ผ่านมาครึ่งทางแล้วสำหรับงาน World Economic Forum 2025 หรือ Davos ที่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม และจะจัดยาวไปถึงวันที่ 24 มกราคมนี้ โดยในปีนี้จะมีหัวข้อที่ถูกหยิบยกมาพูดคุยหลากหลายมากทั้ง Reimagining Growth, Industries in the Intelligent Age, Investing in People, Safeguarding the Planet, และ Rebuilding Trust
ในบทความนี้ Techsauce จึงขออาสาพาผู้อ่านทุกท่านไปสำรวจประเด็นสำคัญ และสรุปภาพรวมครึ่งแรกของการประชุม Davos 2025 เพื่อให้เท่าทันกระแสโลกที่กำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว จะมีคอนเทนต์ไหนที่น่าสนใจบ้าง เราไปดูกันเลย
วันแรกของ WEF ตรงกับสถานการณ์บ้านเมืองโลกที่ Donald Trump เข้าพิธีสาบานตนขึ้นรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ การกลับมาของ Trump ที่ทำเนียบขาวจึงกลายเป็นหัวข้อสนทนาสำคัญ เนื่องจากเขาได้สัญญาว่าจะดำเนินการเปลี่ยนแปลงนโยบายของสหรัฐฯ อย่างจริงจัง ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อเศรษฐกิจโลก เช่น การกำหนดภาษีที่สูงสำหรับเศรษฐกิจหลักอื่นๆ ความตึงเครียดทางสงครามการค้าที่จะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ รวมถึงการที่ Trump ยกเลิกกฎข้อบังคับของสหรัฐฯ หลายฉบับ
แม้สหรัฐฯ กำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ แต่ผู้นำโลกภายในงาน WEF ยังคงมองว่าสหรัฐฯ คือ ‘มหาอำนาจที่สำคัญที่สุด’
ทุกๆ ปี WEF จะเปิดเผยรายงานวิเคราะห์แนวโน้มที่โลกต้องรู้ เช่นเดียวกับปีนี้ที่มีการออกรายงานหลักออกมา 4 ฉบับ ได้แก่
นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร เข้าร่วมงาน WEF ครั้งนี้ด้วย โดยได้นำ Soft Power อาหารไทยกว่า 17 เมนูเสิร์ฟผู้นำโลกภายใต้งาน Thailand Reception ที่ไทยรับมือเป็นเจ้าภาพอาหารกลางวัน ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้นำชาวต่างชาติอย่างล้นหลาม
นายกฯ แพทองธาร เน้นย้ำถึงความโดดเด่นของอาหารไทย เช่น ต้มยำกุ้ง ที่ได้รับการยอมรับจาก UNESCO ว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ และยังเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความสำเร็จของภาคเกษตรกรรมไทย
ในตอนนี้ไทยกำลังใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยอย่าง AI, หุ่นยนต์ และเกษตรแม่นยำ เพื่อยกระดับความสามารถด้านการผลิต รวมไทยยังส่งเสริมในด้านอุตสาหกรรมอาหาร และการดูแลสุขภาพ โดยได้เชิญชวนนักลงทุนจากทั่วโลกให้พิจารณาไทยเป็นจุดหมายสำคัญ
นอกจากนี้ ภายในงาน WEF นายกฯ แพรทองธาร ยังได้พูดคุยกับผู้ด้านเทคโนโลยีระดับโลกอย่าง Saleforce เพื่อหารือความเป็นไปได้ในด้านการลงทุน รวมทั้งยังได้มีการบรรลุข้อตกลง EFTA (European Free Trade Association) ที่จะช่วยลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างไทย และกลุ่มประเทศที่อยู่ในสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป เช่น การลดกำแพงภาษีในหลากหลายหมวดสินค้า
หนึ่งในประเด็นสำคัญจากเวที World Economic Forum 2025 ที่ดาวอส คือ วิกฤตช่องว่างทางการงาน (Jobs Gap) ที่อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจและสังคมโลก โดยผู้นำและผู้เชี่ยวชาญระดับโลกได้ร่วมหารือถึงความท้าทายและโอกาส รวมถึงแนวทางรับมือกับอนาคตของการทำงานในยุค AI
จากการเสวนาซึ่งมีผู้ร่วมวงเช่น ประธานาธิบดีสิงคโปร์ ผู้อำนวยการองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และ CEO จาก Adecco Group และ LinkedIn พบว่าโลกกำลังเผชิญปัญหาใหญ่ 2 ด้าน ด้านแรกคือจำนวนตำแหน่งงานไม่เพียงพอกับแรงงานที่กำลังจะเข้าสู่ตลาด โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา ด้านที่สองคือคุณภาพของงานที่แย่ลง แรงงานจำนวนมากหันไปทำงานแบบไม่มั่นคง ขาดสวัสดิการ และไร้หลักประกัน
ยิ่งไปกว่านั้น ปัญหา “ทักษะไม่ตรงกับงาน” (skills mismatch) ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญ โดยระบบการศึกษาที่เน้นวิชาการมากเกินไป ไม่สามารถผลิตบุคลากรที่มีทักษะตรงกับความต้องการของตลาดได้ ผู้ร่วมเสวนาเห็นพ้องว่าการลงทุนใน การพัฒนาทักษะ และ การปฏิรูปการศึกษา เป็นกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหาวิกฤตช่องว่างทางการงาน รวมถึงการปรับตัวให้เข้ากับรูปแบบการจ้างงานที่เปลี่ยนไป และการสร้างระบบที่ให้ความคุ้มครองแรงงานอย่างทั่วถึง
อีกหัวข้อที่ใกล้ตัวของเรา โดยครั้งนี้พูดคุยกันถึงอนาคตที่สดใสของอาเซียนในยุคดิจิทัลและ AI โดยมีนายกรัฐมนตรี Anwar Ibrahim ของมาเลเซีย, นายกรัฐมนตรี Pham Minh Chinhง ของเวียดนาม เป็นตัวแทนประเทศสมาชิก นอกจากนี้ยังมี Julie Bishop อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลียในฐานะผู้แทนพิเศษของ UN ในเมียนมา, ศาสตราจารย์ Muhammad Yunus ผู้นำด้านเศรษฐกิจจากบังกลาเทศ และ Merit Janow ผู้แทนจาก Mastercard มาร่วมพูดคุยด้วย
ทุกคนเห็นพ้องว่าเศรษฐกิจอาเซียนกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะด้านดิจิทัล และความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกเป็นสิ่งสำคัญ นายกรัฐมนตรี Anwar Ibrahim และนายกรัฐมนตรี Pham Minh Chinh ทั้งสองท่านเน้นย้ำถึงความสำคัญของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะด้านพลังงาน การขยายเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และการพัฒนาเทคโนโลยี AI เพื่อเชื่อมโยงประเทศต่างๆ ในอาเซียนเข้าด้วยกัน และขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
ดังนั้น กุญแจสำคัญที่จะไขประตูสู่อนาคตที่สดใสคือ "ความร่วมมือ" ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนร่วมกัน การช่วยเหลือกันแก้ไขปัญหา และการร่วมกันสร้างสรรค์นโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อทุกคนในภูมิภาค
ประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบยกมาพูดคุยกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือเรื่องของการก้าวเข้าสู่ยุคของ AGI หรือปัญญาประดิษฐ์ที่ฉลาดเทียบเท่ามนุษย์ ซึ่งได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ได้แก่ Andrew Ng, Yoshua Bengio, Nicholas Thompson, Yejin Choi, Jonathan Ross และ Thomas Wolf มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แม้ว่าหลายคนจะเห็นว่า AGI เป็นเป้าหมายที่สำคัญ บ้างก็เชื่อมั่นว่า AGI จะเกิดขึ้นในเร็ววันและฉลาดล้ำหน้ามนุษย์ไปมาก ในขณะที่อีกมุมหนึ่งก็มองว่าควรให้ความสำคัญกับการพัฒนา AI ที่สามารถแก้ปัญหาเฉพาะทางได้ดีกว่า
นอกจากนี้ ยังมีการถกเถียงถึงความฉลาดระหว่างมนุษย์และ AI โดยที่เห็นพ้องกันว่า AI ยังขาดประสบการณ์และความรู้สึกที่เป็นเอกลักษณ์ของมนุษย์ ทำให้ AI ที่เก่งในบางด้าน แต่ก็ยังพลาดในเรื่องง่ายๆ ได้ และสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ เราควรจะต้องตระหนักถึงผลกระทบที่อาจจะตามมาจากการใช้ AI ที่ฉลาดล้ำสมัยมากๆ ด้วย
เมื่อเจาะลึกลงไปถึงแนวทางการพัฒนา AGI แม้บางส่วนจะสนับสนุน แต่อีกส่วนก็ยังกังวลว่าการเร่งพัฒนา AGI อาจจะนำมาซึ่งปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้ AI ในทางที่ผิด หรือเรื่องการควบคุมที่ทำได้ยาก รวมถึงยังมีการถกเถียงในเรื่องของกฎหมายที่จะเข้ามาดูแล AI และเสนอให้ใช้ Open Source เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ แต่ก็ควรมีกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดสำหรับการควบคุม AI ที่มีประสิทธิภาพสูง
ท่ามกลางวิกฤตสภาพภูมิอากาศ หนึ่งในประเด็นสำคัญที่จะไม่พูดถึงไม่ได้นั่นคือการลดคาร์บอนในภาคอุตสาหกรรม ร่วมเสวนาโดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติของเม็กซิโก Alicia Bárcena, ผู้ว่าการรัฐเคนทักกี Andy Beshear, Jim Rowan ซีอีโอของ Volvo Cars, Damilola Ogunbiyi ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติ และ Olivier Blum ซีอีโอของ Schneider Electric ซึ่งถือเป็นประเด็นเร่งด่วนและเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจที่สำคัญ
การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่เพียงเป็นความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายในการสร้างความเห็นพ้องต้องกันและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจริง จึงจำเป็นต้องมีการหารือและร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม เพื่อสร้างแนวทางที่นำไปสู่การปฏิบัติได้จริง
การเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีสะอาด สร้างงานสีเขียว และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก ล้วนเป็นผลประโยชน์ที่เกี่ยวเนื่องกัน จึงต้องมีการส่งเสริมการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การลดคาร์บอนเป็นแรงขับเคลื่อนการเติบโตที่ทุกคนได้รับประโยชน์ และแก้ไขวิกฤตสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งสร้างระบบเศรษฐกิจที่ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ทำให้การลดคาร์บอนในภาคอุตสาหกรรมคือการลงทุนเพื่ออนาคตที่มั่นคงและยั่งยืนอย่างแท้จริง
ในหัวข้อนี้ว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานทั่วโลกในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยมี Nela Richardson หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ ADP และ Andrew Ng ผู้ก่อตั้ง DeepLearning.AI ได้ร่วมกันวิเคราะห์ปัจจัยสำคัญๆ ที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงนี้ เช่น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว และการเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์
โดยได้เน้นย้ำถึงความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของ AI และความรู้ด้านเทคโนโลยี แม้ว่า AI อาจทำให้บางอาชีพหายไป แต่ทั้งคู่เชื่อว่าความเชี่ยวชาญด้าน AI จะกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับงานส่วนใหญ่ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และสร้างโอกาสใหม่ๆ
ยังมีการพูดถึงความแตกต่างระหว่างมุมมองของนายจ้างและลูกจ้าง พบว่าลูกจ้างส่วนใหญ่มองหาความยืดหยุ่นในการทำงาน เช่น การเลือกเวลาทำงานหรือการทำงานแบบผสม รวมถึงโอกาสที่จะพัฒนาตนเองและเติบโตในสายอาชีพ ในขณะเดียวกัน นายจ้างแม้จะยังคงใส่ใจในเรื่องสวัสดิภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน เช่น สุขภาพกาย ใจ และสวัสดิการระยะยาวอย่างแผนบำนาญ แต่ดูเหมือนว่าจะยังให้ความสำคัญกับเรื่องความยืดหยุ่นในการทำงานน้อยกว่าที่ลูกจ้างคาดหวัง
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยของ ADP ชี้ให้เห็นว่าการลงทุนในการพัฒนาทักษะของพนักงานนั้นให้ผลตอบแทนที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของรายได้ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเห็นได้ชัดเจนในกลุ่มพนักงานชาย งานวิจัยนี้จึงสนับสนุนให้นายจ้างหันมาลงทุนในด้านการฝึกอบรมพนักงานให้มากขึ้น เพื่อปิดช่องว่างทางทักษะที่ตลาดแรงงานต้องการ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และกระตุ้นให้พนักงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นำมาซึ่งประโยชน์ทั้งต่อตัวพนักงานเองและองค์กรโดยรวม
ความยืดหยุ่นถูกนิยามว่าเป็นความสามารถในการปรับตัวและฟื้นตัวจากวิกฤตต่างๆ ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญต่อความมั่นคงและการเติบโตในระยะยาว การลงทุนเพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นจึงเป็นประเด็นเชิงกลยุทธ์ที่ทุกภาคส่วนควรให้ความสำคัญ
ความจำเป็นของการลงทุนในความยืดหยุ่นนั้นชัดเจน การสร้างความสามารถในการปรับตัวนี้ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นได้เอง แต่ต้องอาศัยการลงทุนอย่างจริงจัง ทั้งในด้านการเงิน ทรัพยากรบุคคล และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง การมุ่งเน้นแต่การลงทุนระยะสั้นและการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอาจไม่เพียงพอต่อการรับมือกับความท้าทายที่ซับซ้อนในระยะยาว ดังนั้น จึงควรให้ความสำคัญกับการลงทุนเชิงกลยุทธ์ที่มองการณ์ไกล เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
นอกจากนี้ความยืดหยุ่นยังควรถูกมองว่าเป็น "ทักษะ" ที่สามารถพัฒนาได้ ทั้งในระดับองค์กรและระดับบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบทบาทของผู้นำ การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เปิดกว้าง ส่งเสริมการเรียนรู้ และสนับสนุนให้บุคลากรสามารถปรับตัวได้อย่างคล่องแคล่ว จึงเป็นปัจจัยสำคัญยิ่ง การสร้างความยืดหยุ่นไม่ใช่ภาระของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ต้องอาศัยความร่วมมือและการประสานงานอย่างใกล้ชิดระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันระหว่างประเทศ เพื่อให้เกิดการแบ่งปันทรัพยากร ความเชี่ยวชาญ และความรับผิดชอบร่วมกัน
ความยืดหยุ่นไม่ได้เป็นเพียงเกราะป้องกันภัย แต่ยังเป็นโอกาสในการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการลงทุน และพัฒนาศักยภาพของประเทศและบุคลากร การสร้างระบบที่ยืดหยุ่นจะช่วยให้ประเทศและองค์กรสามารถรับมือกับวิกฤตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังสามารถคว้าโอกาสในการเติบโตได้อีกด้วย ตลาดเกิดใหม่จำเป็นต้องเร่งปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นในระยะยาว ในขณะที่การลงทุนควรครอบคลุมถึงการเตรียมความพร้อมรับมือกับวิกฤต การพัฒนาทักษะ และการสนับสนุนให้ผู้นำมีประสบการณ์ในการเผชิญและฟื้นตัวจากความท้าทายต่างๆ
โดยสรุปการสร้างความยืดหยุ่นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการรับมือกับความไม่แน่นอนในโลกปัจจุบัน การลงทุนเชิงกลยุทธ์ในด้านต่างๆ ที่ได้กล่าวมา จะช่วยสร้างความมั่นคงและส่งเสริมการเติบโตที่ยั่งยืนในอนาคต ทั้งในระดับบุคคล องค์กร และประเทศ การปลูกฝังความคิดเรื่องความยืดหยุ่นให้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กรและสังคม จึงเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างอนาคตที่แข็งแกร่งและพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์
Davos ถูกเลือกให้เป็นสถานที่จัดงานประชุมระดับโลกมาหลายปีเช่นเดียวกับงาน WEF เพราะนอกจากเมืองนี้จะมีบรรยากาศที่สงบแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเป็นพื้นที่ที่เป็นกลางทางการเมือง ปราศจากสิ่งรบกวนจากปัจจัยภายนอกและอิทธิพลทางการเมือง ทำให้ผู้นำระดับโลกจากหลากหลายสาขาสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้อย่างอิสระ
อีกสิ่งที่น่าสนใจคือ เส้นทางเดินหลักของเมืองอย่าง Promenade Street ถูกแปลงโฉมเป็นพื้นที่สำหรับเชื่อมต่อผู้ร่วมงานทั่วโลกเข้าด้วยกัน จากถนนที่เต็มไปด้วยร้านค้า ได้กลายเป็นพื้นที่ของบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก และแบรนด์ชั้นนำ
อ่านบทความตะลุย Davos ส่อง 5 ประเด็นหลัก ใน World Economic Forum
สำหรับใครที่สนใจติดตามเนื้อหาสำคัญจากการประชุมครั้งนี้ และบทสัมภาษณ์พิเศษที่เจาะลึกเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ในงาน Davos 2025 สามารถรอติดตามได้ที่ Techsauce เราพร้อมจะนำเสนอข้อมูลเชิงลึก เพื่อให้ทุกคนเห็นภาพว่าโลกกำลังเปลี่ยนไปในทิศทางไหน และประเทศไทยสามารถวางตำแหน่งตัวเองอย่างไรในยุคแห่งความอัจฉริยะนี้
อ่านบทความจาก WEF 2025:
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด