ผลสำรวจ Google เผย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าสู่ ทศวรรษดิจิทัล สตาร์ทอัพอาเซียนเติบโตก้าวกระโดด 2 เท่า ก้าวแท่นสู่ยูนิคอร์นถึง 11 รายในปี 2564 | Techsauce

ผลสำรวจ Google เผย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าสู่ ทศวรรษดิจิทัล สตาร์ทอัพอาเซียนเติบโตก้าวกระโดด 2 เท่า ก้าวแท่นสู่ยูนิคอร์นถึง 11 รายในปี 2564

Google, Temasek และ Bain & Company ได้เผยแพร่รายงานเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฉบับที่ 6 (e-Conomy SEA Report - Roaring 20’s: The SEA Digital Decade) รายงานฉบับนี้ระบุว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเข้าสู่ “ทศวรรษแห่งดิจิทัล” และเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคนี้จะมีมูลค่าสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2573 จำนวนผู้บริโภคและผู้ค้าที่ใช้งานบนแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ธุรกิจบริการจัดส่งอาหาร และบริการด้านการเงินดิจิทัล ส่งผลให้มูลค่าสินค้ารวม (Gross Merchandise Volume: GMV) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจแตะ 1.78 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐภายในสิ้นปี 2564 และมีแนวโน้มทยานสู่ 3.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 ซึ่งสูงกว่าการประมาณการครั้งก่อนที่คาดว่าจะมีมูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

Google

ปัจจุบันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตมากกว่า 440 ล้านคน  และที่สำคัญ 350 ล้านคนในจำนวนนี้ หรือประมาณ 80% เป็นผู้บริโภคบนแพลตฟอร์มดิจิทัล กล่าวคือ ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เคยใช้บริการออนไลน์อย่างน้อยหนึ่งรายการ นับตั้งแต่เกิดการระบาดใหญ่ มีผู้บริโภคบนแพลตฟอร์มดิจิทัลรายใหม่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคนี้ถึง 60 ล้านราย โดย 20 ล้านรายในจำนวนนี้เพิ่มเข้ามาในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 เท่านั้น 

สำหรับประเทศไทย คาดว่าเศรษฐกิจดิจิทัลจะมีมูลค่าสูงถึง 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564 โดยมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 51% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ไทยยังคงเป็นตลาดที่มีเศรษฐกิจดิจิทัลใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซีย ทั้งนี้คาดว่าในปี 2568 มูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยจะแตะที่ 5.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 17% ซึ่งสูงขึ้นจากที่เคยคาดการณ์ไว้ถึง 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยก่อนหน้านี้ได้ประมาณการไว้ที่ 5.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเชิงลึกที่น่าสนใจเกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัลไทยจากรายงานของปีนี้ มีดังนี้

  • อีคอมเมิร์ซ เป็นแรงผลักดันที่สำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัลไทย และคาดว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจหลักที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลไทยในทศวรรษหน้า ภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตขึ้นถึง 68% จากปีก่อน โดยมีมูลค่าสูงถึง 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564 และคาดว่าจะแตะ 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568

  • สื่อออนไลน์ เติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่งถึง 29% โดยมีมูลค่า 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564 นอกจากนี้ยังพบว่าผลกระทบของการแพร่ระบาดทำให้มีเกมเมอร์หน้าใหม่เพิ่มขึ้น โดยมีความต้องการซื้อเกมและใช้จ่ายในเกมเป็นตัวขับเคลื่อน 

  • ในส่วนของการขนส่งและบริการส่งอาหารออนไลน์ พบว่าภาคธุรกิจส่งอาหารออนไลน์มีการเติบโตที่สดใส ส่งผลให้ภาคธุรกิจการขนส่งและบริการส่งอาหารออนไลน์เติบโตขึ้นถึง 37% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยมีมูลค่าสินค้ารวมอยู่ที่ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้พบว่าผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในไทยหันมาใช้บริการส่งอาหารออนไลน์เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และเป็นหนึ่งในบริการดิจิทัลที่มีผู้ใช้งานมากที่สุด โดย 76% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทยสั่งอาหารออนไลน์อย่างน้อยหนึ่งครั้ง

  • ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวออนไลน์ยังไม่ฟื้นตัว แต่คาดว่าอาจจะได้เห็นการฟื้นตัวในระยะกลางถึงระยะยาว โดยได้แรงหนุนจากความต้องการที่ถูกอั้นไว้ของผู้บริโภคและความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน

ข้อมูลอื่นๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่

  • คลื่นลูกใหม่ของผู้บริโภคบนแพลตฟอร์มดิจิทัล

    • ประเทศไทยมีผู้บริโภคบนแพลตฟอร์มดิจิทัลรายใหม่เพิ่มขึ้นถึง 9 ล้านคนนับตั้งแต่การเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดในปี 2563 (ถึงครึ่งแรกของปี 2564) โดยกว่า 67% ของผู้ใช้รายใหม่อาศัยอยู่นอกหัวเมืองหลัก อัตราการใช้บริการดิจิทัลของประเทศไทยสูงเป็นอันดับสองในภูมิภาค รองจากฟิลิปปินส์ โดยมีผู้ใช้บริการดิจิทัลสูงถึงร้อยละ 90 ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต

    • ผู้ใช้งานเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะใช้งานต่อไปในอนาคต โดยกว่า 96% ของผู้ใช้งานในช่วงการแพร่ระบาดยังคงใช้งานอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้ และ 98% คาดว่าจะใช้งานต่อไปในอนาคต ผู้ที่เคยใช้บริการดิจิทัลก่อนการเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดใช้บริการดิจิทัลเพิ่มขึ้น 3.9 บริการนับตั้งแต่มีการระบาด ระดับความพึงพอใจที่มีต่อบริการทุกประเภทอยู่ที่ 87%

  • ความพร้อมในด้านดิจิทัลของผู้ค้า

    • กว่า 1 ใน 3 ของผู้ค้าดิจิทัล ในประเทศไทยเชื่อว่าธุรกิจของพวกเขาจะไม่สามารถผ่านวิกฤตโรคระบาดไปได้ หากไม่ได้ใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล แม้ว่าผู้ค้าดิจิทัลใช้บริการถึง 2 แพลตฟอร์มโดยเฉลี่ย แต่กำไรของธุรกิจยังเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง บริการด้านการเงินดิจิทัลกําลังกลายมาเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักเพราะ 96% ของผู้ค้าดิจิทัลรับการชำระเงินดิจิทัลแล้ว และ 82% ของผู้ค้าดิจิทัลรับบริการสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัล นอกจากนี้ ผู้ค้าจํานวนมากยังใช้เครื่องมือดิจิทัลในการเชื่อมต่อกับลูกค้า โดยกว่า 58% มีแนวโน้มที่จะใช้เครื่องมือการตลาดดิจิทัลมากขึ้นในช่วง 5 ปีข้างหน้า

  • การระดมทุนขยับขึ้นอีกระดับ

    • นักลงทุนต่างมองภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเป้าหมายการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนงดงามในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซและบริการด้านการเงินดิจิทัลที่ยังคงดึงดูดเม็ดเงินลงทุนส่วนใหญ่ การลงทุนในเศรษฐกิจดิจิทัลไทยในปี 2564 คาดว่าจะอยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์เช่นเดียวกับปี 2563 บริษัทยูนิคอร์นที่ถือกําเนิดขึ้นแห่งแรกในประเทศไทยในปีนี้ เป็นปัจจัยดึงดูดการลงทุนในบริการดิจิทัลที่เติบโตขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นอีคอมเมิร์ซ เทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) เทคโนโลยีด้านสุขภาพ (HealthTech) และเทคโนโลยีด้านการศึกษา (EdTech)

  • บริการด้านการเงินดิจิทัลทุกชนิดเติบโตอย่างสดใส

    • นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 บริการด้านการเงินดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการเติบโตที่ดี โดยผู้ค้าและผู้บริโภคหันมาใช้กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรืออีวอลเล็ท (e-wallet) และระบบการชำระเงินแบบ A2A (account-to-account) กันมากขึ้น ทั้งนี้ การชำระเงินผ่านระบบดิจิทัลคาดว่าจะมีมูลค่าธุรกรรมรวม (Gross Transaction Value: GTV) กว่า 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากประมาณการจำนวน 7.07 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564 

  • ปัจจัยขับเคลื่อนและปัจจัยหนุนเศรษฐกิจดิจิทัลให้มีมูลค่าสินค้ารวมไปถึงระดับ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2573

    • อีคอมเมิร์ซและบริการจับจ่ายออนไลน์จะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญของมูลค่าสินค้ารวมของเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2573 มูลค่าของธุรกิจขนส่งและบริการส่งอาหารออนไลน์ รวมทั้งสื่อออนไลน์ อาจเติบโตแบบอีคอมเมิร์ซได้ หากความต้องการของผู้บริโภคนอกเขตเมืองเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

    • ในขณะที่ปัญหาการขาดแคลนแรงงานทักษะยังเป็นอุปสรรคสำคัญ ปัจจัยหนุนที่เกี่ยวพันกับผู้บริโภค ผู้ค้า แพลตฟอร์ม และหน่วยงานกำกับดูแล จะเป็นตัวผลักดันให้เศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เติบโต ไม่ว่าจะเป็นความมุ่งมั่นต่อความยั่งยืน การกำกับดูแลข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาและเอื้อต่อการทำธุรกิจ โครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการไหลของข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและมีความถี่มากขึ้น รวมถึงมาตรการคุ้มครองผลประโยชน์ของแรงงาน และผู้บริโภคควบคู่ไปกับการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรม


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

SCB 10X เปิดเวที “Typhoon 2 Unveiled: Advancing AI Research in Thailand” เดินหน้าวิจัย AI ไทย พร้อมเปิดตัว ‘ไต้ฝุ่น 2.0’ เวอร์ชั่นใหม่ล่าสุด

SCB 10X เปิดตัว "ไต้ฝุ่น 2" โมเดลภาษาไทยขนาดใหญ่สุดล้ำในงาน Typhoon 2 Unveiled: Advancing AI Research in Thailand พร้อมยกระดับวิจัย AI ไทยสู่เวทีโลก...

Responsive image

จุฬาฯ จับมือ KBTG เปิดตัว AI LUCA และ Virtual Patient ในงาน Chula the Impact ครั้งที่ 29 ภายใต้หัวข้อ “Chula-KBTG: AI for the Future”

จุฬาฯ จับมือ KBTG เปิดตัว AI LUCA และ Virtual Patient ในงาน Chula the Impact ครั้งที่ 29 มุ่งขับเคลื่อนอนาคตการศึกษาไทยด้วยเทคโนโลยี AI สู่ยุคดิจิทัล...

Responsive image

ส.อ.ท. เตรียมจัด FTI EXPO 2025 รวมสุดยอดนวัตกรรมอุตสาหกรรมไทย

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ผนึกกำลังพันธมิตรองค์กรชั้นนำ จัดงาน FTI EXPO 2025 ภายใต้แนวคิด “4GO” ที่ครอบคลุม 4 ด้านสำคัญ ได้แก่ ดิจิทัล นวัตกรรม การขยายตลาดสู่ต่างประเทศ แ...