จากการวิจัยของ BambooHR พบว่าความสุขของพนักงานในการทำงานลดน้อยลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2020 และดิ่งลงมากที่สุดในปี 2023 นี้ ซึ่งมากกว่าช่วงการระบาดอย่างหนักของโรค COVID-19
BambooHR แพลตฟอร์มซอฟต์แวร์ทรัพยากรบุคคล วิเคราะห์ข้อมูลจากพนักงานเกือบ 60,000 คนในบริษัทมากกว่า 1,600 แห่งทั่วโลก ระหว่างเดือนมกราคม 2020 ถึงมิถุนายน 2023 พบว่า พนักงานมีแนวโน้มต้องการจะลาออก บางส่วนรู้สึกไม่ยินดียินร้ายกับงานที่ทำ และส่วนใหญ่พูดตรงกันว่ากำลังใจในการทำงานลดน้อยลง
มีหลายปัจจัยที่ส่งผลให้พนักงานไม่มีความสุขกับการทำงาน เหตุผลหลัก ๆ คือไม่พอใจกับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมจากบริษัท ไม่ว่าจะเป็นค่าตอบแทนไม่สอดคล้องกับหน้าที่ ขาดการสนับสนุนจากหัวหน้า ปริมาณงานที่ไม่สมเหตุสมผล
อีกทั้งสถานการณ์ของโรคระบาดทำให้พนักงานตระหนักถึงความไม่แน่นอนในชีวิตพนักงานรู้สึกว่าสูญเสียการควบคุม เห็นถึงความไม่แน่นอนของสุขภาพและผลกระทบต่อความมั่นคงในงานซึ่งแสดงให้เห็นว่าพวกเขาควบคุมมันได้น้อยมากเพียงใด
ปัญหาด้านเศรษฐกิจก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ ภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกส่งผลให้มีการเลิกจ้างที่มากขึ้น และความไม่แน่นอนของนโยบายกลับไปทำงานที่ออฟฟิศอีกครั้ง สร้างความไม่สบายใจในการทำงานเป็นอย่างมาก
ตามผลสำรวจของ Harris Poll ร่วมกับ Fast Company สื่อธุรกิจชั้นนำของโลกในด้านเทคโนโลยี สำรวจวัยทำงานกว่า 1000 คน พบว่าสามในสี่กังวลในเรื่องเศรษฐกิจและเกือบครึ่งกังวลในเรื่อง work-life balance
Emily Liou อดีตผู้สรรหาบุคลากรกล่าวว่า ปัจจัยอีกประการหนึ่งที่ผลักดันให้พนักงานไม่มีความสุขก็คือ ความรู้สึกว่างานที่ทำอยู่ไม่มีความหมาย ขาดแรงกระตุ้นให้อยากทำงาน หลังจาก COVID-19 พนักงานส่วนมากมีความคิดที่อยากเป็นส่วนหนึ่งกับงานมากขึ้น ต้องการความรู้สึกตื่นเต้นกับงานที่ทำ มากกว่าการไต่เต้าในบริษัทหรือต้องการเงินเดือนเยอะ ๆ
โดยเฉพาะการทำงานแบบ Remote พนักงานรู้สึกถึงการขาดความเป็นส่วนหนึ่งจากเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของบริษัท ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อความสุขและประสิทธิภาพการทำงาน
จากการวิจัยแสดงให้เห็นว่าพนักงานที่พบว่างานของตนมีความหมายไม่เพียงแต่มีความสุขมากขึ้น แต่ยังเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและมีแนวโน้มที่จะได้รับการขึ้นเงินเดือนและเลื่อนตำแหน่งอีกด้วย
สิ่งที่บริษัทหรือหัวหน้างานทำได้เพื่อแก้วิกฤตนี้ คือสร้างสภาพแวดล้อมที่พนักงานเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร รับฟังและเข้าใจความต้องการด้วยการสนทนาเชิงลึกหรือการอัปเดทข้อมูลทั้งเรื่องงานหรือมุมมองต่าง ๆ กับพนักงานอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง สามารถสร้างความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดเจนในด้านขวัญกำลังใจและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานได้มากยิ่งขึ้น
อ้างอิง: cnbc.com
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด