บริษัท โซนี่ กรุ๊ป ประกาศเริ่มดำเนินการผลิตที่โรงงานผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์แห่งใหม่ในประเทศไทย โดยโรงงานแห่งนี้จะช่วยเพิ่มกำลังการผลิตเซ็นเซอร์ภาพสำหรับยานยนต์ ซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างมากในยุคที่ระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ (ADAS : Advanced Driver Assistance Systems) กำลังได้รับความนิยม
โซนี่ กรุ๊ป ได้ลงทุนในโรงงานดังกล่าวด้วยเม็ดเงินราว 10,000 ล้านเยน หรือประมาณ 2,400 ล้านบาท เพื่อขยายความสามารถด้านการผลิตจากโรงงานเดิม 70% และคาดว่าจะช่วยสร้างงานใหม่ได้มากถึง 2,000 ตำแหน่งภายในปี 2569 โดย 20% ของตำแหน่งใหม่จะเป็นกลุ่มวิศวกร
การเติบโตของเทคโนโลยีขับเคลื่อนอัตโนมัติ ส่งผลให้ความต้องการของเซ็นเซอร์ภาพในตลาดโลกกำลังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยโซนี่ ตั้งเป้าคว้าส่วนแบ่งตลาดเซ็นเซอร์ภาพสำหรับรถยนต์ 39% ภายในปี 2568 ซึ่งจะทำให้ไทยเป็นหนึ่งในฐานการผลิตที่สำคัญ และน่าจับตามอง เนื่องจากเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่โซนี่เปิดโรงงานผลิตเซ็นเซอร์ภาพ และเซมิคอนดักเตอร์
นอกจากการผลิตเซ็นเซอร์ภาพสำหรับระบบ ADAS ในการตรวจจับคนเดินเท้า และสิ่งกีดขวางสำหรับรถยนต์แล้ว โรงงานแห่งนี้จะรับหน้าที่ในการผลิตไดโอดเลเซอร์แบบใหม่สำหรับใช้ในฮาร์ดดิสไดรฟ์ความจุสูง ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ถูกใช้ในศูนย์ข้อมูล หรือ Data Center ซึ่งมีบริษัท ซีเกท เทคโนโลยี บริษัทอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลสัญชาติสหรัฐฯ เป็นคู่ค้ารายสำคัญ
การลงทุนครั้งนี้ถือว่าน่าจับตามอง เพราะไทยกำลังเผชิญปัญหาด้านการแข่งขันของ ‘สินค้าโลกใหม่’ ตามการวิเคราะห์ของ KKP Research โดยในตอนนี้ไทยกำลังเป็นฐานการผลิตสินค้าที่มีความสามารถด้านการแข่งขันของ ‘สินค้าโลกเก่า’ ที่มีความต้องการลดลงเรื่อย ๆ จากการมาถึงของเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น ขณะที่เพื่อนบ้านอย่าง ‘เวียดนาม’ และ ‘มาเลเซีย’ กำลังมีความสามารถด้านการแข่งขันบนตลาดโลกในกลุ่มสินค้าดังกล่าว (อ่านบทวิเคราะห์เพิ่มเติมได้ที่นี่)
นอกจากนี้ การลงทุนของโซนี่ กรุ๊ป ยังอาจเป็นการสร้างโอกาสสำคัญของเศรษฐกิจไทยด้านการส่งเสริมเทรนด์โลกใหม่ เนื่องจาก ‘เซ็นเซอร์ภาพ’ เป็นส่วนประกอบสำคัญของเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่าง รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่มีระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่เป็นหัวใจสำคัญ รวมทั้งอาจเป็นการกระตุ้นให้บริษัทอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกันเข้ามาลงทุนในไทย ที่สำคัญอาจเป็นโอกาสที่ดีในการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาทักษะแรงงานในประเทศ รวมถึงการพัฒนา supply-chain เพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ
แต่ไทยจะยังคงติดกับดักการรับจ้างผลิตแบบ OEM และไม่สามารถพัฒนานวัตกรรมของตัวเองหรือไม่นั้น คงต้องจับตาดูกันในระยะยาว
การลงทุนครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับเศรษฐกิจไทย แต่หากไทยต้องการคว้าโอกาสนี้ให้เต็มที่ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
ที่มา : Nikkei, KKP Research, Sony
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด