Techsauce ร่วมกับพันธมิตร ชูจุดแข็งไทย ดึงนักลงทุนเกาหลี | Techsauce

Techsauce ร่วมกับพันธมิตร ชูจุดแข็งไทย ดึงนักลงทุนเกาหลี

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล ได้จัดกิจกรรม Investment Mission: Korean Investment Opportunities in Thailand โดยเชิญชวนนักลงทุนชาวเกาหลีใต้มายังประเทศไทย เพื่อสร้างโอกาสการลงทุน โดย Techsauce ได้ร่วมกับพันธมิตรได้แก่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย (Thai Startup Association) จัดเสวนา และแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับโอกาสการลงทุนในประเทศไทยที่ SCBX NEXT STAGE ชั้น 4 สยามพารากอน 

การจัดงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเชิญชวนนักลงทุนชาวเกาหลี มารับฟังข้อมูล และแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับโอกาสการลงทุนในประเทศไทย โดยได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ เอกอัครราชทูตธานี แสงรัตน์ เป็นประธานเปิดงาน ซึ่งท่านได้กล่าวต้อนรับนักลงทุนชาวเกาหลี และแสดงความยินดีที่ได้เห็นผู้แทนจากหลากหลายธุรกิจ ทั้งขนาดใหญ่และขนาดย่อม เข้าร่วมงาน พร้อมทั้งเน้นย้ำถึงความสำคัญของสาธารณรัฐเกาหลีในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรม และเปิดโอกาสให้เกิดความร่วมมือระหว่างสองประเทศ

ฯพณฯ เอกอัครราชทูตธานี แสงรัตน์ กล่าวเปิดงาน

ผู้เชี่ยวชาญ 3 ท่าน ได้แก่ คุณอรนุช เลิศสุวรรณกิจ CEO บริษัท Techsauce, คุณปริวรรต วงษ์สำราญ รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และคุณเชาวนนท์ คลังเปรมจิตต์ กรรมการและตัวแทนจากสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย (Thai Startup Association) ได้ร่วมแบ่งปันความรู้ และนำเสนอ Keynote Session เกี่ยวกับโอกาสการลงทุนในประเทศไทย แก่นักลงทุนชาวเกาหลีใต้

Techsauce Launchpad : เปิดประตูสู่โอกาสลงทุนใน Startup ไทย

    หลังจากกล่าวเปิดงาน คุณจิดาภา จันทร์ทอง Director of Global Business Development & Expansion จากบริษัท Techsauce ก็ได้ให้บรรยายเกี่่ยวกับการข้อมูลเชิงลึกในการลงทุนในประเทศไทยภายใต้หัวข้อ “Insights into Investing in Thailand” เพื่่อแนะนำผู้เข้าร่วมงานเกี่่ยวกับตลาดไทย โดยเริ่มจากการตั้งคำถามว่าทำไมการลงทุนในประเทศไทยถึงน่าดึงดูด เพราะว่าประเทศไทยนั้นมีมูลค่าทางเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอับดับสองรองจากอินโดนีเซียในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในภูมิภาคสำคัญสำหรับการลงทุนเชิงกลยุทธ์ โดยนอกจากประเทศไทยมีประชากรประมาณ 66 ล้านคนและมีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตมากกว่า 61 ล้านคน และมีผู้ใช้งานโทรศัพท์มากกว่า 100 ล้านคน นั่นหมายความว่า ประชากรไทยหนึ่งคนอาจมีโทรศัพท์มากถึงสองเครื่อง ซึ่่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการพัฒนาธุรกิจดิจิทัลได้สูง จึงเป็นโอกาสสำคัญสำหรับนักลงทุนที่สนใจลงทุนในบริษัท Tech ต่างๆ เพราะตลาดไทยมีขนาดใหญ่ และมักเป็นผู้ริเริ่มใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้มี Startup เกิดขึ้นในหลากหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะในอุตสาหกรรม AI, FINTECH, SaaS, Healthtech เพราะ Ecosystem ในประเทศไทยนั้นแข็งแกร่ง โดยสามารถตรวจสอบข้อมูลเหล่านี้เพิ่มเติมได้ใน Startup Directory ของ Techsauce ที่่รวบรวมข้อมูลธุรกิจ Startup ทั้งหมด 10 ปี ที่ผ่านมา

    นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีนโยบายที่พร้อมต้อนรับนักลงทุนและผู้ประกอบการต่างชาติ อย่างเช่น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน มีโครงการออก Smart Visa สำหรับนักลงทุนและแรงงานที่มีทักษะสูงหรือสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติและสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลที่พร้อมจะให้การสนับสนุนต่างๆ เช่นกัน

คุณจิดาภา จันทร์ทอง ระหว่างการบรรยายหัวข้อ “Insights into Investing in Thailand”

แต่อย่างไรก็ตาม การลงทุนในประเทศไทยก็ยังมีอุปสรรคอย่างเช่นผู้ประกอบการต่างชาติอาจจะไม่คุ้นชินกับกฎระเบียบในประเทศไทย ขาดแรงงานที่่มีทักษะขั้นสูงหรือพบเจออุปสรรคในการเจาะตลาดไทย ซึ่่งปัญหาเหล่านี้สามารถก้าวข้ามไปได้ด้วยการได้รับแรงสนับสนุนจากองค์กรภายในประเทศ หน่วยงานภาครัฐ หรือแม้กระทั่งจากแพลตฟอร์มอย่าง Techsauce ที่มีบริการสนับสนุน Startup แบบครบวงจรได้

Techsauce มีบริการครอบคลุมตั้งแต่การจดทะเบียนธุรกิจ การขอวีซ่า การเชื่อมต่อกับนักลงทุน การระดมทุน การให้ข้อมูลเชิงลึก การจัดกิจกรรม Networking และการส่งเสริมความร่วมมือข้ามพรมแดน นอกจากนี้ยังมีโปรแกรม Accelerator และงานประชุมเทคโนโลยีระดับโลกอย่าง Techsauce Global Summit ซึ่งเป็นงาน Tech Conference ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในปี 2024 มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 18,000 คน จาก 50 ประเทศ Startup กว่า 1,312 บริษัท และมีการจับคู่ธุรกิจมากกว่า 20,000 รายการ มุ่งสู่เป้าหมายของ Techsauce ในการผลักดันประเทศไทยให้เป็น Tech Gateway แห่งเอเชีย

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) : องค์กรเบื้องหลังความสำเร็จของสตาร์ทอัพในประเทศไทย

ต่อมา คุณปริวรรต วงษ์สำราญ รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ได้บรรยายเกี่ยวกับบทบาทของ NIA ในการขับเคลื่อนธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศไทย โดย NIA ทำหน้าที่เป็น “ผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม” (Focal Conductor) มี 3 ภารกิจหลัก คือ 1) ส่งเสริมระบบนวัตกรรม 2) สร้างโอกาสและเพิ่มการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรม และ 3) เพิ่มทักษะและศักยภาพนวัตกรรม โดยมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาระบบนวัตกรรมของชาติสู่ความยั่งยืน คุณปริวรรตยังกล่าวถึงภาคส่วนที่ในปัจจุบัน NIA ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ได้แก่ การเกษตรและอาหาร (Agrifoodtech), สุขภาพและการแพทย์ (Healthtech), พลังงาน สิ่งแวดล้อม และยานยนต์ไฟฟ้า (Energy Environ EV), การท่องเที่ยวและการบริการ (Travel Tourism) และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และวัฒนธรรม (Soft Power)

คุณปริวรรต วงษ์สำราญ อธิบายถึงบทบาทและหน้าที่ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ

โปรแกรม Groom, Grant, Growth, Global สนับสนุนสตาร์ทอัพไทย

คุณปริวรรตอธิบายเพิ่มเติมว่า NIA ให้การสนับสนุนสตาร์ทอัพผ่าน 4 แนวคิดหลัก คือ Groom, Grant, Growth และ Global โดยมีลักษณะดังนี้

Groom

แนวคิด Groom มุ่งพัฒนาองค์ความรู้และศักยภาพของผู้ประกอบการไทย โดยวางรากฐานสู่การเป็น “ผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม” (Innovation-Based Enterprise: IBE) โดยคุณปริวรรตได้ยกตัวอย่างสองโครงการ ได้แก่ 

  • Startup Thailand League: เปิดโอกาสให้นักศึกษาทั่วประเทศ นำเสนอโมเดลธุรกิจเพื่อชิงทุนไปต่อยอด
  • NIA Academy: แพลตฟอร์มการเรียนรู้สำหรับเยาวชน ผู้ประกอบการ และองค์กร เพื่อพัฒนาศักยภาพให้มีคุณลักษณะของนวัตกร ที่ทาง NIA Academy เรียกว่า “Innovator Tribe”

Grant

แนวคิด Grant มีเป้าหมายในการสนับสนุนผู้ประกอบการและระบบนิเวศนวัตกรรมด้วยการให้ทุนเพื่อต่อยอดธุรกิจผ่าน 7 กลไกหลัก ได้แก่

  1. กลไกการขยายผลนวัตกรรมในระดับภูมิภาคสู่ตลาด (Regional Market Validate)
  2. กลไกทุนโครงการนวัตกรรมแบบมุ่งเป้า (Thematic Innovation)
  3. กลไกการสนับสนุนที่ปรึกษาเพื่อพัฒนานวัตกรรม (MIND)
  4. กลไกการสนับสนุนการพัฒนามาตรฐานสำหรับธุรกิจนวัตกรรม (Standard Testing)
  5. กลไกการขยายธุรกิจนวัตกรรม (Market Expansion)
  6. กลไกสนับสนุนดอกเบี้ยบางส่วนเพื่อเสริมสภาพคล่อง (Matching Interest for Working Capital)
  7. กลไกการสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้มีโอกาสเติบโตและขยายตลาดโดยการร่วมมือจากแหล่งทุนภาครัฐและเอกชน (Corporate CO – Funding)

นอกจากนี้ สำนักนวัตกรรมยังให้ความช่วยเหลือในกระบวนการ Matching Fund ที่ช่วยจับคู่นักลงทุนและผู้ประกอบการจากทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ เพื่อตอบโจทย์แก่ทุกฝ่ายและส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีกด้วย

Growth

แนวคิด Growth มีเป้าหมายในการส่งเสริมธุรกิจนวัตกรรมและสตาร์ทอัพในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายให้เติบโตยิ่งขึ้นไปอีกผ่านโครงการ Accelerator โดยยกตัวอย่าง 4 โครงการในตอนนี้ ได้แก่

  1. SPACE-F: พัฒนาศักยภาพของสตาร์ทอัพและนวัตกรรมด้านอาหาร 
  2. CLIMETECH: พัฒนาศักยภาพของสตาร์ทอัพและนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ
  3. HEALTH TECH: พัฒนาศักยภาพของสตาร์ทอัพและนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสุขภาพ
  4. AGROWTH: พัฒนาศักยภาพของสตาร์ทอัพและนวัตกรรมด้านการเกษตร

Global

สุดท้ายคือแนวคิด “Global” มุ่งเน้นการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยสู่ตลาดสากล โดยมี “Global Startup Hub” เป็นศูนย์กลางในการแบ่งปันองค์ความรู้ และเชื่อมโยงสตาร์ทอัพกับแหล่งทุนและธุรกิจ ทั้งในและต่างประเทศ ตัวอย่างกิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่ Startup Thailand Connect ซึ่งเป็นกิจกรรม Pitching และ Business Matching และ กิจรรม Invest Startup Thailand ที่เฟ้นหา Angel Investor VC พร้อมกับมุ่งเน้นพัฒนาเครือข่ายนักลงทุน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ นอกจากนี้ ยังมีโครงการ Smart Visa สำหรับผู้ประกอบการและนักลงทุน ระยะเวลา 6 เดือน ถึง 2 ปี และมาตรการ Capital Gains Tax ที่ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ

สมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย: ขับเคลื่อน Startup ไทย สู่ความสำเร็จ

คุณเชาวนนท์ คลังเปรมจิตต์ กรรมการและตัวแทนจากสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย (Thai Startup Association) ได้บรรยายเกี่ยวกับความแข็งแกร่งของชุมชนสตาร์ทอัพไทย ซึ่งชุมชน Startup ในประเทศไทยนั้นมีความแข็งแกร่งเป็นอย่างมาก เห็นได้จากการมี Startup มากถึง 17 บริษัท ที่มีผู้ใช้งานมากกว่าหนึ่งล้านคน และมี Startup ระดับ Unicorn ถึง 3 บริษัท ที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่าหนึ่งพันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ โดยกล่าวถึงวิสัยทัศน์ของสมาคมฯ ที่ต้องการช่วยขับเคลื่อน Ecosystem ของสตาร์ทอัพไทยที่แข็งแกร่งนี้ ในการบุกเบิกเศรษฐกิจใหม่ โดยมุ่งเน้น 3 พันธกิจหลัก คือ การพัฒนาแรงงานสำหรับยุคดิจิทัล (Manpower), การเพิ่มการเข้าถึงแหล่งทุน (Money), และการพัฒนาการเข้าถึงตลาด (Market) ผ่าน 4 กลยุทธ์หลัก ดังนี้

คุณเชาวนนท์ คลังเปรมจิตต์ กล่าวถึงความแข็งแกร่งของชุมชนสตาร์ทอัพไทย

  1. รวมตัวบริษัทสตาร์ทอัพไทย: ร่วมมือกับ Techsauce พัฒนาแพลตฟอร์ม Thai Startup Directory เพื่อให้ Startup ลงทะเบียน และเชื่อมต่อถึงกัน สร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง
  2. เพิ่มศักยภาพของสตาร์ทอัพไทย: ร่วมมือกับ SEC จัดคอร์สฝึกอบรม และโครงการ Internship เสริมสร้างทักษะ และประสบการณ์ พร้อมทั้งจัดกิจกรรมแลกเปลื่ยนความรู้ร่วมกับ SEC และ LIVEX ในปี 2025 เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจและยังเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานได้สร้าง Networking ร่วมกันอีกด้วย
  3. สร้างโอกาสให้แก่สตาร์ทอัพไทย: มอบสิทธิพิเศษให้สมาชิก ทั้งเครื่องมือ และโซลูชั่นต่างๆ รวมถึงจัดกิจกรรม Grant Day เพื่อให้ Startup เข้าถึงแหล่งทุนจาก สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa), สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA), กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund), และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่่อสนับสนุนการเติบโตทางการเงิน
  4. ขับเคลื่อนนโยบายเพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพไทย: ผลักดันนโยบายต่างๆ เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (Thailand National Platform), PO Financing, และการประมูลธุรกิจดิจิทัล เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนา Startup

Panel Discussion : ปลดล็อกศักยภาพ Startup ด้วยความร่วมมือ ไทย-เกาหลี 

ต่อมาก็มี Panel Discussion ระหว่างคุณอรนุช เลิศสุวรรณกิจ CEO & Co-Founder ของบริษัท Techsauce, คุณปริวรรต วงษ์สำราญ รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม (NIA) และคุณเชาวนนท์ คลังเปรมจิตต์ กรรมการและตัวแทนจากสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย (Thai Startup Association) ได้มาหารือถึงโอกาสภายในตลาดไทยที่จะเกิดขึ้นหากระบบนิเวศของทั้งสองประเทศจับมือกัน โดยมีคุณจิดาภา จันทร์ทอง Director of Global Business Development & Expansion จากบริษัท Techsauce เป็นผู้ดำเนินการประชุม


คุณจิดาภาได้เริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามถึงแนวโน้มที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการชาวเกาหลีในประเทศไทย โดยคุณอรนุชได้ให้ความเห็นว่า ประเทศไทยมีโอกาสที่น่าสนใจมากมาย เช่น ในอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งกำลังพัฒนาตนเองให้เข้าสู่ระบบการผลิตอัจฉริยะ โดยการนำหุ่นยนต์และ AI มาควบคุมกระบวนการผลิตมากขึ้น รวมไปถึงการทำ Digital Transformation ภายในองค์กร นอกจากนี้ อุตสาหกรรมอาหารและเทคโนโลยีการเกษตรก็เป็นอีกหนึ่งโอกาสสำคัญ โดยประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการในด้านการผลิต และด้านการจัดจำหน่ายในเวลาเดียวกัน และยังมีภาคพลังงาน ที่กำลังนำ AI มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และโซลูชันเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมที่มีความสำคัญมากขึ้น และสำหรับผู้ที่สนใจลงทุน SMEs โดยเฉพาะผู้ประกอบการธุรกิจรุ่นที่สองและรุ่นที่สาม ก็กำลังมองหาพันธมิตรทางธุรกิจ และนักลงทุนเชิงกลยุทธ์ เพื่อขยายธุรกิจเช่นกัน

คุณปริวรรต วงษ์สำราญ, คุณอรนุช เลิศสุวรรณกิจ และคุณเชาวนนท์ คลังเปรมจิตต์ระหว่างการอภิปราย

เมื่อถูกถามถึงการสนับสนุนความร่วมมือด้าน Startup กับผู้ประกอบการชาวเกาหลี คุณปริวรรตได้อธิบายว่า ประเทศไทยมีการลงนาม MOU หลายฉบับกับประเทศเกาหลีอยู่แล้ว และเป็น Early adopter ด้านเทคโนโลยีด้วย จึงเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับการทดสอบตลาด นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมี value chain ที่แข็งแกร่ง มีโครงการ Startup ที่เปิดรับนักลงทุนต่างชาติ พร้อมสนับสนุน Startup จากเกาหลีให้เข้าร่วม มีโครงการแลกเปลี่ยน Startup ระหว่างทั้งสองประเทศ และมีเครือข่ายให้ Startup สำหรับ Networking นอกจากนี้ ยังมีโครงการพร้อมเงินทุนสนับสนุน มี Smart Visa สำหรับผู้ประกอบการและพร้อมให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการทดสอบตลาด รวมถึงสนับสนุนด้านแรงงานอีกด้วย

ในประเด็นเรื่องจุดแข็งของ Startup ไทยและโอกาสสำหรับพันธมิตรต่างประเทศ คุณเชาวนนท์กล่าวว่า Startup ไทยมีศักยภาพในการร่วมมือ รวมถึงการ Business Matching และกิจกรรม Accelerator ต่างๆ ที่พร้อมจะสนับสนุนนักลงทุนและผู้ประกอบการชาวต่างชาติอยู่แล้ว จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับพันธมิตรต่างประเทศที่ต้องการเข้าสู่ตลาด Startup ไทย

ในส่วนของโอกาสพิเศษที่สามารถขยายจุดแข็งของทั้งไทยและเกาหลี คุณอรนุชตอบว่า ทั้งสองประเทศมีโอกาสมากมายในการใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของกันและกัน เนื่องจากมีความคล้ายคลึงกันในด้านนวัตกรรม และมีทุนธุรกิจขนาดใหญ่ที่ต้องการลงทุนในนวัตกรรม โดยประเทศไทยเป็นตลาดเป้าหมายที่ดี มี Startup ที่แข็งแกร่ง และเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยต้นทุนที่ไม่สูงมาก และยังมี Techsauce ซึ่งเป็นพันธมิตรที่เชื่อมโยงสู่ตลาดโลกได้

บรรดาแขกท่านผู้มีเกียรติทุกท่านถ่ายรูปหลังจากเสร็จสิ้นงานสัมมนา

ท้ายที่สุด คุณจิดาภาได้ขอเคล็ดลับจากคุณปริวรรตและคุณเชาวนนท์ สำหรับนักลงทุนและผู้ประกอบการเกาหลีที่ต้องการเข้าสู่ตลาดไทย โดยคุณปริวรรตมองว่า Climate tech เป็นโอกาสที่ดี เนื่องจากความต้องการในตลาดมีสูงขึ้น เพื่อตอบสนองกฎหมายคาร์บอนและกระแสรณรงค์การลดรอยเท้าคาร์บอน ส่วนคุณเชาวนนท์แนะนำว่า ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของ Startup มีชุมชนที่คอยให้ความช่วยเหลือ ซึ่งผู้ประกอบการชาวเกาหลีสามารถใช้ประโยชน์จากจุดนี้ได้

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เชื่อหมอมากกว่า TikTok ? วิจัยชี้ คำแนะนำทางการแพทย์เกือบครึ่ง 'มั่ว'

Tebra บริษัทวิจัยด้านสุขภาพ ได้ทำการวิเคราะห์วิดีโอบนแพลตฟอร์ม TikTok กว่า 5,000 รายการ ที่มีความเกี่ยวข้องกับคำแนะนำทางการแพทย์ เพื่อทำการประเมินความถูกต้องของ ซึ่งผลลัพธ์แสดงให้เ...

Responsive image

Zoom เผย 10 เทรนด์ AI ในการทำงาน ที่ต้องจับตา ปี 2025

ในปี 2568 บริษัทซูม วิดีโอคอมมิวนิเคชันส์ (Zoom) มองว่าเทคโนโลยี AI อาจเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จในหลายๆด้าน บริษัทที่ใช้ AI เป็นหลัก จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพพนักงาน สร้างประสบการ...

Responsive image

เกิดอะไรขึ้น? ปี 2024 ซีอีโอแห่ลาออกเยอะที่สุด ทุบสถิติโลก เกือบ 2,000 คน

บริษัท Challenger, Gray & Christmas ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการหางานระดับผู้บริหาร ระบุว่า ในปี 2024 มีซีอีโอลาออกมากที่สุดนับตั้งแต่เริ่มเก็บข้อมูลในปี 2002 โดย ณ เดือนพฤศจิกาย...