ทำไมปีนี้ SEA เป็นศูนย์กลางการลงทุนด้านดิจิทัลของบิ๊กเทคฯ ระดับโลก | Techsauce

ทำไมปีนี้ SEA เป็นศูนย์กลางการลงทุนด้านดิจิทัลของบิ๊กเทคฯ ระดับโลก

ดูเหมือนว่ากระแสการปลดคนของบิ๊กเทคฯ จะมีมาให้เห็นตลอดตั้งแต่ต้นปี และยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ถูกจับตา เพราะคลื่นการปลดคนในระลอกนี้มีจำนวนมากถึงหมื่นๆ และเกิดการเลย์ออฟอย่างต่อเนื่องจนถึงตอนนี้ 

แม้ตัวเลขเลย์ออฟจะยังดำเนินต่อไป แต่สิ่งที่สวนทางกัน นั่นก็คือ ข่าวการลงทุนของขบวนบิ๊กเทคฯ จากทั่วโลก ที่แห่กันเข้ามาจับจองพื้นที่สำคัญๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) ที่ครอบคลุมหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ กัมพูชา พม่า ฟิลิปปินส์ บรูไน ลาว ติมอร์ และไทย

ที่ผ่านมา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถูกมองว่าพื้นที่ห่างไกลจากความเจริญ ทว่า ทุกวันนี้ภูมิภาคนี้ได้กลายเป็นพื้นที่สำคัญที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และเป็นศูนย์กลางของหลายอุตสาหกรรม เห็นได้จากการที่บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่หมุนเวียนกันเข้ามาลงทุน ไม่ว่าจะเป็น Apple, Nvidia และ Microsoft ที่ได้ประกาศแผนการลงทุนจัดตั้ง Data Center ระดับภูมิภาคแห่งใหม่ในประเทศไทย (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ สรุป Microsoft Build เยือน ‘ไทย-อินโด-มาเลย์’ ลงทุนประเทศไหน ‘มากที่สุด’)

นอกจากนี้ Amazon Web Service (AWS) หน่วยธุรกิจของ Amazon ยังได้ประกาศการลงทุนกว่า 9 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 3.3 แสนล้านบาทในสิงคโปร์ เพื่อขยายโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์ และใช้สำหรับการสร้าง Data Center ที่ใหญ่ที่สุด (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ AWS ลงทุน 3 แสนล้าน สร้าง Data Center ในสิงคโปร์ พร้อมพัฒนาทักษะ AI ให้แรงงาน)

หากถามว่าทำไมช่วงนี้ประเทศแถบบ้านเราถึงเนื้อหอม มีนักวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจออกมาให้ความเห็นว่า นับตั้งแต่จีนมีข้อพิพาทกับสหรัฐฯ และอินเดียที่มีกฎระเบียบเข้มงวด รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมือง ทำให้เหล่าบริษัทเทคโนโลยีใน Silicon Valeey พุ่งเป้าการลงทุนมาที่ประเทศที่มีศักยภาพการเติบโต และสร้างโอกาสให้บริษัทที่ต้องการขยายการดำเนินงานในภูมิภาคนี้

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยของ HSBC Global Connections ที่ได้สำรวจธุรกิจระหว่างประเทศขนาดใหญ่จาก 9 ประเทศ (จีน, อินเดีย, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, สหรัฐฯ ออสเตรเลีย, ฮ่องกง และตะวันออกกลาง) พบว่า องค์กรธุรกิจเหล่านี้มองว่าประเทศในกลุ่ม SEA มีโอกาสการเติบโตที่ดี โดย 3 ประเทศที่ต่างชาติต้องการเข้ามาลงทุนมากที่สุดคือ สิงคโปร์ (36%), มาเลเซีย (27%) และไทย (24%)

วันนี้เราจะพาไปสำรวจแนวโน้มการลงทุนด้านเทคโนโลยีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ซึ่งถูกมองว่าเป็นยุคทองแห่งเทคโนโลยีเต็มรูปแบบ ที่สามารถดึงดูดความสนใจของเหล่าบรรดาบริษัทเทคให้ตบเท้าเข้ามาประกาศแผนการลงทุนเพื่อขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านคลาวด์ และ Data Center และพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจดิจิทัลในอนาคต

บิ๊กเทคฯ ปักธงสู่ SEA

ปัจจุบันบิ๊กเทคฯ ต่างให้ความสนใจลงทุนในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากแรงงานมีทักษะ ค่าแรงไม่สูง ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับการสร้างเทคโนโลยีที่มีราคาแพง รวมถึงมีเศรษฐกิจดิจิทัลที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ตลอดจนมีประชากรรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความเข้าใจในด้านเทคโนโลยี โดยบริษัทเทคโนโลยีสัญชาติสหรัฐฯ หลายแห่งที่เข้ามาลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้คำมั่นสัญญาว่าจะทำงานร่วมกับรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อฝึกอบรมพนักงาน และสร้างองค์ความรู้ที่มีประโยชน์ต่อโลกดิจิทัลในอนาคต 

ด้าน Rajiv Batra นักกลยุทธศาสตร์ด้านการลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตลาดเกิดใหม่ จาก JPMorgan Chase & Co. เปิดเผยกับ Bloomberg TV ว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีอยู่ในจุดที่น่าสนใจและน่าลงทุน ส่วนหนึ่งมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตและการส่งออกในหลายประเทศ บวกกับช่วงเวลา 1- 2 ปีที่ผ่านมาจีนมีปัญหากับสหรัฐฯ ทำให้บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่เพิ่มน้ำหนักการลงทุนมาที่ประเทศอาเซียน โดยเฉพาะอินโดนีเซียและเวียดนาม เนื่องจากเป็นประเทศที่มีกระแสการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) มากที่สุด 

ความเสี่ยงและโอกาสในการลงทุน

แม้การลงทุนในระลอกนี้จะดูสดใส แต่บริษัทก็ยังต้องเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎระเบียบของแต่ละประเทศ ข้อจำกัดด้านโครงสร้างพื้นฐานหรือแม้แต่ความเสี่ยงเรื่องภูมิลักษณะ ซึ่งการรับมือกับความท้าทายครั้งนี้ต้องอาศัยการร่วมมือระหว่างบริษัทเทคโนโลยีกับรัฐบาลในแต่ละประเทศ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ 

ท่ามกลางความท้าทายเหล่านี้ ก็ยังมีโอกาสที่เหล่าบิ๊กเทคฯ จะได้ร่วมงานกับภาครัฐของประเทศนั้นๆ ในการพัฒนาทักษะแรงงาน และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรม และการผลิตต่างๆ

3 เหตุผลที่ทำให้ SEA เป็นศูนย์กลางการลงทุนด้านดิจิทัลในปีนี้    

การเติบโตของประชากร

ด้วยจำนวนประชากรที่มากถึง 660 ล้านคน คิดเป็น 8.5% ของประชากรโลก  และในจำนวนนี้ประชากร 400 ล้านคนเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ซึ่งตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คาดว่าจะแตะ 500 ล้านคนภายในปี 2025 นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเรื่องจำนวนแรงงานที่เพิ่มขึ้น และมีทักษะเทียบเท่าจีนหรือในยุโรป ทำให้ภูมิภาคนี้ขึ้นแท่นการเป็นศูนย์กลางการผลิต และเป็นโอกาสทางธุรกิจที่น่าสนใจสำหรับบริษัทขนาดใหญ่

การเข้าถึงเทคโนโลยี AI

อีกหนึ่งตัวเร่งปฏิกิริยาการลงทุนของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ระดับโลกคือ ความรู้ความเข้าใจของประชากรที่มีความคุ้นเคยกับอินเทอร์เน็ต และการใช้ AI ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยการเติบโตของ Generative AI ทั่วโลกคาดว่าจะมีมูลค่า 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2575  และปัจจุบัน Chat GPT  มีผู้ใช้มากกว่า 180 ล้านคนทั่วโลก

ที่น่าสนใจคือตลาด Generative AI ของประเทศไทยคาดว่าจะมีอัตราการเติบโต  23% ต่อปี ส่งผลให้มูลค่าตลาดอยู่ที่ 1,084 ล้านดอลลาร์ (ราว 38,000 ล้านบาท) โดยเมื่อเจาะลึกลงมาถึงพฤติกรรมการใช้ AI ของคนไทยพบว่า 1 ใน 3 ของประชากรมีแนวโน้มจะใช้ AI กลัวเราทั้งในชีวิตส่วนตัวและการทำงาน (ข้อมูลจาก Samsung ประเทศไทย, 2024)

การเติบโตอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี AI ไม่เพียงแต่เป็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสสำคัญสำหรับธุรกิจเทคโนโลยีที่ต้องการขยายธุรกิจและสร้างสรรค์นวัตกรรมให้ตอบโจทย์ลูกค้า 

การพัฒนาระบบนิเวศ

ด้วยจำนวนแรงงานที่มีทักษะเพิ่มขึ้น ทำให้ภูมิภาคนี้เป็นทางเลือกที่มีศักยภาพในการลงทุน ในขณะที่รัฐบาลของแต่ละประเทศก็ผลักดันให้มีการเสริมสร้างทักษะและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงออกกฎหมายเพื่อสนับสนุนการเติบโตของนักลงทุน สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อธุรกิจเทคโนโลยี เช่น ประเทศไทยก็มีการเสนอโครงการยกเว้นวีซ่าและยกเว้นภาษีให้บริษัทเทคโนโลยีภายใต้โครงการไทยแลนด์ 4.0 หรือในฝั่งเวียดนามก็มีแผนเพิ่มจำนวนบริษัทข้ามชาติใน Fortune Global 500 ที่ทำธุรกิจในเวียดนามเพิ่มเป็น 50% ภายในปี 2030 ส่วนสิงคโปร์มีการประกาศแผน Smart Nation ที่ต้องการนำประเทศเข้าสู่การเป็นประเทศอัจฉริยะ และส่งเสริมการลงทุนของบริษัทเทคโนโลยี

จากข้อมูลดังกล่าว จึงไม่แปลกใจที่บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ระดับนานาชาติเลือกที่จะจัดตั้งสำนักงานและศูนย์กลางระดับภูมิภาคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

อย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่าแต่ละประเทศมีระดับการพัฒนาที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ โอกาสในการลงทุนที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เอกชนและประชาชน เพื่อทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการลงทุนและดึงดูดบริษัทต่างชาติ

จุดแข็งของประเทศใน SEA

จากปัจจัยดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงความจริงที่ว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถตอบสนองการเติบโตของบริษัทเทคโนโลยีได้ดี ซึ่งการเติบโตและการขยายธุรกิจครั้งนี้ไม่ใช่การโฟกัสที่ตลาดในภูมิภาคยุโรป แต่เป็นการก้าวออกไปหาตลาดใหม่ๆ และผู้บริโภคกลุ่มใหม่ๆ ซึ่งความน่าสนใจอยู่ที่การเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก 

จากรายงานของ วิจัยกรุงศรี เรื่อง Regional Economic Outlook 2024 ได้วิเคราะห์แบบเจาะลึกแต่ละประเทศในอาเซียนพบว่า 

อินโดนีเซีย: เป็นหนึ่งในประเทศที่มีความน่าสนใจอย่างมาก โดยเฉพาะการมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพ ทั้งในด้านจำนวนประชากรที่มีหลักร้อยล้านคน และส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน ที่มีกำลังจับจ่ายสูง บวกกับเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติมากมาย และรัฐบาลก็มีนโยบายหลายด้านที่ดึงดูดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน เช่น นโยบายลดการพึ่งพึงการส่งออกสินแร่ (หินหรือแร่) เพื่อดึงดูดนักลงทุน เหมาะสำหรับธุรกิจยานยนต์อีวี 

ฟิลิปปินส์: ถือเป็นประเทศที่มีตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับต้นๆ โดยอยู่ที่ 5.6% และเป็นประเทศที่ IMF คาดว่าจะเติบโตสูงเป็นอันดับสองในอาเซียนรองจากเวียดนาม โดยมีปัจจัยบวกหลายประการที่ทำให้ฟิลิปินส์ขึ้นแท่นประเทศทรงพลังในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นอัตราเงินเฟ้อที่คลายลง อัตราว่างงานต่ำ รวมถึงการที่คนฟิลิปปินส์เดินทางไปทำงานต่างประเทศและส่งเงินกลับมา ก็ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการบริโภคภายในประเทศให้แข็งแกร่งอย่างทุกวันนี้

นอกจากนี้ คนหรือ talent ในฟิลิปปินส์ยังมีทักษะด้านภาษาอังกฤษสูงพอๆ กับสิงคโปร์  จึงทำให้นักลงทุนต่างชาติเลือกฟิลิปปินส์เป็นฐานการลงทุน

เวียดนาม: หากถามว่าตอนนี้ประเทศไหนเนื้อหอมที่สุด ก็คงหนีไม่พ้นเวียดนาม เนื่องจากมีการขยายตัวของกลุ่มคนวัยทำงานจำนวน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศอย่างแท้จริง และในมุมของการทำธุรกิจ รัฐบาลก็มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ มีการทำข้อตกลงทางการค้าอย่างกว้างขวาง รวมถึงมีจำนวนแรงงานและค่าจ้างไม่สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น

และเมื่อพิจารณาในเรื่องทักษะแรงงาน คนรุ่นใหม่ของเวียดนามสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี ทำให้เวียดนามเป็นประเทศที่นักลงทุนมองข้ามไม่ได้ 

มาเลเซีย: มาเลเซียมีขนาดพื้นที่เล็กกว่าไทยเกือบ 1 เท่า แต่ก็เป็นผู้นำด้านการผลิตยางพาราน้ำมันปาล์มรายใหญ่ และยังโดดเด่นด้านการส่งออกพลังงาน โดยเฉพาะกับปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ ทำให้นักลงทุนต่างชาติเริ่มมองเห็นโอกาส โดยเฉพาะกับธุรกิจก่อสร้างศูนย์ข้อมูลหรือ Data Center เดิมทีการลงทุนในธุรกิจ Data Center จะเกิดขึ้นในประเทศสิงคโปร์ แต่ข้อจำกัดด้านต้นทุนพลังงานและราคาที่ดินที่ค่อนข้างสูง ทำให้นักลงทุนบางส่วนไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายเหล่านั้นได้

และอีกหนึ่งปัจจัยที่มองข้ามไม่ได้คือ ภาษาจีน เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่ล้วนมีบริษัทแม่อยู่ในประเทศจีน การตัดสินใจลงทุนในมาเลเซียหรือสิงคโปร์จึงมีความได้เปรียบประเทศอื่นๆ เพราะประชาชนสามารถสื่อสารได้ 3 ภาษา คือภาษาจีน อังกฤษ และภาษาท้องถิ่น 

ไทย: ไทยถือเป็นศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญในอาเซียน และมีบทบาทสำคัญต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิตในระดับโลก ผลสำรวจบอกว่า เหตุผลที่ทำให้บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยคือ ทักษะแรงงาน (28%) และอัตราค่าแรงที่แข่งขันได้ (25%)

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัลที่เติบโตขึ้นของไทย โดย 27% ของบริษัทต่างชาติที่ดำเนินธุรกิจในไทยระบุว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการขยายธุรกิจ และในจำนวนเท่ากันมองว่า ประชากรคนรุ่นใหม่ของไทยมีศักยภาพมากพอที่จะขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งเป็น 2 ปัจจัยหลักที่ดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาในประเทศ 

ประเภทธุรกิจเทคโนโลยีที่ลงทุนใน SEA

Data Center/ Cloud:

  • Microsoft ลงทุนสร้าง Data Center ระดับภูมิภาคแห่งใหม่ในประเทศไทย (มูลค่าการลงทุนยังไม่เปิดเผย)
  • Amazon Web Service (AWS) ลงทุน 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.3 แสนล้านบาท) ในสิงคโปร์ เพื่อขยายโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์และสร้าง Data Center ที่ใหญ่ที่สุด 
  • Google Cloud ลงทุนสร้าง Data Center ในสิงคโปร์
  • Huawei Cloud ตั้ง Data Center ในไทย และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเร่งความเร็วการใช้และการเข้าถึงข้อมูลในไทย และสามารถเข้าถึงจากเครือข่ายทั่วโลก

AI:

  • Nvidia ลงทุน 7.3 พันล้านบาท สร้าง AI Center ในอินโดนีเซีย และยังร่วมมือกับ Gojek พัฒนาโซลูชั่น AI
  • Nvidia ได้ร่วมมือกับ FPT บริษัทเทคโนโลยีในเวียดนาม ลงทุน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 7,300 ล้านบาท) สร้างโรงงาน AI ในประเทศเวียดนาม  
  • Microsoft ลงทุน 2,200 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 81,000 ล้านบาท) ในมาเลเซีย เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และสร้างศูนย์ความเป็นเลิศด้าน AI และฝึกอบรมการใช้ AI ให้กับชาวมาเลเซีย 200,000 คน

Semiconductors

  • Intel ผู้ผลิตชิปอันดับต้นๆ ของโลก ทำ MOU กับ Vin Group พัฒนาเทคโนโลยีอิจฉริยะ ผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ ภายใต้เงินลงทุนกว่า 1 พันล้านดอลลาร์
  • Samsung จัดตั้งโรงงานผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ในเวียดนาม มูลค่าการลงทุนกว่า 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • TSMC จัดตั้งโรงงานผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ในเวียดนาม  มูลค่าการลงทุนกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • Foxconn ซัพพลายเออร์รายใหญ่ของ Apple กำลังเจรจาเพื่อผลิต Apple Watch และ MacBook ในเวียดนามเป็นครั้งแรก มูลค่าการลงทุน 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อสร้างโรงงานผลิตชิปขนาดใหญ่

นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น การที่บรรดาบิ๊กเทคฯ พร้อมใจกันเข้ามาลงทุนในภูมิภาคนี้ เนื่องมาจากการที่ผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการใช้ AI มากขึ้นเรื่อยๆ และคาดว่าจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้น นั่นหมายความว่า ยิ่งมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหรือเทคโนโลยีมากเท่าไร ยิ่งทำให้จำเป็นต้องมี Data Center เพิ่มมากขึ้น เพื่อจัดเก็บข้อมูลและประมวลผลข้อมูลที่มีจำนวนมาก

จากข้อมูลทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังได้รับความสนใจจากทั่วโลก ด้วยการเติบโตของจำนวนประชากร มูลค่าทางเศรษฐกิจ และการสนับสนุนจากรัฐบาล ล้วนเสริมให้พลังของ SEA เติบโตได้ดี และเดินหน้าสู่การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล 

และหากโฟกัสที่ประเทศไทย การที่บิ๊กเทคทั่วโลกหันมาลงทุนในภูมิภาคนี้ ก็ส่งผลดีในระยะยาวต่อประเทศไทยเช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาทักษะแรงงาน เนื่องจากการเข้ามาลงทุนมักมาพร้อมกับการอบรมและพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีให้แรงงานในพื้นที่ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถและความพร้อมของแรงงานไทยในตลาดงานที่มีการแข่งขันสูง 

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยี เพราะการสร้าง Data Center  จะทำให้ประเทศไทยมีระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยและสามารถรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจดิจิทัล ที่สำคัญยังทำให้ไทยยกระดับความสามารถการแข่งขันและการเติบโตในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้อย่างมั่นคง 


อ้างอิง Forbes, CNBC, กรุงเทพธุรกิจ, infoquest, The Japan Times, Thaipublica


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ทำความรู้จัก Gen Beta ผู้ไม่รู้จัก ‘โลกในยุคไร้ AI’ เจนเนอเรชั่นกำเนิดใหม่ของปี 2025

เจเนอเรชัน Beta (Gen Beta) กำลังจะเป็นกลุ่มใหม่ที่เกิดในปี 2025-2039 พวกเขาเติบโตในโลกที่ AI และเทคโนโลยีเชื่อมโยงชีวิตอย่างสมบูรณ์ พร้อมรับมือกับความท้าทายระดับโลกและเน้นความยั่งย...

Responsive image

EU เริ่มกฎบังคับใช้พอร์ตชาร์จ USB-C ตั้งเป้าลดขยะอิเล็กทรอนิกส์

หลังจากที่สหภาพยุโรป หรือ EU ได้ออกมาเคลื่อนไหวด้านการลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยการเคลื่อนไหวด้านกฎบังคับให้ใช้พอร์ตชาร์จเดียวกันสำหรับทุกอุปกรณ์มาตั้งแต่ปี 2022 ล่าสุดกฎหมายดังกล่าว...

Responsive image

อนาคตที่ปรึกษาทางการเงิน จะเป็นอย่างไร ? เมื่อ AI คือผู้ช่วยคนสำคัญ

ที่ปรึกษาการเงินหลายท่านกำลังเผชิญกับภาวะ "งานเอกสารท่วมตัว" จนแทบไม่มีเวลาดูแลลูกค้า ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวล เพราะเวลาส่วนใหญ่หมดไปกับงานที่ไม่สร้างรายได้ ทำให้การสร้างความสัมพันธ...