'มิเตอร์ TOU' (Time of Use) คืออะไร แก้ปัญหาค่าไฟแพงได้จริงหรือไม่ และติดตั้งอย่างไร ? | Techsauce

'มิเตอร์ TOU' (Time of Use) คืออะไร แก้ปัญหาค่าไฟแพงได้จริงหรือไม่ และติดตั้งอย่างไร ?

หากพูดถึง 'ค่าไฟแพง' หรือ 'ค่า Ft' ที่ดันแพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับเป็นปัญหาที่ประชาชนไทยพบเจอตลอดปีที่ผ่านมา และยิ่งไทยเข้าสู่ช่วงหน้าร้อนไม่แปลกที่หลายคนต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจนน่าตกใจ 

 มิเตอร์ TOU

วันนี้ Techsauce จะพาไปรู้จักกับ 'มิเตอร์ TOU' หรือ Time of Use ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ซะทีเดียว ว่าคืออะไร ? จะช่วยแก้ปัญหาค่าไฟแพงได้จริงหรือไม่ ลดค่าไฟได้มากน้อยแค่ไหน ? และใช้งานอย่างไร ? 

ทำความรู้จัก มิเตอร์ TOU

อัตราค่าไฟฟ้า TOU หรือ อัตราค่าไฟฟ้าที่คิดตามช่วงเวลาของการใช้ (Time of Use Tariff : TOU Tariff) แบ่งเป็น ช่วงที่คนต้องการใช้ไฟเยอะ กับ ช่วงที่คนต้องการใช้ไฟน้อย

แล้วช่วงเวลาไหนบ้างที่ Peak และ Off-Peak?

เพื่อน ๆ น่าจะเคยได้ยินบ้างว่าอัตราค่าไฟช่วง Peak และ Off-peak นั้นไม่เท่ากัน

โดยแบ่งช่วงเวลา ดังนี้

Peak :       เวลา 09:00 - 22:00 น. จันทร์ - ศุกร์ และวันพืชมงคล 

Off-Peak : เวลา 22:00 - 09:00 น. จันทร์ - ศุกร์ และวันพืชมงคล 

                 เวลา 00:00 - 24:00 น. เสาร์ - อาทิตย์ วันแรงงานแห่งชาติ และวันพืชมงคลที่ตรงกับเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดราชการตามปกติ (ไม่รวมวันหยุดชดเชย)

โดยแต่ละประเภทของกิจการก็มีการคิดค่า Peak และ Off-Peak ที่แตกต่างกันออกไป 

มิเตอร์ TOU

แล้ว Peak และ Off-Peak คืออะไร ?

*  Peak  คือ ช่วงที่ค่าไฟฟ้ามีราคาสูง  เนื่องจากประเทศมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง การไฟฟ้าต้องจัดหาเชื้อเพลิงทุกชนิด ทั้งราคาสูงและราคาต่ำในการผลิตไฟฟ้า เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการในช่วงนี้            

*  ช่วง Off-Peak  คือ ช่วงที่ค่าไฟฟ้ามีราคาต่ำ เนื่องจากประเทศมีความต้องการใช้ไฟฟ้าต่ำ โรงไฟฟ้าสามารถเลือกใช้เชื้อเพลิงที่มีราคาต่ำกว่ามาผลิตไฟฟ้าได้  จึงทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าในช่วง  Off-Peak  ต่ำกว่าช่วง  Peak

ใครเป็นผู้กำหนดอัตราค่าไฟฟ้า TOU

ในการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า รวมถึงอัตราค่าไฟฟ้า TOU  คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเป็นผู้กำกับดูแลภายใต้นโยบายและหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบไว้แล้ว

 อัตราค่าไฟฟ้า TOU เหมาะสมกับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทใด

อัตราค่าไฟฟ้า TOU เหมาะสมกับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย กิจการหรือธุรกิจ และโรงงานอุตสาหกรรมที่มีพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้ามากในช่วง Off-Peak หรือผู้ใช้ไฟฟ้าที่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือบริหารจัดการการใช้ไฟฟ้าให้เหมาะสมตามช่วงเวลาที่ได้รับประโยชน์ได้ เช่น ลดการใช้ไฟฟ้า หรือ หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์เครื่องจักรที่ใช้ไฟฟ้ามากในช่วง  Peak  เป็นต้น

อัตราค่าไฟฟ้า TOU เป็นอัตราเลือกสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภท ยกเว้น ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการขนาดกลาง  กิจการขนาดใหญ่  และกิจการเฉพาะอย่าง ที่เริ่มใช้ไฟฟ้าตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2558 รวมทั้งประเภทไฟฟ้าชั่วคราว หากผู้ใช้ไฟฟ้ารายใดประสงค์จะขอใช้อัตราค่าไฟฟ้า TOU ต้องยื่นคำร้องที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และชำระค่าใช้จ่ายตามที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคกำหนด

อยากใช้ TOU ต้องทำยังไง ?  และติดตั้งมิเตอร์ TOU ราคาเท่าไหร่ ?

หากต้องการเพิ่มขนาดมิเตอร์ไฟฟ้าหรือเปลี่ยนมิเตอร์เป็นแบบ TOU (Time of Use Tariff) สามารถดำเนินการได้ที่การไฟฟ้าฯ ตามเขตที่ระบุไว้ในบิลค่าไฟหรือสามารถดำเนินการทางออนไลน์ได้เช่นกัน หรือทาง เว็บไซต์ ช่องทางติดต่อหากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมการไฟฟ้านครหลวง MEA Call Center 1130 ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายด้านเครื่องวัดฯ TOU ตามระดับแรงดันที่เชื่อมต่อกับระบบของ กฟน. โดยจะมีค่าเปลี่ยนมิเตอร์ประมาณ 700 บาท และ ค่ามิเตอร์ TOU ประมาณ 6,000 บาท ซึ่งรายการเหล่านี้ ยังไม่รวมค่าสายไฟเข้าบ้าน และค่าติดตั้งสายดิน 

สรุปง่าย ๆ คือ

1.สามารถดำเนินเรื่องได้ที่การไฟฟ้าใกล้บ้าน

กรณียื่นในนามบุคคล

  • เอกสารที่ต้องเตรียมในกรณียื่นในนามบุคคล
  • สำเนาบัตรประชาชน
  • สำเนาทะเบียนบ้านที่จะขอติดตั้ง
  • กรณีไม่ใช่เจ้าบ้านต้องใช้เอกสารแสดงความเกี่ยวพันธ์ เช่น สัญญาซื้อขาย
  • บิลค่าไฟ
  • สำเนาเอกสารเปลี่ยนชื่อในกรณีที่มีการเปลี่ยนชื่อ

ใบคำขอใช้ไฟฟ้า สามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์การไฟฟ้านครหลวง

กรณียื่นในนามนิติบุคคล

  • เอกสารที่ต้องเตรียมในกรณียื่นในนามนิติบุคคล
  • หนังสือรับรองบริษัทไม่เกิน 6 เดือน
  • สำเนาบัตรประชาชนกรรมการผู้มีอำนาจ
  • สำเนาทะเบียนบ้านที่ขอเปลี่ยนมิเตอร์ไฟฟ้า
  • ใบคำขอใช้ไฟฟ้า สามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์การไฟฟ้านครหลวง
  • ใบมอบอำนาจและสำเนาบัตรประชาชนผู้รับมอบ พร้อมกรรมการผู้มีอำนาจลงชื่อพร้อมประทับตราบริษัทฯในกรณีไม่ได้ดำเนินเรื่องด้วยตนเอง


2.ดำเนินเรื่องผ่านทางออนไลน์

สามารถดำเนินเรื่องผ่านทางออนไลน์ได้ที่ EService

ค่าไฟฟ้าจะลดลงได้อย่างไร ?

สำหรับบ้านอยู่อาศัย และกิจการขนาดเล็ก อัตราปกติที่มีการคิด ค่าไฟฟ้า แบบ Progressive rate (อัตราก้าวหน้า) คือ ค่าไฟฟ้า ขึ้นกับหน่วยการใช้ไฟฟ้า ยิ่งใช้ไฟฟ้ามากก็ยิ่งเสียเงิน ค่าไฟฟ้ามาก ทำให้รู้สึกว่าค่าไฟฟ้าสูงเกินไป แต่ถ้าเรามาปรับปรุงลักษณะการใช้ไฟฟ้าให้มีการใช้ไฟฟ้าน้อยในช่วงกลางวัน (On Peak) และใช้ไฟฟ้ามากในช่วงกลางคืน (Off Peak) หรือใช้ไฟฟ้าอย่างสม่ำเสมอตลอดทั้งวัน หรือใช้ไฟฟ้ามากในวันเสาร์ - อาทิตย์ กฟน. มีอัตราค่าไฟฟ้าแบบ TOU ให้เลือกจะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงได้นั่นเอง และสำหรับ บ้านที่ติดโซลาร์เซลล์และใช้มิเตอร์ TOU ก็จะทำให้ยิ่งประหยัด เนื่องด้วยกลางวันใช้ไฟฟ้าฟรีจากแสงอาทิตย์ ส่วนกลางคืนก็ใช้มิเตอร์ TOU ซึ่งถือว่าคุ้มค่ามาก

ดังนั้นทั้งหมดนี้พอจะเป็นคำตอบให้กับหลาย ๆ คนได้แล้วว่า จะเปลี่ยนมาใช้มิเตอร์ TOU ดีหรือไม่ หากเปลี่ยนต้องดูปัจจัยอะไรบ้าง และดำเนินการอย่างไร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นอย่างลืมสำรวจพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของตนเองก่อน จากนั้นจึงค่อยตัดสินใจเพื่อที่จะได้รับความคุ้มค่าที่มากที่สุดนั่นเอง 

อ้างอิง PEA

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

TikTok เตรียมจำกัดการใช้ฟิลเตอร์ปรับหน้าสวย ป้องกันค่านิยม Beauty Standard ในเด็กต่ำกว่า 18 ปีทั่วโลก

ฟิลเตอร์ไม่ตรงปกเด็กห้ามใช้ เมื่อ TikTok ประกาศจำกัดการใช้งานฟิลเตอร์ปรับหน้าสวยในเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปีทั่วโลกเร็วๆนี้ หวังป้องกันค่านิยม Beauty Standard...

Responsive image

ทำไมตลาดรถยนต์ไทยถึงอาจซบเซาสุดในรอบ 15 ปีแม้ว่ารถ EV จะขายดีก็ตาม ?

ตลาดรถยนต์ไทยมองผิวเผินอาจจะดูเหมือนเติบโตจากการเข้ามาของแบรนด์ EV จีน ซึ่งทำให้เกิดการแข่งขันทั้งทางฝั่งรถ ICE รวมถึงการทำสงครามราคาเพื่อดึงดูดผู้ซื้อ แต่ในความเป็นจริงแล้วตลาดรถย...

Responsive image

AOT เปิดใช้ระบบ Biometric สแกนใบหน้า เริ่มต้น 1 ธันวาคม 2567 ผู้โดยสารระหว่างประเทศใช้งานได้

บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT เปิดตัวระบบ Biometric ที่ใช้เทคโนโลยีสแกนใบหน้า (Facial Recognition) เพื่อช่วยให้การเดินทางของผู้โดยสารสะดวกและรวดเร็วขึ้น...