ก่อนหน้านี้มีข่าวว่า Yelp เว็บไซต์รีวิวและให้คะแนนเรตติ้งสถานที่ท่องเที่ยวออกมาเซอร์ไพรส์ตลาดด้วยการประกาศรายรับประจำไตรมาสที่มียอดกำไรถึง 2.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แล้ว แต่เมื่อสัปดาห์ก่อน กลับมีข่าวล่าสุดออกมาว่า บริษัทกำลังมีแผนที่จะปลดพนักงานออกจำนวน 175 ตำแหน่งหรือคิดเป็น 4% ของแรงงานทั้งหมด โดยเฉพาะพนักงานในแผนก Marketing และ Sales ที่ประจำอยู่ในต่างประเทศ เนื่องจากธุรกิจต่างประเทศที่อยู่นอกอเมริกาเหนือ หรือ สหรัฐอเมริกาและแคนาดา มีอัตราการเติบโตที่ลดลง และยังมีแหล่งข่าวรายงานว่า Yelp กำลังอยู่ระหว่างการคุยกับที่ปรึกษาเรื่องการปิดออฟฟิศในกรุง Dublin ด้วย ส่วนออฟฟิศอื่นในทวีปยุโรป มีแหล่งข่าวได้รับการยืนยันจากทางโฆษกของ Yelp ว่าออฟฟิศใน London และ Hamburg จะยังเปิดทำการต่อไป แต่เฉพาะงานส่วนวิศวกรรมและส่วนที่ไม่เกี่ยวกับการค้าเท่านั้น โดยบริษัทจะยังให้บริการแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ในท้องถิ่นให้ลูกค้าใช้งานต่อไป แต่ Yelp จะไม่ทำการขายหรือหารายได้จากการดำเนินงานในโซนนั้นแล้ว (ทั้งนี้ Yelp จะยังคงสัญญากับคู่ค้าเดิมไว้)
มีผู้วิเคราะห์ว่า แท้จริงแล้วบริษัทนี้ไม่ได้มีออฟฟิศอยู่ต่างประเทศ แต่ใช้ระบบการจ้างงานจากคนในท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งคนกลุ่มนี้คือส่วนหนึ่งของพนักงาน 175 คนที่จะถูกปลดในครั้งนี้ด้วย ซึ่ง Yelp แจ้งว่าจากยอดรายรับที่ประกาศไปก่อนหน้านี้ บริษัทจะมีค่าใช้จ่ายการจากปรับโครงสร้างองค์กรอยู่ที่ระหว่าง 2-4 ล้านเหรียญในไตรมาสที่ 4 ซึ่งค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ก็เป็นค่าชดเชยพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากการปรับโครงสร้างดังกล่าวนั่นเอง โดยทั้งหมดนี้ Yelp ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่
ข่าวนี้ถือเป็นการแสดงให้เห็นถึงการก้าวถอยหลังของ Yelp ซึ่งผิดกับสิ่งที่เกิดขึ้นช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาที่ เพราะ Yelp ได้เข้าซื้อกิจการในต่างประเทศหลายกิจการด้วยความมุ่งมั่นในการบุกตลาดต่างประเทศ โดยเข้าซื้อ Qype ที่ 50 ล้านเหรียญ ซื้อ Restaurant Kritik ของเยอรมัน แล้วยังซื้อ Cityvox ในฝรั่งเศส เพื่อเพิ่มยอดผู้ใช้ ได้เทคโนโลยีใหม่ๆ ได้คลังสินค้า และได้คนเก่งมาช่วยในการดำเนินงาน
นอกจากนั้น Yelp ยังทำสัญญาเพิ่มยอดไลค์กับ Twitter เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการ Tag สถานที่ในประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากอเมริกา (เพราะคู่แข่งสำคัญของ Yelp คือ Foursquare ที่ทำบริการ Tag สถานที่ให้กับ Twitter)
เรื่องนี้อาจทำให้เราสงสัยว่าธุรกิจในต่างประเทศของ Yelp จะอยู่ได้อีกนานแค่ไหน หากไม่มีการเงินที่ดีคอยหนุนหลัง แต่ Yelp เองก็ไม่ใช่บริษัทเดียวในอเมริกาที่ต้องพบกับความยากลำบากในการขยายธุรกิจในต่างประเทศ อย่าง Groupon และ LivingSocial (ที่ Groupon เป็นเจ้าของ) ก็เช่นกันที่กำลังดำเนินการหลายอย่างเพื่อลดขนาดธุรกิจที่อยู่ต่างประเทศ
สำหรับ Yelp เอง มีคนมองว่าบริษัทยังมีมุมอื่นๆ ที่น่าสนใจอยู่ เนื่องจากบริษัทเคยต่อกรกับ Google โดยปฏิเสธข้อเสนอซื้อและฟ้องว่า Google ละเมิดกฏการผูกขาดข้อมูลรีวิวสถานที่ ซึ่งเร็วๆ นี้ก็เพิ่งมีความคืบหน้าเพราะ Google ออกมาปฏิเสธการจ่ายค่าปรับจากประเด็นดังกล่าว ทำให้การโวยของ Yelp โดยใช้กฎหมายโจมตีไม่เป็นผล และยังแสดงให้เห็นว่าไม่สามารถสู้กับ Google ตรงๆ ได้ แม้ว่าผู้คนอาจคาดหวังจะเห็นการต่อสู้ในประเด็นผูกขาดการค้าแบบนี้มาโดยตลอดก็ตาม
อย่างไรก็ตาม มีข่าวว่า Yelp จะยังต่อสู้กับ Google ต่อไปแม้ว่าจะทำให้พื้นที่ในตลาดนี้ของตนเองลดลงก็ตาม
ที่มา: Techcrunch
สำหรับธุรกิจสาย Content ความท้าทายอาจจะอยู่ที่การ Localization หรือกลยุทธ์การปรับธุรกิจให้เข้ากับแต่ละท้องถิ่น เพราะแม้จะเป็นบริษัทรายใหญ่อย่าง Yelp ก็ใช่ว่าจะขยายไปยังต่างประเทศได้สำเร็จเสมอไป ยิ่งเมื่อตัดสินใจจะ Localize โดยไม่เข้าซื้อกิจการอื่นมาเสริมด้วย และในขณะเดียวกัน กรณีแบบนี้ยังเป็น Barrier to Entry หรืออุปสรรคต่อการเข้าสู่ตลาดของผู้เล่นเจ้าอื่นๆ ในท้องถิ่นเดียวกันอีกด้วย
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด