อว.เปิดตัวนวัตกรรม ‘วิเคราะห์และรายงานการใช้หน้ากากอนามัย’ แบบ real-time ผลงานของ 2 นักวิชาการธรรมศาสตร์ ใช้ปัญญาประดิษฐ์สแกนผู้สวมใส่-สวมใส่ผิด-ไม่สวมใส่ รายงานผลเพียงเสี้ยววินาที ต่อยอดแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงโควิด-19
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) พัฒนานวัตกรรมการวิเคราะห์และรายงานการใช้หน้ากากอนามัยเป็นรายพื้นที่แบบทันท่วงที (real-time) ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนงานของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)
สำหรับนวัตกรรมดังกล่าว เป็นผลงานการคิดค้นของ ศ.ดร.ธนารักษ์ ธีระมั่นคง และ ดร.กอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร อาจารย์ประจำ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มธ. ซึ่งใช้เทคโนโลยีประมวลผลภาพและวิดีโอที่สามารถตรวจนับได้ว่ามีผู้สวมใส่หน้ากากอนามัยกี่คน สวมใส่อย่างถูกต้องหรือไม่ และมีผู้ไม่สวมใส่จำนวนเท่าใด ซึ่งจะนำไปสู่การประเมินพฤติกรรมและประเมินว่าพื้นที่ใดมีความเสี่ยง และจำเป็นต้องได้รับส่งเสริมความรู้เรื่องการใช้หน้ากากอนามัย
ศ.ดร.ธนารักษ์ กล่าวว่า นวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นมานี้จะสามารถคำนวณผลแบบ real-time ได้ในระยะเวลาเพียงเสี้ยววินาทีด้วยการใช้สีจำแนก ได้แก่ สีเขียวคือผู้ที่สวมใส่หน้ากากถูกต้อง สีเหลืองคือผู้ที่สวมใส่ไม่ถูกต้อง และสีแดงคือผู้ที่ไม่สวมใส่เลย อย่างไรก็ตามแม้ว่านวัตกรรมชิ้นนี้สามารถใช้งานได้แล้ว แต่ยังมีข้อจำกัดคือยังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทุกแหล่ง ทำให้บางแหล่งต้องใช้ภาพย้อนหลังอย่างน้อย 1 วัน ฉะนั้นจึงอยากได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่ายไม่เพียงแต่ในกรุงเทพมหานคร (กทม.) เท่านั้น
“ถ้ามีข้อมูลตรงนี้ก็สามารถทราบถึงจำนวนผู้ใส่หน้ากากอนามัย การรักษาระยะห่างในบริเวณต่างๆ ได้ ซึ่งในอนาคตอยากให้มีการติดตั้งโปรแกรมนี้ในสถานที่ที่มีผู้สัญจรจำนวนมาก เช่น รถไฟฟ้า และอยากให้มีข้อมูลเรื่องนี้แสดงผลผ่านหน้าจอในการแถลงข่าวของ ศบค. ควบคู่ไปกับการรายงานผลผู้ติดเชื้อในแต่ละวันด้วย”ศ.ดร.ธนารักษ์ กล่าว
ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. กล่าวว่า ข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ของ AI ถือว่ามีความสำคัญและเป็นภาพรวมของประเทศที่จะมีประโยชน์ในการบริหารสถานการณ์บุคคลได้ ซึ่งแน่นอนว่าหากในอนาคตสามารถรายงานการสวมใส่หน้ากากอนามัยและจุดเสี่ยงต่างๆ ในแต่ละพื้นที่ได้แบบ real-time ก็จะยิ่งช่วยให้สามารถจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
“นอกเหนือการสวมใส่หน้ากากอนามัยแล้ว นวัตกรรมนี้ยังสามารถดูอัตราการเคลื่อนไหว การรักษาระยะห่างของประชาชนได้ด้วย ขณะเดียวกันระบบการตรวจวัดอุณหภูมิในปัจจุบันก็ได้พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะสามารถบอกข้อมูล real time ได้เช่นกันว่าในพื้นที่นั้นๆ มีจำนวนประชนที่มีอุณภูมิสูงเกินกำหนดเท่าใด ซึ่งทั้งสองส่วนนี้จะยิ่งช่วยสนับสนุนการรับมือกับสถานการณ์โรคระบาดครั้งนี้ได้เป็นอย่างดี” ศ.นพ.สิริฤกษ์ กล่าว
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการ วช. กล่าวว่า นวัตกรรมดังกล่าวเป็นผลมาจากที่ วช. ดำเนินตามนโยบายของ อว. ในการใช้นวัตกรรมสนับสนุนการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยหลังจากนี้ทางสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีจะประสานไปยัง กทม. เพื่อใช้ชุดภาพประจำวันจากกล้องวงจรปิด (CCTV) และใช้ AI เข้าไปประเมินพฤติกรรมในพื้นที่ที่มีการสัญจรจำนวนมาก ก่อนจะขยายผลไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ และขอยืนยันว่าการดำเนินการจะไม่มีการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอย่างแน่นอน
รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี มธ. กล่าวว่า นวัตกรรมที่คณาจารย์ มธ. คิดค้นขึ้นเรียกว่าเทคโนโลยีการประมวลผลภาพ (Image Processing) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ เพิ่งมีการใช้ประมาณ 2 ปี โดย มธ. ได้นำเทคโนโลยีดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ในช่วงโควิด-19 ซึ่งจะช่วยวัดผลได้อย่างแม่นยำมาก เชื่อว่านวัตกรรมนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยหนุนเสริมรัฐบาลและประชาชนรับมือกับวิกฤตโรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“ธรรมศาสตร์ตระหนักถึงบทบาทการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชนมาโดยตลอด ฉะนั้นทุกครั้งที่เกิดวิกฤตการณ์ระดับประเทศ เราจะต้องมีส่วนร่วมในการยับยั้งและคลี่คลายปัญหา ในฐานะที่เป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำ เรามีสรรพกำลัง คณาจารย์ ทรัพยากร องค์ความรู้ งานวิจัย เราไม่ลังเลที่จะนำออกมาช่วยเหลือประชาชน ซึ่งนวัตกรรมล่าสุดนี้ นับเป็นหนึ่งในผลงานอันภาคภูมิใจของธรรมศาสตร์ที่ได้ทำเพื่อประเทศชาติ และเราก็จะทำเช่นนี้ต่อไป” รศ.เกศินี กล่าว
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด