สรุปประเด็นสำคัญที่ต้องรู้ ก่อนเสียภาษีคริปโตฯ จากคู่มือ 32 หน้าของกรมสรรพากร | Techsauce

สรุปประเด็นสำคัญที่ต้องรู้ ก่อนเสียภาษีคริปโตฯ จากคู่มือ 32 หน้าของกรมสรรพากร

เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา ทางกรมสรรพากรได้มีการเผยแพร่คู่มือคำนวณภาษีคริปโตฯ และโทเคนดิจิทัล หรือที่เรียกว่า “คำแนะนำการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คริปโตเคอร์เรนซี โทเคนดิจิทัล” โดยเอกสารฉบับนี้ชี้แจงถึงคำแนะนำเบื้องต้นสำหรับการยื่นแบบฯ ประจำปี 2564 และตัวอย่างการคำนวณครอบคลุมเฉพาะผู้มีเงินได้บางกรณีเท่านั้น ทั้งนี้ เอกสารดังกล่าวมีความยาว 32 หน้ากระดาษ

ทั้งนี้เนื่องจากทางกรมสรรพากรได้ยึดแนวทาง “ทำให้ชัด ผ่อนปรน มองอนาคต” ดังนั้นคู่มือฉบับนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้ชัด โดยมีเนื้อหาครอบคลุมการชี้แจงคำนิยาม, การระบุประเภทของเงินได้, การคำนวณต้นทุนโดยใช้วิธีมาตรฐานการบัญชีรับรอง พร้อมตัวอย่าง, การวัดมูลค่าคริปโตฯ/โทเคนดิจิทัล, วิธีการยื่นแบบฯ ผ่านอินเทอร์เน็ต และกระดาษ รวมถึงเอกสารแนบท้ายที่เกี่ยวข้อง และคำถามที่มักจะพบบ่อย 24 ประเด็น

สิ่งสำคัญที่ควรรู้ หากคุณมี ?

สำหรับวิธีการคำนวณเงินได้ที่เกี่ยวข้องกับคริปโตเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลในรูปแบบต่างๆเพื่อยื่นแบบ เช่น 

  1. การจําหน่าย จ่าย โอน หรือแลกเปลี่ยนคริปโตเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัล

สำหรับการจำหน่าย จ่าย โอน หรือแลกเปลี่ยนคริปโตเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัลให้แก่บุคคลอื่น เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุนถือเป็นเงินได้ มาตรา 40(4)(ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร 

โดยการคำนวณต้นทุนคริปโตฯ/โทเคนดิจิทัล ประเภทเดียวกัน ให้ใช้วิธีมาตรฐานการบัญชีรับรอง เช่น วิธีเข้าก่อนออกก่อน  (FIFO) หรือ วิธีต้นทุนถัวเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Moving average cost) และให้คำนวณต้นทุนแยกตามประเภทของเหรียญ ซึ่งผู้มีเงินได้สามารถเลือกวิธีการคำนวณต้นทุนใดก็ได้ แต่เมื่อเลือกวิธีการคำนวณต้นทุนวิธีใดแล้วต้องใข้วิธีนั้นตลอดปีภาษี  

  1. การขุดคริปโตเคอร์เรนซี 

ณ วันที่ได้รับคริปโตฯจากการขุด ยังไม่ถือเป็นเงินได้พึงประเมิน แต่เมื่อมีการจำหน่าย จ่าย โอน หรือแลกเปลี่ยนคริปโทฯที่ขุดมาได้ ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร โดยสามารถหักค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตามความจำเป็นและสมควร แต่ผู้ขุดต้องเก็บเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องและจัดทำบัญชีต้นทุน เช่น ค่าซ่อมบำรุงคอมพิวเตอร์ ค่าจ้างพนักงาน ค่านายหน้า ค่าไฟฟ้า ค่าอินเทอร์เน็ต ที่เกิดขึ้นจริงในปีภาษี เป็นต้น รวมถึงค่าใช้จ่ายที่มีลักษณะเป็นการลงทุนในทรัพย์สินเช่น คอมพิวเตอร์  

  1. ได้รับคริปโตเคอร์เรนซีเป็นเงินเดือนหรือค่าจ้าง 

พนักงานได้รับเงินเดือนเป็นคริปโตฯถือเป็นเงินได้เนื่องจาก การจ้างแรงงาน ถือเป็นผู้ได้รับเงินได้พึงประเมินประเภท 40(1) ส่วนผู้รับจ้างที่ได้รับค่าจ้างเป็นคริปโตฯถือเป็นเงินได้จากการรับทำงานให้นั้น ไม่ว่าหน้าที่ หรือตำแหน่งงาน หรือที่รับทำให้นั้นจะเป็นการประจำหรือชั่วคราว ผู้มีเงินได้ในกรณีนี้ ถือเป็นผู้ได้รับเงินได้พึงประเมินประเภท 40(2) 

หากได้รับเงินเดือน ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) และได้รับค่าจ้าง ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินมาตรา 40(2) จากนายจ้างรายเดียวกันด้วยแล้ว ผู้มีเงินได้จะต้องรวมแสดงเป็นเงินได้ประเภท 40(1) 

ดังนั้นกรณีได้รับเหรียญคริปโตฯเป็นเงินเดือน หรือ ค่าจ้าง เมื่อนำมูลค่าที่ได้รับไปเสียภาษีแล้วจะสามารถนำมาใช้เป็นต้นทุนในการคภนวณภาษีเมื่อจำหน่ายออกไปจริงได้

  1. การได้รับคริปโตเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัลจากการให้ หรือได้รับเป็นรางวัล

ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร เงินได้จากธุรกิจการพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง หรือการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) ถึง (7) แล้ว

ตัวอย่างเช่นได้รับแจกเมื่อเข้าร่วมกิจกรรม หรือได้รับเป็นรางวัลส่งเสริมการขาย เป็นต้น โดยการวัดมูลค่าคริปโตฯ/โทเคนดิจิทัล ทั้งการคำนวณต้นทุนต้นทุนและรายได้ ให้ใช้มูลค่า ณ เวลาที่ได้มา หรือ ราคาถัวเฉลี่ยในวันที่ได้มา ซึ่งเป็นราคาอ้างอิงที่มีความน่าเชื่อถือ  เช่น ราคาที่ประกาศโดย Exchange ที่จัดทำขึ้นตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และให้เลือกใช้วิธีนั้นตลอดปีภาษี 

ดังนั้นกรณีที่ได้รับเหรียญคริปโตฯ/โทเคนดิจิทัลมา เมื่อนำมูลค่าที่ได้รับไปเสียภาษีแล้ว จะสามารถนำมาใช้เป็นต้นทุนในการคำนวณภาษีเมื่อจำหน่ายออกไปจริงได้

  1. การได้รับผลประโยชน์หรือผลตอบแทนจากการถือครอง โทเคนดิจิทัลและคริปโตเคอร์เรนซี

         5.1โทเคนดิจิทัล

ตัวอย่างเช่น Yield farming หรือ Staking เป็นต้น ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(4)(ซ) เงินส่วนแบ่งกำไร หรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกันที่ได้จากการถือครอบครองโทเคนดิจิทัล 

การวัดมูลค่าโทเคนดิจิทัลทั้งการคำนวณต้นทุนและรายได้ ให้ใช้มูลค่า ณ เวลาที่ได้มา หรือราคาถัวเฉลี่ยในวันที่ได้มา ซึ่งเป็นราคาอ้างอิงที่มีความน่าเชื่อถือ เช่น ราคาที่ประกาศโดย Exchange ที่จัดขึ้นตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และให้เลือกใช้วิธีนั้นตลอดปีภาษี

กรณีที่ได้รับโทเคนดิจิทัลและนำมูลค่าโทเคนดิจิทัลที่ได้รับไปเสียภาษีแล้ว จะสามารถนำมาใช้เป็นต้นทุนในการคำนวณภาษีเมื่อจำหน่ายออกไปได้

     5.2 คริปโตเคอร์เรนซี 

ตัวอย่างเช่น Yield farming หรือ Staking เป็นต้น ผลประโยชน์หรือผลตอบแทนจากการถือครองคริปโตฯ ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร เงินได้จากธุรกิจ การพาณิชย์ หรือการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) ถึง  (7)แล้ว

การวัดมูลค่าคริปโตฯ ทั้งการคำนวณต้นทุนและรายได้ ให้ใช้มูลค่า ณ เวลาที่ได้มา หรือราคาถัวเฉลี่ยในวันที่ได้มา ซึ่งเป็นราคาอ้างอิงที่มีความน่าเชื่อถือ เช่น ราคาที่ประกาศโดย Exchangeที่จัดขึ้นตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และให้เลือกใช้วิธีนั้นตลอดปีภาษี

กรณีที่ได้รับคริปโตฯและนำมูลค่าโทเคนดิจิทัลที่ได้รับไปเสียภาษีแล้ว จะสามารถนำมาใช้เป็นต้นทุนในการคำนวณภาษีเมื่อจำหน่ายออกไปได้

เคลียร์ชัดคำถามที่มักจะพบบ่อย ?

ยกตัวอย่างเช่น : ที่มาของภาษีคริปโตเคอร์เรนซี และทําไมกรมสรรพากรต้องเก็บภาษี

คําตอบ : เดิมเงินได้จากการขายคริปโตเคอร์เรนซี ถือเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากรอยู่แล้ว ดังนั้น ผู้มีกําไรจากการขายคริปโตเคอร์เรนซี จึงมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร อย่างไรก็ดี พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติมประมวล รัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2561 ที่เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปลายปี 2561 เป็นเพียงการจัดประเภทเงินได้ใหม่ จากเดิมเป็นเงินได้พึง ประเมินตามมาตรา 40 (8) ไปเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) เพื่อให้สะท้อนลักษณะของเงินได้ เนื่องจากเงินได้จากการ ขายคริปโตเคอร์เรนซี มีลักษณะเป็นเงินที่ได้รับจากการลงทุน ภายหลังจากออก พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว กรมสรรพากรก็ได้ ประชาสัมพันธ์ประเด็นนี้มากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้เสียภาษีไม่ได้รับโทษในภายหลัง อันเนื่องจากการไม่ปฏิบัติ ตามหน้าที่ทางภาษีอย่างถูกต้อง

รวมถึงประเด็นคำถามอื่นๆ ที่มักล้วนเกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีคริปโตฯ และโทเคนดิจิทัลทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น เงินได้จากคริปโตฯมีกี่ประเภท อะไรบ้าง, ในกรณีที่มีการซื้อขายคริปโตฯ/โทเคนดิจิทัลในต่างประเทศ จะต้องเสียภาษีอย่างไร ? และอื่นๆอีกมากมาย 

ทั้งนี้สามารถอ่านรายละเอียดวิธีการคำนวณภาษีคริปโตเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลแบบละเอียด และไขข้อสงสัยในประเด็นต่างๆ กับคำถามที่มักจะพบบ่อยเพิ่มเติมได้ที่ https://www.rd.go.th/fileadmin/user_upload/lorkhor/information/manual_crypto_310165.pdf

อ้างอิง กรมสรรพากร 

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ไม่ยอมขายแอป ก็โดนแบน สหรัฐฯ จ่อแบน TikTok หวั่นเป็นภัยความมั่นคงชาติ

สหรัฐฯ ผ่านกฎหมายแบน TikTok แล้ว บังคับบริษัทแม่ ByteDance ต้องขายแอปภายใน 1 ปี มิฉะนั้นจะถูกแบนในสหรัฐฯ ด้านซีอีโอ TikTok ประกาศกร้าว พร้อมท้าทายกฎหมาย ไม่ไปไหนทั้งนั้น...

Responsive image

KBank ผนึก J.P. Morgan เปิดโปรเจกต์ Carina ใช้บล็อกเชน ลดเวลาทำธุรกรรมจาก 72 ชั่วโมงเหลือ 5 นาที

Kbank ร่วมกับ J.P. Morgan Chase Bank เปิดตัวโปรเจคต์นวัตกรรมคารินา (Carina) ลดระยะเวลาการทำธุรกรรม จากที่ใช้เวลา 72 ชั่วโมงเหลือเพียงแค่ 5 นาที...

Responsive image

Apple Vision Pro ขายไม่ดีอย่างที่คิด Apple ลดคาดการณ์ยอดขายกว่าครึ่ง ปรับแผนใหม่

Ming-Chi Kuo นักวิเคราะห์สาย Apple เผยว่า Apple ได้ลดตัวเลขยอดขาย Apple Vision Pro ในปีนี้เหลือเพียง 400-450,000 เครื่องเท่านั้น ต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ (มากกว่า 700–800,000 เครื่อง)...