Airbnb จับมือ ททท. กระตุ้นท่องเที่ยว ดึงกลุ่มคนทำงานทางไกลมาเยือนประเทศไทย | Techsauce

Airbnb จับมือ ททท. กระตุ้นท่องเที่ยว ดึงกลุ่มคนทำงานทางไกลมาเยือนประเทศไทย

Airbnb ยกประเทศไทยสู่หนึ่งในจุดหมายปลายทางที่เหมาะกับการทำงานทางไกลระดับโลก เตรียมเปิดศูนย์ข้อมูลออนไลน์ของประเทศไทยสำหรับกลุ่มคนทำงานทางไกล เผยในไตรมาส 1 ปี 2565 นักเดินทาง solo travel จากต่างประเทศค้นหาที่พักระยะยาวในไทยเพิ่มขึ้นกว่า 50% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2562 

Airbnb

Airbnb ประกาศความร่วมมือกับ 20 จุดหมายปลายทางทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย เพื่อให้นักเดินทางใช้ชีวิตและทำงานได้ทุกที่ง่ายยิ่งขึ้น โดยต้นปีที่ผ่านมา Airbnb ได้เปิดตัวโครงการ Live and Work Anywhere เพื่อช่วยส่งเสริมจุดหมายปลายทางที่เหมาะสำหรับคนทำงานทางไกล หรือ remote worker ในระดับโลกรวมถึงสนับสนุนรัฐบาลและองค์กรส่งเสริมการตลาดด้านการท่องเที่ยวในเมืองต่าง ๆ เพื่อการฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนหลังจากต้องเผชิญข้อจำกัดด้านการเดินทางมาเกินกว่า 2 ปี

สำหรับประเทศไทย Airbnb ได้ทำงานร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) อย่างใกล้ชิดและจะริเริ่มโครงการต่างๆ ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า เช่น การสร้างศูนย์ข้อมูลออนไลน์เกี่ยวกับประเทศไทย แสดงที่พักระยะยาวชั้นนำในแต่ละท้องถิ่น รวมถึงข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับข้อกำหนดในการเดินทางเข้าประเทศและข้อมูลวีซ่าเพื่อดึงดูดกลุ่มคนที่ทำงานทางไกล 

โดยความร่วมมือกับประเทศไทยครอบคลุมถึงการรณรงค์ให้ความรู้แก่โฮสต์และคนที่ทำงานระยะไกล เพื่อส่งเสริมการให้บริการที่พักและการเดินทางอย่างมีความรับผิดชอบ โดยคาดว่าจะเปิดตัวศูนย์ข้อมูลออนไลน์ของประเทศไทยภายในปีนี้

คุณเนธาน เบลชาร์ซิค ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์ของ Airbnb เปิดเผยว่า “ช่วง 2 ปีตั้งแต่เกิดโรคระบาด เราได้เห็นโลกแห่งการเดินทางแนวใหม่ที่ผู้คนทำงานโดยไม่ต้องเข้าออฟฟิศ โดยในความร่วมมือกับทุกจุดหมายปลายทางนี้ เราต้องการเพิ่มความสะดวกให้ผู้ที่ทำงานทางไกลสามารถทำงานแบบยืดหยุ่น รวมถึงช่วยส่งเสริมการเดินทางอย่างปลอดภัยและมีความรับผิดชอบ การเดินทางจะเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจสู่ชุมชนท้องถิ่นและเชื่อมต่อผู้คนทั่วโลก เรารู้สึกตื่นเต้นที่เปิดตัวแคมเปญนี้พร้อมเปิดโอกาสให้ทุกคนที่อยากเข้าร่วมเทรนด์ใหม่กับกลุ่มคนนับล้านที่ชอบทำงานและเดินทางอย่างยืดหยุ่น”

ด้าน คุณฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางชั้นนำของโลกสำหรับคนที่ทำงานนอกสถานที่และนักท่องเที่ยวระยะยาว ด้วยโครงสร้างพื้นฐานของท้องถิ่นที่มีความพร้อม การเข้าถึงชุมชนได้สะดวกและที่พักที่เป็นเอกลักษณ์และมีความหลากหลายเหมาะสำหรับการพักอาศัยระยะยาว รวมถึงการต้อนรับที่อบอุ่นและวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ จึงทำให้ประเทศไทยสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกได้อย่างต่อเนื่อง ดังที่เราได้มีความพยายามพัฒนาและฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวของประเทศ เราจึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นพันธมิตรกับ Airbnb ในโครงการ Live and Work Anywhere ที่จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวระยะยาวมายังประเทศไทย”

20 จุดหมายปลายทาง ที่ Airbnb โปรโมทสำหรับการทำงานทางไกล ได้แก่

  • บาฮากาลิฟอร์เนีย เม็กซิโก
  • บาหลี อินโดนีเซีย
  • บรินดิซิ ปุลยา อิตาลี 
  • บัวโนสไอเรส อาร์เจนตินา
  • แคริบเบียน
  • หมู่เกาะกานาเรียส สเปน 
  • เคปทาวน์ แอฟริกาใต้
  • โคลอมเบีย
  • ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
  • ฟรีอูลี-เวเนเซียจูเลีย อิตาลี
  • ลิสบอน โปรตุเกส
  • มอลตา
  • เม็กซิโกซิตี เม็กซิโก 
  • ปาล์มสปริงส์ แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
  • ควีนส์แลนด์ ออสเตรเลีย
  • เมืองชนบทในฝรั่งเศส
  • ซัลทซ์คัมเมอร์กูท ออสเตรีย
  • แทมปาเบย์ ฟลอริดา สหรัฐอเมริกา
  • ประเทศไทย
  • ทัลซา โอคลาโฮมา

จุดหมายปลายทางพันธมิตรในความร่วมมือดังกล่าวของ Airbnb ทั่วโลกประกอบด้วยจุดหมายปลายทางในระดับประเทศ ไปจนถึงเมืองเล็กๆ ที่ยังไม่ค่อยมีชื่อเสียง ซึ่งได้ถูกคัดเลือกตามเสน่ห์ดึงดูดคนทำงานทางไกล และความก้าวหน้าด้านนโยบายที่เอื้อแก่ผู้ต้องการอาศัยและทำงานในภูมิภาคอื่น 

ตลอดจนดึงดูดนักเดินทางแนวใหม่ๆ โครงการริเริ่มนี้ต่อยอดมาจากความร่วมมือของ Airbnb กับหน่วยงานภาครัฐและองค์กรส่งเสริมการตลาดด้านการท่องเที่ยวกว่า 160 แห่งในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก เพื่อช่วยกระตุ้นการฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโดยเฉพาะผ่านการส่งเสริมการทำงานทางไกล

 ผู้คนนับล้านในปัจจุบันไม่ยึดติดว่าจะต้องทำงานหรือใช้ชีวิตอยู่ที่ไหน เราจึงเห็นนักเดินทางกระจายไปยังเมืองต่างๆ หลายพันแห่งและอยู่กันนานเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน หรือตลอดฤดูเลยด้วยซ้ำ ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2565 มีนักเดินทาง solo travel จากต่างประเทศ ค้นหาที่พักระยะยาวในประเทศไทยเพิ่มขึ้นกว่า 50% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2562

ข้อมูลที่น่าสนใจคือในปี 2564 ผู้เข้าพักทั่วโลก 1 ใน 5 คนใช้ Airbnb เพื่อทำงานทางไกลระหว่างการเดินทางซึ่งนับเป็นเทรนด์เติบโตต่อเนื่องมาถึงไตรมาส 1 ปี 2565 ทำให้การเข้าพักระยะยาวเติบโตขึ้นกว่า 2 เท่าจากไตรมาส 1 ปี 2562 นักเดินทางกลุ่มนี้ “ใช้ชีวิต” ในการเข้าพัก Airbnb และหลายคนก็วางแผนเข้าพักในเมืองต่างๆ กว่า 72,000 แห่งในช่วงฤดูร้อนนี้

อ้างอิงจากงานวิจัยโดย Harvard Business School ระบุว่า กลุ่มดิจิทัลโนแมดกับคนที่ทำงานทางไกลจะไม่เพียงสร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจแล้ว แต่ยังมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมผู้ประกอบการในชุมชนที่พักอาศัยอยู่และร่วมสร้าง "ชุมชนเทคโนโลยี" ไปทั่วโลก 

ทั้งนี้ข่าวนี้ต่อยอดมาจากนโยบายส่งเสริมการทำงานระยะไกลที่ไบรอัน เชสกี ผู้ร่วมก่อตั้งและ CEO ของ Airbnb อนุญาตให้พนักงานทำงานจากที่ใดก็ได้ หลังประกาศไปเพียงสัปดาห์แรก มีผู้เข้าเยี่ยมชมหน้าเพจร่วมงานกับ Airbnb กว่า 1 ล้านคน ตอกย้ำเทรนด์ของผู้คนที่ต้องการใช้ชีวิตและทำงานที่ใดก็ได้ ทั้งนี้ ในเดือนหน้านี้ ผู้เข้าร่วมโครงการ Live Anywhere ของ Airbnb จะใช้ชีวิตในที่พัก Airbnb ครบเวลา 1 ปี ซึ่งพวกเขาได้มีการเดินทางไปเยือนสถานที่ต่างๆ เกือบ 80 แห่งทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นประเทศไทย ไปจนถึงสก็อตแลนด์และเกาหลีใต้

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Wavemaker และ กรุงศรี ฟินโนเวต ลงทุน Series B ใน 24X เดินหน้ายกระดับตลาดซ่อมบำรุง

24X ประกาศความสำเร็จครั้งใหม่ในการระดมทุนรอบซีรีส์ บี โดยสองกลุ่มนักลงทุนระดับชั้นนำอย่าง เวฟเมคเกอร์ เวนเจอร์สและกรุงศรี ฟินโนเวต ในเครือกรุงศรี ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของ 24X ในการ...

Responsive image

ทีทีบี ยกระดับ "ยินดี-Yindee" ผู้ช่วย AI อัจฉริยะ ตอบทุกคำถามฉับไว บน Mobile Banking ด้วย Azure OpenAI ครั้งแรกในไทย

ทีทีบี มุ่งขับเคลื่อนองค์กรด้วย Digital Transformation โชว์ความสำเร็จการพัฒนาผู้ช่วยบนมือถือ “ยินดี-Yindee” เวอร์ชันใหม่ ถือเป็นธนาคารไทยแห่งแรกที่นำ Generative AI ผ่าน Microsoft A...

Responsive image

สำรวจ KPMG เผย ซีอีโอพลังงานเดินหน้าลงทุนเทคโนโลยี แม้เศรษฐกิจผันผวน

การสำรวจ CEO Outlook ของเคพีเอ็มจี (KPMG) แสดงให้เห็นว่าซีอีโอร้อยละ 78 มั่นใจในการเติบโตทางเศรษฐกิจในสามปีข้างหน้า สะท้อนความเชื่อมั่นในระดับสูง แม้จะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนทางเ...