วันที่ 23 มกราคม 2568 เวลา 12.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น สมาพันธรัฐสวิส นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังร่วมลงนามความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement : FTA) ระหว่างไทย กับ “เอฟตา” หรือ สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Associations : EFTA)
พร้อมกับรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจสวิตเซอร์แลนด์ (นายกี ปาร์เมอแล็ง) รัฐมนตรีกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมนอร์เวย์ (ซิซีลี เมียร์เซ็ท) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศลิกเตนสไตน์ (โดมินิค แฮชเลอร์)และปลัดกระทรวงการต่างประเทศไอซ์แลนด์ (มาร์ติน เอยอบสัน) โดยมีนายกรัฐมนตรีของไทย(นางสาวแพทองธาร ชินวัตร) และเลขาธิการเอฟตา (เคิร์ท เจเกอร์) ร่วมเป็นสักขีพยาน ที่ House of Switzerland เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส ซึ่งเป็น FTA ฉบับแรกของไทยกับยุโรป ที่ได้เจรจามา 2 ปี และรัฐบาลนี้ได้หาข้อสรุปร่วมกับเอฟตาจนการเจรจาประสบความสำเร็จใน 3 เดือน
นายพิชัยกล่าวว่า การลงนามครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยกลับสู่แผนที่โลกอีกครั้ง หลังไม่มีการเจรจา FTA มา 10 ปี FTA ไทย-เอฟตา มีมาตรฐานใหม่ที่จะขยายโอกาสการเจรจาสู่ FTA กับอียู ยูเออี และประเทศต่างๆ ในอนาคต การลงนามกับประเทศที่มีมาตรฐานที่ดีจะช่วยยกระดับมาตรฐานของไทย ทั้งด้านภาพพจน์ การลงทุน และการค้า ประเทศไทยจะเป็นแหล่งลงทุนที่สำคัญ โดยปีที่แล้วมีการลงทุนเข้ามากว่า 1 ล้านล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกในปีนี้ FTA จะช่วยให้ไทยแข่งขันกับประเทศอื่นได้โดยเฉพาะเวียดนาม ซึ่งมีหลายประเทศ สนใจเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมใหม่ เช่น PCB Data Center หรือ AI และสำหรับผู้ประกอบการไทยเป็นเรื่องที่ดีที่เราต้องปรับตัวให้มีมาตรฐานที่ดีขึ้นขายของไปทั่วโลก เป็นสิ่งที่เราต้องทำอยู่แล้วและเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการ
"ตั้งแต่นี้ต่อไปขอยืนยันว่าจะเป็นยุคทองของไทย เหมือนที่ทรัมป์พูดว่าเป็นยุคทองของอเมริกา ผมก็เชื่อว่าจะเป็นยุคทองของไทยตั้งแต่นี้เป็นต้นไป และต้องช่วยกันแก้เรื่องหนี้ ตอนนี้เรามีเงินลงทุนเข้ามาเยอะ ส่งออกเราก็ดีปีที่แล้วทั้งปี +5.4% และปีนี้ก็จะดี ต่อไปประเทศไทยเจริญขึ้นเชื่อว่าไม่กี่เดือนท่านนายกแพทองธาร เข้ามา ภาพของประเทศไทยเปลี่ยนแปลงชัดเจน ท่านนายกมีความคิด มีวิธีการ เป็นที่นิยม มีแต่คนอยากขอเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ถ้าเรารักษาแบบนี้ต่อไปประเทศเราเจริญแน่นอน"
ซึ่งภายหลังการลงนามในวันนี้ กระทรวงพาณิชย์จะเผยแพร่ผลการเจรจาและเปิดรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน ก่อนเสนอรัฐสภาให้ความเห็นชอบตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ และเมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว หน่วยงานภายในประเทศของไทยจะต้องดำเนินการออกกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการมีผลบังคับใช้ของ FTA ฉบับนี้ให้เรียบร้อย ไทยจึงจะสามารถให้สัตยาบัน ซึ่งคาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี ในช่วงระหว่างนี้ภาคเอกชนไทยจึงควรศึกษาแนวทางการใช้ประโยชน์จากความตกลงในการขยายโอกาสทางธุรกิจเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ทันทีที่ความตกลงมีผลบังคับใช้
ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ปี 2567 ไทยกับเอฟตามีมูลค่าการค้ารวม 11,788.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 1.94 ของการค้าทั้งหมดของไทยกับโลก ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ร้อยละ 19.22 โดยไทยส่งออกไปเอฟตา 4,225.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากเอฟตา 7,563.35ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปเอฟตาได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ นาฬิกาและส่วนประกอบ เหล็กและผลิตภัณฑ์ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องใช้สำหรับเดินทาง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ แผงควบคุมกระแสไฟฟ้า เครื่องสำอาง เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ข้าว สินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากเอฟตา ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ นาฬิกาและส่วนประกอบ เนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม ยากำจัดศัตรูพืช เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ สัตว์นำสด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป เคมีภัณฑ์
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด