ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Banking) เมื่อโอกาสในการขอสินเชื่ออาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับประวัติการชำระเงินอย่างเดียวอีกต่อไป | Techsauce

ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Banking) เมื่อโอกาสในการขอสินเชื่ออาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับประวัติการชำระเงินอย่างเดียวอีกต่อไป

เมื่อเร็วๆ นี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประชาสัมพันธ์แนวทางการอนุญาตให้จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ที่คาดว่าจะเริ่มให้บริการในปี 2568 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของลูกค้าบุคคลและธุรกิจรายย่อย หลายๆ ท่านอาจสงสัยว่า ลูกค้ารายย่อยที่ธนาคารแบบดั้งเดิมยังไม่ให้กู้ แล้วธนาคารไร้สาขาที่ไม่รู้จักลูกค้าเลยจะให้กู้ได้อย่างไร

 

เงื่อนไขหนึ่งในหลักเกณฑ์การขอจัดตั้ง Virtual Bank คือ ความสามารถในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่หลากหลาย โดยวิธีการได้มาซึ่งข้อมูลดังกล่าวต้องชัดเจนและเป็นไปได้ เราจะเห็นผู้ที่มีข้อมูลลูกค้าจำนวนมาก มีความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยี จับมือกับสถาบันการเงิน ลงมาเล่นในสนามนี้ เพื่อให้บริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ทุกฝ่าย โดยทำการพิจารณาความน่าเชื่อถือของผู้ขอกู้เงินผ่านปัจจัยแวดล้อมที่สะท้อนแบบแผนการดำเนินชีวิต หรือเรียกว่าข้อมูลทางเลือก (Alternative data) เช่นความสม่ำเสมอในการชำระค่าโทรศัพท์ พฤติกรรมและประเภทของสินค้าที่ซื้อบ่อย หรือการใช้แบบสอบถามด้านจิตวิทยา (Psychometrics)

แบบสอบถามด้านทางจิตวิทยา เป็นชุดคำถามที่ค้นหาพฤติกรรมทางการเงินจากการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การตัดสินใจด้านการเงิน ความยับยั้งช่างใจในการจำกัดรายจ่าย คำถามเกี่ยวกับวินัยในการใช้ชีวิตและการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความวิตกกังวล โดยแบบสอบถามดังกล่าวจะต้องพิจารณาปัจจัยด้านสังคมและวัฒนธรรมต่างๆ เพื่อเฟ้นหาลักษณะนิสัยที่บ่งชี้พฤติกรรมการชำระหนี้ได้ใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด

มีการศึกษาในประเทศมองโกเลียที่ให้ผู้เข้าร่วมการศึกษาพิจารณาภาพโต๊ะทำงานต่างๆ ตั้งแต่โต๊ะทำงานที่มีข้าวของรกมาก จนถึงโต๊ะทำงานที่เป็นระเบียบ ผู้เข้าร่วมการทดลองต้องตอบคำถามว่า ท่านสามารถปล่อยให้โต๊ะทำงานของท่านรกถึงระดับใด ก่อนทำการลุกขึ้นมาจัดระเบียบ ผลการศึกษาพบว่า ผู้ที่ชอบความเป็นระเบียบของโต๊ะ มักจะมีวินัยทางการเงินที่ดีกว่าผู้ที่ตอบว่าสามารถปล่อยให้โต๊ะทำงานรกได้มากกว่า หรืออีกการศึกษาหนึ่งในรัฐอุตตรประเทศและรัฐมหาราษฏระของประเทศอินเดียพบว่า ผู้ประกอบการรายย่อยที่มีพฤติกรรมวัตถุนิยมมักจะมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้สูงกว่าปกติอย่างมีนัยสำคัญ

จุดอ่อนที่ธนาคารควรระวังในการอาศัยแบบสอบถามด้านทางจิตวิทยาเพียงอย่างเดียวคือผู้ตอบแบบสอบถามอาจจะเลือกตอบแบบสอบถามเข้าข้างตัวเอง โดยประเมินวินัยของตนเองดีกว่าความเป็นจริง ซึ่งธนาคารมีแนวโน้มที่จะชื่นชอบคุณสมบัติดังกล่าวและพิจารณาอนุมัติสินเชื่อได้ง่ายขึ้น หรือผู้ตอบแบบสอบถามอาจจะตอบตามสิ่งที่คิดว่าเป็นคำตอบที่ดูดี ไม่ใช่สิ่งที่ตัวเองเป็นจริงๆ

วิธีหนึ่งในการปิดจุดอ่อนนี้คือการทำการทดสอบซ้ำเพื่อค้นหาความคงเส้นคงวาและอาจจะพิจารณานำข้อมูลทางเลือก มาใช้ประกอบกับข้อมูลทางด้านจิตวิทยา เพื่อให้ผลการประเมินที่ได้ครอบคลุมในหลายมิติและสะท้อนพฤติกรรมตัวบุคคลออกมาดียิ่งขึ้น เช่น  สถาบันการเงินแห่งหนี่งในประเทศแคนาดาพบว่าลูกค้าที่นำบัตรเครดิตไปซื้อผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด พรมกันลื่น หรืออุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยในบ้านในสัดส่วนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยและมีการซื้อซ้ำอย่างต่อเนื่อง มักจะมีพฤติกรรมการชำระเงินที่ดีกว่าลูกค้าที่มักนำบัตรเครดิตไปรูดซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยในสัดส่วนที่สูง

อีกการศึกษาหนึ่งในประเทศจีนพบว่า ผู้ที่เป็นเจ้าของเบอร์โทรศัพท์มือถือที่เปิดมานานและมีการโทรหาครอบครัวอย่างสม่ำเสมอมีความสัมพันธ์กับการจ่ายชำระหนี้ที่ดีกว่าบุคคลทั่วไป นอกจากนั้นอาจจะมีการพิจารณาจากประวัติการชำระค่าบริการและสาธารณูปโภคประกอบด้วย

นักวิจัยในเมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย พบว่าการนำข้อมูลโซเชียลมีเดียมาใช้พยากรณ์ความน่าเชื่อถือของลูกหนี้ สามารถเพิ่มความแม่นยำของแบบจำลองได้ถึงร้อยละ 7 ปัจจัยที่น่าสนใจจากการศึกษานี้คือ ผู้ที่โพสโซเชียลมีเดียบ่อยมักมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้สูงกว่าปกติ แต่ผู้ที่เปิดบัญชีโซเชียลมีเดียมานาน จะมีโอกาสในการผิดนัดชำระหนี้ต่ำกว่าปกติ

ปัจจุบันนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้อนุญาตให้สถาบันการเงินบางรายให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและข้อมูลทางเลือก มาใช้ในการให้บริการสินเชื่อในขั้นตอนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาสินเชื่อแล้ว ดังนั้น Virtual Bank ซึ่งถือเป็น “ธนาคารดิจิทัลพันธุ์แท้” ที่มีข้อมูลพร้อมในมือทั้งจากตัวธนาคารเองและพันธมิตรต่างๆ ย่อมที่จะหันมาใช้ทั้งข้อมูลทางเลือกและข้อมูลทางด้านจิตวิทยาควบคู่กันเป็นหัวใจหลักในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่ออย่างแน่นอน

ธนาคารจึงควรสื่อสารถึงความโปร่งใสในการจัดเก็บและนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ประกอบการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อเพื่อให้ผู้ใช้งานเกิดความสบายใจว่าการพิจารณาสินเชื่อยังเป็นไปอย่างยุติธรรมตามกรอบการบริหารความเสี่ยงที่ดี อีกทั้งข้อมูลที่นำมาใช้จะต้องเป็นข้อมูลที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของข้อมูลเท่านั้น ในขณะที่สำหรับผู้กู้รายย่อย การมีเครดิตที่ดีอาจไม่ได้หมายถึงการมีรายได้หรือหลักประกันจำนวนมากอีกต่อไป แต่อาจเป็นเพียงการปรับพฤติกรรมเล็กน้อยในชีวิตประจำวันของท่านอยู่แล้วเท่านั้นเอง

บทความโดย 

คุณศรัณย์ บุญชลากุลโกศล

ผู้อำนวยการ | ที่ปรึกษาด้านความเสี่ยงทางการเงิน

ดีลอยท์ ประเทศไทย

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

NVIDIA เปิดตัว Jetson Orin Nano Super Developer Kit ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ AI จิ๋ว เตรียมใช้ในหุ่นยนต์ AI

NVIDIA กำลังก้าวไปในสู่โลกของหุ่นยนต์อย่างเต็ม หลังเมื่อต้นปี 2024 ที่ผ่านมา ได้เปิดตัวของสำคัญหลายอย่างทั้ง Blackwell ชิปกราฟิกประสิทธิภาพสูงสำหรับประมวลผล AI โดยเฉพาะ ไปจนถึง Pro...

Responsive image

Openspace กองทุนแห่ง SEA ตั้งเป้า 2 ปี ลงทุนสตาร์ทอัพไทยไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท

โอเพ่นสเปซ (Openspace) กองทุนที่ลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพ SEA ประกาศแผนลงทุนในสตาร์ทอัพไทย ส่งเสริมระบบนิเวศสตาร์ทอัพไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท ในช่วงปี พ.ศ. 2568 - 2569...

Responsive image

ยักษ์ใหญ่ญี่ปุ่นจับมือ! Honda-Nissan เตรียมควบรวมกิจการ

รายงานระบุว่า ทั้งสองบริษัทกำลังพิจารณารวมตัวกันภายใต้บริษัทโฮลดิ้ง ซึ่งคาดว่าจะมีการลงนามข้อตกลงในเร็วๆ นี้ โดยมีแผนจะดึงมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ที่นิสสันถือหุ้น 24% เข้ามาร่วมด้วย เพื...