ปี 2025 เป็นอีกปีที่ไทยได้เข้าร่วมงานประชุม World Economic Forum ที่เมืองดาวอส โดยในปีนี้ นายกฯ แพทองธาร ได้ไปปฏิบัติภารกิจสำคัญหลายอย่างทั้งการประชุมกับผู้นำโลก เผยแพร่ซอฟต์พาวเวอร์ไทย รวมถึงการบรรลุข้อตกลง FTA ครั้งสำคัญกับ EFTA
EFTA (European Free Trade Association) หรือ สมาคมการค้าเสรียุโรป เป็นกลุ่มการค้าของทวีปยุโรป ที่ก่อตั้งมาในปี 2503 ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 4 ประเทศ คือ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตล์
กลุ่มสมาชิก EFTA นับเป็นตลาดที่มีศํกยภาพ และมีกำลังซื้อสูง โดดเด่นในเรื่องเทคโนโลยี และนวัตกรรม จึงทำให้หลายประเทศต้องการปิดดีล FTA กับ EFTA ให้สำเร็จไม่เว้นแม้แต่ไทยที่ดำเนินการเจรจามาตั้งแต่ปี 2548 หรือราว 20 ปีที่แล้ว แต่การเจรจาก็ได้หยุดไป และทำให้ FTA ระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศในยุโรปไม่เกิดขึ้น
จนกระทั่งปี 2565 ไทยกับ EFTA กลับมาเจรจากันใหม่อีกครั้ง โดยหารือกันมากถึง 16 หัวข้อ แต่ยังไม่แล้วเสร็จดี และวันที่ 23 มกราคม 2568 ในที่สุดไทยก็ได้ลงนามความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับ EFTA อย่างเป็นทางการ ณ House of Switzerland เมืองดาวอส ซึ่งจะช่วยให้ให้การค้าระหว่างไทยกับประเทศกลุ่มนี้ในภูมิภาคยุโรปมีปริมาณมากขึ้น จากกำแพงภาษีที่ปรับเปลี่ยนลดลง นอกจากนี้ ไทยและ EFTA ยังได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการยกเว้นการตรวจลงตรา รวมถึงการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสีเขียวของไทย
จากเอกสารที่ FREE TRADE AGREEMENT BETWEEN THE EFTA STATES AND THE KINGDOM OF THAILAND ที่ EFTA เปิดเผยออกมา ข้อตกลงนี้ครอบคลุมการค้าสินค้า บริการ การลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การแข่งขัน การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และความร่วมมือทางเทคนิค โดยมีคณะกรรมการร่วม EFTA-ไทย ทำหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินงานตามข้อตกลง โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจเช่น
สำหรับประโยชน์ที่ไทยจะได้จากข้อตกลงครั้งนี้คาดว่า จะเกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะด้านการส่งออกสินค้า และการลงทุนไปยังกลุ่มประเทศ EFTA จากการลดหรือการยกเลิกภาษีนำเข้า ทำให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันได้มากขึ้นในตลาด EFTA
นอกจากนี้ ยังเป็นช่วยลดการพึ่งพาตลาดส่งออกเดิม และเพิ่มความมั่นคงทางเศรษฐกิจของไทย พร้อมกับเป็นการช่วยลดอุปสรรคทางเทคนิคที่ไม่จำเป็น และส่งเสริมการค้าระหว่างกัน รวมทั้งยังส่งเสริมการลงทุน และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งจะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม แรงงาน และสังคมของไทย
อีกหนึ่งสิ่งที่ไทยจะได้คือ ขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม ซึ่งในตอนนี้ไทยเองกำลังเป็นที่จับตาของหลายประเทศในอุตสาหกรรมใหม่ เช่น PCB, Data Center ไปจนถึง AI
ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ เผยว่า มูลค่าการค้าระหว่างไทยและ EFTA ในปี 2567 อยู่ที่ 11,788.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 1.94% ของมูลค่าการค้ารวมของไทย เติบโต 19.22% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไป EFTA มูลค่า 4,225.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจาก EFTA มูลค่า 7,563.35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออกหลักของไทยไป EFTA ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ, นาฬิกาและส่วนประกอบ, เหล็กและผลิตภัณฑ์, อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป, เครื่องใช้สำหรับเดินทาง, เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ, แผงควบคุมกระแสไฟฟ้า, เครื่องสำอาง, เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ, ผลิตภัณฑ์พลาสติก และข้าว
ส่วนสินค้านำเข้าหลักของไทยจาก EFTA ประกอบด้วย อัญมณีและเครื่องประดับ, นาฬิกาและส่วนประกอบ, เนื้อสัตว์, ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม, ยากำจัดศัตรูพืช, เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ, เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ, เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์, สัตว์นำสด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป และเคมีภัณฑ์
โดยหลังจากลงนามข้อตกลงเรียบร้อยแล้ว กระทรวงพาณิชย์จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ก่อนเสนอให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ หลังจากนั้นหน่วยงานของประเทศไทยจะดำเนินการออกกฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการมีผลบังคับใช้ของ FTA EFTA โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี
อ้างอิง : Thaigov.go.th (1), (2), (3), EFTA, ฐานข้อมูลกองการต่างประเทศ
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด