10 เรื่องน่าจับตาใน COP27 เวทีหารือปัญหาโลกร้อนระดับโลก | Techsauce

10 เรื่องน่าจับตาใน COP27 เวทีหารือปัญหาโลกร้อนระดับโลก

สภาวะโลกรวนคร่าชีวิตผู้คนไปเกือบทุกมุมโลกในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ประเด็นดังกล่าวเป็นหมุดหมายสำคัญเตือนให้ผู้นำและพลเมืองต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว สำหรับเวที COP27 หนึ่งในการประชุมหารือประเด็นวิกฤตของมนุษยชาติด้านสิ่งแวดล้อม ปีนี้ COP27 จัดขึ้นที่เมืองชาร์มเอลชีค (Sharm El-Sheikh) ประเทศอียิปต์ ระหว่างวันที่ 6-18 พฤศจิกายน 2022

10 เรื่องน่าจับตาใน COP27 เวทีหารือปัญหาโลกร้อนระดับโลก

COP27 เวทีการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

COP คือ การประชุมภาคี (Conference of Parties) ด้านสิ่งแวดล้อม ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ปี 1992 รัฐภาคีเกือบ 200 ประเทศทั่วโลกที่อยู่ภายใต้กรอบดังกล่าวจะต้องเข้าร่วมหารือกันเป็นประจำทุกปี โดยมีเป้าหมายเพื่อร่วมกันสังเคราะห์แนวทางในการควบคุมหรือจำกัดไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มถึง 1.5 องศาเซลเซียส

เนื่องจาก IPCC หรือ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รายงานว่า โลกเผชิญกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่สุดโต่งเมื่อเทียบกับยุคอุตสาหกรรม และมีแนวโน้มจะรุนแรงยิ่งขึ้นในทั่วโลก อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกได้เพิ่มสูงขึ้น 1.1 องศาเซลเซียส และหากเพิ่มสูงถึง 1.7-1.8 องศาเซลเซียส โลกจะได้รับผลกระทบจากความร้อนและกลายเป็นภัยคุกคามต่อชีวิต 


นับแต่อดีตการประชุมหลายครั้งส่งผลให้เกิดข้อตกลงสำคัญมากมายที่ทำให้ผู้คนสนใจการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พิธีสารเกียวโต ในปี 1997 มุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ในปี 2015 บรรดาผู้นำระดับโลกเห็นพ้องต้องกัน ให้คำสัญญาจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จำเป็น เพื่อรักษาอุณหภูมิโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส 

อย่างไรก็ตาม การหารือจำนวนมากก็ไม่อาจบรรลุผล หากปราศจากการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง COP27 จึงเป็นอีกหนึ่งเวทีที่ถูกจับตามองว่าเป็นอีกหนึ่งเวทีล้างบาปหรือไม่ ? 

10 สิ่งที่น่าจับตามองและควรถกถาม

หลายฝ่ายเชื่อว่า "ปัญหาสภาพภูมิอากาศ" นั้นมีส่วนมาจากผู้นำประเทศมหาอำนาจที่กำลังตบเท้าเดินเข้าที่ประชุม ประเทศเปราะบางทำได้เพียงรอรับเงินสนับสนุนกลับได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมากกว่า เกิดข้อโต้แย้งมากมายว่าใครควรชดใช้ความเสียหายที่เกิดจากเหตุการณ์ในปัจจุบัน นอกจากนี้ ปัจจุบันธุรกิจต่างๆ ให้คำมั่นสัญญาด้านสภาพอากาศ นำเสนอภาพลักษณ์สาธารณะที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ไม่ได้รับผิดชอบมากเพียงพอ ทำให้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คำว่า "Greenwashing" ถูกยกมาพูดถึงบ่อยครั้ง 

  • ผลกระทบและความเสียหายที่ไม่เท่าเทียมกัน 

สำหรับหัวข้อที่คาดจะเกิดในที่ประชุมยังคงเป็นวาระที่ไม่แตกต่างจากปีก่อนๆ ไม่ว่าจะเป็นหายนะทางเศรษฐกิจ และผลลัพธ์จากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลโดยไม่ได้รับการตรวจสอบโดยประเทศอุตสาหกรรมเป็นเวลาหลายศตวรรษ 

ยังรวมถึงมติที่ถูกขยับขยายเวลาและไม่บรรลุจะถูกนำมาหารือกันต่อในปีนี้ โดยเฉพาะเรื่องเงินช่วยเหลือสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาและรัฐที่เป็นเกาะเล็กๆ ที่ต้องการแหล่งเงินทุนใหม่ที่ครอบคลุมการสูญเสียและความเสียหายที่เกิดจากเหตุการณ์สภาพอากาศที่รุนแรงมากในประเทศของเขา เพื่อให้เขาสามารถรับมือกับวิกฤตได้ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่ทุกประเทศที่พัฒนาแล้วจะแบกรับได้ตลอดไป 

 นี่เป็นปัญหาระดับโลกที่ส่งผลกระทบต่อประเทศกำลังพัฒนาในขณะนี้ เวทีนี้เป็นการทดสอบขั้นสุดท้ายที่จะบอกถึงความมีเหตุผลของมนุษย์ว่าพวกเขาสามารถทำงานร่วมกันได้ แม้จะมีความเห็นทางการเมืองแตกต่างกัน  

คำกล่าวจาก Munir Akram นักการฑูตปากีสถาน ประธานกลุ่ม G77 ของประเทศกำลังพัฒนา โดยปากีสถาน คือ หนึ่งในประเทศข้างเคียงอียิปต์ ที่เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่เป็นประวัติการณ์ในปีนี้ และเผชิญกับความยากลำบากเป็นพิเศษในการหาทุนเพื่อเข้าร่วม 

  • Climate finance

ประเด็นเงินสนับสนุน ดูเป็นหัวข้อใหญ่ที่เป็นวาระต่อสู้หนึ่งไม่ต่างจากการหารือแนวทางลดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก เงินสนับสนุนด้านสภาพอากาศมูลค่า 100 พันล้านดอลลาร์ต่อปี ถือเป็นจำนวนเงินที่มาก แต่ก็ยังมีหลายฝ่ายที่มองว่าไม่เพียงพอที่จะครอบคลุมความต้องการของประเทศที่ยากจนกว่า ผลลัพธ์จากการประชุมในปีที่แล้ว เรียกร้องให้มีการเพิ่มทุนเพื่อช่วยโลกที่อาจเพิ่มมูลค่าถึงหลายล้านล้านดอลลาร์  

สำหรับประเทศที่ร่ำรวยย่อมเป็นอีกหนึ่งทางแพ่งที่ไม่เต็มใจในการปฏิบัติตามเงื่อนไข เพียงเพื่อพิสูจน์ตัวเองสำหรับผลกระทบด้านสภาพอากาศที่เลวร้าย หรืออีกนัยหนึ่งที่ยอมรับว่าตนคือส่วนหนึ่งของสาเหตุนี้   

อีกเสียงหนึ่ง คือ การรับการสนับสนุนจากภาคเอกชน แต่การระดมเงินหลายล้านล้านดอลลาร์แบบรวดเร็วนี้นอาจมาพร้อมกับข้อสงสัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศมีความเกี่ยวโยงกับการลงทุนด้านเชื้อเพลิง ตามมาด้วยการเข้ามามีบทบาทของ Multilateral Development Banks หรือ ธนาคารเพื่อการพัฒนาพหุภาคี เช่น ธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ และธนาคารเพื่อการลงทุนแห่งยุโรป ที่จะเข้ามาเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมเพิ่ม

  • ความร่วมมือในการเปลี่ยนผ่านพลังงาน

COP27 มีแนวโน้มที่จะมุ่งเน้นไปที่ความรับผิดชอบของประเทศที่ร่ำรวย โดยมักจะไม่พูดถึง ประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ซึ่งถือเป็นประชากรสำคัญอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลง กลุ่มประเทศเหล่านี้พึ่งพาถ่านหินสูงมาก ยกตัวอย่าง อินโดนีเซียที่ประกาศความร่วมมือ Just Energy Transition Partnership ของตนเองควบคู่ไปกับผู้บริจาค เช่น สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปในการประชุม Group of 20 ที่บาหลีที่จะจัดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่สองของ COP27 ในปีที่แล้ว ทางแอฟริกาใต้ก็พึ่งประกาศแพคเกจมูลค่า 8.5 พันล้านดอลลาร์ในการประมูลโครงการถ่านหิน ซึ่งต้องจับตาดูว่าประเทศผู้บริจาคที่ร่ำรวยและแอฟริกาใต้ตกลงกันว่าจะใช้เงินอย่างไรในท้ายที่สุด

  • แผนการปรับลดก๊าซเรือนกระจกระดับชาติ

นับตั้งแต่เปิดตัวในปีที่แล้ว Global Methane Pledge มุ่งมั่นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 30% ภายในสิ้นทศวรรษนี้ มีผู้เข้าร่วมกว่า 120 ประเทศ ในช่วง COP27 กำลังดำเนินการมีการตั้งเป้าหมายว่า ประเทศอื่นๆ ที่ผู้ปล่อยก๊าซมีเทนรายใหญ่เช่น แอลจีเรีย อาเซอร์ไบจาน และเติร์กเมนิสถาน จะลงทะเบียนเข้าร่วมเพิ่มเติม ตลอดจนการประกาศร่วมกันของบรรดาผู้นำเข้าและผู้ที่อยู่ในธุรกิจเชื้อเพลิงฟอสซิลเกี่ยวกับแผนที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ประเทศต่างๆ จะนำเสนอรายงานสถานะของตน อย่างด้านสหภาพยุโรปกำลังมีความคืบหน้าอย่างมากในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน ทั้งหมดแสดงให้เห็นถึงความพยายามปฏิบัติตามคำมั่นสัญญานั้นจริง ๆ ซึ่งการลดการปล่อยมลพิษยังคงเป็นการต่อสู้ที่ยากลำบากสำหรับส่วนต่างๆ 

  • ตลาดคาร์บอน

ในที่ประชุม COP27 ผู้เข้าร่วมเจรจาจะต้องกำหนดแนวทางที่เข้มงวดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเพื่อให้แน่ใจว่าเครดิตที่ใช้ในตลาดคาร์บอนทั่วโลกแสดงถึงการลดการปล่อยก๊าซจริง เพราะข้อตกลงปัจจุบันอนุญาตให้ซื้อขายคาร์บอนเครดิตเก่าที่ไม่จำเป็นต้องลดการปล่อยมลพิษ ทำให้เกิดความพยายามที่ก่อตั้งตลาดคาร์บอนโลกที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

  • ความทะเยอทะยานที่จะบรรลุเป้าหมายอย่างพร้อมเพรียงกัน 

ภายใต้ข้อตกลงปารีส หลังจากที่คณะผู้แทนตกลงเกี่ยวกับกฎสำหรับตลาดคาร์บอนทั่วโลก ประเทศต่างๆ ต้องอัปเดตข้อผูกพันด้านสภาพอากาศของตนและหลายประเทศให้คำมั่นที่จะทำเช่นนั้น โดยการประกาศเป้าหมาย Net Zero และปรับลดการพึ่งพาพลังงานจากถ่านหินและหันมาพึ่งพาพลังงานสะอาดอย่างพร้อมเพรียงกัน 

  • ข้อเท็จจริงที่ชี้ชัดว่าโลกยังคงร้อนขึ้นเรื่อยๆ 

ถึงแม้ในที่ประชุม COP27 จะพูดคุยกันจริงจัง แต่ต้องระลึกไว้เสมอว่า แม้จะมีความคืบหน้าเมื่อเร็วๆ นี้ โลกก็ยังคงอยู่ในภาวะที่อุณหภูมิเหนือเป้าหมาย 2 องศาเซลเซียสตามที่กำหนดไว้ในข้อตกลงปารีส งานวิจัยล่าสุดคาดการณ์ว่าจะร้อนขึ้นระหว่าง 2.1 องศาเซลเซียส  ถึง 2.9 องศาเซลเซียส ภายในสิ้นศตวรรษนี้ ความพยายามที่จะจำกัดไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มสูงขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียสก็จะไม่บรรลุเป้าหมายอยู่ดี

  • ผู้นำที่เข้าร่วมและไม่เข้าร่วม

ปีนี้จะมีประมุขแห่งรัฐ และ ผู้นำรัฐบาลมากกว่า 100 ประเทศเข้าร่วมการประชุม  ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา Joe Biden ผู้นำโลกเสรี เข้าร่วมเป็นที่แน่นอน นอกจากนี้ ไม่ว่าจะเป็น Luiz Inácio Lula da Silva ผู้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนล่าสุดของบราซิล นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร Rishi Sunak ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป Ursula Von der Leyen พร้อมด้วยผู้นำยุโรป เช่น Emmanuel Macron จากฝรั่งเศส และ Olaf Scholz จากเยอรมัน

ในบรรดารายชื่อ ผู้ที่ถูกจับตามองกลับกลายเป็น ประธานาธิบดีแอฟริกันที่โดดเด่นในหมู่ผู้นำประเทศกำลังพัฒนา ได้แก่ William Ruto จากเคนยา และ Senegal’s Macky Sall จากเซเนกัล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Sherry Rehman รัฐมนตรีด้าสภูมิอากาศของปากีสถาน ที่จะเป็นผู้นำในการอภิปรายเรื่อง Climate justice ความยุติธรรมด้านสภาพอากาศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ   ส่วนผู้ที่ไม่ได้มาเข้าร่วม ได้แก่  Xi Jinping ผู้นำจีนซึ่งไม่ได้เป็นที่แปลกใจนัก Greta Thunberg นักเคลื่อนไหวที่ก็กลายเป็นหัวข้อข่าวอยู่ช่วงเวลาหนึ่งเช่นเดียวกัน 

  • อิทธิพลจากเซเลปและนักเคลื่อนไหว

นอกจากกการทูตด้านสภาพอากาศ บุคคลอื่นๆที่ได้เข้าร่วม COP27 ยังรวมเหล่าบรรดาบุคคลที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกด้วย ปีที่แล้ว Leonardo DiCaprio นักแสดงและในฐานะ Water Activistปรากฏตัวพร้อมกับนักแสดงสาว Emma Watson  และ  Barack Obama อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ปฏิเสธไม่ได้ว่าบุคคลผู้มีอิทธิพลเหล่านี้สามารถรวบรวมกลุ่มผู้ชื่นชอบและสร้างแรงกระเพื่อมแก่สังคมได้เป็นอย่างดี 

  • ความเป็นจริงที่ไม่ได้อยู่ในที่ประชุม

ในอีกด้านหนึ่งที่การประชุมเกิดขึ้น เมืองชาร์ม เอล-ชีค ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานในปีนี้ เกิดการประท้วงจำนวนมากโดยนักเคลื่อนไหวด้านสภาพอากาศ นักเคลื่อนไหวรายงานปัญหาที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน Alaa Abd El-Fattah นักเคลื่อนไหวชาวอียิปต์-อังกฤษ ซึ่งขณะนี้อยู่ในคุกและเริ่มประท้วงอดอาหารเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว ซึ่ง Abd El-Fattah ได้สาบานที่จะหยุดดื่มน้ำในวันแรกของ COP27  

การประชุมดึงผู้นำระดับโลก นักวิทยาศาสตร์ แม้แต่ผู้บริหารหลายพันคน มีการดำเนินการที่เร่งด่วนมากขึ้น ในขณะเดียวกันที่ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรและนักเคลื่อนไหวซึ่งเป็นตัวแทนของภาคประชาสังคม ต้องการเข้าร่วมการประชุม COP27 กล่าวว่าพวกเขาต้องเผชิญกับอุปสรรคที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในการได้รับการรับรองและหาที่พัก


อ้างอิงข้อมูลจาก 

Ten things to watch for at COP27 in Egypt

U.N. targets 'greenwashing' with new standards for companies


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เจาะลึก Sovereign AI สำคัญอย่างไร ? จากปาก Jensen Huang ในวันที่ ‘ข้อมูลไทย’ คือทรัพยากรใหม่

สำรวจบทบาทของ Sovereign AI ในการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย พร้อมคำอธิบายจาก Jensen Huang CEO ของ NVIDIA เกี่ยวกับ AI ไทยและ Open Thai GPT ที่จะเปลี่ยนอนาคตของเทคโนโลยีในประเทศไทย...

Responsive image

สรุป 3 ความร่วมมือ Jensen Huang ร่วมงาน AI Vision for Thailand ไทยได้อะไรบ้าง ?

Jensen Huang เดินทางเข้าร่วมงาน AI Vision for Thailand จัดขึ้นโดย SIAM.AI CLOUD โดยได้เผยวิสัยทัศน์การขับเคลื่อน AI ในประเทศไทย ทั้งนี้ Siam.AI ได้เปิดตัวโครงสร้างพื้นฐาน AI ของ...

Responsive image

Apple เสนอลงทุนในอินโดฯ เพิ่ม 10 เท่า มูลค่าพันล้านดอลลาร์สหรัฐ สู้ปลดแบน iPhone 16

Apple ทุ่มสุดตัว! เพิ่มเงินลงทุนในอินโดนีเซีย 10 เท่า เป็น 1,000 ล้านดอลลาร์ จากเดิม 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หลังข้อเสนอเดิมถูกปัดตก เป้าหมายปลดแบนการขาย iPhone 16 ในอินโดฯ ให้สำเร็จ...