โลกปรับธุรกิจจึงต้องเปลี่ยน มุมมองผู้บริหารและนักวิชาการ จากเวที The Disruption of Business, Competition and Transformation, Ready Now for the Future | Techsauce

โลกปรับธุรกิจจึงต้องเปลี่ยน มุมมองผู้บริหารและนักวิชาการ จากเวที The Disruption of Business, Competition and Transformation, Ready Now for the Future

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกับ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ เปิดเวทีเสวนา “The Disruption of Business, Competition ,and Transformation, Ready for the FUTURE : โลกปรับ เกมเปลี่ยน พร้อมพลิกโฉมธุรกิจ สู่อนาคต” รวมนักวิชาการ นักการตลาด ผู้บริหารจากองค์กรชั้นนำในไทยและระดับโลก เข้าร่วมสะท้อนมุมมองและแนวคิดการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีที่สิ้นสุดท่ามกลางสถานการณ์ Digital Disruption ในปัจจุบัน อาทิ ทรู คอร์ปอเรชัน, เทเลนอร์ กรุ๊ป, เอสซีบีเท็นเอ็กซ์ , เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป , โอกิลวี่ และอีกมากมาย ดำเนินรายการโดย คุณสุทธิชัย หยุ่น และ คุณบัญชา ชุมชัยเวทย์ 

รศ.ดร.สถาพร อมรสวัสดิ์วัฒนา รองอธิการบดีอาวุโส สายงานวิชาการและงานวิจัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า โลกศตวรรษที่ 21 เต็มไปด้วยการเติบโตและการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็ว ปรากฏการณ์ Digital Disruption จึงถือเป็นความท้าทายต่อการดำเนินธุรกิจที่ต้องก้าวให้ทันและปรับตัวรับเกมการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไป โดยปัจจุบันจะเห็นว่าทุกบริษัทไม่ว่าเล็ก กลาง ใหญ่ ไม่ว่าไทยหรือทั่วโลกต่างต้องปรับตัวเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและอยู่รอดได้ในการดำเนินธุรกิจ นอกจากนี้ภาครัฐจำเป็นต้องมีการปรับตัวไม่ต่างจากภาคธุรกิจเอกชน ต้องเดินเกมการแข่งขันในระดับประเทศ เพื่อดึงนักลงทุนและเม็ดเงินเข้าประเทศ 

เพราะโลกปรับ ธุรกิจต้องเปลี่ยน

ภายในงานมีการแชร์มุมมองและประสบการณ์ในการพาธุรกิจก้าวข้ามการเปลี่ยนแปลงในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งหลายองค์กรได้ทำการวิเคราะห์สถานการณ์และเตรียมการรับมือล่วงหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมสื่อที่เรียกได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ถูก Disruption มาหลายครั้งตั้งแต่ยุคอะนาล็อกสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งแนวทางในปัจจุบันจะพบว่ามีการสร้างและออกแบบคอนเทนต์เข้าหาผู้บริโภคด้วยการทำงานร่วมกับเทคโนโลยี

คุณพีระวัฒน์ โชติธรรมโม นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวว่า "ในภาพรวมของธุรกิจสื่อต้องเผชิญกับการ Disruption ครั้งแล้วครั้งเล่าจากเทคโนโลยีและเศรษฐกิจมาต่อเนื่องในทุกไตรมาส ตั้งแต่การขยายตัวของสื่อสิ่งพิมพ์ การเกิดโทรทัศน์ดิจิทัล การเกิดขึ้นของเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในทุกช่วง 3G 4G 5G เข้ามาสร้างเส้นทางการทำคอนเทนต์แบบใหม่ เป็นตัวเร่งชัดเจนที่กระทบโทรทัศน์ดิจิทัล การแข่งขันที่ผู้เล่นมากขึ้นทำให้คนผลิตสื่อต้องปรับตัว Disrupt ตัวเองไปสู่ออนไลน์" 

คุณพีระวัฒน์ เพิ่มเติมว่า การแข่งขันโดยที่ต้องรักษาความสมดุลทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพของสื่อที่ผลิต ผู้ผลิตต้องทำความเข้าใจตัวเองในฐานะการเป็นผู้ผลิตและนำเสนอคอนเทนต์ เข้าใจผู้บริโภค เข้าใจแพลตฟอร์ม และมากกว่านั้นต้องเข้าใจเทคโนโลยีหรือระบบที่อยู่หลังแพลตฟอร์ม คอนเทนต์ที่ดีจะถูกส่งไปยังผู้ที่ต้องการอ่านด้วยกระบบของแพลตฟอร์ม ดัง การพัฒนาคอนเทนต์ที่มีคุณภาพยังถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก 

ทางด้าน คุณกัณฑ์พงษ์ พานทองประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทโอกิลวี่ประเทศไทย กล่าวว่า "ธุรกิจเอเจนซี่เป็นธุรกิจที่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของ Media Landscape ที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่การทำโฆษณามีเป้าหมายให้ได้ผลในวงกว้างหรือต้องได้ผลกับคนส่วนใหญ่ แต่ปัจจุบันความสนใจของผู้บริโภคต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งมีระยะที่สั้นลง นอกจากนี้การเกิดขึ้นของแพลตฟอร์มจำนวนมาก ทำให้ช่องการสื่อสารไปยังผู้บริโภคกลุ่มต่าง ๆ มีความหลากหลายและมีรูปแบบที่แตกต่างกันมากขึ้น การจัดสรรงบประมาณต้องพิจารณาตามลักษณะเฉพาะของสื่อและกลุ่มเป้าหมาย การผลิตสื่อใช้ความคิดใหม่ ๆ ที่สร้างสรรค์มากขึ้น" 

"สิ่งที่เปลี่ยนแปลงหลัก ๆ คือ การปรับเปลี่ยนวิธีคิดจากธุรกิจโฆษณาไปสู่การเป็นธุรกิจที่ใช้ Creativity Drive Growth ควบคู่กับการนำเทคโนโลยีมาช่วยสนับสนุนการทำงานเพื่อเสริมประสิทธิภาพ การเตรียมความพร้อมในเรื่องของคนในบริษัทให้พร้อมการเปลี่ยนแปลงที่มาเร็ว เปลี่ยนวิธีการทำงานเพื่อสนับสนุนคนในองค์กร และมากกว่านั้นเอเจนซีต้องทำควาเข้าใจการ Disruption ที่เกิดขึ้นกับธุรกิจของลูกค้าด้วยเช่นกัน การรักษา Growth Objective ให้ลูกค้าในเวลาสั้นที่สุด การออกแบบแผนงานที่มีเป้าหมายทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว การวิเคราะห์จุดแข็งของธุรกิจ ช่องทางที่สามารถนำเสนอให้ตรงตามกลุ่มเป้าหมาย เพื่อการเสนอแนวทางที่ตอบโจทย์ให้ได้อย่างถูกต้อง" 

 ในส่วนของ คุณนรุตน์ เจียรนสนอง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บริษัทเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า "ในช่วงการแพร่ระบาดโรงภาพยนต์เป็นหนึ่งธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างหนัก ซึ่งในปัจจุบันธุรกิจโรงภาพยนตร์กลับมาเปิดให้บริการและถือว่ากลับมาฟื้นตัวเป็นปกติแล้ว โดยในช่วงที่ผ่านมาทำให้เห็นว่าธุรกิจโรงภาพยนตร์ยังเป็นช่องทางสร้างรายได้ให้กับธุรกิจภาพยนตร์มากที่สุด สิ่งที่เปลี่ยนแปลง คือ พฤติกรรมของผู้บริโภค เช่น ผู้บริโภคมีการชำระเงินด้วยตู้อัตโนมัติแบบ Cashless และการซื้อตั๋วผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ นอกจากนี้ยังพบว่าผู้บริโภคมีความเข้าใจรูปแบบการชำระเงินรายเดือนที่เพิ่มมากขึ้น เพิ่มจำนวนลูกค้าที่กลับมาซื้อซ้ำ (Repeating Customer) ทำให้สามารถคาดการณ์ Recurring Revenure ที่แน่นอนอย่างชัดเจน ซึ่งจากข้อมูลในระยะเวลาดังกล่าวทำให้วิเคราะห์เห็นโอกาสและโมเดลการสร้างรายได้ใหม่ ๆ การทำงานร่วมกับคู่ค้าทางธุรกิจเจ้าอื่น อย่าง OTT โดยมีการร่วมมือกันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมคอนเทนต์ภาพยนตร์ของไทยมากขึ้นโดยเฉพาะ Reginal Content และส่งออกต่างประเทศ ซึ่งเป็นโมเดลเดียวกับฮอลลีวูด เพราะเป็นแนวทางเสริมสร้างรายได้ต่อทุกฝ่าย ทั้งผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย โรงภาพยนตร์ และผู้บริโภค"

เกมเปลี่ยน ประเทศไทยต้องปรับ

คุณ Jon Omund Revhaug Senior Vice President Telenor Group Asia Region กล่าวว่า "เทเลนอร์ยังคงเดินหน้าลงทุนในภูมิภาคเอเชียและยืนยันที่จะทำธุรกิจในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง 60% ของรายได้มาจากภูมิภาคเอเชีย และประเทศไทยเป็นหนึ่งประเทศที่มีบริบทการปรับเปลี่ยนด้านดิจิทัล ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นแกนหลักของการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจโลก รวมถึงภูมิภาคเอเชียและประเทศไทย ซึ่งโควิด-19 เป็นตัวเร่งที่ทำให้มีการปรับเปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญ โดยการควบรวมกิจการต่าง ๆ ของเทเลนอร์ก็เพื่อปรับตัวสู่การเป็นเทคคอมปานี  ถือเป็นวิถีปกติในการปรับตัวทางธุรกิจในยุคดิจิทัล เพราะเป็นแนวทางที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็ง และสร้างประโยชน์ให้กับลูกค้ามากกว่าการเป็นผู้ให้บริการมือถือ ซึ่งเทเลนอร์ต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงนี้ โดยจะนำเทคโนโลยีมาขับเคลื่อนนวัตกรรมที่จะเป็นส่วนสำคัญของชีวิตในการก้าวสู่วิถีดิจิทัลทั้งในเอเชียและประเทศไทย ส่วนสนับสนุนให้ธุรกิจเติบโต โดยเฉพาะบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กที่จะมีโอกาสเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด ซึ่งมั่นใจว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกภาคส่วนอย่างแน่นอน" 

คุณ Jon เสริมว่า "ปัจจัยเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศนั้น ๆ เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ รวมทั้งนโยบายของภาครัฐที่ต้องเอื้อต่อการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ มีกฎกติกาที่เป็นธรรม มีความชัดเจน และต่อเนื่องในระยะยาว เนื่องจากการลงทุนด้านเทเลคอมต้องใช้เงินลงทุนสูง ทั้งการขอใบอนุญาตและลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน กฎหมายที่ต้องเอื้อต่อการลงทุนของต่างชาติ ต้องมีความชัดเจน และมีความเป็นธรรมต่อนักลงทุน โดยเชื่อว่าศักยภาพของ 5G จะสร้างสิ่งต่าง ๆ และส่งเสริมอุตสาหกรรมในไทยมหาศาล" 

ทางด้าน คุณนพพเดช กรรณสูต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโสการลงทุน นวัตกรรม และความยั่งยืนบริษัท บีกริม พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "รัฐบาลไทยต้องมองไปยังการปรับตัวของประเทศเพื่อนบ้านที่มีนโยบายเปิดกว้าง และรับฟังนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น  เพราะบริบทของการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนไปในแต่ละยุคสมัย จนถึงยุคที่มีการสร้างพันธมิตรกันมากขึ้น ต้องเชื่อมโยงกันเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงเป้าหมายในระดับสากล แนวโน้มของการทำธุรกิจเปลี่ยนไป รัฐบาลต้องเข้าใจความเป็นไปได้ของนโยบาย กฎกติการที่จะต้องเอื้อต่อการพัฒนาต่อยอดให้เอื้อต่อการเดินหน้า ทั้งด้านการวางโครงสร้างและการวางแผนในระยะยาวเพื่อให้หน่วยงานทุกส่วนที่เกี่ยวข้องสามารถดำเนินงานอย่างสอดคล้องกันต่อไปได้ ในปัจจุบันมีแนวโน้มเรื่องการส่งเสริมด้าน De-Carbonization จากภาครัฐ การใช้เทคโนโลยีเข้ามาส่งเสริมการสร้างพลังงานที่มีคุณภาพที่เพิ่มมากขึ้น"

ในส่วน คุณวิธวินท์ อิทธิภาณุวัต Executive Director Vertex Ventures Southeast Asia & India  ให้ความเห็นในประเด็นกฎกติกาของประเทศที่เอื้อต่อการแข่งขันว่า "ทุกหน่วยงาน มีความร่วมมือมาเรื่อย ๆ อาจจะไม่ได้เร็ว แต่ก็ร่วมมือกันมาต่อเนื่องในทิศทางที่ดี เช่น กระบวนการด้านกฎหมายสนับสนุนด้านทรัพยากรมนุษย์ (Human Capital) นอกจากนี้ประเด็นด้านการผ่อนกฎเกณฑ์ให้หลายบริษัทที่ยังขาดทุน มีศักยภาพในการเติบโต มีรูปแบบการทำงานธรุกิจที่น่าสนใจที่มีโอกาสในการเติบโต หากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่สามารถดึงดูดคนเก่งและผู้ประกอบให้ทำงานภายในประเทศ ถ้าไม่มี Talent ก็จะไม่มี Innovation ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีปัจจัยที่พร้อมรองรับทั้งโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลในระดับดีมาก คนไทยมีอัตราการใช้งานอินเทอร์เน็ตสูงมา มีการทำธุรกรรมผ่าน Mobile Banking สูงมาก และยังมีระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพกว่าหลายประเทศ แต่ยังมีอุปสรรคหลากหลายในด้านกฎกติกาและการสนับสนุนบุคลากร"

"ความพร้อมเรื่องทุนเป็นเรื่องสำคัญ การจัดการนโยบาย Capital Flow จะสามารถดึงดูดและสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งการควบคุมที่เข้มงวดเกินก็จะทำให้นักลงทุนรู้จักเสียเปรียบได้ คุณนพพเดช กล่าว ในด้าน คุณ Jon เสริมว่า "ความเชื่อมโยงของอุตสาหกรรม Ecosystem Connectivity ทั้งหมดเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะเชื่อมต่อธุรกิจสู่ผู้บริโภค ผู้บริโภคจะมีการเปิดรับข้อมูลและมีอำนาจการตัดสินใจมากขึ้น ธุรกิจต้องทำให้ผู้บริโภคสามารถไว้วางใจได้"

ธุรกิจต้องพร้อม พลิกโฉมสู่อนาคต  

คุณณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัททรู คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "ในภาพรวมธุรกิจเทเลคอมตอนนี้เป็นจุดเวลาที่เหมาะสมของประเทศไทยที่จะต้อง Disrupt ตัวเองไปทิศทางที่ชัดเจนมากที่สุด ผู้เล่นในประเทศไทยต้องมีการปรับตัวให้พร้อมรองรับการแข่งขัน ปัญหาธุรกิจเทเลคอม ยังถูกมองเป็นผู้ให้บริการทางด้านโทรศัพท์ สำหรับ True เริ่มต้นมาจากบริษัทหน้าใหม่ การทำให้บริษัทเติบโต คือ ‘ทำให้ผู้บริโภคเลือกใช้บริการ’ ฉะนั้นโอกาสเดียวคือ ‘ต้องทำให้ต่าง’ ทรูยังต้องเพิ่มเรื่องของ Digital เข้าไปอย่างเต็มที่บนความเชื่อที่จะนำเสนอสินค้าบริการที่มากกว่าความเป็นโทรศัพท์ 

"เราต้องการเป็น 'Tech Telecom' เพราะเราไม่ต้องการเป็นเพียง ‘ท่อ’ ในการขับเคลื่อนให้คนเข้ามาใช้ประโยชน์เท่านั้น Global Player ได้เข้ามาครอบครองหน้าจอสมาร์ทโฟนไปแล้วทั้งสิ้น  หากเปรียบเทียบกับการเป็นท่อน้ำวันนี้ เราจะให้น้ำที่ไหลมาในท่อเพื่อให้คนไทยได้บริโภค เป็นน้ำที่มาจากต่างประเทศทั้งหมดไม่ได้ หรือถ้าแบ่งเป็น เลเยอร์บนล่าง เราต้องไม่เป็นผู้เล่นที่อยู่ในเลเยอร์ล่างซึ่งเป็นโทรคมนาคมเพียงอย่างเดียว แต่ต้องพยายามพัฒนาขึ้นมาอยู่ในเลเยอร์บน อย่างที่ Google, Facebook, LINE  ครองตลาดอยู่" 

"True เองก็เล่นในเกมนี้เช่นเดียวกัน จึงทำให้เรามี True ID และ Solution ที่เป็น Entertainment อย่างล่าสุดได้มีการเปิดตัว 'หมอดี' ซึ่งเป็น Telemedicine ที่ช่วยให้คนเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ง่ายขึ้น ดังนั้นทั้งหมดนี้คือ ความสำคัญที่จะมอง ‘โทรคมนาคม’ เป็นเพียง ‘โทรคมนาคม’ ต่อไปไม่ได้ แต่ต้องมองเป็น Tech Telecom ที่ไม่ได้มีผู้เล่นเพียง 3-4 ราย แต่มีผู้เล่นมากกว่า10 ราย ทั้งในและต่างประเทศที่เป็น Global Player แต่อยู่นอกการกำกับดูแลของโทรคมนาคม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทรูต้องมีการ Disrupt ธุรกิจ เสริมสร้างความแข็งแกร่งด้วยการควบรวมกับพันธมิตรเพื่อปรับตัวเป็นเทคคอมปานี การทำงานเชิงรุกที่จะเข้าไปเล่นในเลเยอร์บนและมี Proactive จะทำให้ประเทศไทยแข็งแกร่งขึ้น รวมทั้งเป็นตัวเลือกที่ประชาชนมีทางเลือกในการใช้บริการมากขึ้น ทั้งหมดนี้คือการสู้กับ Disruption ของ True ในการเป็น Tech Telecom" คุณณัฐวุฒิ กล่าว

คุณพุฒิกานต์ เอารัตน์ Head of People & Branding, SCB 10X และกรรมการผู้จัดการ Chief Digital Asset Officer บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์จำกัด กล่าวว่า "การเปลี่ยนแปลงทุกอย่างอยู่ที่ว่าตัวเราเองมองเห็นหรือไม่ ว่าจะถูก Disrupt หรือจะเจอกับปัญหาในอนาคต ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นสิ่งที่ธนาคารไทยพาณิชย์เล็งเห็นมาตั้งแต่ปี 2015 ทำให้กลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์ทำการทดลองตั้งหน่วยงานเล็ก ๆ ขึ้นมา ตั้งแต่ Digital Venture, SCB Abacus ที่ดูเรื่องของ AI มีการทดลองบริษัทเล็ก ๆ จนเห็นแนวทางความเป็นไปได้จึงตั้งบริษัท SCB10X ขึ้นมา ตั้งโจทย์ว่า จะทำอย่างไร ให้ความเป็น ‘ไทยพาณิชย์’ ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นธนาคาร แต่เป็น ‘ผู้ให้บริการทางการเงิน’ ทำอย่างไรให้ลูกค้าของธนาคารไม่ได้ถูกมองเป็น ‘ลูกค้า’ แต่ถูกมองเป็น ‘พาร์ทเนอร์’ ที่ทำอย่างอื่นต่อยอดได้ เช่น สิ่งที่ SCB 10X ทำอย่างเช่นแอปพลิเคชั่น ‘Robinhood’ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเงิน ถัดมา คือ เรื่องของการจองที่พัก จึงทำให้อนาคตจะมี Data มากมาย ที่เป็นฐานลูกค้า ที่ต่อยอดสู่การสร้าง Credit Scoring ที่แม่นยำเพื่อรองรับธุรกิจสินเชื่อในอนาคต   

"สิ่งที่สำคัญของความเป็นธนาคาร คือ ความน่าเชื่อถือ จริง ๆ แล้ว Mobile Bank เป็นหนึ่งใน Tech Company ที่มีความปลอดภัยสูงที่สุด ดังนั้นตรงจุดนี้คือจุดแข็งอย่างหนึ่งที่เพิ่มเติมจากความเป็น Tech Company ที่อาจจะซ่อนอยู่ใน SCB Group ก็เลยมีการตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาโดยยึด Core Strength ที่เคยเป็น Foundation กลับขึ้นมาข้างบน และเริ่มต้นทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์อื่น ๆ หรือ ทำงานเอง"  

อย่างไรก็ตามการเป็น Tech Company ที่ประสบความสำเร็จ มีแนวทางที่สร้างเทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งทำได้ 3 อย่างคือ สร้างเอง ซื้อเอง และการร่วมกับพาร์ทเนอร์ เพราะปัจจัยทั้งสามอย่างนี้จะนำพาไปสู่ความสำเร็จในระดับต่อไปเพื่อพร้อมในการแข่งขันกับผู้เล่นต่างชาติที่เข้ามาในประเทศ และเพื่อวิสัยทัศน์ในการขยายฐานลูกค้าไปยังต่างประเทศให้ได้ถึง 100 ล้านคน เพราะตัวเลขนี้จะการขับเคลื่อนกลยุทธ์ของไทยพาณิชย์จากเป็นแค่ผู้เล่นในประเทศ สู่การเป็นผู้เล่นในระดับภูมิภาค  

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มยุรี ศรีกุลวงศ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  กล่าวว่า "มีความคิดเกี่ยวกับเรื่องของทิศทางการ Disruption ในธุรกิจเทเลคอมและการปรับตัวของภาคธุรกิจต่าง ๆ ว่า ช่วงก่อนหน้าที่จะเริ่มการปรับเปลี่ยนนั้นไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าจะเป็นไปในทิศทางไหน การ Disruption เองก็เช่นเดียวกัน การตั้งคำถามถึงอนาคตของธุรกิจโทรคมนาคมนั้นถือว่าเป็นเครื่องสะท้อนถึง Mindset และ Culture ของผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างแรกต่อการเกิด Disruption ตามมาด้วยการคาดเดาถึง Customer Engagement ว่าตอนนี้ผู้บริโภคต้องการสิ่งใด และคาดหวังถึงอะไรในอนาคต จากทั้งสองนี้จึงก่อให้เกิดการระดมความคิดในหลาย ๆ กลุ่มเพื่อให้พอที่จะวางแผนถึงเป้าหมาย และทิศทางของการ Disruption ก่อนที่จะนำไปสู่การความเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจหรือการนำนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาปรับใช้เป็นต้นแบบของ Prototype ในอนาคต" 

“เมื่อถามว่าการ Disruption นี้จะเป็นไปในทิศทางใด คำตอบคือไม่สามารถรู้ได้เลยว่าแต่ละองค์กรจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แต่ตอนนี้เรารู้ว่า ประเทศไทยนั้นมีความต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งในเวทีโลก เราไม่อยากจะเป็นเพียงแค่คนที่ใช้บริการของต่างชาติ เรามีความหวังที่จะให้ประเทศไทยมี Unicorn มีการให้บริการหลักที่ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค และมี Culture ที่เข้มแข็ง เพื่อความยั่งยืนและความได้เปรียบทางการแข่งขันที่ทำให้ประเทศไทยนั้นไม่แพ้ชาติอื่น ๆ บนเวทีโลก สิ่งสำคัญคือการรวมกันของ ecosystem ที่ต้องเอื้อให้คนไทยหลาย ๆ คนที่มีความสามารถ มีฝีมือในแต่ละองค์กรกล้าที่จะแสดงความคิดสร้างสรรค์ออกมา"  ผศ.ดร. มยุรี กล่าว

คุณณัฐวุฒิ กล่าวเสริมว่า  ในยุคที่เกิดการแข่งขันที่รุนแรงนี้ ธุรกิจจำเป็นต้องมีความแข็งแกร่ง และมี Innovation ที่น่าดึงดูด เพื่อเสริมความพร้อมที่จะเป็นรับความเสี่ยงในอนาคตสำหรับการเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้บริโภค ซึ่งการควบรวมกันเป็น Ecosystem คือ กุญแจหลักในการแข่งขันที่จะทำให้ไทยสามารถเทียบเคียงกับ Global Player เราทำงานร่วมกับทั้ง Startup ไทยและต่างประเทศ โดยเราได้พา Startup ของเหล่านี้ไปเปิดตลาดต่างประเทศ ร่วมมือกับ Tech Partner, Goverment ,Education Partner ,Businese Partner และ Startup ซึ่งการร่วมมือนี้จะเป็นการจับมือโตไปด้วยกัน 

นอกจากนี้ ผศ.ดร. มยุรี  ก็ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า "นี่คือการ Disrupt ธุรกิจ SME ด้วยเช่นกัน โดยในธุรกิจในปัจจุบัน SME ต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อความอยู่รอดในอนาคต เพราะความคิดสร้างสรรค์ใหม่เกิดขึ้นอยู่ตลอด SME แบบเดิมที่ยังไม่ได้อยู่ในวงการนี้จะเหนื่อยกว่าปกติ จึงต้องมีการเซ็ต Ecosyetem ในหลายๆระดับ เพื่อที่จะให้ SME ได้เรียนรู้ในระดับที่ใกล้เคียงกันและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง อาจเรียนรู้จากผู้บริหารองค์กรใหญ่ว่าในการเริ่มต้นที่จะเปลี่ยนแปลงนั้น สำคัญคือต้องเริ่มจากการปรับ Mindset ก่อน เพราะถ้าไม่ทำการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงอะไรเลย SME แบบเก่าจะต้องถูก Disrupt และหายไปในที่สุด" 


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

10 Tech Event ในเอเชีย ที่สายเทคฯ ธุรกิจ ไม่ควรพลาด ปี 2024

เพราะเทคโนโลยีไม่เคยหยุดนิ่ง องค์กรจึงต้องหมั่นอัปเดตเทรนด์ความรู้ใหม่ ๆ วันนี้ Techsauce คัดสรร 10 งานประชุมเทคโนโลยีระดับเอเชีย ที่สายเทคไม่ควรพลาดในปี 2024 รวมไว้ในบทความเดียวก...

Responsive image

SCBX ไตรมาส 1 ปี 67 กำไร 11,281 ล้านบาท เตรียมลุย 'Virtual Bank' พร้อมก้าวสู่องค์กร AI-First Organization

บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) มีกำไรสุทธิในไตรมาส 1 ของปี 2567 จำนวน 11,281 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.6% จากปีก่อน...

Responsive image

เปิดตัว Meta AI ใหม่ ถามได้ทุกเรื่อง สร้างภาพได้ทุกอย่าง ใช้ได้ทุกแอปฯ​ โซเชียลของ Meta

สำหรับ Meta AI เป็นแชทบอทที่เคยเปิดตัวให้เห็นครั้งแรกในงาน Connect 2023 ขับเคลื่อนด้วยโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) อย่าง Llama 2 แต่ล่าสุดได้มีการอัปเกรดไปใช้โมเดลภาษาใหม่ Llama 3...