ทำความรู้จัก พ.ร.บ e-Service จัดเก็บภาษีบริการอิเล็กทรอนิกส์ | Techsauce

ทำความรู้จัก พ.ร.บ e-Service จัดเก็บภาษีบริการอิเล็กทรอนิกส์

จากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลรัษฎากรฯ จัดเก็บภาษี e-Service หรือเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากแพลตฟอร์มดิจิทัลจากต่างประเทศที่ไม่มีบริษัทลูกในประเทศไทย หลาย ๆ ท่านอาจจะสับสนว่ามันคืออะไร มาทำความรู้จัก “พ.ร.บ e-Service” ได้ในบทความนี้

พ.ร.บ e-Service หรือพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ. .... (การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ หรือ อี-เซอร์วิส (e-Service) นั้นเกิดขึ้นมาจากความต้องการในการเพิ่มความเป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการในประเทศและต่างประเทศ และเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่มให้เหมาะสมกับรูปแบบการประกอบธุรกิจในปัจจุบัน โดยมีสาระสำคัญดังนี้

1. แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “สินค้า” หมายถึง ทรัพย์สินที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่างที่อาจมีราคาและถือเอาได้ ไม่ว่าจะมีไว้เพื่อขาย เพื่อใช้ หรือเพื่อการใดๆ และให้หมายรวมถึงสิ่งของทุกชนิดที่นำเข้า แต่ทั้งนี้ ไม่รวมถึงทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างที่ส่งมอบโดยผ่านทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ตหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์อื่นใด และเพิ่มบทนิยามคำว่า “บริการอิเล็กทรอนิกส์” หมายถึง บริการที่ส่งมอบโดยผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต หรือเครือข่ายทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นใด และ “อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม” หมายถึง ตลาด ช่องทาง หรือกระบวนการอื่นใดที่ผู้ให้บริการหลายรายใช้ในการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้รับบริการ

 2. กำหนดให้

  1. ผู้ประกอบการที่ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศแก่ผู้ใช้ซึ่งไม่ใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนในประเทศและมีการใช้บริการนั้นในประเทศ ซึ่งมีรายได้จากการให้บริการดังกล่าวเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และให้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยคำนวณจากภาษีขายโดยไม่ให้หักภาษีซื้อ

  2. สำหรับกรณีผู้ประกอบการต่างประเทศได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้รับบริการในประเทศไทยผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างประเทศ กำหนดให้รายได้ที่ได้รับจากการให้บริการนั้นเป็นฐานภาษีมูลค่าเพิ่มของดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างประเทศ ซึ่งหากดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างประเทศมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และให้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

3. กำหนดให้การดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารหลักฐานหรือหนังสืออื่นใดตามประมวลรัษฎากร และการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถกระทำผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ 

4. กำหนดห้ามไม่ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียน ที่ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศออกใบกำกับภาษี

ทั้งนี้ พระราชบัญญัติ เก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม e-Service นี้ ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ระหว่างวันที่ 14-29 มกราคม 2563 เผยแพร่ผลการรับฟังความคิดเห็นพร้อมรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายให้ประชาชนได้รับทราบ และผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ลำดับต่อไปคือ ส่งร่างพระราชบัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา และประกาศในราชกิจจานุเบกษา พร้อมทั้ง กรมสรรพากรจะดำเนินการจัดทำคู่มือการใช้กฎหมายทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษแก่ผู้ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย รวมถึงให้ข้อมูลตัวอย่างฐานภาษีของอิเล็กทรอนิกส์แต่ละลักษณะ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติตามกฎหมาย

 ธุรกิจกลุ่มใดที่เกี่ยวข้อง?

  • กลุ่ม E-Commerce เช่น eBay, Alibaba และ Amazon 
  • กลุ่มมีเดียและการโฆษณา เช่น Google, Facebook และ Line
  • กลุ่มบริการ เช่น บริการมาร์เก็ตติ้ง และ Evernote
  • กลุ่มการขนส่ง เช่น สายการบิน 
  • กลุ่มการท่องเที่ยว เช่น Booking และ Airbnb
  • กลุ่มดิจิทัลคอนเทนท์ เช่น Netflix, Iflix, Joox และ Spotify
  • กลุ่มซอฟต์แวร์ เช่น Apple
  • กลุ่มเกม 
  • กลุ่มโครงสร้าง เช่น บริการ Cloud
  • กลุ่มบริการการเงิน เช่น Paypal 
  • กลุ่ม Forex Investment
  • กลุ่มการพนันออนไลน์

ซึ่งสรุปโดยง่ายก็คือภาษี e-Service นั้นจะถูกจัดเก็บจากผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ และมีการใช้บริการในประเทศ อย่างเช่น วิดีโอ เกม เพลง ภาพยนต์หรือดิจิทัลคอนเทนท์อื่น ๆ  เป็นต้น ซึ่งบริการดังกล่าวจะต้องมีรายรับเดิน 1.8 ล้านต่อปี โดยผู้ประกอบการจะต้องยื่นจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร โดยก่อนหน้านี้ก็มีหลาย ๆ ประเทศที่เก็บภาษีผู้ให้ภาษีบริการ e-Service ต่างชาติบ้างแล้ว เช่น สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่นและไต้หวัน 

โดยอธิบดีกรมสรรพากร ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ยังได้เผยอีกว่า “การปรับปรุงกฎหมายในครั้งนี้ จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการในประเทศไทยกับผู้ประกอบการในต่างประเทศ ที่ให้บริการในประเทศไทยให้ทำการจัดเก็บภาษีมีความเหมาะสม สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และยังเป็นการปรับปรุงกฎหมายภาษีไทยให้มีความทันสมัยสอดคล้องกับแนวทางการจัดเก็บภาษีของนานาประเทศ และกรมสรรพากรคาดว่าการปรับปรุงกฎหมายในครั้งนี้จะช่วยทำให้จัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 3,000 ล้านบาท”


อ้างอิง: Thansettakij, กรมสรรพากร, กรุงเทพธุรกิจ


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Jitasa.care เครื่องมือประสานความช่วยเหลือ เหตุน้ำท่วม ด้วยน้ำใจคนไทย

ปัจจุบัน Jitasa.care ได้ถูกนำกลับมาใช้เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในจังหวัดเชียงราย และพื้นที่ภาคเหนือ...

Responsive image

เปิดศึก Chip War เกาหลีใต้ จีน สหรัฐฯ ล่าสุดคนใน Samsung ขโมยพิมพ์เขียวชิปให้จีน

ตำรวจเกาหลีใต้ได้จับกุมอดีตเจ้าหน้าที่บริษัท Samsung Electronics จำนวน 2 รายในข้อกล่าวหาขโมยเทคโนโลยีมูลค่ากว่า 4.3 ล้านล้านวอน (1.07 แสนล้านบาท) เพื่อสร้างโรงงานผลิตชิปที่เลียนแบบ...

Responsive image

ศึกชิงความเชื่อมั่น ดาวเทคอาเซียนต้องพิสูจน์ เมื่อนักลงทุนต้องการเห็นกำไร

ความเชื่อมั่นของนักลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังสั่นคลอน หลายบริษัทเทคในภูมิภาคอย่าง Grab, GoTo และ Sea กำลังดิ้นรนอย่างหนักเพื่อรักษาความเชื่อมั่นของนักลงทุนท่...