NIA ริเริ่มโครงการ Accelerator Program ร่วมกับ AGW Group จากอิสราเอล
NIA หรือ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์มหาชน) หรือ สนช. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ AGW Group ซึ่งเป็นกลุ่มนักลงทุนจากประเทศอิสราเอล เปิดตัวโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพ “Global Accelerator Program” ขึ้น ภายใต้ชื่อ “สปาร์ค (SPARK)” เปิดตัวครั้งแรกวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2017 และเปิดรับสมัครสตาร์ทอัพไปจนถึงวันที่ 15 มีนาคม 2017

เรียงจากซ้ายไปขวา: นายวิเชียร สุขสร้อย ผู้จัดการฝ่ายอาวุโส สนช. และหัวหน้าโครงการ SPARK, ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สนช., นางสาวอีเดน โพซิน ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจและการค้า สถานเอกอัครราชฑูตอิสราเอลประจำประเทศไทย และ นายอีธาน เลวี ประธานบริษัท AGW Group
การบ่มเพาะและรางวัลของ SPARK Global Accelerator Program
SPARK Global Accelerator Program จะรวบรวมผู้เชี่ยวชาญต่างชาติในหลายสาขา มาร่วมเป็นวิทยากรและเป็นที่ปรึกษาแบบตัวต่อตัวให้แก่สตาร์ทอัพที่เข้าร่วมการฝึกอบรม 8 สัปดาห์ ที่จะจัดขึ้น ณ อาคารอุทยานนวัตกรรม สนช.
ทุกๆ บริษัทที่ผ่านการคัดเลือกจำนวน 12 ทีม จะได้เข้าร่วมการบ่มเพาะโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ และได้แนะนำธุรกิจของบริษัทในงาน Startup Thailand 2017 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 6 – 9 กรกฎาคม 2560 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยในวันงานจะเป็นวัน Demo Day ที่ทุกทีมจะได้นำเสนอต่อหน้าคณะกรรมการและนักลงทุน และมีการตัดสินคัดเลือกผู้ชนะ และหลังจบโครงการจะมีบริการให้คำปรึกษาแก่สตาร์ทอัพที่ร่วมโครงการต่อเป็นเวลา 24 เดือน
บริษัทที่ชนะการประกวดแผนธุรกิจในรอบสุดท้าย จะมีโอกาสได้เดินทางไปพบกับนักลงทุนหรือบริษัทกองทุนร่วมทุน และศึกษาดูงานในศูนย์บ่มเพาะชั้นนำของโลก เช่น Google, Barclays ในประเทศอิสราเอล รวมถึงช่วงแนะนำธุรกิจของบริษัทในงาน Startup Thailand 2017 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 6 – 9 กรกฎาคม 2560 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
กลุ่มเป้าหมาย และเป้าหมายของโครงการ
"เกณฑ์การคัดเลือกคือ เน้นสตาร์ทอัพที่มีโปรดักส์เรียบร้อย และทำเป็นธุรกิจจริงแล้ว มีรายได้ต่อปีแล้วตั้งแต่หนึ่งแสนบาท ไปจนถึงไม่เกินยี่สิบล้านบาท หรือสตาร์ทอัพที่อยู่ในช่วง Seed ไปจนถึง Pre-Series A" นายวิเชียร สุขสร้อย ได้ให้สัมภาษณ์รายละเอียดกับทีมเทคซอสเพิ่มเติม และเน้นย้ำว่า
การจัดทำ Accelerator ของสนช. ในครั้งนี้ มิใช่ทำเพื่อต้องการแข่งขันกันกับ Corporate Accelerators ต่างๆ แต่เป็นโครงการที่ทำเพื่อช่วยต่อยอดเพิ่มเติม โดยเราตั้งเป้าหมายไว้ว่าหลังจบโครงการ ทั้งหมด 12 ทีมนี้จะมีการเติบโตของธุรกิจมากขึ้น และมีอย่างน้อย 1 ทีม ที่จะได้รับเงินลงทุน ระดับ Series A
สำหรับ Sectors ที่ทางโครงการโฟกัส ประกอบไปด้วย 6 Sectors ได้แก่ FinTech, Cyber Security, E-commerce, IoTs, Big Data & Analytics และ Healthcare โดยเป็น Sectors ที่โครงการมีเครือข่ายวิทยากรที่เชี่ยวชาญ

รายละเอียดเพิ่มเติม + สมัครโครงการ
ผู้สนใจสามารถศึกษาเงื่อนไขเพิ่มเติมและสมัครได้ที่ spark.nia.or.th ตั้งแต่วันนี้ ถึง 15 มีนาคม โดยจะประกาศผลการคัดเลือกในวันที่ 21 มีนาคม และเริ่มการฝึกอบรมในวันที่ 27 มีนาคมนี้
รายชื่อเมนทอร์ และรายละเอียดโครงการในแต่ละสัปดาห์ จะทยอยทำการอัปเดตบนเว็บไซต์ spark.nia.or.th เช่นกัน
บทความแนะนำจากกองบรรณาธิการ

วิเคราะห์ 5 เหตุผลสู่เบื้องหลังความสำเร็จของธุรกิจ startup ในอิสราเอล

ประเทศไทย กับบทเรียนจากประเทศที่มีสตาร์ทอัปหนาแน่นที่สุดในโลก อย่างอิสราเอล