฐกิจในปีนี้น้อยกว่าที่คาด (ประมาณ 5 แสนล้านบาท จากเดิมที่คาดประมาณ 6 แสนล้านบาท) รวมถึงเม็ดเงินช่วยเหลือที่จะน้อยลงมากในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งทำให้เกิดปัญหาหน้าผาทางการคลัง (Fiscal cliff) และอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนบางกลุ่มที่ยังต้องการความช่วยเหลือต่อเนื่อง 

โดยปัจจัยทั้งสองข้างต้นเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ EIC ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2563 เป็น -7.8% นอกจากนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีอุปสรรคจากแผลเป็นทางเศรษฐกิจ (Scarring effects) ซึ่งประกอบด้วยการปิดกิจการในภาคธุรกิจที่เร่งตัวขึ้นและความเปราะบางในตลาดแรงงาน สะท้อนจากตัวเลขอัตราว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น และจำนวนชั่วโมงการทำงานรวมที่ลดลงมาก อีกทั้งพฤติกรรมการออมเพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต (precautionary saving) และความจำเป็นในการซ่อมแซมงบดุลที่ได้รับผลกระทบของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจก็จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้การฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศทั้งการใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนจะเป็นไปอย่างช้า ๆ ทั้งนี้จากความอ่อนแอของเศรษฐกิจและความไม่แน่นอนที่ยังมีอยู่มาก EIC คาดว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยจะยังดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่อง โดยจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ควบคู่กับการใช้มาตรการอื่น ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการส่งผ่านผลของนโยบายการเงินไปยังเศรษฐกิจจริง เช่น การสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ ตลอดจนการใช้งบดุลขององค์กรภาครัฐ (Balance sheet policy) ในการเพิ่มสภาพคล่องและแบ่งเบาความเสี่ยงจากภาคเอกชน ผ่านการใช้มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) และการใช้เครื่องมือประกันความเสี่ยงด้านเครดิต (credit guarantee)  เป็นต้น

ภาวะเศรษฐกิจโลกมีสัญญาณฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 2 (bottomed out) แต่มาตรการปิดเมืองที่เริ่มกลับมาเข้มงวดขึ้นหลังจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในบางประเทศกลับมาเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวชะลอลง (stalling recovery) ในระยะต่อไป ข้อมูลเร็วล่าสุดบ่งชี้ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วง 1-2 เดือนหลังเริ่มปรับชะลอลง สะท้อนจากดัชนี Google mobility ที่ฟื้นตัวชะลอลงในหลาย ๆ ประเทศ นอกจากนี้ เครื่องชี้การบริโภค และการลงทุนของประเทศเศรษฐกิจหลักก็บ่งชี้ไปในทิศทางเดียวกัน โดยยอดใช้บัตรเครดิตและบัตรเดบิตในสหรัฐฯ ปรับชะลอลงและยังอยู่ต่ำกว่าช่วงก่อน COVID-19 การบริโภคภาคบริการในญี่ปุ่นยังคงอ่อนแอ และการลงทุนภาคการผลิตของจีนยังคงต่ำ อย่างไรก็ดี คาดว่ามาตรการปิดเมืองในระยะหลังจะเน้นการปิดเมืองแบบเฉพาะพื้นที่ (local lockdown) ซึ่งมีความเข้มงวดและมีผลต่อการหดตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจน้อยกว่าการปิดเมืองแบบทั่วไป (nation-wide lockdown) ที่ประกาศใช้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมา สำหรับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะข้างหน้า EIC ยังคงมุมมองการฟื้นตัวอย่างช้า ๆ โดยนอกจากสัญญาณการฟื้นตัวที่ชะลอลงดังกล่าวแล้ว การปิดกิจการและอัตราการว่างงานที่ยังอยู่ในระดับสูงในหลายประเทศอาจทำให้เกิดแผลเป็น (scarring effects) ต่อเศรษฐกิจโลกและกลายเป็นความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวในระยะถัดไปได้ รวมถึงมาตรการการคลังที่มีส่วนประคับประคองเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมากำลังทยอยหมดอายุลงหรือได้รับการต่ออายุแต่ในขนาดที่เล็กลงในหลายประเทศ อาจทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่าหน้าผาทางการคลัง (fiscal cliff) ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

ด้านเศรษฐกิจไทย พบว่าหลายภาคส่วนมีการฟื้นตัวหลังจากผ่านจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 2 แต่การฟื้นตัวมีสัญญาณช้าลงในช่วงหลัง โดยเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปี 2563 หดตัวถึง -12.2%YOY นับเป็นอัตราหดตัวสูงสุดในรอบ 22 ปี สะท้อนผลกระทบที่รุนแรงและรวดเร็วจากมาตรการปิดเมือง แต่หลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายประเภทได้ปรับตัวดีขึ้น อาทิ ดัชนีการบริโภคภาคเอกชน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม อัตราการใช้กำลังการผลิต ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ และมูลค่าการส่งออก อย่างไรก็ดี ในส่วนของภาคท่องเที่ยว แม้จะเริ่มเห็นการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวไทยโดยเฉพาะในแหล่งท่องเที่ยวที่ใกล้กรุงเทพฯ แต่ธุรกิจท่องเที่ยวที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงซบเซาต่อเนื่อง โดย EIC ได้ปรับลดคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2563 เหลือเพียง 6.7 ล้านคน หรืออีกนัยหนึ่งคือการเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยจะเป็นไปอย่างระมัดระวังอย่างมากเพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดในประเทศ ทั้งนี้หากพิจารณาข้อมูลเร็วล่าสุด เช่น Google mobility จะพบว่าการฟื้นตัวของหลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีสัญญาณช้าลงหรือมีลักษณะทรงตัวในช่วงหลัง สอดคล้องกับที่ EIC คาดการณ์ไว้ว่าการฟื้นตัวจะเป็นไปแบบช้า ๆ เนื่องจากยังมีหลายอุปสรรคกดดัน โดยเฉพาะผลของแผลเป็นทางเศรษฐกิจหรือ scarring effects

COVID-19 ได้สร้างแผลเป็นต่อเศรษฐกิจไทย (scarring effects) ทั้งปัญหาการปิดกิจการของธุรกิจและความเปราะบางในตลาดแรงงานซึ่งจะเป็นอุปสรรคและความเสี่ยงสำคัญต่อการฟื้นตัวในระยะข้างหน้า โดยแผลเป็นสำคัญประกอบไปด้วยการปิดกิจการที่เพิ่มมากขึ้น ที่จะส่งผลต่อการลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มหดตัวในระดับสูงต่อเนื่อง รวมถึงจะซ้ำเติมอีกแผลเป็นทางเศรษฐกิจซึ่งก็คือ ความเปราะบางของตลาดแรงงาน โดยจากข้อมูลล่าสุดในช่วงไตรมาส 2 อัตราว่างงานของไทยเพิ่มสูงขึ้นถึง 1.95% นับเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 11 ปี นอกจากนั้น รายได้ของแรงงานที่ยังมีงานทำก็มีแนวโน้มหดตัวลงมากจากชั่วโมงการทำงานที่ลดลง (-11.5%YOY) ตามจำนวนงานเต็มเวลาและงานโอทีที่หายไป โดยบางส่วนกลายเป็นงานต่ำระดับ (underemployment) ขณะที่มีจำนวนแรงงานที่ต้องหยุดงานชั่วคราว (furloughed workers) เพิ่มขึ้นสูงถึง 2.5 ล้านคน สะท้อนความอ่อนแอของตลาดแรงงานที่มีในระดับสูง ซึ่งทั้งสองแผลเป็นดังกล่าวต้องใช้ระยะเวลาประมาณหนึ่งในการรักษาเยียวยา โดยหากระดับการปิดกิจการและการว่างงานเพิ่มขึ้นในระดับสูงและยืดเยื้อย่อมส่งผลกระทบต่อรายได้ การบริโภค และการลงทุน ซึ่งนับเป็นภาคเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงพฤติกรรมการออมเพื่อรองรับความเสี่ยง

ในอนาคต (precautionary saving) ส่วนหนึ่งสะท้อนได้จากระดับเงินฝากที่ได้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในทุกขนาดบัญชีหลังการระบาดของ COVID-19 สะท้อนว่าประชาชนส่วนใหญ่มีการเน้นเก็บออมในช่วงเวลาวิกฤติเนื่องจากยังกังวลต่อความไม่แน่นอนในอนาคต ซึ่งจะทำให้ประชาชนจะระมัดระวังการใช้จ่าย ส่งผลให้เงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจลดลง นับเป็นอีกอุปสรรคขัดขวางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐมีส่วนสำคัญในการช่วงพยุงเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี จากความคืบหน้าล่าสุด คาดว่าจะมีเม็ดเงินช่วยเหลือออกมาต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ โดยเม็ดเงินล่าสุดที่ได้รับอนุมติภายใต้ พรก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท อยู่ที่ประมาณ 4.75 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าที่เคยคาดไว้ก่อนหน้า ดังนั้น EIC จึงปรับลดคาดการณ์เม็ดเงินในส่วนดังกล่าวที่จะเข้าสู่เศรษฐกิจในปี 2563 เหลือเพียงประมาณ 5 แสนล้านบาท จากเดิมที่คาดไว้ประมาณ 6 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีการปรับคาดการณ์ GDP ลดลงในรอบนี้ นอกจากนี้ ยังมีประเด็นความเสี่ยงเรื่องหน้าผาทางการคลังหรือ Fiscal cliff ซึ่งเกิดจากการที่เม็ดเงินช่วยเหลือของรัฐบาลที่มีการเบิกจ่ายไปมากในช่วงไตรมาส 2 จะปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงครึ่งปีหลัง ขณะที่รายได้จากภาคท่องเที่ยวและส่งออกยังคงซบเซา ซึ่งอาจส่งผลต่อกำลังซื้อของประชาชนบางกลุ่มที่ยังได้รับผลกระทบหนัก และเป็นความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวในระยะต่อไปได้

ด้านนโยบายการเงิน คาดว่า ธปท. จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.5% ตลอดทั้งปี และพร้อมใช้เครื่องมือต่าง ๆ รวมถึงมาตรการ Unconventional เพิ่มเติมหากมีความจำเป็น ภาวะการเงินโดยรวมมีแนวโน้มตึงตัวน้อยลง หลังจากที่ ธปท. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายและใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและลดค่าใช้จ่ายให้แก่ครัวเรือนและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ เช่น มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และการพักการชำระหนี้ชั่วคราว เป็นต้น อย่างไรก็ดี จากการที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้ ธปท. มีข้อจำกัดในการใช้นโยบายดอกเบี้ยมากขึ้น

EIC ประเมินว่า ธปท. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% ตลอดช่วงปีนี้ ควบคู่กับการใช้มาตรการเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการส่งผ่านนโยบายการเงินไปยังเศรษฐกิจจริง รวมทั้งมาตรการรองรับปัญหาหนี้เสียและสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น ในส่วนของค่าเงินบาท EIC คงมุมมองอัตราแลกเปลี่ยน ณ สิ้นปี 2563 จะอยู่ในช่วง 30.5-31.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นทิศทางแข็งค่าเล็กน้อยจากปัจจุบัน เนื่องจากเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่าลงตามการพื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การส่งสัญญาณดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายของ Fed และการดำเนินนโยบายการคลังที่มีแนวโน้มขาดดุลมากขึ้นของสหรัฐฯ อีกทั้งเงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มไหลเข้าตลาด EM รวมถึงตลาดการเงินไทยในระยะต่อไปอย่างไรก็ดี ด้วยดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่เกินดุลลดลงมากจากดุลบริการที่หายไปตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่หดตัวในระดับสูง ทำให้เงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐจะไม่แข็งค่าขึ้นมากนัก

สำหรับความเสี่ยงที่ต้องจับตา คือการกลับมาระบาดอีกระลอกของ COVID-19 ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อภาคส่งออกและเศรษฐกิจในประเทศหากมีการบังคับใช้มาตรการที่เข้มงวดเพิ่มขึ้น และยังต้องจับตาประเด็นความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มตึงเครียดเพิ่มขึ้น รวมถึงผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ซึ่งอาจส่งผลต่อภาวะการค้าและความผันผวนในตลาดการเงินโลกได้ นอกจากนี้ เม็ดเงินจากมาตรการช่วยเหลือของรัฐที่อาจออกมาน้อยกว่าคาด ก็จะเป็นอีกความเสี่ยงสำคัญที่อาจทำให้เศรษฐกิจไทยหดตัวมากกว่าที่คาดได้ รวมถึงยังต้องจับตาผลของการปิดกิจการและความเปราะบางของตลาดแรงงาน (scarring effects) ว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด ตลอดจนความเสี่ยงจากเสถียรภาพด้านการเมืองไทยที่อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ทุนจีนดันไทยเป็นฐานที่ตั้งการผลิตแห่งใหม่ ตั้งรับภัยสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ส่งให้ตลาดรถยนต์ EV-อิเล็กทรอนิกส์พุ่งแรง

ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้บริษัทจีนหลายแห่งทั้งในอุตสาหกรรม EV และอิเล็กทรอนิกส์ได้พร้อมใจเร่งขยายฐานธุรกิจในประเทศไทย เพื่อ...

Responsive image

Techsauce ร่วมกับ Brunei Startup Summit 2025 ยกระดับ Startup Ecosystem ในบรูไน

Techsauce ร่วมกับ Brunei Startup Summit 2025 ยกระดับ Startup Ecosystem ในบรูไน...

Responsive image

สยาม เอไอฯ ได้รับ NVIDIA DGX Blackwell B200 รายแรกในอาเซียน

NVIDIA DGX Blackwell B200 เป็นหน่วยประมวลผลประสิทธิภาพสูงที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานด้าน AI ของ Siam.AI Cloud ทำให้สามารถรองรับการประมว...