ครม. เห็นชอบจัดตั้ง "กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม" | Techsauce

ครม. เห็นชอบจัดตั้ง "กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม"

คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่..) พ.ศ. .... เพื่อจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อววน.) โดยรวมเอาหน่วยงานในกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.), สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เข้ามาอยู่ในกระทรวงใหม่ หวังสร้างการทำงานให้ไปในทิศทางเดียวกัน

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้แถลงข่าวเรื่องที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่..) พ.ศ. .... เพื่อจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อววน.) โดยได้เล่าถึงสาระสำคัญของการจัดตั้งกระทรวงใหม่ผ่าน Facebook Page ส่วนตัว ดังนี้

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

เรื่องแรกที่ชี้แจง คือ การจัดตั้งกระทรวงใหม่นี้ไม่ใช่เพียงการควบรวมกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ เข้าด้วยกัน แต่เป็นการปฏิรูประบบราชการครั้งใหญ่เพื่อตอบโจทย์ที่สำคัญในศตวรรษที่ 21 คือ การขับเคลื่อนประเทศผ่านการสร้างเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมและการเตรียมคนไทยเพื่อรองรับโจทย์ในศตวรรษที่ 21 โดยจะมีการปฏิรูประบบราชการใน 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่

  1. การปฏิรูปการบริหารราชการ เพื่อให้มีการบูรณาการการทำงานในด้านวิจัยและการสร้างบุคลากรร่วมกัน โดยปรับโครงสร้างระบบบริหารงานอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมโดยการควบรวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาอยู่ภายใต้กระทรวงเดียวกัน และจัดแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบใหม่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
  2. การปฏิรูปกฎระเบียบเพื่อช่วยให้งานวิจัยเกิดประโยชน์ต่อทั้งเศรษฐกิจ สังคม และชุมชน ด้วยการปลดล็อคอุปสรรคที่ทำให้การพัฒนานวัตกรรมล่าช้าทั้งในเชิงกฎหมาย เชิงองค์กร และเชิงกลไกมาตรการต่าง ๆ เช่น การออกกฎหมายส่งเสริมการใช้ประโยชน์ทรัพย์สินทางปัญญา (Bayh-Dole Act) ที่ช่วยปลดล็อคให้ผู้ที่รับทุนจากรัฐทำวิจัยสามารถเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาได้ การออกกฎหมายพิสูจน์เทคโนโลยีใหม่และนวัตกรรมเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ (Sandbox Act) การปลดล็อคข้อจำกัดการบริหารงานบุคคลขององค์การมหาชนด้านการวิจัย การส่งเสริมหน่วยงานวิจัยและมหาวิทยาลัยจัดตั้งบริษัท (Holding Company) เพื่อเป็นกลไกในการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ รวมไปถึงการใช้กลไกจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐส่งเสริมนวัตกรรมของบริษัทในประเทศไทย เป็นต้น
  3. ปฏิรูประบบงบประมาณ ด้วยการปรับรูปแบบและวิธีการทางงบประมาณสนับสนุนการพัฒนาอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้มีประสิทธิผลด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสนับสนุนโครงการวิจัยและนวัตกรรมซึ่งต้องใช้เวลาดำเนินการต่อเนื่องมากกว่าหนึ่งปี (Multi Years) และที่ต้องการเม็ดเงินลงทุนเป็นก้อน ที่เรียกว่า Block Grant เพื่อให้การดำเนินงานคล่องตัวและรวดเร็ว รวมทั้งให้สามารถรับความเสี่ยงซึ่งเป็นธรรมชาติของการวิจัยและนวัตกรรมได้ด้วย ทั้งนี้จะจัดระบบให้มีความโปร่งใสและยุติธรรม

เรื่องที่สองที่ชี้แจง คือ การจัดตั้งกระทรวงใหม่ จะประกอบไปด้วยร่าง พ.ร.บ. สำคัญ 4 ฉบับ

ร่าง พ.ร.บ. ฉบับแรก คือ ร่าง พ.ร.บ. ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ซึ่งผ่านความเห็นชอบของ ครม. เมื่อวานนี้ สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ จะเป็นการกำหนดให้มีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อววน.) โดยรวมเอาหน่วยงานในกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เข้ามาอยู่ในกระทรวงใหม่ เพื่อให้การทำงานในด้านวิจัย การสร้างคน และการให้ทุนสนับสนุนเป็นไปในทิศทางเดียวกันและมีประสิทธิภาพ

ร่าง พ.ร.บ. ฉบับที่สอง คือ ร่าง พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการกระทรวงฯ เป็นร่าง พ.ร.บ. ที่ระบุถึงโครงสร้างการทำงานของกระทรวง โดยจะมีการจัดตั้ง Super Board ที่เรียกว่า “คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กชอว.) ขึ้น เพื่อกำหนดทิศทาง นโยบาย และการจัดสรรทรัพยากรเพื่อการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมของประเทศระดับสูงสุด และติดตามประเมินผลการทำงาน โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมเป็นรองประธาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่เกี่ยวข้องและผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้และประสบการณ์สูง ทั้งจากภาครัฐและเอกชน เป็นกรรมการ

นอกจากนั้น ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ยังจะกำหนดโครงสร้างการทำงานภายในกระทรวง ซึ่ง รัฐบาลจะตั้งคณะทำงานร่างพิมพ์เขียวเพื่อการเปลี่ยนแปลง หรือที่เรียกว่า Blueprint for Change เพื่อออกแบบโครงสร้างดังกล่าว เบื้องต้น โครงสร้างกระทรวงแบ่งเป็นกลุ่มภารกิจหลัก 4 กลุ่ม แต่ละกลุ่มจะมีคณะกรรมการกำกับดูแล ดังนี้

  1. กลุ่มภารกิจ “นโยบาย แผน และงบประมาณ” หน่วยงานภายใต้กลุ่มงานนี้จะประกอบด้วยส่วนราชการ และหน่วยงานในกำกับที่มีภารกิจด้านการคาดการณ์อนาคต (Foresight) การกำหนดยุทธศาสตร์และนโยบาย การกำหนดกรอบงบประมาณและการจัดสรรงบประมาณทางการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมของประเทศ และสนับสนุนงานเลขานุการให้กับ Super Board
  2. กลุ่มภารกิจ “การอุดมศึกษา” หน่วยงานภายใต้กลุ่มนี้จะประกอบด้วยสถาบันอุดมศึกษา มีคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ตามร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ. .... ทำหน้าที่ส่งเสริมและกำกับดูแลสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งนับเป็นร่าง พ.ร.บ. ฉบับที่สาม
  3. กลุ่มภารกิจ “พัฒนาการวิจัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม” หน่วยงานภายใต้กลุ่มนี้จะประกอบด้วยองค์การมหาชนด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีคณะกรรมการการวิจัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (กกว.) ตามร่าง พ.ร.บ. การวิจัย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม พ.ศ. .... เป็นร่าง พ.ร.บ. ฉบับที่สี่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา โดยคณะกรรมการดังกล่าวทำหน้าที่ส่งเสริมและกำกับดูแลองค์การมหาชนด้านการวิจัย
  4. กลุ่มภารกิจ “พัฒนาการวิจัยสังคมและความเป็นมนุษย์” หน่วยงานภายใต้กลุ่มนี้จะประกอบด้วยองค์การมหาชนด้านการวิจัยทางสังคมและความเป็นมนุษย์ มีคณะกรรมการการวิจัยสังคมและความเป็นมนุษย์ (กกส.) ทำหน้าที่ส่งเสริมและกำกับดูแลการวิจัยสังคมและความเป็นมนุษย์ ซึ่งจะจัดทำเป็นร่าง พ.ร.บ. ต่อไป

เรื่องสุดท้ายที่ชี้แจง คือ ภายใต้กระทรวงใหม่จะมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยมี Super Board กำกับดูแลนโยบายและการจัดสรรเงินกองทุน โดยกองทุนนี้จะทำให้สามารถขับเคลื่อนงานวิจัยที่เป็นยุทธศาสตร์หลักของประเทศที่มีการกำหนดหัวข้อเฉพาะและมอบให้มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย และภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคม รวมตัวกันมาเป็นกลุ่มเพื่อรับโจทย์และงบประมาณไปทำวิจัย ในลักษณะของการจัดซื้อจัดจ้างการวิจัย (Research Procurement) ได้ด้วย ซึ่งในเบื้องต้น กองทุนที่จะจัดตั้งขึ้นนี้ จะสนับสนุนงานอย่างน้อยใน 5 มิติหลัก ได้แก่

  1. การพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาและสถาบันวิจัย (Institution Capacity Building)
  2. การพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ความสามารถในการแข่งขัน (Innovation for Competitiveness)
  3. การวิจัยด้านสังคมและความเป็นมนุษย์ (Social Science and Humanity Research)
  4. การวิจัยเพื่อตอบโจทย์เชิงพื้นที่ (Area-Based Research)
  5. การวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research)

"ผมเชื่อมั่นครับว่าการจัดตั้งกระทรวงใหม่ในครั้งนี้นับเป็นการปฏิรูปการบริหารงานภาครัฐครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม โดยจะทำให้งานด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมสร้างผลกระทบในทางบวกต่อเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในด้านการแก้ปัญหาความยากจนในระดับพื้นที่ ช่วยเกษตรกรรายย่อย วิสาหกิจชุมชน และ SME ให้ประกอบกิจการที่สามารถแข่งขันได้ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของบริษัทไทยในตลาดโลก สร้างโอกาสให้คนรุ่นใหม่ประกอบธุรกิจนวัตกรรม เกิดเป็น Startups ที่สามารถเติบโตต่อไปได้" ดร.สุวิทย์ กล่าวปิดท้าย

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

สรุป 3 ความร่วมมือ Jensen Huang ร่วมงาน AI Vision for Thailand ไทยได้อะไรบ้าง ?

Jensen Huang เดินทางเข้าร่วมงาน AI Vision for Thailand จัดขึ้นโดย SIAM.AI CLOUD โดยได้เผยวิสัยทัศน์การขับเคลื่อน AI ในประเทศไทย ทั้งนี้ Siam.AI ได้เปิดตัวโครงสร้างพื้นฐาน AI ของ...

Responsive image

Apple เสนอลงทุนในอินโดฯ เพิ่ม 10 เท่า มูลค่าพันล้านดอลลาร์สหรัฐ สู้ปลดแบน iPhone 16

Apple ทุ่มสุดตัว! เพิ่มเงินลงทุนในอินโดนีเซีย 10 เท่า เป็น 1,000 ล้านดอลลาร์ จากเดิม 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หลังข้อเสนอเดิมถูกปัดตก เป้าหมายปลดแบนการขาย iPhone 16 ในอินโดฯ ให้สำเร็จ...

Responsive image

AWS เปิดตัว Nova ตระกูลโมเดล AI มัลติโมเดลใหม่ล่าสุด

ในงาน re:Invent เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา Amazon Web Services (AWS) ซึ่งเป็นแผนกคลาวด์คอมพิวติ้งของ Amazon ได้ประกาศเปิดตัวตระกูลโมเดล AI แบบมัลติโหมดใหม่ภายใต้ชื่อ Nova...