กรมพัฒน์ฯ DBD เตรียมนำ AI จองชื่อตั้งบริษัทใหม่ ใช้เวลาไม่เกิน 2 นาที | Techsauce

กรมพัฒน์ฯ DBD เตรียมนำ AI จองชื่อตั้งบริษัทใหม่ ใช้เวลาไม่เกิน 2 นาที

กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเดินหน้าอำนวยความสะดวกการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทใหม่ นำ AI มาใช้ในการจองชื่อนิติบุคคล ใช้เวลาไม่เกิน 2 นาที พร้อมเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานรัฐ 382 หน่วยงาน หวังนำข้อมูลไปใช้สนับสนุนการทำงานให้แม่นยำขึ้น เผยยังคุมเข้มการยื่นจดทะเบียนนิติบุคคลใหม่ กำชับทนายความ ผู้สอบบัญชี ต้องให้ผู้ยื่นจดลงลายมือชื่อต่อหน้าเท่านั้น ป้องกันความเสียหาย และการตุกติกทำธุรกิจ

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ กำลังดำเนินการปรับปรุงระบบการจองชื่อนิติบุคคล ให้สามารถตรวจสอบและทราบผลการอนุมัติการจองชื่อได้ทันที โดยใช้เทคโนโลยี AI เพื่อเพิ่มความรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้การจองชื่อใช้เวลาเหลือเพียงแค่ไม่เกิน 2 นาที ก็จะทราบผลว่าชื่อที่จะจอง เป็นชื่อซ้ำหรือไม่ซ้ำ และสามารถนำไปใช้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นชื่อนิติบุคคลได้หรือไม่ ทำให้ช่วยประหยัดเวลา และทำให้การจดทะเบียนทำได้เร็วขึ้น

“กรมฯ จะนำรายชื่อนิติบุคคลที่มีอยู่ในระบบ 1.6 ล้านชื่อ ซึ่งมีการจดไว้เดิม กับชื่อที่เป็นชื่อต้องห้าม เช่น ชื่อกระทรวง ทบวง กรม ชื่อที่เกี่ยวข้องกับราชวงศ์ เอาไปใส่ไว้ในระบบ จากนั้น เมื่อมีผู้มายื่นขอจองชื่อ ระบบก็จะทำการตรวจสอบทันทีว่าชื่อซ้ำหรือไม่ซ้ำ และตรงกับชื่อที่ต้องห้ามนำมาใช้จดทะเบียนหรือไม่ ถ้าไม่ ก็อนุมัติให้นำไปใช้ได้ โดยปกติในแต่ละปี จะมีคนเข้ามาจองชื่อประมาณปีละ 3 แสนราย และนำไปใช้จดทะเบียนจริง 7-8 หมื่นราย”นายพูนพงษ์กล่าว

นายพูนพงษ์กล่าวว่า กรมฯ ยังได้ทำการเชื่อมโยงข้อมูลนิติบุคคลกับหน่วยงานภาครัฐต่างๆ มีเป้าหมายจำนวน 382 หน่วยงาน โดยได้ทำการเชื่อมโยงไปแล้ว 118 หน่วยงาน ทำให้หน่วยงานต่างๆ สามารถนำข้อมูลนิติบุคคลไปใช้สนับสนุนการทำงานได้แม่นย้ำขึ้น เช่น หากบุคคลมีการซื้อขายที่ดินกับบริษัท กรมที่ดินก็สามารถตรวจสอบได้ว่าผู้แทนบริษัทคือใคร เป็นกรรมการผู้มีอำนาจจริงหรือไม่ หรือกรณีหน่วยงานที่ตรวจสอบ หากมีการฉ้อโกง ก็สามารถตรวจได้ว่าบริษัทที่กระทำผิด มีใครเป็นกรรมการ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มความเข้มงวดในการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล โดยได้ขอความร่วมมือไปยังสภาทนายความ เนติบัญฑิตยสภา และสภาวิชาชีพบัญชีให้กำกับดูแลทนายความ ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต และผู้ทำบัญชี ให้กำชับผู้ประกอบวิชาชีพที่เป็นผู้รับรองผู้ขอจดทะเบียน ให้ผู้ขอจดทะเบียนลงลายมือชื่อต่อหน้าเท่านั้น เพื่อป้องกันความเสียหายต่อประชาชน ลดข้อขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นทางธุรกิจ และป้องกันการสวมรอยเป็นบุคคลอื่นมายื่นจดทะเบียน

“การลงลายมือชื่อของผู้ขอจดทะเบียน ที่ได้รับการรับรองจากบุคคลที่กรมฯ กำหนดไว้ กรมฯ จะถือว่าลายมือชื่อนั้นถูกต้อง โดยนายทะเบียนไม่ต้องมาตรวจสอบซ้ำอีก และการไม่ลงลายมือชื่อต่อหน้า อาจทำให้เกิดกรณีปลอมแปลงลายชื่อชื่อ หรือใช้ชื่อบุคคลอื่นยื่นขอจดทะเบียน ซึ่งเป็นการทำผิดกฎหมาย และเป็นเหตุให้คำขอจดทะเบียนอาจถูกเพิกถอนได้ และผู้ที่มีหน้าที่รับรองอย่างทนายความ ผู้สอบบัญชี ก็จะมีความผิดฐานสนับสนุนให้ผู้อื่นทำความผิดและแจ้งความเท็จ มีโทษทั้งจำคุกและปรับ และกรมฯ จะแจ้งต่อสภาที่ดูแลเพื่อให้ดำเนินการลงโทษด้วย”นายพูนพงษ์กล่าว

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

จับตา 18 อุตสาหกรรม พลิกโฉมเศรษฐกิจโลก สร้างรายได้กว่า 48 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในปี 2040

ในยุคที่การแข่งขันทางธุรกิจดุเดือดกว่าเดิม มีอุตสาหกรรมบางกลุ่มที่กำลังมาแรง และเติบโตแบบก้าวกระโดด เราเรียกอุตสาหกรรมเหล่านี้ว่า 'Arenas' ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยโอกาส แต่ก็ต้...

Responsive image

Gemini 2.0 คืออะไร ใช้ทำอะไรบ้าง ? สรุปของใหม่กับ AI ที่เก่งที่สุดของ Google

หลังจาก Google เปิดตัว Gemini 1.0 ซึ่งเป็น AI แบบ Multimodal และพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนมีผู้ใช้มากถึง 2 พันล้านคนทั่วโลก ล่าสุดได้มีการอัปเกรดเวอร์ชันใหม่ในชื่อ Gemini 2.0 ซึ่งเป็น...

Responsive image

พลังงานจากหลุมดำ พุ่งชนวัตถุลึกลับในกาแล็กซี เกิดรอยปริศนารูปตัว V

NASA พบร่องรอยแปลกประหลาดจากการพุ่งชนของลำแสงพลังงานสูงที่มาจากหลุมดำขนาดมหึมาในกาแล็กซี Centaurus A (Cen A) ซึ่งอยู่ห่างจากโลก 12 ล้านปีแสง การค้นพบนี้สร้างความตื่นเต้นให้กับวงการ...