ขยายสู่บริการโอนเงินข้ามประเทศ เปิดตัว TrueMoney Transfer ประเดิมเจาะตลาดแรงงานเมียนมาร์ | Techsauce

ขยายสู่บริการโอนเงินข้ามประเทศ เปิดตัว TrueMoney Transfer ประเดิมเจาะตลาดแรงงานเมียนมาร์

Truemoney Transfer3

ทรูมันนี่ บริษัทในเครือแอสเซ็นด์ กรุ๊ป เปิดตัวบริการโอนเงินระหว่างประเทศที่สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และประหยัดสำหรับแรงงานชาวเมียนมา TrueMoney Transfer (ทรูมันนี่ ทรานสเฟอร์) ช่วยให้แรงงานชาวเมียนมาร์สามารถลดภาระค่าใช้จ่ายจากค่าธรรมเนียมธนาคาร และลดความเสี่ยงจากการใช้นายหน้าในการส่งเงินกลับประเทศ

บริการ TrueMoney Transfer คืออะไร

ทรูมันนี่ ทรานส์เฟอร์ คือ บริการที่สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อช่วยให้ลูกค้าที่ไม่มีบัญชีธนาคารสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินผ่านโทรศัพท์มือถืและเครือข่ายตัวแทนผู้ให้บริการทรูมันนี่ โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย และด้วยบริการใหม่นี้ พวกเขาสามารถส่งเงินกลับไปให้ครอบครัวและคนที่รักในประเทศบ้านเกิดได้ง่ายดายและปลอดภัยยิ่งขึ้น

e-wallet สำหรับการโอนเงินระหว่างประเทศ รายแรกของไทย

เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยขยายคุณสมบัติให้ผู้ประกอบธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ สามารถขอใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเป็นตัวแทนโอนเงินระหว่างประเทศได้

โดยทรูมันนี่  ทรานสเฟอร์ เป็นผู้ให้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์รายแรกของไทยที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย ในการให้บริการโอนเงินระหว่างประเทศ

จะใช้ผ่านแอป หรือผ่านเคาท์เตอร์ให้บริการก็ได้

ด้วยจุดให้บริการในปี 2016 ที่จะมีมากกว่า 250 จุดในประเทศไทย และกว่า 681 จุดในประเทศเมียนมาร์

วิเคราะห์ตลาดของ TrueMoney Transfer (การโอนเงินระหว่างไทยและเมียนมาร์)

Market Size

  • จากสถิติพบว่าแรงงานชาวเมียนมาร์มีการโอนเงินจากประเทศไทยกลับสู่ประเทศตัวเองคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 77,000 ล้านบาทต่อปี เฉลี่ยโอนเงิน 30,000 บาทต่อคนต่อปี และมีการโอนเงินแต่ละครั้ง 6,650 บาท
  • ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนผู้ใช้แรงงานจากประเทศเมียนมาร์ถึงเกือบ 2 ล้านคน ในจำนวนนี้ 50% คือผู้ที่มี ID ลงทะเบียนในระบบ หรือคิดเป็นประมาณ 1 ล้านคน
  • ซึ่งตลาดสำหรับกลุ่ม TrueMoney Tranfer ก็คือผู้ใช้แรงงานที่มี ID แล้ว ราว 1 ล้านคนนี้นั่นเอง (ID card จำเป็นต้องใช้ในการสมัครยืนยันตัวตนครั้งแรก เพื่อการทำ KYC หรือ Know your client)

ในช่วงเริ่มต้นของการให้บริการ จะมุ่งเน้นไปที่กลุ่มผู้ใช้แรงงานชาวเมียนมาร์และชาวเมียนมาร์ที่มีถิ่นพำนักในประเทศไทย และจะขยายบริการให้ครอบคลุมกลุ่มผู้ใช้แรงงานจากประเทศกัมพูชา อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ตามลำดับ ปัจจุบัน TrueMoney มีเครือข่ายแล้ว 6 ประเทศทั่วภูมิภาค ทั้งนี้ลำดับในการให้บริการขึ้นอยู่กับการให้อนุญาตในแต่ละประเทศ

และหากมองกว้างขึ้นในระดับภูมิภาค Southeast Asia ก็ยังมีประชากรที่ไม่ได้เข้าถึงธนาคาร (Unbanked) มากถึง 470 ล้านคน

business opportunity myanmar migrants

Problem Statement ปัญหาของผู้ใช้ในปัจจุบัน

ตัวอย่างข้อจำกัดที่เป็นปัญหาสำหรับแรงงานเมียนมาร์ในปัจจุบันได้แก่ การไม่มีบัญชีธนาคาร สถานะทางกฎหมาย อุปสรรคทางด้านภาษา และการเข้าถึงบริการทางการเงินของธนาคาร ซึ่งส่งผลให้แรงงานเหล่านี้จำเป็นต้องพึ่งพาช่องทางการส่งเงินออกนอกประเทศในเครือข่ายที่ไม่เป็นทางการ โดยอาจจะเป็นการอาศัยความสัมพันธ์ส่วนบุคคล นายหน้า (โพยก๊วน) หรือช่องทางการส่งเงินนอกระบบ ที่คิดค่าธรรมเนียมสูง ใช้เวลานาน และไม่ปลอดภัย ช่องทางที่ไม่เป็นทางการและใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้อาจใช้เวลาถึง 4-5 วันกว่าผู้รับจะได้รับเงิน อีกทั้งยังไม่มีหลักประกันมารับรองว่าผู้รับจะได้รับเงินดังกล่าว ทรูมันนี่ จึงเล็งเห็นว่า เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานที่ทุ่มเททำงานหนักแต่กลับไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่ถูกต้องเหมาะสมต่างๆ ได้ จึงได้ออกบริการ ทรูมันนี่ ทรานสเฟอร์ เพื่อให้การโอนเงินระหว่างประเทศเป็นเรื่องง่าย รวดเร็ว และปลอดภัย ที่สำคัญคือมีค่าธรรมเนียมที่ยุติธรรม เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานชาวเมียนมาร์ได้มีคุณภาพชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น อ้างอิงจาก นางสาวสราญรัตน์ ศรีจิรารัตน์ กรรมการผู้จัดการ ประจำประเทศไทย บริษัท ทรู มันนี่ จำกัด

บริการของ TrueMoney Transfer

truemoney transfer map

นางสาวอรุณ สุดเวหา ผู้จัดการอาวุโส สายงานพัฒนาธุรกิจ บริษัท ทรู มันนี่ จำกัด ระบุว่า

สำหรับจุดบริการทรูมันนี่ ทรานสเฟอร์ในประเทศไทย จะมีมากกว่า 250 จุดภายในสิ้นปี 2559 ส่วนใหญ่จะอยู่ในจังหวัดที่มีแรงงานเมียนมาร์หนาแน่น เช่น กรุงเทพ, สมุทรสาคร, สมุทรปราการ, ตาก, ระนอง, กาญจนบุรี และ ภูเก็ต โดยในประเทศเมียนมาร์ จะมีจุดบริการทรูมันนี่ ทรานสเฟอร์ จำนวน 681 จุด ซึ่งจุดบริการเหล่านี้ได้รับความร่วมมือจาก ธนาคาร AGD (Asia Green Development Bank) ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์เอกชนรายใหญ่ของประเทศเมียนมาร์ ให้บริการครอบคลุมกว่าร้อยละ 91 ของทุกเมืองในประเทศเมียนมาร์ที่ส่วนใหญ่เป็นภูมิลำเนาของผู้ใช้แรงงานในประเทศไทย อาทิ รัฐมอญ เขตตะนาวศรี รัฐกะเหรี่ยง รัฐฉาน เขตย่างกุ้ง และเขตพะโค

จุดเด่นของการให้บริการทรูมันนี่ ทรานสเฟอร์ คือ รวดเร็ว ด้วยการให้บริการแบบระบบเดียวกันทั้งในไทยและเมียนมาร์ ทำให้การรับส่งเงินเป็นแบบเรียลไทม์ (real time) ส่งเงินและได้รับเงินปลายทางในทันที ง่าย ด้วยจุดให้บริการที่จะครอบคลุมพื้นที่ทั้งในกรุงเทพ ปริมณฑลและต่างจังหวัดมากกว่า 250 จุดในสิ้นปี 2559 โดยเฉพาะในแหล่งที่มีแรงงานเมียนมาร์อยู่กันอย่างหนาแน่น และจุดให้บริการในประเทศเมียนมาร์ 681 จุด ปลอดภัย ด้วยการใช้รหัสยืนยันการทำรายการ 8 หลักในการส่งและรับเงิน และ ค่าธรรมเนียมที่ยุติธรรม เพียงเริ่มต้นที่ 50 บาท เมื่อโอนตั้งแต่ 100 บาท - 5,000 บาท สูงสุด 30,000 บาทต่อครั้ง และไม่เกิน 200,000 บาทต่อวันต่อคน ทั้งนี้รายละเอียดและเงื่อนไขค่าธรรมเนียมเป็นไปตามที่บริษัทฯ กำหนด

รายละเอียดค่าธรรมเนียม

 

นายวณัฏฐ์ สวนศิลป์พงศ์ ผู้จัดการ สายงานบริหารผลิตภัณฑ์ บริษัท ทรู มันนี่ จำกัด กล่าวถึงวิธีการใช้งานเพื่อการโอนเงินไปยังประเทศ เมียนมาร์ว่า “เพียงผู้ส่งเงินแจ้งความประสงค์กับผู้ให้บริการทรูมันนี่ ทรานสเฟอร์ ว่าต้องการจะส่งเงินให้กับผู้รับเงินในประเทศเมียน์มาร์ ผู้ส่งเงินต้องทำการลงทะเบียนด้วยบัตรประจำตัว และแจ้งชื่อพร้อมเบอร์โทรศัพท์ของผู้รับเงินปลายทาง จากนั้นแจ้งจำนวนเงินที่ต้องการโอน โดยบริการของทรูมันนี่ทรานสเฟอร์ จะแปลงค่าเงินเป็นสกุลเงินจั๊ดในทันที ผู้ส่งเงินจะได้รับรหัสยืนยันการทำรายการ 8 หลักทาง SMS และต้องแจ้งรหัสดังกล่าวไปยังผู้รับเงินปลายทาง ให้ไปรับเงินตามจุดบริการทรูมันนี่ ทรานสเฟอร์ ในประเทศเมียนมาร์ โดยผู้รับเงินต้องแสดงหลักฐานคือบัตรประจำตัว เบอร์โทรศัพท์มือถือ และแจ้งรหัสยืนยัน 8 หลักที่ได้รับจากผู้ส่งเงินทาง SMS ก็จะสามารถรับเงินได้ในทันที ซึ่งทั้งหมดนี้ ทรู มันนี่ ได้พัฒนาเทคโนโลยีมาสร้างนวัตกรรมบริการให้เข้าถึงได้ง่าย สะดวก และปลอดภัย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคนให้ดียิ่งขึ้น” นายวณัฏฐ์กล่าวสรุป

 

ขณะนี้ทรูมันนี่ทรานสเฟอร์ ใช้งานได้แล้วในระบบ Android และกำลังมีโปรโมชัน ยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 ตุลาคมนี้ (จากปกติค่าธรรมเนียมเริ่มต้นที่ 50 บาท เมื่อโอนตั้งแต่ 100- 5,000 บาท)

เสริมจากกองบรรณาธิการ

สำหรับ FinTech ในประเภท Remittance ถือเป็นประเภทที่ไม่ง่าย มีความท้าทายสูง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Regulation และเรื่องการทำ Partnership กับต่างประเทศ นอกจาก TrueMoney ที่ขยายจาก Wallet มาให้บริการ Remittance แล้ว ตัวอย่างผู้เล่นที่เป็น Startup ยังมีน้อยรายอยู่ เช่น BahtSmart, Everex เป็นต้น สำหรับผู้ที่สนใจภาพรวม FinTech ไทยในปัจจุบัน สามารถดูเพิ่มเติมได้ใน FinTech Report นี้ หรือเวอร์ชัน Infographic ที่นี่

สำหรับตลาดการโอนเงินในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน แม้จะเป็นตลาดที่ใหญ่ แต่ก็ถือว่ามีความท้าทายสูงเช่นกัน เพราะต้องกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรม และอาศัยการบอกต่อให้ได้ นับเป็นความท้าทายที่ TrueMoney Transfer กำลังเตรียมแผนรับมือ

ยังเป็นที่น่าสนใจติดตามอีกด้วยว่า ต่อไป TrueMoney หรือ Ascend Money จะมี Roadmap ต่อยอดบริการอะไรเพิ่มเติมต่อไป

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

'บ้านปู' ประกาศกลยุทธ์ใหม่ Energy Symphonics เตรียมมุ่งสู่ปี 2030 เปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างยั่งยืน พร้อมเป้าหมาย Net Zero ในปี 2050

บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลาย ประกาศกลยุทธ์ใหม่ 'Energy Symphonics' หรือ “เอเนอร์จี ซิมโฟนิกส์” เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจสู่ปี 2030 เน้นการเปลี่ยนผ่านพลังงานอ...

Responsive image

Google เผยเศรษฐกิจดิจิทัลไทย โตอันดับ 2 ใน SEA มูลค่า 1.61 ล้านล้านบาท ขับเคลื่อนด้วยอีคอมเมิร์ซและการท่องเที่ยวเป็นหลัก

เศรษฐกิจดิจิทัลไทยกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว คาดว่าในปี 2567 มูลค่ารวมของสินค้าดิจิทัลหรือ GMV จะเพิ่มขึ้นถึง 4.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.61 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2566...

Responsive image

AMD ประกาศลดพนักงาน ราว 1,000 คนทั่วโลก หวังเร่งเครื่องสู่ตลาดชิป AI

AMD ผู้ผลิตชิปรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก ประกาศแผนปรับโครงสร้างองค์กรครั้งสำคัญ โดยจะปลดพนักงานประมาณ 1,000 คน หรือคิดเป็น 4% ของพนักงานทั้งหมด 26,000 คนตามข้อมูลที่บริษัทยื่นต่อสำนักง...