แม้ว่าช่วงนี้จะเป็นช่วงที่การลงทุนเกิดการชะลอตัว แต่ไม่ใช่สำหรับ ‘สิงคโปร์’ ที่กำลังผงาดขึ้นอย่างเงียบๆ ในฐานะศูนย์กลางเทคโนโลยีระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้าน “Deep Tech” ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เกิดจากงานวิจัยเชิงลึกในสาขาต่างๆ เช่น ยานยนต์ไร้คนขับ เซมิคอนดักเตอร์ หุ่นยนต์ และเภสัชภัณฑ์ ซึ่งกำลังได้รับเงินระดมทุนครั้งใหญ่จากนักลงทุนที่หลั่งไหลมาจากทั่วโลก ทั้งสหรัฐฯ ไต้หวัน ญี่ปุ่น
ตัวอย่างเช่น Moovita สตาร์ทอัพสิงคโปร์ ได้รับใบอนุญาตให้บริการรถโดยสารไร้คนขับในจีน แม้จะต้องแข่งขันกับบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีนก็ตาม นี่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของสตาร์ทอัพ Deep Tech จากสิงคโปร์ในเวทีโลก
การแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ และจีน และการปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทานโลก ทำให้หลายประเทศต้องการพึ่งพาตนเองมากขึ้นในด้านเทคโนโลยีสำคัญ สิงคโปร์จึงฉวยโอกาสนี้ในการพัฒนาอุตสาหกรรม Deep Tech โดยเฉพาะในด้านเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งมีความสำคัญต่อความมั่นคงของชาติ
เมื่อปี 2023 ที่ผ่านมา ปริมาการลงทุนใน Deep Tech ที่สิงคโปร์เพิ่มขึ้นเป็น 31% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สวนทางกับปริมาณการลงทุนที่ลดลง 20% ซึ่งด้วยปริมาณการลงทุนที่เพิ่มขึ้นใน Deep Tech ส่งผลให้สิงคโปร์ก้าวกระโดดสู่ประเทศอันดับต้นๆ ที่เต็มไปด้วย Ecosystem ของสตาร์ทอัพ โดยขยับจากอันดับที่ 18 ในปี 2022 มาเป็นอันดับที่ 7 ในปี 2024 ซึ่งนับว่าเป็นอันดับสูงสุดของประเทศในเอเชีย
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สิงคโปร์ได้เติบโตขึ้นเป็นหนึ่งในกลุ่มสตาร์ทอัพที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย โดยเป็นที่ตั้งของบริษัทรุ่นใหม่ประมาณ 4,500 แห่ง และบริษัทเงินร่วมลงทุน (VC) กว่า 400 แห่ง มีฐานการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ และวิศวกรเกือบ 40,000 คน โดยเป็นผลมาจากรากฐานที่แข็งแกร่งของประเทศทั้งในเรื่องของทำเลที่ตั้ง การสนับสนุนจากรัฐบาล และนโยบายภาษีที่เอื้ออำนวย สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เติบโต
อีกหนึ่งสิ่งที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตคือ กิจกรรมต่างๆ เช่น Singapore Week of Innovation and Technology (SWITCH) ซึ่งในปีที่แล้วดึงดูดผู้เข้าร่วมได้ 15,000 คน รวมถึง Research, Innovation and Enterprise (RIE) Deep Tech Day ซึ่งรวมนักวิจัยและผู้มีบทบาทในอุตสาหกรรม ที่พร้อมหารือเกี่ยวกับวิธีการยกระดับ Ecosystem ที่กำลังเติบโต
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นที่รู้จักในด้านเทคโนโลยีผู้บริโภค เช่น อีคอมเมิร์ซ การเรียกรถ และการชำระเงิน ซึ่งทั้งหมดได้รับผลกระทบจากภาวะเงินทุนตกต่ำ สำหรับช่วงเดือนมกราคมถึงมิถุนายน เงินทุนในภูมิภาคมีมูลค่ารวม 2.29 พันล้านดอลลาร์ ลดลง 36% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามข้อมูลของ DealStreetAsia และลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 5 ปี
สาเหตุที่เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้อย่างหนักหน่วงในสิงคโปร์ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานที่ทำให้รัฐบาลต้องการคว้าโอกาสนี้ไว้ ซึ่งหนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัดสุดคือ การพัฒนาวัคซีน mRNA ที่ทำให้ทั่วโลกสามารถต่อสู้กับ COVID-19
ปีที่แล้ว ดีลการลงทุนด้านดีพเทคที่ใหญ่ที่สุดในสิงคโปร์คือ 139 ล้านดอลลาร์ที่ระดมทุนโดย Silicon Box บริษัทเซมิคอนดักเตอร์ในสิงคโปร์ ซึ่งมีแผนที่จะตั้งโรงงานผลิตชิปมูลค่า 3.2 พันล้านยูโรในอิตาลี หลังจากเปิดโรงหล่อมูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์ในสิงคโปร์เมื่อปีที่แล้ว
อ้างอิง : Nikkei https://asia.nikkei.com/Spotlight/ASEAN-Money/Singapore-s-quiet-rise-in-the-global-deep-tech-race
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด