โซลูชันติดตามพฤติกรรมปศุสัตว์เป็นหนึ่งในนวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมการเกษตร (Agriculture) ที่เกิดจากการพัฒนาตามกลยุทธ์ Tech Village ซึ่ง True Digital Group มีความภาคภูมิใจที่ได้นำนวัตกรรมมาตรฐานระดับโลกมาถึงมือเกษตรกรไทย โดยให้บริการในรูปแบบสมาชิก (Subscription Model) ซึ่งถือเป็นรายแรกในไทย ทำให้เกษตรกรลดค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงเทคโนโลยี ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรมฟาร์มโคโดยรวมของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพ เพิ่มผลผลิตได้มากขึ้น และต้นทุนลดลง ทั้งยังสามารถแก้ไขปัญหาของเกษตรกรไทยได้อย่างตรงจุด
นวัตกรรมติดตามพฤติกรรมปศุสัตว์นี้ด้วยคุณสมบัติทำให้ปลดล็อคปัญหาเกี่ยวกับ " ฟาร์มวัวนม" ไทยที่นับได้ว่าเป็นอีกอุตสาหกรรมพระราชทานที่อยู่คู่คนไทยมาหลายปี และประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศผลิตนมวัวสดส่งออกที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก ซึ่งปัจจุบันคนรุ่นใหม่หันมานิยมอาชีพนี้มากขึ้นด้วย ดังนั้นภาครัฐและภาคเอกชนได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในด้านอาชีพและการสร้างพัฒนาฟาร์มวัวรวมถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์จากวัวอย่างยั่งยืนผ่านเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง IoT, Analytics, AI และ Blockchain
การนำเทคโนโลยีเข้ามาตอบโจทย์เกษตกรเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาสิ่งที่มีให้ดียิ่งขึ้นหากการพัฒนาช่วยปลดล็อคปัญหาการขยายพันธุ์วัวนมไทยได้จะส่งผลต่ออนาคตของการส่งออกผลิตภัณฑ์จากฟาร์มวัวนมไทยให้มีปริมาณมากขึ้น รวมถึงสามารถพัฒนาต่อยอดด้านคุณภาพและสายพันธุ์ใหม่ของวัวนมและวัวเนื้อที่ไม่ด้อยไปกว่าต่างประเทศซึ่งนอกจากการส่งออกแล้ว การบริโภคภายในประเทศก็เป็นอีกเป้าหมายสำคัญของโครงการพัฒนานี้ ที่อยากให้คนไทยได้บริโภคผลิตภัณฑ์จากวัวเนื้อที่มีสายพันธ์ุดี คุณภาพสูงโดยไม่ต้องบินไกลไปถึงต่างประเทศ
คุณเอกราช ปัญจวีณิน กรรมการผู้จัดการ ธุรกิจไอโอทีและดิจิทัลโซลูชัน บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า "การทำธุรกิจในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคและไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของผู้คนในสังคม ด้วยกลยุทธ์ Tech Village ที่สร้างจุดเด่นและความแตกต่างในการให้บริการไอโอทีและดิจิทัลโซลูชัน โดยมีทีมผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสำหรับแต่ละภาคอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ เพื่อศึกษาหาข้อมูล และเข้าถึงธุรกิจ ทำให้เห็นภาพรวมทั้งระบบของแต่ละอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง รวมทั้งเข้าใจปัญหาและความต้องการใช้งานของลูกค้าได้อย่างลึกซึ้ง พร้อมทั้งผสานความแข็งแกร่งด้านดิจิทัล (Digital Convergence) ที่หลากหลายของกลุ่มทรู ไม่ว่าจะเป็น โครงข่ายและเทคโนโลยี IoT, Analytics, AI และ Blockchain มาประยุกต์ใช้ร่วมกันแบบบูรณาการและประมวลผลร่วมกับ Big Data ของแต่ละอุตสาหกรรม สร้างเป็นข้อมูลเชิงลึก (Business Insight) เพื่อใช้ในพัฒนาดิจิทัลโซลูชัน ที่จะช่วยแก้ปัญหาได้ตรงจุดและพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ทั้งยังสามารถนำมาประยุกต์และเชื่อมโยงใช้กับอุตสาหกรรมอื่นได้อีกด้วย"
ปัจจุบัน True Digital Group ได้ร่วมกับ AllFlex ซึ่งเป็นผู้พัฒนาดิจิทัลโซลูชั่นด้านการเกษตรที่มีประสบการณ์ในการบริหารจัดการฟาร์มปศุสัตว์มาแล้วในหลายประเทศทั่วโลก เปิดตัวโซลูชั่นติดตามพฤติกรรมปศุสัตว์ครั้งแรกในประเทศไทย สำหรับเกษตรกรและผู้ทำฟาร์มโค โดยสามารถติดตามสุขภาพโคและปศุสัตว์ ตรวจสอบและแสดงผลสุขภาพด้านต่างๆของโค อาทิ รอบการผสมพันธุ์ รูปแบบการเคี้ยว อารมณ์ของวัว พร้อมกันนี้ยังร่วมมือกับ ซีพีเอฟ นำร่องการใช้งานโซลูชั่นดังกล่าว เพื่อเป็นต้นแบบให้เกษตรกรได้ศึกษาและเห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจน ซึ่งจะนำไปสู่การขยายการใช้งานในฟาร์มโคทั่วประเทศไทย ช่วยให้เจ้าของฟาร์มโคสามารถวางแผนกระบวนการผลิตด้วยการใช้เทคโนโลยีเฝ้าติดตามที่ให้ผลแม่นยํา ส่งผลให้เกษตรกรพัฒนาคุณภาพผลผลิตนมโคให้มีมาตรฐาน เพิ่มกําลังการผลิตและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้สูงขึ้น ทั้งยังเป็นการสร้างโอกาสในการขยายฟาร์มมากยิ่งขึ้นอย่างมาก
มร.เยรุน แวน เดอ เวน กรรมการผู้อํานวยการฝ่ายปฏิบัติการบริษัท แอนเทลลิค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (ออลเฟล็กซ์) กล่าวว่า “AllFlex มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับ ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ซึ่งมีบริการด้านไอโอทีและดิจิทัลโซลูชันที่ครบวงจร นำดิจิทัลโซลูชันพัฒนาด้านการบริหารจัดการปศุสัตว์สำหรับเกษตรกรมาให้บริการเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยเราเชื่อว่าด้วยการปรับเปลี่ยนโซลูชันที่เรามีร่วมกับทรู ดิจิทัล กรุ๊ปจะช่วยตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรไทย โซลูชันติดตามพฤติกรรมปศุสัตว์ของเราจะกลายเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขความท้าทายที่เกษตรกรไทยเผชิญอยู่ในปัจจุบัน และยกระดับมาตรฐานการปศุสัตว์และกระบวนการผลิตของไทย”
คุณพูนศักดิ์ ทองพิทักษ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ผู้บริหารกิจการอาหารโค ธุรกิจอาหารสัตว์บก บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "ปัจจุบันเกษตรกรฟาร์มโคนมต้องใช้เวลาในการบริการจัดการฟาร์มค่อนข้างมาก การนำนวัตกรรมชั้นนำของโลก มาช่วยแจ้งเตือนภาวะการเป็นสัด สามารถคำนวณช่วงเวลาการผสมติด หรือแม้แต่การติดตามปัญหาด้านสุขภาพของโค ด้วยการวัดพฤติกรรมและความเป็นอยู่ของโค จะทำให้เกษตรกรโคนมคนรุ่นใหม่ที่สนใจอยากจะทำฟาร์มโคนม มีตัวช่วยมากขึ้น ขยายฟาร์มได้อย่างก้าวกระโดด มีเวลาเพิ่มขึ้นเพื่อไปบริหารจัดการงานในส่วนอื่น ๆ ได้มากขึ้น โดยการให้บริการในรูปแบบสมาชิก ซึ่งถือเป็นครั้งแรกนั้น ยังทำให้เกษตรกรไทยสามารถมีโอกาสเข้าถึงนวัตกรรมระดับโลกที่เป็นประโยชน์ได้มากขึ้นอีกด้วย ปัจจุบันเรากำลังทดลองระบบนี้ที่ฟาร์มวังม่วง ซึ่งเป็นฟาร์มในเครือซีพี และศูนย์เรียนรู้เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้สู่เกษตรกรลูกค้าอาหารโคซีพีต่อไป”
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด