การประกาศใช้นโยบายภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนทางการค้าไปทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อประเทศต่างๆ กว่า 180 ประเทศ แต่สำหรับ ประเทศไทย ดูเหมือนจะได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วงเป็นพิเศษ เมื่อถูกกำหนดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าเพิ่มสูงขึ้นถึง 36% และปรับเป็น 37% ในเวลาต่อมา
คำถามที่น่าสนใจคือ ทำไมไทยถึงโดนตั้งกำแพงภาษีที่สูงขนาดนี้ และการส่งออกอะไรของไทยที่จะได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีครั้งนี้บ้าง ?
Reciprocal Tariff ที่ทรัมป์ประกาศออกมาแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบใหญ่ๆ คือ
Baseline Tariffs เป็นภาษีศุลกากรพื้นฐานสำหรับสินค้านำเข้าทั้งหมดมายังสหรัฐฯ โดยผู้ที่นำสินค้าต่างประเทศเข้ามาในสหรัฐฯ จะเป็นผู้ที่ต้องจ่ายภาษีให้กับรัฐบาล มีผลบังคับใช้ในวันที่ 5 เมษายน เป็นต้นไป
ภาษีศุลกากรเฉพาะสำหรับ ‘กลุ่มประเทศที่ถูกมองว่ามีพฤติกรรมไม่เหมาะสมที่สุด’ (worst offenders) โดยเป็นภาษีที่มีอัตราเรียกเก็บไม่เท่ากันตามแต่ละประเทศ ซึ่ง ‘ไทย’ ก็อยู่ในกลุ่มนี้ที่โดนเรียกเก็บภาษีในอัตราสูงถึง 36%
ตามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวระบุว่า ประเทศที่อยู่ในกลุ่ม Worst Offenders เรียดเก็บภาษีศุลกากรที่สูงกว่าสำหรับสินค้าสหรัฐฯ หรือมีการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (non-tariff barriers) ต่อการค้าสหรัฐฯ หรือได้กระทำการในลักษณะอื่นใดที่ทำให้สหรัฐฯ รู้สึกว่าเป็นการบ่อนทำลายเป้าหมายทางเศรษฐกิจของอเมริกา โดยคู่ค้าสำคัญที่ต้องเผชิญกับอัตราภาษีในลักษณะดังกล่าวได้แก่
สาเหตุที่แน่ชัดเบื้องหลังกำแพงภาษี 37% ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ ยังไม่เป็นที่เปิดเผย อย่างไรก็ตาม มีการวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ โดย รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ ให้ข้อมูลกับฐานเศรษฐกิจว่า อาจเป็นการตอบโต้ทางภาษีที่สหรัฐฯ มีต่อไทย จากกรณีที่ไทยเคยเก็บภาษีสินค้าสหรัฐฯ ถึง 72%
หากมองอีกมุมหนึ่ง การตั้งอัตราภาษีที่สูงลิ่ว ก็อาจเป็นเครื่องมือต่อรองเชิงกลยุทธ์ เพื่อเปิดทางให้สหรัฐฯ สามารถเจรจาประเด็นดุลการค้ากับประเทศคู่ค้าได้
อีกหนึ่งแง่มุมที่น่าสนใจ และอาจให้คำตอบของตัวเลข 36% ในตอนแรก ได้มาจาก ดร. พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร
ซีงได้ตั้งข้อสังเกตผ่านโซเชียลมีเดียว่า อัตราภาษีที่ทรัมป์กำหนดอาจไม่ได้คำนวณจากปัจจัยซับซ้อนอย่าง ช่องว่างอัตราภาษี (tariff gap) การกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (non-tariff barriers) หรือการแทรกแซงค่าเงิน (currency manipulation) อย่างที่หลายคนพยายามวิเคราะห์
แต่ ดร. พิพัฒน์ ชี้ว่า ตัวเลขอัตราภาษีอาจคำนวณจากสูตรง่ายๆ คือ การนำตัวเลขการขาดดุลการค้าที่สหรัฐฯ มีต่อประเทศนั้นๆ (Trade Deficit) มาหารด้วยมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดจากประเทศนั้น (Imports) แล้วคูณด้วย 0.5 (หรือ 50%)
เมื่อแปลงเป็นเปอร์เซ็นต์จะได้ประมาณ 36.35% ซึ่งใกล้เคียงกับอัตราภาษี 36% ที่ทรัมป์ประกาศใช้กับไทยอย่างมาก และใกล้เคียงกับที่ประกาศใช้กับประเทศอื่นๆ ที่อยู่ในกลุ่ม Worst Offenders ด้วย
ความหมายของมุมมองนี้คือ การกำหนดนโยบายภาษีอาจไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของการวิเคราะห์ปัจจัยเชิงลึกด้านนโยบายการค้าเสมอไป แต่อาจเป็นเพียงการใช้สูตรคำนวณเชิงกลไกที่อิงจากตัวเลขทางสถิติการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวเลขการขาดดุลการค้า ซึ่งเป็นประเด็นที่ทรัมป์ให้ความสำคัญมาโดยตลอด
อีกหนึ่งมุมมองที่น่าสนใจมาจาก KKP Research ที่เคยคาดการณ์ว่าไทยน่าจะตกเป็นเป้าสายตาต่อการขึ้นภาษีรอบนี้ โดยมี 3 ปัจจัยหลักคือ
กลุ่มประเทศอาเซียนมีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ อยู่ที่ 2.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นรองเพียงแค่จีนเท่านั้น ประเทศในกลุ่มอาเซียนจึงมีความเป็นไปได้ที่จะต้องเจอกับมาตรการกีดกันการส่งออกจากสหรัฐฯ ซึ่งแม้ว่าไทยจะไมไ่ด้เป็นประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มากที่สุด แต่สหรัฐฯ อาจมองเหมารวมไทย และประเทศอื่นๆ ในอาเซียนเป็นกลุ่มเดียวกัน
KKP Research ตั้งข้อสงสัยว่า กิจกรรมการค้าบางส่วนที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมาคือ การหลีกเลี่ยงภาษีจากสหรัฐฯ ของจีน โดยใช้ไทยเป็นทางผ่านในการส่งออกไปสหรัฐฯ ซึ่งหนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ แผงโซล่า ที่มีปริมาณนำเข้าจากจีนมาไทยใกล้เคียงกับการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ซึ่งประเด็นนี้สหรัฐฯ ทราบเป็นอย่างดี และต้องการเพิ่มมาตรการกีดกันสินค้าเหล่านี้
นโยบายที่ทรัมป์หาเสียงไว้คือ Reciprocal Trade Act ที่หากประเทศไหนขึ้นภาษีนำเข้าสินค้ากับสหรัฐฯ ก็จะโดนขึ้นภาษีกลับเท่ากันในสินค้าเหล่านั้น ซึ่งเป็นหลักการค้าอันเป็นธรรมตามมุมมองของทรัมป์
นอกจากนี้ ไทยอาจถูกมองว่ามีการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีในสินค้าบางกลุ่ม เช่น เนื้อวัว ที่ไทยมีการใช้มาตรการปกป้องผู้บริโภคจากสารเร่งเนื้อแดงของสหรัฐฯ ซึ่งอาจเป็นอีกหนึ่งเหตุผลในการขึ้นภาษีกับสินค้าไทยได้เช่นเดียวกัน
สำนักงานนโยบาย และยุธศาสตร์การค้ากระทรวงพาณิชย์ ได้ออกรายงานถึงกลุ่มสินค้าส่งออกสำคัญ 15 อันดับ ที่ไทยน่าจะได้รับผลกระทบเมื่อมีการบังคับใช้นโยบายภาษีใหม่ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2568 ได้แก่
ศูนย์วิจัยกสิกร คาดการณ์ว่า ผลกระทบต่อการส่งออกไทยไปสหรัฐฯ ในปี 2568 อาจหดตัวที่ -10% เนื่องจากความต้องการสินค้าไทยของสหรัฐฯ มีแนวโน้มลดลงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มสินค้าที่ไทยพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิสก์ อุปกรณ์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนยานยนต์ ยางล้อ อาหาร ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยอาจไม่สามารถปรับลดราคาสินค้าเพื่อรักษาอุปสงค์ได้มากนัก
นอกจากนี้ ไทยอาจได้รับผลกระทบทางอ้อม ในด้านการส่งออกไปยังตลาดอื่นๆ ที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสินค้าจีน เช่น รถยนต์ ชิ้นส่วนอิเล้กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ไฟฟ้า ของเล่น พลาสติก และโพลิเมอร์ เป็นต้น
รวมทั้งยังได้รับผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าในห่วงโซ่อุปทานไปยังคู่ค้า เช่น จีน อาเซียน EU ที่ส่งออกต่อไปสหรัฐฯ ลดลงเนื่องจากถูกตั้งกำแพงภาษีรอบใหม่สูงขึ้นไม่ต่างจากไทย
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ออกแลถงการแสดงท่าที และแนวทางรับมือ โดยเน้นย้ำว่ารัฐบาลได้เตรียมแผนรับมือทั้งระยะสั้น-ยาวไว้แล้ว และเชื่อว่าจะบริหารจัดการไม่ให้กระทบ GDP ของประเทศ
โดยในระยะสั้น มีการตั้งทีมเจรจานำโดยปลัดกระทรวงพาณิชย์ และคลัง ซึ่งเชื่อว่าสามารถต่อรองอัตราภาษี 36-37% ได้ พร้อมกำลังหาข้อสรุปเรื่องการเยียวยาผู้ประกอการส่งออกที่ได้รับผลกระทบ และจะรพิจรณาปรับโครงสร้างภาษีนำเข้าของไทย รวมถึงเพิ่มความเข้มงวดในการตรวขสอบปญหาการส่งผ่านสินค้าจากจีน และสนับสนุนให้ผู้ส่งออกหาตลาดใหม่ ลดการพึ่งพิงตลาดเดียว
ส่วนในระยะยาว รัฐบาลจะมองหาแนวทางการสร้างสมดุลการค้ากับสหรัฐฯ รวมถึงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย เช่น อาหาร เกษตร เทคโนโลยีขั้นสูง HDD Data Center ไปจนถึง AI พร้อมกับใช้วิธีหารืออย่างสร้างสรรค์เพื่อลดผลกระทบต่อภาคธุรกิจ และเกษตรของทั้งสองประเทศ