'ทิม พิธา' เสนอภาครัฐ ตัดหนี้ ตัดรายจ่าย เติมสภาพคล่องให้คนไทยได้ตั้งหลัก | Techsauce

'ทิม พิธา' เสนอภาครัฐ ตัดหนี้ ตัดรายจ่าย เติมสภาพคล่องให้คนไทยได้ตั้งหลัก

คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่าน Facebook : Pita Limjaroenrat - พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ระบุว่า “พิธา” เสนอรัฐ ตัดหนี้-ตัดรายจ่าย-เติมสภาพคล่อง ให้คนไทยได้ตั้งหลัก โดยมีเนื้อหาดังนี้

ตอนนี้พวกเรากำลังเผชิญวิกฤตที่ไม่เคยเจอมาก่อน เป็นวิกฤตที่ไม่ใช่แค่ของคนไทย แต่กระทบคนทั่วโลก และกระทบทุกภาคส่วนไม่เพียงแต่ภาคสาธารณสุขเท่านั้น ดังนั้นสิ่งที่พวกเราเผชิญอยู่จึงเป็นวิฤตซ้อนวิกฤต และจะกินเวลายาวนานข้ามปีหรือมากกว่านั้น วิกฤตตรงหน้าคือการระบาดของโรค COVID-19 และวิกฤตที่ซ้อนอยู่คือวิกฤตเศรษฐกิจ ที่จากเดิมประเทศไทยไม่มั่นคงอยู่แล้วจะถูกซ้ำเติมให้แย่ลงไปอีก นี่ไม่ใช่เรื่องการเมือง ไม่ใช่เรื่องของฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องร่วมมือกัน

มากไปกว่านั้น วิกฤตที่ซ้อนกันอยู่เป็นวิกฤต "ไม่ธรรมดา" ไม่ใช่ปัญหาเศรษฐกิจทั่วไปที่พวกเราเคยเจอ ดังนั้นจะไม่สามารถคลี่คลายด้วยการแก้ปัญหาแบบเดิม ที่ทำจนเคยชินอย่างเช่นการแจกเงิน แต่คือการต้องคิดนอกกรอบ และใช้นโนบาย “ไม่ธรรมดา” เพื่อที่จะสามารถแก้ไขปัญหาและเยียวยาประชาชนได้ครบทุกกลุ่ม

เศรษฐกิจโรค - เศรษฐกิจโลก - เศรษฐกิจไทย

รายงานการประชุมองค์การสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) พบว่าการชะลอตัวทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 จะส่งกระทบต่อเศรษฐกิจโลก อย่างน้อย 32 ล้านล้านบาท และในสถานการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดจะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ 64 ล้านล้านบาท ในกรณีนี้การเติบโตของ GDP โลกจะเหลือเพียง 0.5% นอกจากนี้ห่วงโซ่อุปทานในระดับโลกที่หยุดชะงักและราคาน้ำมันที่ผันผวนยังยิ่งซ้ำเติมความรู้สึกตื่นตระหนกไปทั้งโลก
สัญญาณวิกฤตที่กำลังจะตามมา

ระเบิดเวลาที่กำลังตามวิกฤต COVID-19 มาคือวิกฤตเศรษฐกิจของยุโรปซึ่งเป็นศูนย์กลางของการระบาด COVID-19 ในตอนนี้ UNCTAD รายงานว่ายุโรปจะเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจอย่างแน่นอนในเดือนที่กำลังจะถึงนี้ โดยมีสัญญาณมาตั้งแต่ปลายปี 2562 และเศรษฐกิจที่เปราะบางมากเป็นพิเศษคือเศรษฐกิจของเยอรมนี ซึ่ง OECD ได้หั่นประมาณการเติบโต GDP เหลือ 0.3% เยอรมนียังประสบกับปัญหาหนี้เสียของ Deutsche Bank ที่ได้เริ่มปลดพนักงานออกจำนวนมากตั้งแต่ปีที่แล้ว ตลอดจนภาคการผลิตของประเทศก็หดตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงปีที่ผ่านมา อิตาลีเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 มากที่สุด และในปีนี้ GDP จะเติบโตเหลือเพียง 0.0% ซึ่งวิกฤติจากยุโรปก็ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจหลักของโลก อาทิเช่น สหรัฐอเมริกาจะเติบโตเหลือ 1.9% ญี่ปุ่นเหลือ 0.2%

เนื่องจากเศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทยไม่เข้มแข็ง จึงต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอกทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยวอย่างมาก วิกฤตที่ยุโรปและญี่ปุุ่นจึงจะสร้างผลกระทบต่อประเทศไทยได้อย่างใหญ่หลวง ธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) ประเมินว่า GDP ไทยปีนี้จะติดลบ - 2.4% ซึ่งเปรียบเทียบได้กับวิกฤตต้มยำกุ้งปีแรกที่ติดลบ - 3.2% (ปีถัดมาติดลบ 7.2%)

วิกฤตการระบาดของไวรัส COVID-19 ได้เข้ามาซ้ำเติมระเบิดทางเศรษฐกิจหลายลูกที่คนไทยต้องดิ้นรนต่อสู้กันมาก่อนแล้ว และเพียงแค่ผลกระทบจากนักท่องเที่ยวที่ลดลงก็สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทย 3 แสนล้านบาท นี่ยังไม่รวมถึงปัญหา การขาดรายได้ของคนที่ต้องหยุดอยู่กับบ้าน การขาดสภาพคล่องของธุรกิจขนาดเล็ก และความผันผวนทางเศรษฐกิจต่างๆ จากห่วงโซ่อุปทานระดับโลกและเรื่องค่าเงิน เมื่อรวมผลกระทบทุกอย่างแล้ว หากเรายังดำเนินนโยบายแบบกล้าๆ กลัวๆ จะกลายเป็นว่า เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย

ข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาสำหรับประเทศไทย

ระดับความใหญ่หลวงของวิกฤตที่คนไทยดิ้นรนต่อสู้อยู่ทุกวันนี้ ต้องรับมือด้วยมาตรการที่ทะเยอทะยานและตรงจุดมากเพียงพอ เพื่อที่จะให้พี่น้องประชาชนที่ยากลำบากรู้สึกว่ามาตรการช่วยเหลือนั้นเป็นรูปธรรมและมีนัยยะสำคัญ ณ ขณะนี้ไม่ใช่เวลาแบ่งฝ่ายว่าใคร ฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล คนไทยต้องเป็นหนึ่งเดียว ต้องตัดหนี้ ตัดรายจ่าย เติมสภาพคล่อง และนี้คือ 4 ไอเดีย (Policy ideas) ที่รัฐไทยไม่ได้ประกาศ แต่อาจช่วยให้คนไทยตั้งหลักได้ โดยการนำไปใช้จริงต้องให้สอดคล้องกับสถานการณ์

  1. ลดหรืองดภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าจำเป็นนอกเหนือจากสินค้าที่ได้ยกเว้นตามประมวลรัษฎากร ซึ่งอาจจะรวมถึง น้ำ นม ยารักษาโรค อาหารสำเร็จ ข้าวของเครื่องใช้ในบ้านต่างๆ สำหรับทำความสะอาด ฯลฯ (VAT reduction & exemption) เป็นเวลา 3 เดือน (มูลค่าประมาณ 1-2 แสนล้าน) ซึงจีนและอังกฤษเป็นตัวอย่าง เพื่อช่วยประชาชนอย่างรวดเร็วและทั่วถึง ในเวลาอันสั้น
  2. พักหนี้ระยะยาว 3 เดือน (สินเชื่อบ้าน ธกส. กยศ. สินเชื่อ SME ฯลฯ) เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร นักศึกษา SME และบุคคลธรรมดาที่ต้องผ่อนบ้าน
  3. รัฐช่วยจ่ายเงินเดือน 75% 3 เดือน ชดเชยค่าจ้างช่วงกักตัว ช่วยเหลือพี่น้องแรงงานที่ได้รับคำสั่งให้หยุดยาว
  4. ปลดล็อคให้ขาย LTF ก่อนกำหนดได้ โดยไม่เสียค่าปรับเพื่อเติมสภาพคล่องให้พนักงานออฟฟิศ ในอุตสาหกรรมที่โดน “Leave without pay” และในตอนนี้ประเทศไทยมีหนี้สาธารณะอยู่ที่ 40% ยังสามารถกู้เงินได้อีก และในตอนนี้ดอกเบี้ยยังต่ำ เปรียบเสมือนการกู้เพื่อซ่อมบ้านก่อนจะพังทั้งหลัง

นอกจากนี้เกษตรกรและผู้ส่งออกสินค้าเกษตรไทยซึ่งเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ก็ต้องเผชิญกับความผันผวนจากค่าเงินในระดับโลก เนื่องจากในปัจจุบันค่าเงินดอลลาร์แข็งขึ้น บาทอ่อนลง เนื่องจากนักลงทุนเคลื่อนย้ายเงินเข้าสู่ Safe Haven เพื่อความปลอดภัย เมื่อเงินดอลลาร์แพงขึ้นและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในโลกอิงกับดอลลาร์ ราคาก็จะแพงขึ้นทั่วโลกและอุปสงค์ลดลง ประเทศไทยจึงมีแนวโน้มที่จะส่งออกสินค้าเกษตรได้น้อยลง แต่เมื่อวิกฤติต่างๆ ในโลกบรรเทาลง นักลงทุนก็จะย้ายเงินออกมาจาก Safe Haven ผนวกกับสหรัฐฯ มีแนวโน้มใช้มาตรการการเงินแบบขยายตัวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ดอลลาร์จึงอาจอ่อนค่ากลับลงมาอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้เกษตรกรไทยยังต้องเผชิญกับภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี น้ำในเขื่อนเหลือไม่ถึง 10-20% น้ำไม่ถึงไร่นา นี่คือความเสี่ยงที่ประเทศไทยต้องเผชิญ และภาครัฐมีความจำเป็นจะต้องมองไปข้างหน้าเพื่อให้รับมือต่อเหตุการณ์ได้ทันท่วงที

ทั้งนี้คุณพิธา ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า

ผมขอให้กำลังใจพี่น้องประชาชน ดูแลสุขภาพกาย และสุขภาพใจให้พร้อมกลับมาฟูมฟักโอกาสที่กำลังจะมาถึงอีกครั้ง นี่คือช่วงเวลาที่ยากลำบากของพวกเราทุกคน เป็นช่วงเวลาที่เราคงห้ามความเครียดหรือห้ามน้ำตาไม่ได้ แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นขอให้มีสติ ไม่ท้อไม่ถอย วิกฤตนี้พวกเราจะผ่านมันไปได้ เหมือนที่มนุษยชาติเคยผ่านวิกฤตครั้งอื่นๆ กันมา

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

อดีตซีอีโอ Nissan เตือน การควบรวมกิจการกับ Honda อาจทำให้เจอ 'ปัญหา' การลดต้นทุนครั้งใหญ่

Carlos Ghosn อดีตซีอีโอของ Nissan ออกมาเตือนว่า บริษัทอาจต้องเผชิญกับ "หายนะ" จากการลดต้นทุนครั้งใหญ่ หากตัดสินใจควบรวมกิจการกับ Honda โดยเขาให้เหตุผลว่า ทั้งสองบริษัทมีความซ้ำซ้อน...

Responsive image

เชื่อหมอมากกว่า TikTok ? วิจัยชี้ คำแนะนำทางการแพทย์เกือบครึ่ง 'มั่ว'

Tebra บริษัทวิจัยด้านสุขภาพ ได้ทำการวิเคราะห์วิดีโอบนแพลตฟอร์ม TikTok กว่า 5,000 รายการ ที่มีความเกี่ยวข้องกับคำแนะนำทางการแพทย์ เพื่อทำการประเมินความถูกต้องของ ซึ่งผลลัพธ์แสดงให้เ...

Responsive image

Zoom เผย 10 เทรนด์ AI ในการทำงาน ที่ต้องจับตา ปี 2025

ในปี 2568 บริษัทซูม วิดีโอคอมมิวนิเคชันส์ (Zoom) มองว่าเทคโนโลยี AI อาจเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จในหลายๆด้าน บริษัทที่ใช้ AI เป็นหลัก จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพพนักงาน สร้างประสบการ...