ประเทศไทยยืนหนึ่ง ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านการชำระเงินผ่าน QR Code ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยการเติบโตอย่างรวดเร็วของ QR Payment ในภูมิภาคนี้ไม่เพียงแต่เปลี่ยนแปลงวิธีการทำธุรกรรมของผู้คนเท่านั้น แต่ยังช่วยส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างกว้างขวาง
การชำระเงินด้วย QR Payment เริ่มแพร่หลายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากในภูมิภาคยังมีการเข้าถึงระบบธนาคารที่ต่ำและระบบ ATM ในชนบทก็ยังเข้าถึงได้ยาก รวมถึงการมาถึงของสมาร์ทโฟนราคาถูก ส่งผลทำให้ประชาชนหันมาใช้ QR Payment เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ด้วยความร่วมมือระหว่างธนาคารกลางและรัฐบาลของหลายประเทศ ระบบการชำระเงินผ่าน QR code ค่อยๆ กลายเป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันของประชาชน
ประเทศไทยถือเป็นผู้นำด้านการใช้งาน QR Payment ในภูมิภาค ผ่านระบบ "พร้อมเพย์" (PromptPay) ซึ่งเปิดตัวในปี 2017 โดยในปี 2023 มีส่วนแบ่งการใช้จ่ายของคนไทยกว่า 28% ผู้ใช้งานที่ลงทะเบียน PromptPay เพิ่มขึ้นเป็น 77.2 ล้านราย และมีมูลค่าธุรกรรมเฉลี่ยต่อวันถึง 129,000 ล้านบาท ยอดการทำธุรกรรมเพิ่มขึ้นเป็น 5.7 พันล้านครั้ง ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าจากปี 2022
ในมาเลเซีย ระบบ DuitNow QR เปิดตัวในปี 2019 และในช่วงครึ่งแรกของปี 2024 มีธุรกรรมเกิดขึ้นถึง 1,500 ล้านรายการ มูลค่า 1,370 ล้านริงกิต 1.02 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 64% และ 37% จากปีที่ผ่านมา
ในอินโดนีเซีย QRIS มีการเติบโตอย่างรวดเร็วถึง 226% ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2023 ขณะที่ฟิลิปปินส์ก็มีการเติบโตของธุรกรรมดิจิทัลเช่นกัน โดยมีธุรกรรมถึง 2.6 พันล้านรายการในปี 2023 เพิ่มขึ้น 28.1% และธุรกรรมผ่าน QR Ph เพิ่มขึ้น 17.2 เท่าจากปีก่อน
PayNow QR Payment จากสิงคโปร์ มีการทำธุรกรรมถึง 437 ล้านรายการ ในปี 2023 มูลค่ารวม 157,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือราว 3.9 ล้านล้านบาท และยังเป็นโครงสร้างสำคัญสำหรับสตาร์ทอัพและฟินเทคหลายบริษัท เช่น Grab เป็นต้น
ในส่วนของกัมพูชาและเวียดนาม แม้จะเริ่มต้นระบบ QR Payment ได้ไม่นาน ก็มีการเติบโตอย่างมากเช่นกัน KHQR จากกัมพูชาโตถึง 29% ในปี 2023 โดยมีธุรกรรมกว่า 601 ล้านรายการ เพิ่มขึ้นถึง 10 เท่าภายในสามปี และ VietQR จากเวียดนาม มีธุรกรรมเพิ่มขึ้น 104.23% ในปริมาณ และ 99.57% ในมูลค่า เมื่อเทียบกับปี 2023
ธนาคารกลางและรัฐบาลของหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พยายามผลักดันการเชื่อมต่อระบบชำระเงินระหว่างประเทศด้วย QR Payment หรือการจ่ายเงินผ่านการสแกน QR Code ข้ามพรมแดน (Cross Border QR Payment) ซึ่งช่วยให้ทั้งประชาชนในท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวสามารถทำธุรกรรมได้สะดวกขึ้น และเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ระบบ QR Payment ขยายตัวอย่างรวดเร็วในภูมิภาคนี้
ในปัจจุบัน ระบบ QR Payment จาก 4 ประเทศหลัก ได้แก่ PromptPay ของไทย, DuitNow QR ของมาเลเซีย, QRIS ของอินโดนีเซีย และ PayNow ของสิงคโปร์ เชื่อมต่อกันได้ ทำให้ผู้ใช้ในแต่ละประเทศสามารถชำระเงินข้ามประเทศผ่าน QR Code ได้ง่ายขึ้น
นอกจากในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ PayNow ของสิงคโปร์ ร่วมมือกับ WISE แพลตฟอร์มโอนเงินและชำระเงินนั้นนำจากสหราชอาณาจักร ทำให้ผู้ใช้งาน WISE สามารถสแกนชำระเงินผ่าน QR cod e ในร้านเล็กๆ ที่ไม่รับบัตรเครดิต รวมถึง DuitNow QR ยังเชื่อมต่อกับระบบ Alipay ของประเทศจีน ทำให้ชาวจีนสามารถสแกน Alipay ผ่าน DuitNow QR รวมถึงชาวมาเลเซียที่ไปจีนก็สามารถสแกนผ่าน Alipay ด้วยเช่นกัน
"เรากำลังทำงานอย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรในภูมิภาคเพื่อเพิ่มการเชื่อมต่อข้ามพรมแดนของระบบ QR และมุ่งเน้นไปที่ผู้ค้ารายย่อยและนักท่องเที่ยวที่ใช้วิธีการชำระเงินที่ไม่ค่อยพบมาก่อน" Farhan Ahmad ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ PayNet กล่าว
การชำระเงินผ่าน QR Code ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องและจะกลายเป็นโครงสร้างสำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต ด้วยการเชื่อมโยงข้ามพรมแดนระหว่างประเทศในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมต่อระหว่าง PromptPay, DuitNow, QRIS และ PayNow ทำให้การชำระเงินระหว่างประเทศเป็นเรื่องง่ายและรวดเร็ว ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น แต่ยังส่งเสริมการท่องเที่ยวและการค้าระหว่างประเทศอีกด้วย
ในอนาคต เราจะเห็นการขยายตัวของ Cross Border QR Payment มากขึ้น คาดว่าระบบ QR Payment จะไม่จำกัดอยู่เฉพาะในภูมิภาคนี้เท่านั้น แต่จะมีบทบาทสำคัญในระดับโลก ส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน และทำให้การชำระเงินดิจิทัลเป็นมาตรฐานใหม่ของการทำธุรกรรมในอนาคต
อ้างอิง: nikkei, bot.or.th1, 2
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด