ธนาคารไทยพาณิชย์และกสิกรไทย เผยตัวเลขผลกำไรประจำปี 2018 | Techsauce

ธนาคารไทยพาณิชย์และกสิกรไทย เผยตัวเลขผลกำไรประจำปี 2018

ธนาคารกสิกรไทย แจ้งผลประกอบการ ปี 2018 กำไร 38,459 ล้านบาท

นายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยประกาศผลการดำเนินงานสำหรับปี 2561 โดยธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 38,459 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนจำนวน 4,121 ล้านบาท หรือ 12.00%

ผลการดำเนินงานสำหรับปี 2018 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2017 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 38,459 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนจำนวน 4,121 ล้านบาท หรือ 12.00% เกิดจากธนาคารมีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญลดลง ซึ่งสอดคล้องกับคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคาร นอกจากนี้ รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน4,377 ล้านบาท หรือ 4.65% ส่วนใหญ่เกิดจากรายได้ดอกเบี้ยรับของเงินให้สินเชื่อ และเงินลงทุน โดยอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin:NIM) อยู่ที่ระดับ 3.39% สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 5,750 ล้านบาท หรือ 9.17% ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านช่องทางดิจิทัล และรายได้สุทธิจากการรับประกันภัยลดลง ในขณะที่รายได้จากผลิตภัณฑ์ตลาดเงินเพิ่มขึ้นจากธุรกรรมอัตราแลกเปลี่ยน นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ เพิ่มขึ้นจำนวน 1,976 ล้านบาท หรือ 2.98% หลัก ๆ เกิดจากค่าใช้จ่ายทางการตลาด ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) อยู่ที่ระดับ 43.96%

ผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 4 ปี 2018 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2018 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 7,033 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อนจำนวน 2,711 ล้านบาท หรือ 27.82% โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 467 ล้านบาท หรือ 1.86% และมีอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin: NIM) อยู่ที่ระดับ 3.41%  ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 505 ล้านบาท หรือ 3.87% เกิดจากรายได้จากผลิตภัณฑ์ตลาดเงินและตลาดทุน และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลง ในขณะที่รายได้สุทธิจากการรับประกันภัยเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ เพิ่มขึ้นจำนวน 3,275 ล้านบาท หรือ 20.21% หลัก ๆ เกิดจากค่าใช้จ่ายทางการตลาด ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) ในไตรมาสนี้อยู่ที่ระดับ 51.24% ซึ่งเพิ่มขึ้นปกติตามฤดูกาล โดยธนาคารยังคงสามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายให้อยู่ในเป้าหมายทั้งปีที่วางไว้

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2018 ธนาคารและบริษัทย่อย มีสินทรัพย์รวมจำนวน 3,155,091 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2017 จำนวน 254,250 ล้านบาท หรือ 8.76% ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของเงินลงทุนสุทธิ และการเติบโตของสินเชื่อ สำหรับเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (%NPL gross) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2018 อยู่ที่ระดับ3.34% ขณะที่สิ้นปี 2017 อยู่ที่ระดับ 3.30% อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2018 ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 160.60% จากระดับ 148.45% ณ สิ้นปี 2017 สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารกสิกรไทยตามหลักเกณฑ์ Basel IIIณ วันที่ 31 ธันวาคม 2018  อยู่ที่ 18.32% โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 15.90%

ไทยพาณิชย์ประกาศผลกำไรสุทธิประจำปี 2018 จำนวน 40,068 ล้านบาท

ธนาคารไทยพาณิชย์และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิในไตรมาส 4 ของปี 2018 จำนวน 7,084 ล้านบาท และกำไรสุทธิประจำปี 2018 จำนวน 40,068 ล้านบาท (งบการเงินรวมก่อนตรวจสอบ) ลดลง 7.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในปี 2018 รายได้จากการดำเนินงานของธนาคารยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีจำนวน 138,225 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.5% จากปีก่อน เป็นผลจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เติบโต 4.4% ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยปรับตัวลดลง 4.7% จากปีก่อน การยกเลิกค่าธรรมเนียมสำหรับธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัล การชะลอตัวของธุรกิจประกันภัย และการลดลงของค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศในครึ่งปีหลัง เป็นสาเหตุหลักของการลดลงของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของธนาคารเพิ่มสูงขึ้นจากการลงทุนอย่างต่อเนื่องในโครงการ Transformation ตลอดสามปีที่ผ่านมา ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้อยู่ที่ 46.8% ในปี 2018 ซึ่งอยู่ในระดับที่คาดการณ์ไว้ที่ 45-47% ทั้งนี้ ธนาคารคาดว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องเมื่อผลลัพธ์ของโครงการ Transformation ปรากฏเด่นชัดขึ้นตามลำดับตั้งแต่ปี 2019

ทั้งนี้จากสภาพเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนและความผันผวนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในปี 2019 รวมถึงแนวทางการดำเนินธุรกิจของธนาคารที่จะเน้นการเติบโตของสินเชื่อไม่มีหลักประกันและสินเชื่อในรูปแบบดิจิทัลธนาคารจึงให้ความสำคัญกับการดำเนินงานด้วยความรอบคอบและระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาส 4 ของปี 2018 ธนาคารได้ตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญรวม 8,871 ล้านบาท เพื่อรองรับผลกระทบจากความผันผวนที่อาจจะเกิดขึ้นดังกล่าว ส่งผลให้อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ สิ้นปี 2018 ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 147% เมื่อเทียบกับ 137% ในปีก่อน จากแนวโน้มเศรษฐกิจและการดำเนินธุรกิจของธนาคารในปี 2562 ธนาคารคาดว่าอัตราส่วนค่าใช้จ่ายหนี้สูญต่อสินเชื่อ (Credit cost) ในปี 2019 จะอยู่ในระดับ 1.15-1.35% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 1.15% ในปี 2018 ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2018 อัตราส่วน NPL อยู่ที่ 2.85% และเงินกองทุนตามกฎหมายของธนาคารยังอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 17.1%

ธนาคารได้ผลักดันการดำเนินงานโครงการ Transformation อย่างต่อเนื่องซึ่งมีความคืบหน้าอย่างเด่นชัด โดยมีจำนวนผู้ใช้งานดิจิทัล 9 ล้านรายในปี 2018 สำหรับแผนการดำเนินงานในอนาคตธนาคารจะมุ่งเน้นการสร้างคุณค่าจากโครงการ Transformation เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผ่านการผสมผสานความสามารถใหม่ต่าง ๆ ต่อยอดความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ รวมถึงพัฒนาecosystem และแพลตฟอร์มเพื่อนำเสนอคุณค่าสูงสุดแก่ลูกค้า โดยตั้งเป้าเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานดิจิทัลเป็น 12 ล้านรายภายในปี 2019  ทั้งนี้ด้วยเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อรวมที่ 5-7% ในปี 2019 ธนาคารมุ่งเน้นการขยายสินเชื่อของลูกค้าบุคคลและสินเชื่อธุรกิจขนาดเล็ก อาทิ บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล แสวงหาโอกาสในการเติบโตจากธุรกิจการบริหารความมั่งคั่ง และนำเทคโนโลยีดิจิทัลภายใต้โครงการ Transformation มาใช้ เพื่อลดต้นทุนในการให้บริการและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

นายอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธุรกิจหลักของธนาคารยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง แม้ว่ากำไรสุทธิมีการปรับตัวลดลงจากปีก่อน โดยธนาคารยังคงขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการขยายฐานลูกค้าและการใช้งานบนระบบดิจิทัลที่เติบโตอย่างมาก ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานยังคงอยู่ในระดับสูงจากการลงทุนในโครงการ Transformation ซึ่งคาดว่าอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จะปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นลำดับ สำหรับแผนการดำเนินงานในอนาคต ธนาคารมุ่งเน้นการสร้างคุณค่าจากโครงการTransformation ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อสร้างประสบการณ์ดิจิทัลรูปแบบใหม่และส่งมอบคุณค่าที่แตกต่างให้กับลูกค้า พร้อมทั้งสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ผลักดันแนวคิดและวิธีการทำงานที่ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมทั้งความรวดเร็วในการปรับตัว การเรียนรู้และการลองผิดลองถูก รวมถึงยึดมั่นในการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม ท่ามกลางความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงรอบด้าน ธนาคารยังคงมุ่งมั่นที่จะเป็น 'ธนาคารที่น่าชื่นชมที่สุด' และเป็นผู้นำในการวางรูปแบบการดำเนินธุรกิจการธนาคารของประเทศไทยในอนาคต

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

งานวิจัย Accenture ชี้พนักงาน 60% กลัวตกงานเพราะ Gen AI องค์กรควรปรับระบบให้ใช้ AI ได้เต็มประสิทธิภาพ

แม้พนักงานจะเห็นคุณค่าในการทํางานร่วมกับ Generative AI แต่เกือบ 60% กังวลว่าจะตกงาน ข้อมูลนี้มาจากรายงาน 'Work, work, workers: Reinvented in the age of generative AI' ของ Accentur...

Responsive image

KTB ตั้ง ‘กรุงไทย เวนเจอร์ส’ ลุยธุรกิจ Venture Capital

KTB แจ้งตลาดหลักทรัพย์เย็นวานนี้ว่า บริษัท กรุงไทยแอดไวซ์เซอรี่ จำกัด (KTA) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ธนาคารถือหุ้น 99.99% และเป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคาร ได้จดทะเบียนจัดต...

Responsive image

ttb เปิดตัว 7 ผู้บริหารรุ่นใหม่นำทัพ ทรานส์ฟอร์มองค์กรรอบด้าน เร่งยกระดับประสบการณ์ด้านการเงินแบบไร้รอยต่อ

ทีทีบี (ttb) ปรับโครงสร้างองค์กรรอบด้าน ส่งคนรุ่นใหม่ 7 ผู้บริหารระดับสูง นำทัพขับเคลื่อนกลยุทธ์ มุ่งเจาะกลุ่มคนมีรถ คนมีบ้าน มนุษย์เงินเดือน และลูกค้า Wealth...