เมื่อวิถีผู้บริโภคเปลี่ยนไป การดำรงชีวิตหลายปัจจัยล้วนแต่เกิดขึ้นจากเทรนด์ที่ได้รับความนิยมในสังคมทั้งสิ้น และก็เช่นเดียวกันกับ 'ไอศกรีมราเมน' ที่กำลังเป็นเมนูสุดฮิตของชาวโซเชียลในขณะนี้ Wisesight จึงได้ทำการวิเคราะห์กระแสไวรัล “ไอศกรีมราเมน” ผ่านการเก็บข้อมูลผ่านเครื่องมือ ZOCIAL EYE ระหว่างวันที่ 1 - 15 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งทำการวิเคราะห์โดย คุณณัชชา เวชพานิช Data Research Consulting Manager
คุณณัชชา เผยมุมมองว่า ในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นปรากฏการณ์การกินเมนูแปลกใหม่อย่าง “ไอศกรีมใส่ราเมน” หรือที่ทุกคนเรียกกันง่ายๆ ว่า “ไอติมราเมน” ทำให้ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีคนพูดถึงและเริ่มสร้างสรรค์เมนูตามกันเป็นจำนวนมากบนโลกโซเชียล บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด (Wisesight) จึงได้ทำการรวบรวมข้อมูลจากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย 7 ช่องทาง ได้แก่ Facebook, Twitter, Instagram, YouTube, Pantip.com, เว็บข่าว และเว็บบล็อก โดยเก็บข้อมูลที่มีคนพูดถึงไอติมราเมน แล้วนำมาวิเคราะห์ผ่านมุมมองต่างๆ
พบว่าในช่วงเวลาดังกล่าว มีการพูดถึงเมนูนี้ 816 ข้อความ อยู่บนช่องทาง Facebook และ Twitter เป็นหลัก แม้ว่าข้อความทั้งหมดรวมกันไม่ถึง 1,000 ข้อความ แต่เอ็นเกจเมนต์สูงกว่า 3 แสนครั้งเลยทีเดียว
เมื่อกางไทม์ไลน์ออกมา พบว่าเริ่มมีการพูดถึงเมนูนี้บน Twitter ของชาวญี่ปุ่นในวันที่ 5 ม.ค. จากนั้น ในวันที่ 6 ม.ค. มีเพจ Facebook และแอคเคาท์ Twitter ของคนไทยที่เน้นเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่น เช่น “Tonari ญี่ปุ่น”, “อัพเดทญี่ปุ่น โดย ต้มยำวาซาบิ” ได้นำภาพของเมนูนี้มาแชร์ต่อ ทำให้เริ่มมีคนสนใจ ดูได้จากเอ็นเกจเมนต์ที่เกิดขึ้นกับโพสต์อยู่ที่ 15,000 Engagement
ต่อมา ในวันที่ 7 ม.ค. เพจ “Tonari ญี่ปุ่น” ที่ได้แชร์โพสต์เรื่องราวเมนูนี้ที่ญี่ปุ่น ได้ลองทำเมนู DIY โดยซื้อไอศกรีมและนำไปใส่ในก๋วยเตี๋ยวต้มยำ เพราะมีคนถามเข้ามาเรื่องรสชาติเป็นจำนวนมาก
จนกระทั่งในวันที่ 8 ม.ค. โพสต์ไฮไลท์ที่ทำให้เมนูเป็นที่รู้จักในวงกว้างคือโพสต์จากเพจ “รีวิวของดี Shopee & Lazada” ที่ทางเพจได้ลองซื้อไอศกรีมจาก KFC และนำไปผสมกับราเมนของฮะจิบัง ราเมน คอนเทนต์นี้ถูกแชร์ออกไปและมีคนเข้ามากด Reaction และคอมเมนต์เป็นจำนวนมาก มีทั้งกลุ่มที่สนใจ อยากลองชิม และกลุ่มที่มองว่าเป็นเมนูที่แปลกเกินไป กินแล้วน่าจะท้องเสีย กินแยกกันก็อร่อยอยู่แล้ว ที่น่าสนใจคือ แอดมินเพจ KFC เข้ามาตอบเจ้าของเพจภายในวันเดียวกันด้วย
หลังจากนั้น อินฟลูเอ็นเซอร์และแบรนด์สายอาหารต่างเข้ามาจับกระแสและนำไปต่อยอดสร้างเป็นคอนเทนต์ต่างๆ ในฝั่งของแบรนด์ จะเห็นว่าจริงๆ แล้วแบรนด์ที่จับกระแสและทำคอนเทนต์ออกมาไวที่สุด คือ Dairy Queen โพสต์ตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. วันเดียวกันกับที่มีการรีวิวครั้งแรกจากเพจ รีวิวของดี Shopee & Lazada
อย่างไรก็ตาม ผลตอบรับยังไม่สูงมากนัก จนกระทั่ง Burger King ทำคอนเทนต์โพสต์ในวันที่ 11 ม.ค. ได้รับการตอบรับล้นหลาม เกิดเอ็นเกจเมนต์สูงกว่า 9,000 ครั้ง มาจาก 5,500 Reactions, 951 คอมเมนต์ และ 3,300 แชร์ อีกทั้งยังมีเพจด้านการตลาดนำคอนเทนต์นี้มาเผยแพร่ต่อด้วย แน่นอนว่าแบรนด์ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเจ้าแห่งเรียลไทม์คอนเทนต์อย่าง Tops ก็เข้ามาเล่นกับเขาด้วย โดยยังคงคอนเซปต์เดิมคือนำสินค้าที่มีขายใน Tops ที่เกี่ยวข้องมาสร้างเป็น Tie-in คอนเทนต์
ทั้งหมดนี้ทำให้เห็นว่า เทรนด์การกินราเมนกับไอศกรีมกำลังกลับมาเป็นกระแสอีกครั้ง และกลายเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรงบนโลกโซเชียล จึงไม่แปลกที่จะทำให้แบรนด์ต่างๆ เริ่มออกไอเดียและออกเมนูใหม่ที่เกี่ยวกับไอศกรีมราเมนมาให้ทุกคนได้ลองกันอย่างไม่ขาดสาย จนกลายเป็น Talk of the town อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่อีกฝั่งก็ดูเหมือนว่าจะได้รับการถูกพูดถึงไม่แพ้กัน กับ '5 อันดับสินค้าขึ้นราคา' ที่กำลังได้รับความสนใจบนโลกโซเชียลไม่แพ้ไอศกรีมราเมน
ซึ่งจากสภาวะวิกฤติสินค้าขึ้นราคาในประเทศไทยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา “หมู” ไต่ราคาขึ้นสูงเป็นประวัติศาสตร์ ทำให้ประเทศไทยตกอยู่ในยุคข้าวยากหมากแพง ไม่เพียงแต่หมูที่ปรับราคาสูงขึ้น ธุรกิจอาหารต่างก็พากันปรับราคาขึ้นจากผลกระทบนี้เช่นกัน ทำให้เกิดกระแสขึ้นมากมายบนโลกโซเชียล บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด (Wisesight) จึงได้ทำการเก็บข้อมูลผ่านเครื่องมือ ZOCIAL EYE ระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 15 มกราคม 2565 เพื่อวิเคราะห์ในประเด็นต่างๆ
โดยชาวโซเชียลให้ความสำคัญและให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องราคาสินค้าต่างๆ ที่ปรับสูงขึ้นตลอดครึ่งเดือนแรกของปีที่ผ่านมา มากถึง 20,325,185 เอ็นเกจเมนต์ ไม่ว่าจะเป็น เป็ด, ไก่, ผักต่างๆ, ร้านอาหารตามสั่ง รวมไปถึงค่าทางด่วน ที่ปรับราคาสูงขึ้น ซึ่งวิกฤตินี้เองทำให้ชาวโซเชียลมองว่าภาวะการขึ้นราคาของสินค้าต่างๆ ไม่สอดคล้องการค่าครองชีพ ค่าแรงและเงินเฟ้อ ทำให้คนเริ่มมองหาสินค้าทางเลือกอื่น
จากวิกฤตินี้เอง Wisesight จึงทำการรวบรวมข้อมูล 5 อันดับแรกของสินค้าราคาแพงที่คนให้ความสนใจและพูดถึง โดยเรียงลำดับตาม Engagement ดังนี้
หมู (18,321,430 Engagement)
หมูถูกปรับราคาสูงขึ้นทำให้ทุกภาคส่วนเดือดร้อน ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภค ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ตลอดจนร้านอาหารขนาดเล็ก เช่น ร้านอาหารตามสั่ง ชาวโซเชียลต่างพาตั้งคำถามมากมายเกี่ยวกับที่มาที่ไปของสาเหตุหมูแพง หรืออาจจะมาจากโรคระบาดหมู ASF ทำให้ชาวโซเชียลแชร์ไอเดียการบริโภคสินค้าทดแทนหมู ไม่ว่าจะเป็น ปลา หรือเนื้อสัตว์อื่นๆ
ไก่ (3,708,117 Engagement)
ไก่ถือเป็นอีกสินค้าที่ได้รับการสนใจและพูดถึงไม่น้อย ในการปรับราคาขึ้นของ “ไก่” ซึ่งตามราคาเนื้อหมูมาติดๆ และที่สำคัญในช่วงใกล้เทศกาลตรุษจีนที่กำลังมาถึงในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ทำให้ชาวโซเชียลบางกลุ่มได้รับผลกระทบจากราคาไก่ที่แพงขึ้น
ไข่ไก่ (1,629,096 Engagement)
การปรับราคาขึ้นของไข่ไก่ ส่งผลกระทบเป็นอย่างมาก ชาวโซเชียลบางกลุ่มหวาดกลัว และต่างก็พากันตั้งคำถามว่า “ต่อไปอะไรจะแพงขึ้นอีก ไข่เป็ดจะแพงขึ้นตามไหม” ซึ่งสถานการณ์นี้เอง ทำให้แม่ค้าทั้งหลายจำเป็นต้องปรับราคาค่าอาหารขึ้น เพื่อประคองและหาเลี้ยงชีพ ในขณะที่ผู้บริโภคก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน จากค่าแรงที่ไม่ได้ขึ้นตามราคาสินค้า
น้ำมัน (1,144,494 Engagement)
ราคาน้ำมันขึ้นเป็นปัญหาที่อยู่คู่กับคนไทยมาสักระยะใหญ่ ซึ่งการพูดถึงเรื่องน้ำมันแพงก็จะมีการพูดถึงมาโดยตลอด แต่ในสถานการณ์นี้ ราคาน้ำมันก็ขึ้นแข่งกับราคาสินค้าอื่นๆ มาติดๆ ทำให้ปัจจุบันนี้ ราคาน้ำมันต่อลิตร สูงถึง 32.70 บาท ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของคนไม่น้อย
ก๊าซหุงต้ม (898,483 Engagement)
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าก๊าซหุงต้มราคาดีดขึ้นสูงจนชาวโซเชียลยกให้เป็นของขวัญวันปีใหม่จากรัฐบาล ทำให้ชาวโซเชียลบางส่วนชวนกันกลับมาใช้เตาถ่านในการประกอบอาหารแทนก๊าซหุงต้ม และต่างก็คาดเดากันว่าก๊าซหุงต้มน่าจะทำราคาสูงขึ้นไปเรื่อยๆ
นอกจากนี้ยังมีสินค้าอีกหลายอย่างที่ทำการปรับราคาขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าไฟ ค่าทางด่วน ทำให้ชาวโซเชียลจึงยกคำว่า “แพงทั้งแผ่นดิน” ให้กับวิกฤตินี้ ในความไม่สมดุลของรายได้และ รายจ่ายของยุคนี้ ทำให้ชาวโซเชียลต่างแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นนี้เป็นอย่างมาก รวมไปถึงการอยากให้มีการปรับเพิ่มค่าครองชีพ ค่าแรง ตามราคาสินค้าต่างๆ ที่ปรับสูงขึ้นอีกด้วย
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด