วิกฤตค่าเงินเมียนมาร์ มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ทำไมธนาคารกลางสั่งหยุดจ่ายหนี้ต่างชาติ | Techsauce

วิกฤตค่าเงินเมียนมาร์ มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ทำไมธนาคารกลางสั่งหยุดจ่ายหนี้ต่างชาติ

วิกฤตค่าเงินเมียนมาร์ มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร เมื่อรัฐบาลทหารสั่งชักดาบหนี้ต่างชาติหลังจากการรัฐประหารโดยกองทัพทหารภายใต้พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย (Min Aung Hlaing) ในปี 2021 เมียนมาร์เกิดความขัดแย้งภายในประเทศที่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจ ไม่มีใครคาดเดาว่าจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อค่าเงินจ๊าดที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง สกุลเงินท้องถิ่นของเมียนมาร์ เกิดความกังวลว่าเมียนมาร์จะเข้าสู่วิกฤตเป็นรายต่อไปหรือไม่ ?

เพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงิน ในวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา ธนาคารกลางของเมียนมาร์ (CBM:Central Bank of Myanmar) ได้ออกคำสั่งให้ประชาชนและภาคเอกชนซึ่งครอบคลุมทุกประเภทธุรกิจระงับการชำระหนี้คืนต่างประเทศทุกรูปแบบ ทั้งเงินสดหรือเงินกู้ประเภทเงินต้นและดอกเบี้ย อีกทั้งออกคำสั่งให้ธนาคารปรับระยะเวลาในการชำระคืนสำหรับเอกชนที่มีเจ้าหนี้อยู่ในต่างประเทศ และบริษัทเอกชนในประเทศที่มีต่างชาติถือหุ้นมากกว่า 35% ต้องแลกเงินสกุลอื่นมาเป็นสกุลจ๊าด รวมถึงประชาชนที่มีรายได้จากอัตราการแลกเปลี่ยนเงินจากต่างประเทศที่จะต้องแลกสกุลเงินต่าง ๆ มาเป็นเงินจ๊าดเช่นเดียวกัน

เมียนมาร์ มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

  • รัฐประหารนำประเทศอยู่ภายใต้เงากองทัพ

นับแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2021 ที่กองทัพภายใต้พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย (Min Aung Hlaing) ยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือน พลิกสังคมเมียนมาร์จากหน้ามือเป็นหลังมือ เกิดความขัดแย้งทางเมืองที่รุนแรงภายในประเทศมายังต่อเนื่อง ประชาชนบางส่วนต้องจับอาวุธออกมาสู้รบกับกองทัพ บ้างถูกจับกุมและถูกสังหาร ถึงขั้นจัดตั้งรัฐบาลคู่ขนาน หรือรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเมียนมาร์(NUG:National Unity Government) ซึ่งจัดตั้งโดยสมาชิกรัฐสภาที่เหลือ ประกาศจุดยืนทำสงครามต่อต้านกองทัพพม่าและทำการเจรจาและขอความช่วยเหลือกับนานาประเทศ ทำให้กองทัพทำการควบคุมข้อมูลข่าวสารภายในประเทศที่เข้มข้นกว่าเดิม นอกจากนี้กองทัพยังใช้มาตรการทางกฎหมายจัดการรัฐบาลเก่าด้วยข้อหากระทำผิดจำนวนมาก จากเหตุการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลให้เกิดปัญหาวงกว้างในประเทศ

  • เมียนมาร์กลายเป็นรัฐไร้เสถียรภาพ-เงินลงทุนจากต่างชาติชะงัก

ภายหลังการบริหารประเทศในยุคนางอองซานซูจีที่ได้รับเลือกจากประชาชนได้กลายเป็นความหวังใหม่ โดยในช่วงที่พรรค NLD เป็นรัฐบาลพม่าดำเนินนโยบายแบบค่อนข้างเปิดกว้าง ทำให้เศรษฐกิจมีอัตราการเติบโตสูงถึง 7% ต่อปี ประชาชนเริ่มกลับใช้ชีวิตแบบปกติสุขอยู่พักหนึ่งและหยุดชะงักอีกครั้ง เมื่อเกิดการรัฐประหารโดยกองทัพที่ทำให้ภาพรวมประเทศย่ำแย่ พร้อมด้วยการต่อต้านภายในประเทศ ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจที่เคยหยุดชะงักมาเป็นเวลานานหลังจากการตกอยู่ภายใต้รัฐบาลเผด็จการกว่า 50 ปีตั้งแต่ปี 1987 ไม่มีทีท่าจะฟื้นคืนได้ ทำให้ประเทศเข้าสู่จุดวิกฤตในทุกด้าน

ในเดือนเมษายน 2021 ที่ประชุม UNSC มีมติพิจาณามาตรการคว่ำบาตรทางธุรกิจและแทรกแซงการเมืองภายในประเทศเมียนมาร์ ผสมกับการกต่อต้านจากภายในโดย NUG ได้ส่งผลให้เกิดความกังวลต่อปัจจัยหลายประการในการลงทุนของต่างประเทศ ทำให้ภาคธุรกิจเอกชนต่างประเทศเรียงแถวระงับและถอนตัวออกจากพม่า เช่น Chevron บริษัทน้ำมันจากสหรัฐฯ Woodside บริษัทน้ำมันจากออสเตรเลีย Total Energies บริษัทปิโตรเลียมขนาดใหญ่จากฝรั่ง Voltalia บริษัทพลังงานของฝรั่งเศส Telenor บริษัทเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์ เป็นต้น ประชาชนพม่ากลับสู่สภาวะว่างงานอีกครั้ง 

นอกจากนี้ NUG รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเมียนมาร์ร่วมกับประชาชนผู้ต่อต้าน ก็คว่ำบาตรกิจการที่ถือหุ้นโดยกองทัพ เช่น ธนาคาร สลากกินแบ่งรัฐบาล เพื่อตัดแหล่งรายได้หลักของทหาร ซึ่งเป็นภาคส่วนที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อกระเป๋าเงินของกองทัพ ซ้ำเติมความย่ำแย่ของภาคเศรษฐกิจ อีกทั้งธุรกิจส่วนใหญ่ที่ถอนกิจการออกไปถือเป็นแหล่งรายได้สำคัญและเป็นแหล่งที่มาของเงินตราต่างประเทศเช่นเดียวกัน ประชาชนและบริษัทเอกชนพากันแห่ถอนเงินที่ฝากไว้ ธนาคารหลายแห่งต้องจำกัดการถอนเงินเพื่อป้องกันไม่ให้ระบบธนาคารล่มสลาย 

  • โควิด-19 ทับถมความเปราะบางทางเศรษฐกิจ

การแพร่ระบาดโรคได้ซ้ำเติมวิกฤตให้แย่ลง กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องชะงักงันเหมือนหลายประเทศทั่วโลก ธุรกิจหยุดดำเนินการและขาดกระแสเงินสด จน UNDP United Nations ได้ออกโรงเตือนว่าเมียนมาร์จะเข้าสู่ภาวะยากจนภายในปี 2022 ทางด้านธนาคารโลกได้ระบุว่า 2021 เศรษฐกิจเมียนมาร์จะลดตัวถึง 10% โดยมีอัตราการการเติบโตของ GDP ปรับตัวลดลงกว่า 8.5% โดยตัวเลขหนี้สาธารณะจะพุ่งขึ้นถึง 55.2% ของอัตราการ GDP การผลิตและการบริโภคในภาพรวมจะทรุดตัวลง

  • ทุนสำรองหาย ค่าเงินหด

นับตั้งแต่เกิดรัฐประหารเมื่อปี 2021 เมียนมาร์มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเหลืออยู่ที่ 245,000 ล้านบาท เพราะบางส่วนถูกอายัดไว้ในสหรัฐฯ ประมาณ 36,000 ล้านบาท ในขณะเดียวก็มีหนี้ต่างประเทศจำนวนมากถึง 488,000 ล้านบาท โดย พล.ต.ซอ มิน ตุน โฆษกรัฐบาลทหารเมียนมา กล่าวว่า พม่าต้องใช้เงินราว 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 2.5 หมื่นล้านบาท เพื่อจ่ายหนี้เงินกู้ทั้งในประเทศและต่างประเทศต่อปี ทำให้ประเทศประสบปัญหาเงินทุนสำรองร่อยหรอ 

ก่อนหน้านี้รัฐบาลกองทัพได้ออกคำสั่งห้ามการนำเข้าเชื้อเพลิง น้ำมันพืช รถยนต์ สินค้าฟุ่มเฟือย เพื่อแก้ปัญหาเงินไหลออกต่างประเทศ และประกาศยกเลิกความช่วยเหลือสำหรับประเทศด้อยพัฒนาจากตะวันตก แต่กลับยิ่งส่งผลให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ในส่วนค่าเงินจ๊าดสูญเสียมูลค่ากว่า 60% ในช่วง 7 เดือนแรกหลังรัฐประหาร ทำให้ประชาชนบางส่วนหันมาเก็บเงินในสกุลดอลลาร์หรือซื้อทองคำแทน ทำให้ดอลลาร์และราคาทองในเมียนมาร์พุ่งสูงสร้างสถิติใหม่ทุกเดือนนับแต่ปี 2021 จนถึงปัจจุบัน  

สถานการณ์ได้สร้างแรงกดดันให้กับอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินจ๊าดเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ โดยล่าสุดในเดือนเมษายน ค่าเงินจ๊าดอ่อนค่าลงถึง 39%อยู่ที่ 1,850 จ๊าดต่อดอลลาร์สหรัฐจากการกำหนดโดยธนาคารกลางของเมียนมาร์ แต่ก็มีแนวโน้มอ่อนค่าลงต่ำกว่านี้ ทำให้รัฐบาลต้องออกคำสั่งหักดิบเพิ่มเติมเพื่อรักษาเสถียรภาพของสกุลเงิน 

ซึ่งตามหลักการเมื่อค่าเงินของประเทศเข้าสู่จุดวิกฤต ธนาคารกลางจะทำการแทรกแซงค่าเงิน โดยการซื้อสกุลเงินประเทศตัวเองในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนด้วยเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ แต่รัฐบาลไม่สามารถทำแบบนั้นได้ เพราะเงินทุนสำรองไม่เพียงพอ ทำให้รัฐบาลเมียนมาร์ต้องพยายามควบคุมค่าเงินจ๊าดด้วยวิธีอื่นดังที่ได้ประกาศมาตราการต่าง ๆ ในการจำกัดเงินไม่ให้ไหลออกจากประเทศ ชักดาบหนี้ต่างประเทศทั้งหมดในช่วงเวลานี้ 

วิกฤตครั้งนี้ส่งผลกระทบอะไรบ้าง

มาตรการครั้งนี้ส่งผลกระทบหลักๆ ในด้านความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนที่มีอยู่ให้ลดน้อยลงไปอีก ธุรกิจต่างชาติยังคงระงับและถอนการดำเนินการออกจากเมียนมาร์ต่อเนื่อง ล่าสุด Ooredoo บริษัทโทรคมนาคมจากกาตาร์ก็ได้ประกาศขายหน่วยธุรกิจในเมียนมาร์เป็นที่เรียบร้อย ในส่วนภาคเอกชนหลายแห่งในประเทศที่ไม่สามารถชำระค่านำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ และยังคงต้องชำระหนี้กับต่างประเทศจำเป็นต้องต่อรองหาวิธีในการชำระหนี้กับผู้ให้กู้ในต่างประเทศ 

นอกจากนี้ เหตุการณ์ครั้งนี้ยังทำให้เงินดอลลาร์และทองคำพุ่งขึ้นอย่างกะทันหัน ประชาชนและบริษัทในประเทศบางส่วนไม่สามารถถือสกุลเงินสหรัฐฯ ได้ทั่วถึง เพราะรัฐบาลสงวนเงินดอลลาร์ไว้เองเพื่อรายจ่ายที่จำเป็นของประเทศ อย่างพลังงาน ก๊าซหุงต้ม น้ำมัน โดยการหักดิบครั้งนี้รัฐบาลไม่ได้มีวิธีที่จะดึงดูดเม็ดเงินเพิ่ม ทำให้น่าสนใจว่า ถ้ารัฐบาลไม่สามารถสำรองทุนเพื่อสินค้าจำเป็นเหล่านี้ได้เมื่อไหร่ เมื่อนั้นเราก็อาจจะได้เห็นประชาชนลุกฮือขึ้นมาประท้วงแบบที่เราเห็นในศรีลังกานั่นเอง 

สำหรับประเทศไทยนั้น ประชาชนโดยทั่วไปอาจจะได้รับผลกระทบจากพม่าไม่มากนัก เพราะไทยมีสัดส่วนเข้าไปลงทุนในเมียนมาร์ประมาณ 1% ของมูลค่าการส่งออก เบื้องต้นจึงจํากัดผลกระทบไว้ที่กลุ่มนายทุนไทยที่เข้าไปลงทุนในเมียนมาร์เท่านั้นที่ต้องเฝ้าระวังการเกิดหนี้เสีย (NPL) โดยภาคธุรกิจไทยที่เข้าไปลงทุนจะเป็นด้านพลังงาน อาหารเครื่องดื่ม ธนาคาร และด้านสุขภาพ โดยรวมแล้วคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.7 แสนล้านบาท 

ภาคธุรกิจส่วนใหญ่ได้มีนโยบายเตรียมรับกับสภาพที่ไม่แน่นอนของสถานการณ์ในเมียนมาร์ บางกิจการได้จัดการกับหนี้สินคงค้างในเมียนมาร์จนเกือบหมดแล้ว อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่ดี ไทยอาจได้รับผลด้านบวกอยู่บ้าง จากการค้าชายแดน หรือการที่แรงงานชาวเมียนมาร์ต้องการข้ามแดนมาขายแรงงานในไทยมากขึ้น หรือมีชาวเมียนมาร์ที่ยังคงมีกำลังซื้อ มาใช้จ่ายและใช้บริการสถานพยาบาลในไทย 

เมียนมาร์จะสามารถบรรเทาวิกฤตครั้งนี้ให้เบาบางลง ด้วยความพยายามที่จะหันมาพึ่งพาตัวเองผลักดันเศรษฐกิจในประเทศ หรืออาจจะไปสู่ทิศทางที่ทำให้รัฐล้มละลายอย่างสมบูรณ์แบบเหมือนดังประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ยังคงประเด็นที่ไทยในฐานะชาติเพื่อนบ้านซึ่งมีส่วนได้ส่วนเสียคงต้องจับตาต่อไปอย่างใกล้ชิด


ที่มาประกอบข้อมูล

Myanmar: Coup, COVID-19, and the ongoing economic crisis

Myanmar is sinking like Sri Lanka, violence up economy down

After the gold rush: How the junta created, and then crushed, a surge in smuggling

Gold and dollar prices soar in Myanmar

Myanmar Suspends Foreign Loan Repayments Amid Dollar Crunch

Myanmar revokes foreign company exemption from currency rules

 

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

IMD จัดอันดับ Digital Competitiveness ปีนี้ ไทยร่วงจาก 35 เป็น 37 ถ้าอยากขยับขึ้น...ต้องแก้ไขตรงไหนก่อน?

ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล ประจำปี 2567 โดย IMD World Competitiveness Center ไทยได้อันดับ 37 ขยับลงจากปีก่อน 2 อันดับ (35) แล้วจะทำอย่างไรให้ไทยได้อยู่ในอัน...

Responsive image

สู่ Siri ยุคใหม่ ! เผย Apple เตรียมเปิดตัว LLM Siri ในปี 2026 ท้าแข่ง ChatGPT โดยเฉพาะ

OpenAI ถือเป็นหนึ่งในบิ๊กเทคฯ ยักษ์ใหญ่ที่มีความก้าวกระโดดด้านการพัฒนา AI หลังจากสร้างกระแสด้วยแชทบอท ChatGPT ไปเมื่อปลายปี 2022 ซึ่งเมื่อปีที่แล้วก็เพิ่งมีดีลกับ Apple ในการนำ Cha...

Responsive image

American Airlines เปิดตัวระบบจัดการคิวอัจฉริยะ เทคโนโลยีเสียงเตือนสองระดับ ปิดเกมสายแซงคิวขึ้นเครื่อง

เคยเจอไหม? คนแซงคิวขึ้นเครื่องจนวุ่นวายที่ประตูทางขึ้น หลังจากนี้จะไม่มีอีกต่อไป เมื่อ American Airlines แก้ปัญหานี้ด้วยเทคโนโลยีเสียงเตือนอัจฉริยะ ที่จะจับทุกความพยายามแอบขึ้นเครื...