Siriraj x MIT Hacking Medicine: จุดประกายนวัตกรรม เพื่อผู้สูงวัยในโลกยุคใหม่ | Techsauce

Siriraj x MIT Hacking Medicine: จุดประกายนวัตกรรม เพื่อผู้สูงวัยในโลกยุคใหม่

โครงการ Siriraj x MIT Hacking Medicine เกิดขึ้นจากความร่วมมือของสองสถาบันชั้นนำ  ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล  เสาหลักด้านการแพทย์ของไทย และสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT)  สถาบันการศึกษาชั้นนำของสหรัฐอเมริกา โดยมีเป้าหมายสำคัญในการจุดประกายนวัตกรรมสุขภาพ เพื่อผู้สูงวัยในอนาคต และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในประเทศไทย พร้อมขยายผลลัพธ์ที่ดีไปสู่ประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้   

ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว จำนวนประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนำมาซึ่งความท้าทายใหม่ๆ ทางด้านการดูแลสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็น ภาวะโรคเรื้อรังที่เพิ่มสูงขึ้น ความต้องการการดูแลสุขภาพในระยะยาว  รวมถึงปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ดังนั้น การเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวด โดยการผนึกกำลังกันระหว่างความเชี่ยวชาญทางการแพทย์ของศิริราช และศักยภาพด้านเทคโนโลยีของ MIT จะช่วยสร้างสรรค์โซลูชั่นที่ตอบโจทย์ และพร้อมรับมือกับความท้าทายของสังคมผู้สูงอายุได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 ศ. นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวเปิดโครงการ Siriraj x MIT

ผู้ร่วมจัดโครงการและผู้สนับสนุน

โดยความสำเร็จของโครงการ Siriraj x MIT Hacking Medicine เกิดจากความร่วมมืออย่างแข็งขันของหลากหลายภาคส่วน โดยมีทั้งสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) หน่วยงานภาครัฐที่ให้การสนับสนุนด้านการพัฒนานวัตกรรมและการสร้างระบบนิเวศ, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ให้การสนับสนุนด้านองค์ความรู้ทางการแพทย์, สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ผู้บุกเบิกด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี, Huawei Thailand Cloud Business ผู้ให้บริการเทคโนโลยีคลาวด์ที่ช่วยเสริมศักยภาพในการจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่, ธนาคารกรุงไทย สถาบันการเงินชั้นนำที่ให้การสนับสนุนด้านเงินทุนและบริการทางการเงิน, บริษัท CloudNurse.Co ผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม telehealth ที่ช่วยให้ผู้สูงอายุเข้าถึงบริการสุขภาพได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น, รวมถึงบริษัท Insurverse Insurance และ บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) บริษัทประกันภัยที่เล็งเห็นความสำคัญของการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุและร่วมสนับสนุนโครงการ

งานสัมมนาเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ

ก่อนการแข่งขัน Hackathon โครงการ Siriraj x MIT Hacking Medicine ได้จัดงานสัมมนาเชิงวิชาการ ในวันที่ 29 ตุลาคม 2567 ณ โรงพยาบาลศิริราช เพื่อปูพื้นฐานความรู้ และสร้างแรงบันดาลใจ โดยเปรียบเสมือน  "การเตรียมความพร้อม ก่อนออกเดินทางไกล" โดยมีผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และผู้บริหารระดับสูง มาร่วมแบ่งปันความรู้ และประสบการณ์ โดยมีหัวข้อที่น่าสนใจ ดังนี้

ศาสตราจารย์ Deborah J. Lucas และ ดร. วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์  กำลังประชุมในหัวข้อ Sustainable Pension Scheme for Developing Countries 

Transitioning Healthcare Data for the Age of AI

หัวข้อนี้ได้นำเสนอ แนวทางการนำ AI มาใช้ในการจัดการข้อมูลทางการแพทย์ ตั้งแต่การรวบรวม การวิเคราะห์ การประมวลผล ไปจนถึงการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ เช่น การวินิจฉัยโรค การพัฒนาเภสัชภัณฑ์ และการดูแลสุขภาพส่วนบุคคล ตัวอย่างเช่น การใช้ AI ในการวิเคราะห์ภาพถ่ายทางการแพทย์ เพื่อตรวจหาความผิดปกติ หรือการใช้ AI ในการพัฒนา chatbot เพื่อให้คำปรึกษาทางการแพทย์

โดยมี คุณ Dorothea Koh (ซีอีโอและ Co-founder ของบริษัท Bot MD): ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI และ Healthcare, คุณกมลวัทน์ สุขสุเมฆ (ซีอีโอ ของบริษัท H Lab): ผู้นำด้าน HealthTech ในประเทศไทย และ ผศ. ดร. ประพัฒน์ สุริยผล (รองคณบดีฝ่ายสารสนเทศ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล) ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบสารสนเทศทางการแพทย์เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย

Healthcare Policies: How Developing Countries Should Prepare for Aging Population

นอกจากเรื่องของการจัดการข้อมูลแล้ว ยังมีการถกเถียงเกี่ยวกับนโยบายด้านการดูแลสุขภาพ สำหรับประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเตรียมความพร้อมรับมือกับสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นความท้าทายระดับโลก มีการอภิปรายครอบคลุม ประเด็นสำคัญต่างๆ เช่นระบบประกันสุขภาพ การพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ การส่งเสริมการเข้าถึงบริการสุขภาพ และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ

โดยมี Dr. Cheong Wei Yang (รองอธิการบดี Singapore Management University): ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสาธารณสุข และ ผศ.นพ. สนั่น วสันต์ศักดิ์ชัย (รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช): ผู้บริหารโรงพยาบาล และ นพ. พณะ จันทรกมล (ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลในเครือบางปะกอก): ผู้บริหารโรงพยาบาลเอกชนเป็นผู้ดำเนินการอภิปราย

Innovation to Serve Geriatric Healthcare

หัวข้อนี้เป็นการบรรยายโดย โดย ศ. นพ. ประเสริฐ อัสสันตชัย (ผู้เชี่ยวเชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุและนายกสมาคมพฤฒาวิทยาและเวชศาสตร์ผู้สูงอายุไทย) นับเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ได้มาให้ความรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงอายุ สามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระ ปลอดภัย และสะดวกสบายได้

นอกจากหัวข้อเหล่านี้แล้ว ภายในงานยังมีสัมมนาในประเด็นอื่นๆ ที่น่าสนใจ อีกมากมาย ซึ่งจัดขึ้นก่อนเริ่มกิจกรรม Hackathon ในวันถัดไป

ดร. สุธี โมกขะเวส ดร. อุกฤษ อังควินิจวงศ์ รศ.นพ. ตรงธรรม ทองดี และ ดร. ธนเดช ช่วงสุวนิช                                             กำลังประชุมในหัวข้อ Scaling Aged Care using AI

การแข่งขัน Hackathon

หลังจากเสร็จสิ้นการเตรียมความพร้อม ก็ถึงเวลา Hackathon ซึ่งจัดภายใต้ความร่วมมือของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT)  ระหว่างวันที่ 1-3 พฤศจิกายน โดยการแข่งขันครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากคนรุ่นใหม่ หลากหลายสาขา ตั้งแต่นักศึกษาแพทย์ วิศวกร นักออกแบบ ไปจนถึงนักธุรกิจ โดยมีผู้สมัครเข้าร่วมกว่า 963 คน และผ่านการคัดเลือกอย่างเข้มข้น จนเหลือเพียง 149 คน ที่เปี่ยมไปด้วย ความสามารถ และไอเดียที่สร้างสรรค์ สามารถต่อยอดนวัตกรรมเพื่อยกระดับการดูแลผู้สูงอายุในประเทศกำลังพัฒนาได้

งาน Hackathon เริ่มต้นด้วยคำกล่าวเปิดงานจาก ศ. นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล  ที่กล่าวถึงความพิเศษของ Hackathon ครั้งนี้  ซึ่งเป็นครั้งแรกที่โรงพยาบาลศิริราชได้จัดกิจกรรม Hackathon ร่วมกับ MIT ด้านคุณ Zen Chu ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการของ MIT Hacking Medicine Initiative  ก็ได้กล่าวแสดงความเชื่อมั่นในศักยภาพของผู้เข้าร่วมทุกคน พร้อมตั้งความหวังว่า Siriraj X MIT Hackathon จะเป็นจุดเริ่มต้นของโซลูชั่นที่จับต้องได้  และสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุได้อย่างแท้จริง

โจทย์การแข่งขัน แบ่งออกเป็น 2 หัวข้อหลัก คือ

  1. Aging in Place : การสร้างสรรค์แนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อสนับสนุนผู้สูงอายุให้สามารถใช้ชีวิตอย่างอิสระที่บ้านได้
  2. Geriatric Care : การพัฒนาการเข้าถึงบริการดูแลเฉพาะทางและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับความชรา

รางวัลสำหรับทีมที่ชนะเลิศ:

  • ผู้ชนะ (Track 1 และ Track 2): เงินรางวัล 40,000 บาท และเครดิตคลาวด์มูลค่า 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ
  • รองชนะเลิศอันดับ 1 (Track 1 และ Track 2): เงินรางวัล 20,000 บาท และเครดิตคลาวด์มูลค่า 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ
  • รองชนะเลิศอันดับ 2 (Track 1 และ Track 2): เงินรางวัล 10,000 บาท และเครดิตคลาวด์มูลค่า 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากรางวัลข้างต้น ยังมีรางวัลพิเศษ "Social Enterprise Prize" มูลค่า 20,000 บาท มอบให้กับทีมที่นำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพสูงสุดและอุทิศตนเพื่อการเปลี่ยนแปลงการดูแลผู้สูงอายุในประเทศกำลังพัฒนา

ผลการแข่งขัน

การแข่งขัน Hackathon ในครั้งนี้ ถือเป็น  "เวทีประชันไอเดีย" ที่เข้มข้น และ น่าตื่นเต้น โดยแต่ละทีม ได้โชว์ศักยภาพกันอย่างเต็มที่ โดยมีผลการแข่งขันดังนี้

ทีมที่ชนะเลิศ – Track 1 –  Aging in Place :

  1. ผู้ชนะ: ทีม FallAIDE (นรบดี สิริเพ็ญโสภา, Jawad Afthab, ร่มฤดี พิศาลพงศ์ และ Joshua Lee Jia Le) ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการพัฒนาแว่นตาอัจฉริยะที่สามารถตรวจจับการล้ม แล้วส่งสัญญาณเตือนภัยไปยังผู้ดูแลหรือหน่วยฉุกเฉินได้ทันที
  2. รองชนะเลิศอันดับ 1: ทีม Moo Deng (สุขปวัตน์ เมืองสมบัติ, เขมจิรัฎฐ์ เฮงสวัสดิ์, พชร วิภาตะพันธุ์ และ ญาณิศา พงศ์สุประดิษฐ์) ได้คิดค้นสิ่งทอจากพืชที่ใช้เทคโนโลยี Microcurrent (คลื่นกระแสไฟฟ้าพลังงานต่ำ) เพื่อรักษาแผลกดทับได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในราคาที่เข้าถึงได้
  3. รองชนะเลิศอันดับ 2: ทีม Bytables (มนตรี มีสีผ่อง, ศศธร ศิริกุลสถิตย์, บุริศร์ ฟองเรือน Chanchai Chan และ Aden Barcroft) นำเสนอบริการจัดส่งอาหารสำหรับผู้สูงอายุ ที่ใช้ AI และข้อมูล ช่วยให้การจัดส่งอาหารเป็นเรื่องง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น

ทีมที่ชนะเลิศ – Track 2 – Geriatric Care :

  1. ผู้ชนะ: ทีม OITEP (พัฒนะ ลี, กษิดิศ วิบูลย์เกียรติ, พงศ์ปณต เกษมบุญญากร และ กันต์ธีร์ ดวงมณี) พัฒนาแผนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคเกลือสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังและความดันโลหิตสูง โดยใช้เทคโนโลยีกลิ่น ช่วยลดความเสี่ยงของโรคแทรกซ้อนต่างๆ
  2. รองชนะเลิศอันดับ 1: ทีม EverWell (ชฎา มหาดำรงค์กุล, สิรภพ เสกสรรค์วิริยะ, ณัฐชลินท์ เคนถาวร, พฤทธิ์เสาวพฤทธิ์ และ อรุชา เขมทโรนนท์) สร้างแพลตฟอร์มที่ช่วยให้ผู้ดูแลผู้สูงอายุในครอบครัว  สำหรับผู้ที่ไม่ได้รับการฝึกอบรมมาก่อน  สามารถดูแลผู้สูงอายุได้อย่างปลอดภัยยิ่งขึ้น ด้วยเครื่องมือจัดตารางเวลา  แหล่งข้อมูลความรู้  และระบบจัดการเอกสารต่างๆ
  3. รองชนะเลิศอันดับ 2: ทีม Home Rehab (นพ. ชินะโชติ ลิขิตสมบูรณ์, ดร.เพชร เจียรนัยศิลาวงศ์, ปนรรฐพร ตังกวย, ธนพร สุคนธชาติ และ อัจฉริยา โรจน์บัณฑิต) เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาการเดินทางไปโรงพยาบาลของผู้สูงอายุ ด้วยการนำบริการฟื้นฟูสมรรถภาพเฉพาะทางมาให้ถึงบ้าน

ทีมผู้ชนะการแข่งขัน Hackathon ถ่ายรูปร่วมกับบรรดาแขกผู้มีเกียรติช่วงพิธีปิดโครงการ

นอกจากนี้ ยังมีรางวัลพิเศษ "Social Enterprise Prize" มูลค่า 20,000 บาท มอบให้กับทีมที่นำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพสูงสุดและอุทิศตนเพื่อการเปลี่ยนแปลงการดูแลผู้สูงอายุในประเทศกำลังพัฒนา โดยมีทีมผู้ได้รับรางวัลดังกล่าวไปถึงสองทีม ดังนี้

  • ทีม MedShare นำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาการเข้าถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ขาดแคลนและมีราคาสูง ด้วยการทำระบบศูนย์ให้เช่าอุปกรณ์ทางการแพทย์
  • ทีม BBETS: ชุดตรวจสุขภาพ สำหรับผู้ป่วยที่บ้าน ช่วยให้  "ตรวจสุขภาพ ได้ง่ายๆ ที่บ้าน" โดยไม่ต้องเดินทาง ไปโรงพยาบาล

ช่วงท้ายของงาน มีการมอบรางวัล “Golden Ticket” ให้กับ 3 ผู้เข้าร่วมที่โดดเด่น ได้แก่

  • คุณธีรธาดา จินดาชะโป
  • คุณชฎา มหาดำรงค์กุล
  • คุณณัฐชลินท์ เคนถาวร

โดยรางวัลนี้ประกอบด้วย ตั๋วเครื่องบินและที่พักสำหรับเข้าร่วมงาน MIT Hacking Medicine Grand Hack ณ เมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 14-16 มีนาคม 2568 พร้อมบัตรเข้างาน Techsauce Global Summit 2025 มอบโดย บริษัท Techsauce

อดีตนายกรัฐมนตรี คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กำลังมอบรางวัลให้แก่ผู้ชนะ Golden Ticket

โดยในช่วงสุดท้าย อดีตนายกรัฐมนตรี คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยังได้มอบรางวัล Social Enterprise Award และได้กล่าวสุนทรพจน์ในพิธีปิดของงาน ชื่นชมความคิดสร้างสรรค์และความมุ่งมั่นของเยาวชน ที่ร่วมกันคิดค้นโซลูชั่นเพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญของผู้สูงอายุ โดยคุณอภิสิทธิ์เชื่อมั่นว่า โครงการนี้จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในประเทศไทยได้อย่างแท้จริง

Siriraj x MIT Hackathon เป็นเวทีสำคัญที่ช่วยผลักดันให้เกิดนวัตกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการของประชากรสูงอายุในประเทศกำลังพัฒนา โดยนอกจากจะได้โซลูชั่นล้ำสมัยแล้ว  ยังเป็นการสร้างเครือข่ายนักนวัตกรรมที่มุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย ความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลศิริราชและ MIT ในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงพลังของการผสานความเชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านการดูแลสุขภาพ ที่สามารถสร้างประโยชน์ได้จริงในระดับสากล

ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์: www.SirirajxMITHackingMedicine.com หรือติดต่อ [email protected]

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Apple เสนอลงทุนในอินโดฯ เพิ่ม 10 เท่า มูลค่าพันล้านดอลลาร์สหรัฐ สู้ปลดแบน iPhone 16

Apple ทุ่มสุดตัว! เพิ่มเงินลงทุนในอินโดนีเซีย 10 เท่า เป็น 1,000 ล้านดอลลาร์ จากเดิม 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หลังข้อเสนอเดิมถูกปัดตก เป้าหมายปลดแบนการขาย iPhone 16 ในอินโดฯ ให้สำเร็จ...

Responsive image

AWS เปิดตัว Nova ตระกูลโมเดล AI มัลติโมเดลใหม่ล่าสุด

ในงาน re:Invent เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา Amazon Web Services (AWS) ซึ่งเป็นแผนกคลาวด์คอมพิวติ้งของ Amazon ได้ประกาศเปิดตัวตระกูลโมเดล AI แบบมัลติโหมดใหม่ภายใต้ชื่อ Nova...

Responsive image

เกาหลีใต้เปิดศูนย์ KTSC ในไทย หวังปั้นกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลาง Travel Tech แห่งสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

กระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวเกาหลีใต้ ร่วมกับ องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาหลี (KTO) เปิดตัว "ศูนย์ส่งเสริมผู้ประกอบการสตาร์ทอัพด้านการท่องเที่ยวเกาหลี" หรือ Korea Touri...