ธุรกิจเคมิคอลส์ในเอสซีจี (SCG Chemical) ต่อยอดโครงการผลิตไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำในรูปแบบโซลูชั่นครบวงจร ล่าสุดได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อร่วมวิจัยและพัฒนาระบบยึดโยงสำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ เพื่อนำไปปรับใช้บนพื้นที่อ่างเก็บน้ำและเขื่อนของ กฟผ. ต่อไป
รองผู้ว่าการพลังงานหมุนเวียนและพลังงานใหม่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย คุณสหรัฐ บุญโพธิภักดี กล่าวว่า “พลังงานหมุนเวียนเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสนใจ และมีอัตราการเติบโตสูงถึง 25% โดยเฉพาะอย่างยิ่งโซล่าร์เซลล์ที่มีอัตราการเติบโตมากที่สุด ซึ่งการทำโซล่าร์ฟาร์มขนาดใหญ่โดยทั่วไปนั้นต้องใช้ที่ดินขนาดใหญ่ กฟผ. และกระทรวงพลังงานจึงมีแนวคิดในการพัฒนาโซล่าร์ฟาร์มลอยน้ำ ประกอบกับเอสซีจีมีความรู้และประสบการณ์ในการพัฒนาทุ่นลอยน้ำสำหรับการผลิตไฟฟ้าโดยเซลล์แสงอาทิตย์ และมีชื่อเสียงด้านการวิจัยและพัฒนาในระดับโลก จึงเป็นที่มาของความร่วมมือเพื่อศึกษาพัฒนาระบบยึดโยงที่มีประสิทธิภาพสำหรับใช้งานในพื้นที่อ่างเก็บน้ำและเขื่อนของกฟผ. ที่มีอยู่หลายแห่ง โดยความร่วมมือในครั้งนี้นับเป็นงานวิจัยด้านพลังงานแสงอาทิตย์โดยคนไทย เพื่อคนไทยอย่างแท้จริง”
ส่วนคุณสมชาย หวังวัฒนาพาณิช Senior Vice President ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ระบุว่า “งานวิจัยระบบโซล่าร์ฟาร์มลอยน้ำนับเป็นเรื่องใหม่ของประเทศไทย ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นความท้าทายของทั้งเอสซีจี และกฟผ. โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาระบบยึดโยงที่มีประสิทธิภาพสำหรับการวางโซล่าร์ฟาร์มลอยน้ำบนพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิศาสตร์ ทั้งคลื่นลมและความลึก ซึ่งแตกต่างจากโซล่าร์ฟาร์มของเอสซีจีที่เคยทำมา เราเชื่อมั่นว่า ด้วยความสามารถของบุคลากรทั้งสองฝ่าย จะสามารถพัฒนาระบบยึดโยงที่มีประสิทธิภาพได้อย่างแน่นอน และความท้าทายนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานของไทยให้ก้าวสู่พลังงานสะอาดต่อไป”
ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ให้บริการโซล่าร์ฟาร์มลอยน้ำในรูปแบบโซลูชั่นครบวงจรเป็นรายแรกของประเทศไทย ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การออกแบบพื้นที่ การติดตั้ง การขออนุญาต การต่อระบบไฟ และการดูแลบำรุงรักษา มีจุดเด่นที่ตัวทุ่นลอยน้ำที่ติดตั้งง่าย ใช้พื้นที่ติดตั้งน้อยกว่าทุ่นลอยน้ำแบบอื่น ๆ โดยทุ่นลอยน้ำเอสซีจีผลิตจากเม็ดพลาสติกพอลิเอทิลีนเกรดพิเศษ แข็งแรง ทนทาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีอายุการใช้งานยาวนานกว่า 25 ปี เทียบเท่าอายุการใช้งานของแผงโซล่าร์ ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงก่อนที่แผงโซล่าร์จะหมดอายุการใช้งาน
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด