สนช.ผ่านร่างกฎหมาย "เก็บภาษีค้าขายออนไลน์" เปิดช่องสรรพากรตรวจสอบการโอนเงินได้ | Techsauce

สนช.ผ่านร่างกฎหมาย "เก็บภาษีค้าขายออนไลน์" เปิดช่องสรรพากรตรวจสอบการโอนเงินได้

E-Commerce เตรียมตัว! สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่….) แก้ไขเพิ่มเติมประเด็นว่าด้วยการชำระเงินภาษีผ่านทางช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ และการแจ้งรายละเอียดของบุคคล และนิติบุคคล เตรียมประกาศใช้เป็นกฎหมายจริงในปี 2562

เมื่อวันที่ 4 ธันวาคมมที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีการประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่….) พ.ศ….. จำนวน 5 มาตรา ในวาระที่ 2 และ 3 หลังจากทางคณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) พิจารณาเสร็จแล้ว

โดยมีสาระสำคัญ คือ มีการแก้ไขเพิ่มเติมประเด็นว่าด้วยการชำระเงินภาษีผ่านทางช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ และการแจ้งรายละเอียดของบุคคล และนิติบุคคล โดยจะเพิ่มช่องทางชำระภาษีผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภท

ซึ่งในมาตรา 3 ของ พ.ร.บ. แก้ไขกฎหมายภาษีในฉบับนี้ได้กำหนดให้ สถาบันการเงินต้องรายงานข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะต่อกรมสรรพากร ภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป ถ้าธุรธรรมลักษณะเฉพาะนั้นเป็นธุรกรรมลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ดังนี้

  1. ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันแล้ว มากกว่าหรือเท่ากับ 3,000 ครั้งต่อปีขึ้นไป
  2. ฝากหรือรับโอนทุกบัญชีรวมกันแล้ว มากกว่าหรือเท่ากับ 400 ครั้ง และมียอดรวมเงินรวมกันตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป

ทั้งนี้ นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธาน กมธ. ยืนยันว่าเป็นไปตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุให้กรมสรรพากรพิจารณาการจัดเก็บภาษีที่ยั่งยืน และไม่สร้างภาระทางภาษีในอนาคต รวมถึงต้องการยกระดับธุรกิจ SME ด้วย ซึ่งไม่ถือเป็นการบังคับจนเกินไป แต่เพื่อให้การเก็บภาษีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ซึ่งนายวิสุทธิ์ชี้แจงว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เจาะจงเก็บภาษีเฉพาะผู้ค้าออนไลน์เท่านั้น แต่ยังเป็นการเพิ่มการจัดเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพ เพราะจากตัวเลขของกลุ่มที่ใช้แรงงาน อายุ 30-39 ปี ที่มี 10.7 ล้านคน พบว่า

  • เป็นผู้มีเงินเดือนประจำ 8.2 ล้านคน ยื่นเสียภาษี 5.2 แสนราย
  • ไม่มีระบบเงินเดือน 2.5 ล้านคน ยื่นเสียภาษี 3.1 แสนคน
  • ขณะที่ส่วนนิติบุคคลที่เสียภาษี มี 6.4 แสนราย และยื่นแบบเสียภาษีเพียง 4.2 แสนราย ทำให้สร้างภาระทางการคลัง

“ดังนั้นผมยืนยันว่าร่างกฎหมายนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้เงินสดของประชาชน อีกทั้งผลดีของร่างกฎหมายคือช่วยตรวจสอบ และป้องปรามกลุ่มธุรกิจสีเทาได้ด้วย” นายวิสุทธิ์กล่าว

ในระหว่างการประชุมมีการถกเถียงอภิปรายกันเพื่อให้แก้ในบางประเด็น ซึ่งก็ได้แก้ไปในบางส่วนแล้ว แต่ในที่สุดกฎหมายดังกล่าวก็ได้ลงมติในวาระที่ 3 ว่าเห็นสมควรประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรเป็นกฎหมาย ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 139 เสียง ไม่มีเสียงไม่เห็นด้วย และงดออกเสียง 7 เสียง ซึ่งจะเตรียมประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับให้จริงในช่วงปี 2562 ต่อไป

กรมสรรพากรผลักดันกฎหมายเรื่องภาษีต่อเนื่อง

Photo: rawpixel, Pixabay

ต้องยอมรับว่ากรมสรรพากรผลักดันกฎหมายและการเก็บภาษีเพิ่มเติมกับผู้ค้าขายผ่านทางออนไลน์ หรือ E-Commerce รวมถึง แพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา กรมสรรพากร และกระทรวงการคลัง ได้เสนอร่าง พ.ร.บ. 3 ฉบับ ซึ่งเกี่ยวกับการเก็บภาษีจากผู้ค้าขายผ่านทางออนไลน์ทั้งสิ้น ได้แก่

  • ฉบับที่ 1 : พ.ร.บ. แก้ไขกฎหมายภาษี ให้สถาบันการเงินต้องรายงานข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะต่อกรมสรรพากร ตามที่เราได้รายงานไป ซึ่งผ่าน สนช. เรียบร้อยเตรียมประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป
  • ฉบับที่ 2 : พ.ร.บ. แก้ไขกฎหมายภาษี ให้เก็บภาษีกับการส่งพัสดุสินค้าจากต่างประเทศที่มีราคาต่ำกว่า 1,500 บาทด้วย (หลังจากก่อนหน้านี้มีการยกเว้นไม่เก็บภาษีกับพัสดุที่ราคาต่ำกว่า 1,500 บาท) โดยกฏหมายฉบับนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ออกมา
  • ฉบับที่ 3 : พ.ร.บ. แก้ไขกฎหมายภาษี เพื่อเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ในต่างประเทศ โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีการผ่านร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไปในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาแล้ว

น่าจับตาอย่างยิ่งว่าหลังจากนี้ พ.ร.บ. แก้ไขกฎหมายภาษี ที่เกี่ยวข้องกับผู้ค้าขายออนไลน์จะมีความคืบหน้าเพิ่มเติมอย่างไร ต้องจับตากันให้ดี เพราะกรมสรรพากรรายงานว่าในประเทศไทยมีผู้ขายสินค้าออนไลน์มากถึง 500,000 ราย โดยมีผู้ประกอบการจากต่างประเทศเข้ามาดำเนินการในประเทศไทยมากถึง 350,000 รายอีกด้วย

อ้างอิงข้อมูลจาก เดลินิวส์ข่าวสด, Bangkok Post, โพสต์ทูเดย์ และ MThai

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

OpenAI เพิ่มฟีเจอร์ใหม่ใน ChatGPT วิเคราะห์-โต้ตอบวิดีโอได้แบบเรียลไทม์

OpenAI อัปเดทความสามารถ ChatGPT บนโหมดสนทนาด้วยเสียงหรือ Advanced Voice Mode สามารถวิเคราะห์และโต้ตอบจากวิดีโอได้แบบเรียลไทม์ นับเป็นการเปิดตัวฟีเจอร์ต่อเนื่องเป็นวันที่ 6 ในแคมเปญ...

Responsive image

Microsoft เปิดตัว Phi-4 โมเดล AI รุ่นใหม่ เน้นแก้โจทย์คณิตศาสตร์

Phi-4 ถูกพัฒนาภายใต้แนวคิด Small Language Model (SLM) มีขนาด 14 พันล้านพารามิเตอร์ ซึ่งเล็กกว่าโมเดลภาษาขนาดใหญ่อย่าง GPT-4 แต่ยังคงความรวดเร็วและต้นทุนการประมวลผลที่ต่ำกว่า และพร้...

Responsive image

เคอีเอ็กซ์ประกาศ การลาออกของซีอีโอ พร้อมตั้งผู้บริหารร่วม (Co-CEO) รับช่วงต่อ

บริษัท เคอีเอ็กซ์ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEX รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2567 ว่า บริษัทฯ ได้รับหนังสือแจ้งการลาออกจากตำแหน่งประธ...