ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ประกาศนำเข้าวัคซีนทางเลือก "ซิโนฟาร์ม (Sinopharm)" วัคซีนป้องกันโควิด-19 จากจีนที่ได้รับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ให้ใช้ได้ในกรณีฉุกเฉิน โดยวัคซีนชนิดเป็นวัคซีนเชื้อตาย เช่นเดียวกับ Sinovac
การนำเข้าวัคซีนครั้งนี้เป็นเหมือนการเปิดโอกาสให้ประชาชนไทยได้มีวัคซีนทางเลือก ทำให้หลายองค์กร หน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความสนใจเข้าไปจับจองกันมากมาย เพื่อมาแจกจ่ายให้กับประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งพนักงานในองค์กร ในบทความนี้ได้มีการรวบรวมเอาข้อมูลของหน่วยงานต่าง ๆ ที่จับจองและเปิดให้ลงทะเบียนจองวัคซีนทางเลือก "ซิโนฟาร์ม" ได้
เทศบาลนครรังสิต
เทศบาลนครรังสิต นำโดยร้อยตำรวจเอก ดร.ตรีลุพธ์ ธูปกระจ่าง นายกเทศมนตรีนครรังสิตประกาศจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 (วัคซีนทางเลือก “ซิโนฟาร์ม”) เบื้องต้นจำนวน 20,000 โดส คาดพร้อมฉีดให้กับประชาชนของเทศบาลนครรังสิตเร็ว ๆ นี้ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น
สำหรับประชาชน ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป มีทะเบียนบ้านในพื้นที่เทศบาลนครรังสิต (เฉพาะ ต.ประชาธิปัตย์) และยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทุกชนิด สามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่ 21-25 มิถุนายน 2564 หรือจนกว่ายอดจองจะครบ ผ่านช่องทางออนไลน์ คือ https://forms.gle/6NaFcMevG9CSHchr8 และที่อาคารสำนักงานเทศบาลนครรังสิต ชั้น 1 และศูนย์บริการสาธารณสุขในสังกัดเทศบาลนครรังสิต ทั้ง 5 แห่ง หรือติดตามข้อมูลได้ที่ เทศบาลนครรังสิต
เทศบาลนครปากเกร็ด
ณ ตอนนี้ ทางสภาเทศบาลนครปากเกร็ดได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 300 ล้านบาท และทำการสั่งจองวัคซีนทางเลือก-ซิโนฟาร์มกับทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จำนวน 60,000 โดส สำหรับประชาชน 30,000 คน ในพื้นที่เทศบาลนครปากเกร็ด
โดยตอนนี้ได้มีประชาชนมาลงทะเบียนจองฉีดแล้วกว่าหมื่นคน แบ่งเป็น 8 กลุ่มคือ พนักงานและเจ้าหน้าที่เทศบาลนครปากเกร็ดที่ตกค้าง, ผู้สูงอายุ และกลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง, บุคลากรทางการศึกษา, ประธานชุมชน และ อสม. รวมถึงประชาชนที่ตกค้างยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนที่รัฐบาลจัดหาให้
เทศบาลนครพิษณุโลก
สภาเทศบาลนครพิษณุโลก อนุมัติงบประมาณ 10 ล้านบาทจัดซื้อวัคซีนซิโนฟาร์ม จำนวน 10,000 โดส เพื่อฉีดวัคซีนโควิดให้กับประชาชนภายในจังหวัดพิษณุโลก โดยสามารถเข้าคิวจองฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มที่ ศูนย์ป้องกันบรรเทาสาธารณภัย เทศบาลนครพิษณุโลก (สถานีดับเพลิง) ถ.บรมไตรโลกนารถ ซึ่งเทศบาลนครพิษณุโลกเปิดให้ประชาชนเข้าจองคิวได้ตลอด 24 ชั่วโมง
โดยการจองคิวฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มครั้งนี้ ทางเทศบาลนครพิษณุโลกจะรับลงทะเบียนรายชื่อไว้ก่อน จากนั้นจะส่งมอบให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก รอสภา อบจ.อนุมัติงบจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 ในส่วนของ อบจ.ซึ่งคาดว่าน่าจะมีการตั้งงบประมาณจัดซื้ออีก 50 ล้านบาท
องค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี
นายพันธุ์ศักดิ์ เกตุวัตถา รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ชลบุรี แจ้งว่าทาง อบจ.ชลบุรี ได้ทำการจัดซื้อวัคซีนซิโนฟาร์มกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยได้สั่งจองไปแล้ว 200,000 โดส ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ว่าจะสามารถจะจัดสรรให้กับทาง อบจ.ชลบุรี ได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งการจัดซื้อในครั้งนี้ต้องการช่วยเหลือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ไม่มีงบประมาณในการช่วยเหลือตนเอง โดยจะเน้นไปที่ประชาชนในสถานที่เสี่ยง เช่น ตลาดสด ตลาดนัด สถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน ซึ่งไม่รวมกับทางเทศบาลนครเจ้าพระยาสุรศักดิ์ เทศบาลนครแหลมฉบัง เทศบาลเมืองศรีราชา และเมืองพัทยาที่มีงบประมาณในการจัดหาวัคซีนเอง
เทศบาลนครแหลมฉบัง
เทศบาลนครแหลมฉบัง นำโดยจินดา ถนอมรอด นายกเทศมนตรีนครแหลมฉบัง ได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 120 ล้านบาท เพื่อสั่งซื้อวัคซีนซิโนฟาร์ม จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ไปแล้วกว่า 30,000 โดส สำหรับให้บริการแก่ประชาชนในเขตเทศบาลนครแหลมฉบัง โดยประชาชนที่สามารถเข้ารับวัคซีนได้จะต้องมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ต้องเป็นผู้ที่ไม่เคยลงทะเบียนขอรับวัคซีนในช่องทางใดมาก่อน และมีทะเบียนบ้านอยู่ในเขตเทศบาลนครแหลมฉบัง โดยจะต้องนำหลักฐานมาแสดง ได้แก่ สำเนาทะเบียนบ้าน และสำเนาบัตรประชาชน ประชาชนแหลมฉบังสามารถมาลงทะเบียนที่เทศบาลนครแหลมฉบัง ได้ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 14 มิถุนายนเป็นต้นไป (ในวันเวลาราชการ) และในพื้นที่ชุมชนเทศบาลนครแหลมฉบัง อีก 23 จุด ที่จะเปิดรับลงทะเบียนทุกวันอาทิตย์ ตั้งแต่ 9.00 -15.00 น. และคาดว่าจะสำรวจความต้องการไปอีก 2 สัปดาห์ เพื่อคัดกรองประชาชนยังไม่มีเวลามาลง
เมืองพัทยา
เมืองพัทยา นำโดย นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา ได้ประสานงานสั่งจองวัคซีนซิโนฟาร์ม จากสถาบันจุฬาภรณ์จำนวน 100,000 โดส ให้ประชาชนชาวเมืองพัทยาจำนวนกว่า 50,000 คน โดยจะต้องเป็นผู้ที่มีรายชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเมืองพัทยา มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป และยังไม่ได้รับบริการวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19
ช่องทางการให้บริการประชาชนเข้ารับฉีดวัคซีน มีทั้งผ่านแบบฟอร์มออนไลน์ “เมืองพัทยาพร้อม” https://sites.google.com/view/pattayaready และบริการลงทะเบียนให้ประชาชนที่ไม่มีความชำนาญเรื่องการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ โดยจะเปิดให้ลงทะเบียนที่บริเวณหน้าห้องกลุ่มกฎหมาย ชั้น 1 อาคาร 2 ศาลาว่าการเมืองพัทยา, โรงพยาบาลเมืองพัทยา, วัดบุณย์กัญจนาราม และบริเวณริมทะเล ซอย 6 ถนนเลียบชายหาดเมืองพัทยา และจุดบริการอื่น ๆ ในชุมชน
สมุทรสาคร
ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ได้มีการอนุมัติเห็นชอบให้ทาง อบจ.สมุทรสาคร จัดซื้อวัคซีนซิโนฟาร์ม จำนวน 200,000 โดสแล้ว เพื่อฉีดให้กับประชาชนกว่า 100,000 คน
สำหรับการจองวัคซีนทางเลือกของ อบจ. สมุทรสาคร ขณะนี้ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลต่าง ๆ ร่วมกันวางแผน เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนกัน และต้องวางระบบการจองขึ้นมา โดยคาดว่าจะมีการเปิดแอปพลิเคชั่น “สาครรวมใจ” เพื่อจองวัคซีนซิโนฟาร์มโดยเฉพาะ ควบคู่ไปกับการจองในรูปแบบเดิมที่มีอยู่ โดยแผนปัจจุบันจะเปิดให้ประชาชนจองภายในวันที่ 24 มิถุนายน เนื่องจากวันที่ 25 มิถุนายน เป็นกำหนดการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มวันแรกทั่วประเทศ
นครราชสีมา
จากที่ประชุมสภา อบจ.นครราชสีมา ได้มีมติอนุมัติงบประมาณให้ในการสั่งจองวัคซีนครั้งนี้ จำนวน 80 ล้านบาท เพื่อสั่งจองวัคซีนซิโนฟาร์ม จำนวน 100,000 โดส
แต่เนื่องจากขณะนี้ยังไม่ทราบวัน เวลาที่จะได้รับการส่งมอบวัคซีนอย่างแน่นอน ดังนั้น ขณะนี้ อบจ.นครราชสีมา ได้มีการวางแผนว่าเมื่อได้วัคซีนมาครบแล้ว ก็จะทำการส่งมอบให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เพื่อที่จะกระจายฉีดให้กับประชาชนในพื้นที่ฟรีต่อไป
จากการตรวจสอบพบว่ามีองค์กรที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนซิโนฟาร์มจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ทั้งสิ้น 5,199 องค์กร รวมทั้งหมด 476,682 คน มากที่สุดคือ ภาควิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) 1,726 องค์กร, ภาคธุรกิจบริการด้านอุปโภคและบริโภค 920 องค์กร และภาคธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ 482 องค์กร ฯลฯ
องค์กร-บริษัท
สำหรับองค์กร-บริษัทต่าง ๆ สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ว่า ทางองค์กรของตนเองจะได้รับการจัดสรรวัคซีนซอโนฟาร์มมากน้อยเพียงใด หรือได้รับเมื่อไหร่ โดยขั้นตอนการเข้าใช้งานระบบสำหรับองค์กร-บริษัทที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนทางเลือก “ซิโนฟาร์ม” ระยะที่ 1 ดังนี้
ตรวจสอบชื่อผู้ใช้งานและรหัสผ่านขององค์กรจากอีเมลผู้บริหารสูงสุด และเข้าล็อคอินใช้งานในระบบขอรับการจัดสรรวัคซีนผ่านทางเว็บไซด์ https://vaccine.cra.ac.th คลิกเลือกเมนู “2. ลงทะเบียนองค์กรผู้ได้รับการจัดสรรวัคซีน”
เมื่อเข้าสู่ระบบในหน้าหลัก ท่านจะได้รับทราบจำนวนวัคซีนที่องค์กรได้รับการจัดสรร จำนวนวัคซีนที่บริจาคเพิ่มจำนวนไม่น้อยกว่า 10% และรวมจำนวนเงิน
ไปที่เมนู “ข้อมูลองค์กร” ตรวจสอบข้อมูลและเอกสารประกอบการทำข้อตกลงอิเล็กทรอนิกส์
ไปที่เมนู “คำขอรับจัดสรร” ยืนยันจำนวนวัคซีนที่องค์กรได้รับการจัดสรร และจำนวนวัคซีนที่บริจาคอีกครั้ง (แก้ไขจำนวนโดสบริจาคได้แต่ต้องไม่น้อยกว่า 10% จากยอดที่ได้รับจัดสรร) และดำเนินการโอนเงินเต็มจำนวนภายในกำหนด 3 วันทำการ พร้อมส่งหลักฐานการโอนเงินเข้าระบบ และกดปุ่มยืนยันการโอนเงิน
เลือก “สถานพยาบาล” ที่จะเข้ารับบริการฉีดวัคซีน ทั้งนี้ แนะนำให้องค์กรติดต่อประสานงานกับโรงพยาบาลที่เลือกเพื่อให้โรงพยาบาลดังกล่าวตอบรับการให้บริการฉีดวัคซีน และกดปุ่ม “เลือก” เพื่อเพิ่มรายชื่อโรงพยาบาลไปยังหน้ายอมรับเงื่อนไขการบริหารและจัดสรรฯ ซึ่งเป็นขั้นตอนของการทำข้อตกลงการจัดสรรวัคซีนตัวเลือกผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์
กดปุ่ม ยอมรับเงื่อนไขการบริหารและจัดสรร ในกรณีองค์กรท่านเลือกมากกว่า 1 สถานพยาบาลท่านจะเห็นว่ามีข้อตกลงหลายฉบับท่าน จะต้องลงนามในข้อตกลงสำหรับแต่ละสถานพยาบาล ทั้งนี้ หากดำเนินการลงนามแล้วจะไม่สามารถยกเลิกได้
เลือกสถานที่จัดส่งและจำนวนโดส ในเมนู “คำขอรับจัดสรร” โดยสามารถกำหนดรอบการจัดส่งวัคซีนตามจำนวนคนที่ได้รับการจัดสรรเพื่อส่งไปยังโรงพยาบาลที่ลงนามยอมรับเงื่อนไขกับองค์กรเรียบร้อยแล้ว กรณีมีมากกว่า 1 โรงพยาบาล ให้องค์กรกำหนดสัดส่วนจำนวนวัคซีนที่ได้รับการจัดสรรเพื่อกระจายไปยังโรงพยาบาลที่ประสานงานไว้
อัพโหลดรายชื่อผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนตาม format xls. ทั้งนี้ สามารถแก้ไขรายชื่อและอัพโหลดได้ใหม่ภายใน 24 ชั่วโมงก่อนวันนัดหมายการฉีดกับสถานพยาบาล
ทั้งนี้ ตอนนี้ก็ได้มีทางองค์กรเอกชนหลายแห่งได้จัดสรรวัคซีนให้กับพนักงานในองค์กร ตัวอย่างเช่น แสนสิริ ที่ทางด้าน นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ได้มีการสั่งซื้อวัคซีนทางเลือก “ซิโนฟาร์ม” จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ให้พนักงานจำนวน 2,000 คน รวมทั้งครอบครัวพนักงาน หลังจากได้ทำการสำรวจความต้องการของพนักงานมาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างการรอจัดสรรจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
ในส่วนของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะยังไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีนในระยะที่ 1 นี้
อย่างไรก็ตาม ประมาณสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนมิถุนายน 2564 ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะมีการแจ้งให้ทราบว่าหน่วยงานใด จังหวัดไหนจะได้รับจำนวนเท่าไร และเมื่อใด และทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะเป็นผู้แจกจ่ายวัคซีนให้แต่ละหน่วยงาน แต่ละจังหวัดเอง เนื่องจากในล็อตแรกนี้มีการนำเข้าวัคซีนซีโนฟาร์มจำนวน 1 ล้านโดส
InterMedical Care and Lab (IMH)
InterMedical Care and Lab (IMH) ประกาศ บริษัทฯ ได้ลงทะเบียนเป็นสถานพยาบาลให้บริการฉีดวัคซีนตัวเลือก "ซิโนฟาร์ม" ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเตรียมฉีดเข็มแรกวันที่ 25 มิถุนายนนี้
ซึ่งขณะนี้มีลูกค้าลงทะเบียนเลือกขอรับบริการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มกับทาง IMH แล้วกว่า 35,000 ราย โดยบริษัทฯ ตั้งเป้าที่จะฉีดวัคซีนดังกล่าวให้ครบ 50,000 ราย หรือประมาณ 100,000 โดส ภายในไตรมาส 3 ปีนี้
เครือโรงพยาบาลเปาโล 5 สาขา
เครือโรงพยาบาลเปาโล 5 สาขา ได้แก่ เกษตร โชคชัย 4 รังสิต สมุทรปราการ และพระประแดง ได้เปิดให้บริการฉีดวัคซีนทางเลือก “ซิโนฟาร์ม” สำหรับองค์กรและหน่วยงาน โดยมีขั้นตอนดำเนินการดังนี้
องค์กรหรือหน่วยงานต้องดำเนินการยื่นความประสงค์พร้อมเลือกสถานพยาบาลด้วยตัวเองตามขั้นตอนเพื่อขอจัดสรรวัคซีนทางเลือกซิโนฟาร์มกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
เมื่อองค์กรหรือหน่วยงานได้รับการจัดสรรวัคซีนแล้ว ให้ติดต่อโรงพยาบาลที่ท่านเลือกและผ่านการขึ้นทะเบียนเพื่อประสานงานฉีดวัคซีนให้บุคลากร หรือ พนักงานในหน่วยงาน
เครือโรงพยาบาลเปาโลทั้ง 5 สาขา ที่ได้ผ่านการขึ้นทะเบียนแล้ว สามารถให้บริการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มสำหรับกลุ่มองค์กรและหน่วยงานในรูปแบบนิติบุคคล โดยสามารถจัดบริการได้ในรูปแบบฉีดนอกสถานที่ และ การฉีด ณ โรงพยาบาล
องค์กรหรือหน่วยงานแจ้งความต้องการผ่านทาง https://bit.ly/2TGBXeR และจะมีเจ้าหน้าที่ประสานงานกลับภายใน 48 ชั่วโมงของวันทำการปกติ เพื่อแจ้งขั้นตอนดำเนินการและอัตราบริการต่อไป
นอกจากนี้ทางโรงพยาบาลจุฬาภรณ์เองได้ออกมาเปิดเผยรายชื่อโรงพยาบาลในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ที่ให้บริการฉัดวัคซีนทางเลือก “ซิโนฟาร์ม” โดยสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ที่ เว็ปไซต์โรงพยาบาลจุฬาภรณ์
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด