เรือสําราญปลอดมลพิษลําแรกของโลกจากนอเวย์ ใช้พลังงานลมและแสงอาทิตย์​ ตั้งเป้าเสร็จปี 2030 | Techsauce

เรือสําราญปลอดมลพิษลําแรกของโลกจากนอเวย์ ใช้พลังงานลมและแสงอาทิตย์​ ตั้งเป้าเสร็จปี 2030

นอร์เวย์ดำเนินการวิจัยและพัฒนาการสร้างเรือสําราญลําแรกของโลกที่ใช้แค่พลังงานหมุนเวียนและแบตเตอรี่

ภาพจาก : Hurtigruten

เมื่อปีที่ผ่านมา บริษัทเรือสําราญสัญชาตินอร์เวย์ Hurtigruten (แปลว่า "เส้นทางที่รวดเร็ว" ในภาษานอร์เวย์) ได้ตั้งเป้าหมาย ว่าจะเริ่มแล่นเรือสําราญที่ปลอดมลพิษภายในสิ้นทศวรรษนี้ 

ที่มาของเรือสำราญปลอดมลพิษ 

เฮดดา เฟลิน (Hedda Felin) ประธานผู้บริหารบริษัท Hurtigruten Norway ยืนยันว่าเป้าหมายด้านสภาพอากาศของบริษัทตนจะต้องแตกต่างออกไปจากบริษัทอื่น ๆ ที่ยังใช้เวลาอีกนานเกินไปและไม่ชัดเจนนัก

นอกจากนี้ ทางทีมงานยังตระหนักถึงปัญหาสภาพอากาศที่อุตสาหกรรมการเดินเรือจะต้องมีส่วนรับผิดชอบโดยประมาณร้อยละ 3 ของการปล่อยมลพิษทั้งหมด

หลังจากศึกษาทุกความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยีอย่างละเอียด ทีมงานก็ได้ตั้งเป้าหมายที่เป็นรูปธรรม คือสร้างเรือลำนี้ให้เสร็จภายในปี 2573 แต่เนื่องจากการดำเนินการก่อสร้างจำเป็นต้องเริ่มภายในปี 2570 จึงเหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่ปีในการสร้างต้นแบบและทดสอบส่วนประกอบต่าง ๆ ที่ไม่เคยใช้มาก่อน ซึ่งนี่อาจเป็นเรือสําราญลําแรกในโลกที่ปลอดก๊าซมลพิษ (zero-emissions)

การออกแบบเรือสำราญ

ตัวเรือยังมีการออกแบบสุดพิเศษ ที่มีลักษณะแปลกใหม่ต่างจากโครงสร้างของเรือทั่ว ๆ ไป  คือมีปีกใบเรือขนาดใหญ่จำนวน 3 ปีก ที่สามารถรับพลังงานจากลมและแสงอาทิตย์มาใช้ และยังพับเก็บได้ทำให้เรือสามารถล่องลอดใต้สะพานไปตามเส้นทางใกล้ชายฝั่งที่เคยใช้เป็นประจำมานานกว่าศตวรรษ

ภาพจาก : Hurtigruten 

นอกจากนี้ หากสภาพกระแสลมหรือแสงแดดกำลังดี ปีกใบเรือจะสูงขึ้นโดยอัตโนมัติถึง 164 ฟุต พื้นผิวแผงเซลล์แสงอาทิตย์จะขยายถึง 16,000 ตารางฟุต และพื้นผิวรับลมขยายมากกว่า 8,000 ตารางฟุต

แม้ในฤดูร้อนของประเทศนอร์เวย์ ที่เกิดปรากฏการณ์พระอาทิตย์เที่ยงคืน แผงเซลล์แสงอาทิตย์ก็ยังสามารถสร้างพลังงานออกมาได้อย่างต่อเนื่อง

พลังงานลมและแสงอาทิตย์สามารถช่วยชาร์จแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ โดยเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จพลังงานหมุนเวียนเมื่อเรือหยุดจอด ถึงแม้ว่าเรือ Hurtigruten จะต้องเดินทางไปตามชายฝั่งนอร์เวย์ซึ่งมีการหยุดจอดอยู่บ่อยครั้ง พลังงานแบตเตอรี่ก็ยังคงใช้งานได้ ทั้งนี้ในการเดินทางข้ามมหาสมุทร แบตเตอรี่อาจจะต้องมีขนาดใหญ่มาก ซึ่งยากที่จะเป็นไปได้

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ตอนนี้แบตเตอรี่แบบที่บริษัท Hurtigruten ต้องการจะยังไม่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่ทางบริษัทยังคงดำเนินงานร่วมกับคู่ค้าจำนวนมากและนักพัฒนาแบตเตอรี่เพื่อให้ทุกอย่างสำเร็จโดยเร็ว

เรือขนาดยาว 443 ฟุต ได้รับการออกแบบมาให้ประหยัดพลังงานให้ได้มากที่สุด รูปทรงเพรียวลมตามหลักการเคลื่อนที่ของอากาศพลศาสตร์ (Aerodynamics) มีการเคลือบผิวบนตัวเรือเพื่อป้องกันไม่ให้เพรียงหรือสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ มาเกาะข้างเรือ ทำให้เรือสามารถแล่นไปบนน้ําได้อย่างง่ายดายยิ่งขึ้น

ใช้ระบบการหล่อลื่นด้วยอากาศ (Air lubrication) ซึ่งเป็นระบบที่ช่วยลดการเสียดสีของเรือโดยปกคลุมใต้ท้องเรือด้วยฟองอากาศเล็ก ๆ อีกทั้งยังมีการปรับปรุงระบบใบพัด ซึ่งคาดว่าจะช่วยประหยัดพลังงานของเรือไปได้ร้อยละ 5 ถึง 10 ของพลังงานทั้งหมด

ปัญญาประดิษฐ์จะช่วยปรับแต่งเส้นทางการเดินเรือเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด ให้ข้อแนะนำแก่ผู้โดยสารให้ใช้พลังงานกันอย่างประหยัดมากขึ้น

ถึงแม้ว่าลักษณะการออกแบบบางอย่างจะถูกใช้บนเรือลําอื่นไปแล้ว แต่ "เราต้องการยกระดับไปอีกขั้นและเพิ่มประสิทธิภาพ" กล่าวโดย Gerry Larsson-Fedde รองประธานอาวุโสฝ่ายปฏิบัติการทางทะเลของบริษัท ผู้ริเริ่มเสนอภาพรวมของโครงการ Sea Zero

ในอีกสองปีข้างหน้า บริษัท Hurtigruten จะทํางานร่วมกับคู่ค้าในการวิจัย พัฒนาและทดสอบว่าทุกอย่างทํางานได้ตามที่คาดไว้หรือไม่ จากนั้นจึงเริ่มการต่อเรือ และทํางานร่วมกับหน่วยงานกํากับดูแลเพื่อขออนุมัติเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่กําลังสร้างด้วยกัน

หลังจากนั้นจะวางแผนพัฒนาเรืออีก 7 ลําเพื่อสร้างกองทัพเรือปลอดมลพิษ (zero-emissions) (โดยบางลำจากบริษัทในเครือ Hurtigruten Expeditions เป็นเรือแบบไฮบริดพร้อมแบตเตอรี่อยู่แล้ว ที่ได้เปิดตัวไปตั้งแต่ปี 2562 ในฐานะเรือแบตเตอรี่ไฮบริดลําแรกของโลก)

บริษัท Hurtigruten หวังว่าจะช่วยผลักดันบริษัทอื่นให้ก้าวหน้าเร็วยิ่งขึ้น เฟลินกล่าวว่า “พวกเราไม่อยากโดดเดี่ยว เราอยากให้อุตสาหกรรมทั้งหมดลุกขึ้นมาพัฒนาด้วยความมุ่งมั่น"

อ้างอิง : Fast Company , Hurtigruten

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Bluebik กางแผนธุรกิจปี 2568 ปักธงผู้นำ AI Transformation ในไทย ตั้งเป้าโต 20% ในปีหน้า

บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ BBIK ที่ปรึกษาด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันครบวงจร ประกาศปรับกลยุทธ์ครั้งใหญ่โดยใช้ AI เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจในอีก 3-5 ปีข้างหน้า ผ่าน...

Responsive image

NIA จับมือ Business Finland ต่ออายุ MOU พัฒนานวัตกรรม & สตาร์ทอัพ ไทย-ฟินแลนด์อีก 5 ปี

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และ Business Finland ได้ต่ออายุบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมอีก 5 ปี...

Responsive image

Meta ทุ่ม 3.45 แสนล้านสร้างสายเคเบิลใต้ทะเล ที่มีระยะทางกว่า 40,000 กิโลเมตร

Meta กำลังวางแผนสร้างสายเคเบิลใยแก้วนำแสงใต้ทะเลขนาดใหญ่ที่มีระยะทางกว่า 40,000 กิโลเมตร โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณมากกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3.45 แสนล้านบาท...