บมจ. ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายถุงมือยางรายใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก เร่งดำเนินการเพิ่มกำลังการผลิตติดตั้งเป็นกว่า 3 หมื่นล้านชิ้นต่อปีภายในปี 2563 เพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้ผลิตถุงมือยาง TOP 3 ของโลก และเพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมถุงมือยางทั่วโลกที่มีแนวโน้มเติบโตสูงจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมการแพทย์ และการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เตรียมเสริมความแข็งแกร่งด้านเงินทุนด้วยการเดินหน้าระดมทุนโดยการเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 444,780,000 หุ้น คาดว่าจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายในปีนี้
คุณจริญญา จิโรจน์กุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT หนึ่งในผู้ผลิตและจัดจำหน่ายถุงมือยางธรรมชาติและถุงมือยางไนไตรล์รายใหญ่ของโลก เปิดเผยว่า ปัจจุบัน STGT เป็นผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่ที่สุดในไทยและรายใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 บริษัทฯ มีกำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้น 27,153 ล้านชิ้นต่อปี จากโรงงาน 3 แห่ง ได้แก่ จังหวัดสงขลา สุราษฎร์ธานีและตรัง รวม 132 สายการผลิต และอยู่ระหว่างขยายกำลังการผลิตติดตั้งเป็นประมาณ 32,000 ล้านชิ้นต่อปีภายในปี 2563 รวมทั้งยังมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตติดตั้งอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาความเป็นผู้นำของการผลิตและจัดจำหน่ายถุงมือยางในตลาดโลกอย่างยั่งยืน
พร้อมกันนี้ได้จำหน่ายสินค้าในไทยและส่งออกกว่า 95 ประเทศทั่วโลก ภายใต้เครื่องหมายการค้าของบริษัทฯ บริษัทย่อย และกลุ่ม บมจ. ศรีตรัง แอโกรอินดัสทรี หรือ STA ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทฯ เช่น ศรีตรังโกลฟส์, SRI TRANG GLOVES, ซาโตรี่, I’M GLOVE ฯลฯ และรับจ้างผลิต (OEM) โดยผลประกอบการปี 2562 บริษัทฯ มีรายได้รวม 12,224.02 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 10.3% เมื่อเทียบกับปี 2561 และมีกำไรสุทธิในปี 2562 จำนวน 613.91 ล้านบาท
ปัจจุบัน บริษัทฯ แบ่งการดำเนินธุรกิจเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1. ธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายถุงมือยางธรรมชาติ (Latex Glove) ประกอบด้วยถุงมือยางธรรมชาติชนิดมีแป้ง (Latex Powdered Glove) และถุงมือยางธรรมชาติชนิดไม่มีแป้ง (Latex Powder Free Glove) และ 2. ธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายถุงมือยางไนไตรล์ (Nitrile Glove) ที่ผลิตจากน้ำยางสังเคราะห์ เพื่อใช้ทางการแพทย์และอุตสาหกรรมต่างๆ
นอกจากนี้ บริษัทฯ มีกลุ่ม บมจ.ศรีตรัง แอโกรอินดัสทรี ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายยางธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดในโลกเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ จึงเพิ่มความมั่นคงด้านการจัดหาวัตถุดิบและการควบคุมคุณภาพ ประกอบกับทำเลที่ตั้งของโรงงานที่อยู่ในแหล่งเพาะปลูกยางพารา จึงสามารถจัดหาน้ำยางต้นทุนต่ำ รวมทั้งได้นำเทคโนโลยีการผลิตแบบอัตโนมัติ (Automation) มาใช้ในบางสายการผลิต เพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานขาดแคลนในอนาคตและเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต
สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมถุงมือยางทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมาขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยมาจากการเติบโตของอุตสาหกรรมการแพทย์และการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสุขอนามัยของผู้บริโภคทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มีโอกาสเติบโตสูง อาทิ ทวีปเอเชียตะวันออก ทวีปเอเชียใต้ ทวีปแอฟริกา ทวีปอเมริกาใต้ ฯลฯ ทั้งนี้ สมาคมผู้ผลิตถุงมือยางแห่งมาเลเซีย หรือ Malaysian Rubber Glove Manufacturers Association (MARGMA) คาดการณ์ความต้องการถุงมือยางทั่วโลกในปี 2562 เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 300,000 ล้านชิ้น เติบโตเฉลี่ย 12% ต่อปี จากปี 2559 ที่มีความต้องการใช้ 212,000 ล้านชิ้นต่อปี
“นอกจากปัจจัยการเติบโตจากอุตสาหกรรมทางการแพทย์แล้ว คาดว่าสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ในปัจจุบันที่มีผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องใส่ใจสุขภาพและความปลอดภัยมากขึ้น จะส่งผลต่อความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพอนามัยเพิ่มขึ้น รวมถึงความต้องการการใช้ถุงมือยางอีกด้วย” คุณจริญญา กล่าว
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด