อีก 1 การสรุปเนื้อหาจากงาน Start it Up Conference ครั้งที่ 8 ในหัวข้อ The Rising of IoT (Internet of Things) ซึ่งเป็นการสนทนาพูดคุยกับ 2 ผู้คลุกคลีในวงการ IoT โดย คุณภัทรพร โพธิ์สุวรรณ (มิว) และคุณกุลนันท์ กุลวงศ์ (ผักกาด)
Maker Zoo - คุณภัทรพร โพธิ์สุวรรณ (มิว)
- Internet of Things คือการเชื่อมวัตถุต่างๆ เข้ากับอินเตอร์เน็ตหรือเทคโนโลยี โดยถ้ามองให้เห็นภาพที่ Maker Zoo ทำคือ เมื่อเรานึกถึงแผ่นโยคะ เราคงคาดไม่ถึงว่าแผ่นโยคะจะสามารถทำอะไรได้นอกจากใช้เพื่อป้องกันการบาดเจ็บจากการออกกำลังกาย การพัฒนาแผ่นโยคะโดยข้างในจะประกอบด้วยเทคโนโลยี (Sensor) ที่ผสานเข้ากับแผ่นโยคะนั้นทำให้เราสามารถรู้ว่าท่าทางที่ทำอยู่นั้นถูกต้องหรือไม่ โดยเชื่อมต่อเข้ากับแอปพลิเคชั่น iPad ให้เป็นครูสอนวิธีการปฎิบัติได้อย่างถูกต้องอีกด้วย พอฟังแบบนี้เริ่มรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องใกล้ตัวเราอย่างไม่น่าเชื่อเลย
- IoT ประกอบด้วย 3 ส่วน
- Sensor & Actuators คือการดึงเอาผลลัพธ์ออกมา
- Connectivity คือการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตต่างๆ เช่น Wi-Fi ,GPRS, 3G
- People & Process ตัวสำคัญที่สุดที่จะผูกสิ่งต่างๆ เอาไว้รวมกัน โดยสร้างเป็นแอปพลิเคชั่น/บริการใหม่
- Ecosystem สำหรับ IoT ในเมืองไทยมีการผลักดันในส่วนของ Hardware Startup และ Smart cities เป็นต้น
- หนทางการพัฒนา Hardware Startup จะเจอปัญหาที่แตกต่างกันออกไป เช่นต้นทุนสูง ดังนั้นควรสำรวจข้อมูลของตลาดให้ดีหรือสร้างผลิตภัณฑ์เสมือนจริง (Prototype) ขึ้นมาเพื่อหาความต้องการของลูกค้า
Hardware Startup VS.Software Startup
- องค์ประกอบของ Hardware Startup และผลิตภัณฑ์ IoT อาจจะไม่ใช่มีเพียงแค่วัตถุหรืออุปกรณ์ (Hardware) เพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึง Software ที่จะมาขับเคลื่อนหรือเชื่อมโยงโลกจริงเข้ากับโลกดิจิตอล ในที่นี้การทำ Hardware Startup จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการเงินทุนให้ดี และ มีการจัดการเวลาและทรัพย์กรของ Project ให้แม่นยำเพื่อลดต้นทุนในช่วงพัฒนา
มุมมองเกี่ยวกับ Crowdfunding
- Crowdfunding อาจไม่ใช้ทุกอย่างที่ทำให้ประสบความสำเร็จแต่เป็นอีกหนทางที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ของเราเข้าสู่ตลาดได้ง่าย
- ประเด็นที่ต้องระวัง - Crowdfunding ก็เหมือนปุ่มระเบิดเวลาที่จะกำหนดว่าผลิตภัณฑ์ของเราต้องส่งเมื่อไหร่
IBM -คุณกุลนันทน์ คุ้นวงศ์ (ผักกาด)
- คุณผักกาดได้แชร์ประสบการณ์ว่าทำไม IoT จึงเป็นสิ่งที่น่าจับตามองอย่างมากในขณะนี้ โดยเล่าว่าธุรกิจด้านสุขภาพ (Healthcare Industry) ในสหรัฐฯ กำลังได้รับความสนใจจากหลายๆ ส่วน โดยมีงานวิจัยที่ทำให้รู้ว่าเรื่อง IoT เป็นเรื่องสำคัญคือ มีผู้ติดเชื้อในโรงพยาบาลถึง 90,000 คน ที่ต้องเสียชีวิตจากเหตุดังกล่าวที่เกิดจากการที่แพทย์/พยาบาล ไม่มีเวลาล้างมือหลังจากตรวจคนไข้เสร็จทำให้เชื้อโรคติดจากแพทย์ไปสู่คนไข้อีกห้องหนึ่ง ดังนั้นการนำ IoT เข้ามาโดยการติดเซนเซอร์กับกล่องเจลล้างมือเพื่อให้แพทย์ได้ทำความสะอาดก่อนที่จะเข้าตรวจคนไข้อีกคน หากแพทย์คนดังกล่าวไม่ทำตามข้อกำหนด จะมีระบบ Voice Reminder คอยแจ้งและบันทึกและรายงานพฤติกรรมไปยังส่วนกลาง
- เนื่องจากเรื่อง IoT เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรามากขึ้นทำให้ IBM ได้มีการพัฒนาแพลตฟอร์มออกมารองรับบริการที่เกิดขึ้นโดยใช้ชื่อว่า Bluemix
- Bluemix เป็น Cloud Platform ที่รองรับ Startup ผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์ด้าน IoT ในแพลตฟอร์มจะมีตัวจัดการข้อมูลให้ใช้งานได้สะดวกมากขึ้น
ช่วง Q&A ด้วยกระแสของ IoT ที่มาแรง อีก 2-3 ปีข้างหน้าจะต้องมีผลิตภัณฑ์เหล่านี้ออกมาอย่างล้นหลามจะมีคำแนะนำและวิธีการรับมือกับมันอย่างไร - หากผลิตภัณฑ์ออกมาเยอะมาก เราควรหาความต้องการของมันจริงๆ ให้ได้ เพราะสิ่งสำคัญของ Startup คือเวลา ดังคำกล่าวที่ว่า "'Fail Fast & Fall Forward" หากรู้ความต้องการอันแท้จริงของลูกค้า (โดยการทดสอบ และล้มให้เร็ว) จะช่วยลดระยะเวลาได้