ครม.เห็นชอบตั้งสถาบัน Thai KOSEN ที่ สจล. และ มจธ. สร้างคนทำงานด้าน Sci-Tech | Techsauce

ครม.เห็นชอบตั้งสถาบัน Thai KOSEN ที่ สจล. และ มจธ. สร้างคนทำงานด้าน Sci-Tech

ครม. มีมติเห็นชอบให้ตั้งสถาบันไทยโคเซ็น (Thai KOSEN) หลังจากลงนามร่วมมือกับญี่ปุ่นไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2561 โดยจะตั้งเป็น 2 วิทยาเขต ที่ สจล. และ มจธ. หวังผลิตวิศวกรนักปฏิบัติ นักเทคโนโลยี และนวัตกร กลับมาทำงานที่เขต EEC ขีดเส้นระยะดำเนินการ 13 ปี เริ่มปีหน้า พร้อมใช้งบประมาณรวม 3,500 ล้านบาท

กระทรวงศึกษาธิการเปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการ "โครงการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สนับสนุนการลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรมในประเทศและภูมิภาค" โดยให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ ซึ่งจะมีระยะดำเนินการ 13 ปี (ตั้งแต่ พ.ศ. 2562 – 2574)

แฟ้มภาพ: นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายฮิเดกิ นิวะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ประเทศญี่ปุ่น หรือ MEXT ลงนามบันทึกความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านอุตสาหกรรม ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ และ MEXT รวมถึงเพื่อสร้างสถาบันไทยโคเซ็น เมื่อวันพุธที่ 22 สิงหาคม 2561 | Photo: moe.go.th

โครงการดังกล่าวจะจัดตั้งสถาบันไทยโคเซ็น (Thai KOSEN) จำนวน 2 วิทยาเขต ได้แก่ สถาบันโคเซ็นแห่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือ สจล. (KOSEN KMITL) และสถาบันโคเซ็นแห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี หรือ มจธ. (KOSEN KMUTT) และพัฒนาหลักสูตรที่มีความชำนาญเฉพาะด้านการผลิตวิศวกรนักปฏิบัติ นักเทคโนโลยี และนวัตกร ที่มีทักษะความเชี่ยวชาญสูงในการสร้างและพัฒนานวัตกรรม และสามารถเป็นผู้นำในการพัฒนาด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยีของประเทศ สนับสนุนการต่อยอดกลุ่มอุตสาหกรรมเดิมและการเพิ่มเติมอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

ในส่วนของหลักสูตรที่เรียน จะเป็นหลักสูตรด้านวิศวกรรมศาสตร์ 4 ประเภท คือ

  1. หลักสูตรวิศวกรรมแมคคาทรอนิกส์ สำหรับนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 3 จะใช้เวลาศึกษา 5 ปี (เทียบเท่าระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 3 ปี รวมกับอนุปริญญาตรี 2 ปี)
  2. หลักสูตรวิศวกรรมแมคคาทรอนิกส์ การศึกษาในวิชาชั้นสูง (Advanced Courses) เวลาศึกษา 2 ปี (เทียบเท่าปริญญาตรี)
  3. หลักสูตรวิศวกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 3 จะใช้เวลาศึกษา 5 ปี (เทียบเท่าระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 3 ปี รวมกับอนุปริญญาตรี 2 ปี)
  4. หลักสูตรวิศวกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ การศึกษาในวิชาชั้นสูง เวลาศึกษา 2 ปี (เทียบเท่าปริญญาตรี)

โดยสถาบันไทยโคเซ็นจะมีทุนการศึกษาเพื่อให้เรียน 4 รูปแบบ

  1. ทุนสำหรับนักเรียนโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย (7 ปี เทียบเท่าปริญญาตรี) ประเทศญี่ปุ่น (เพื่อกลับมาเป็นครู) รวม 72 คน
  2. ทุนการศึกษาในสถาบันไทยโคเซ็น 2 ปี และในสถาบันโคเซ็นประเทศญี่ปุ่น 3 ปี จำนวน 180 คน
  3. ทุนการศึกษาในสถาบันไทยโคเซ็น 5 ปี จำนวน 900 คน  (แลกเปลี่ยนประเทศญี่ปุ่น  1 ภาคการศึกษา)
  4. ทุนการศึกษาต่อเนื่องสำหรับ Advanced Courses จำนวน 328 คน (แลกเปลี่ยนประเทศญี่ปุ่น 2 ภาคการศึกษา)

โดยผู้ที่เลือกรับทุนในข้อ 2-4 จะต้องกลับมาทำงานหน่วยงานภาครัฐหรือภาคอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) โดยต้องมาปฏิบัติงานสอนแบบไม่เต็มเวลาที่สถาบันไทยโคเซ็นด้วย หรือเป็นครู-บุคลากรในสถาบันไทยโคเซ็นด้วย

ส่วนงบประมาณสำหรับดำเนินงานโครงการมีมูลค่ารวม 3,500 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินนอกงบประมาณ 2,700 ล้านบาท (จากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ JICA) และเงินงบประมาณ 800 ล้านบาท รวมงบประมาณที่ใช้จ่ายภายใต้โครงการเป็นทั้งสิ้น 3,500 ล้านบาท

นอกจากนี้จะมีการประมาณงบดำเนินงานรายปีในลักษณะงบเงินอุดหนุนของนักศึกษาและงบดำเนินงานของสำนักงานโครงการจัดตั้งสถาบันไทยโคเซ็น 1,200 ล้านบาท (13 ปี) โดยให้ภาคเอกชนและผู้ประกอบการมีส่วนร่วมในการสนับสนุนงบประมาณ

อ่านรายละเอียดอื่นๆ ได้ที่เว็บไซต์ กระทรวงศึกษาธิการ

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

KBTG จับมือ 3 มหา’ลัยชั้นนำ สร้าง Co-Master's Degree ปั้น ป.โท เก่ง AI ออกสู่ตลาด

หลักสูตรการศึกษามาใหม่! ที่ KBTG จับมือ 3 มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL) มหาวิทยาลัยมหิดล (MU) และ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU)...

Responsive image

Apple ทุ่มลงทุน 336 ล้านบาท หวังปลดล็อคแบน iPhone 16 ในอินโดฯ

iPhone 16 ในอินโดจะยังได้ไปต่อไหม? เมื่อ Apple เสนอเงินลงทุนกว่า 336 ล้านบาทในอินโดนีเซีย หวังปลดล็อคการแบน iPhone รุ่นล่าสุด หลัง Apple ยังไม่บรรลุเป้าหมายการลงทุนในประเทศตามที่ต...

Responsive image

จีนท้าชนสหรัฐฯ เดินหน้าครองอุตสาหกรรมเทคโนโลยีโลก ท่ามกลางแรงกดดัน

สหรัฐฯ ได้ใช้กลยุทธ์หลายอย่าง เช่นการควบคุมการส่งออกและการห้ามจำหน่ายอุปกรณ์เทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อสกัดกั้นการเติบโตของจีนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี เช่น ชิป AI และเซมิคอนดักเตอร์ อย่างไ...