DDproperty เปิดรายงาน วัดชีพจรอสังหาอาเซียน คนพร้อมมีบ้านมากแค่ไหนในยุคโควิด | Techsauce

DDproperty เปิดรายงาน วัดชีพจรอสังหาอาเซียน คนพร้อมมีบ้านมากแค่ไหนในยุคโควิด

แม้ผู้บริโภคจะเรียนรู้ที่จะปรับตัวเพื่อใช้ชีวิตในยุคโควิด-19 แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าผลจากการแพร่ระบาดฯ ที่ยาวนานส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ กระทบต่อภาคธุรกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภคอย่างหนักหน่วง DDproperty เผยข้อมูลจากรายงาน “Southeast Asia Rising from the Pandemic” ของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) เผยว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ในปี 2564 ประชากรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 4.7 ล้านคนอยู่ในระดับความยากจนขั้นรุนแรง 

DDproperty เผยรายงานจากแบบสอบถามความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อตลาดที่อยู่อาศัยในไทย และแบบสอบถามความคิดเห็นของผู้บริโภคในอาเซียนรอบล่าสุด พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นด้านอสังหาริมทรัพย์โดยรวมของทั้งภูมิภาคมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ยังคาดว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในปี 2565 จะส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ลดลง 0.8% เช่นกัน สะท้อนให้เห็นว่าปีนี้ยังคงต้องจับตามองสภาพคล่องและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอย่างใกล้ชิดต่อไป

ตลาดอสังหาริมทรัพย์นั้นได้รับผลกระทบโดยตรงในช่วงแรก ทำให้ผู้ประกอบการต่างงัดกลยุทธ์มาใช้เพื่อช่วยขับเคลื่อนการเติบโตในตลาดและกระตุ้นการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคที่ต้องการมีบ้านอย่างต่อเนื่อง ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty) เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของไทย เผยข้อมูลจากแบบสอบถามความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อตลาดที่อยู่อาศัยในไทย DDproperty’s Thailand Consumer Sentiment Study และแบบสอบถามความคิดเห็นของผู้บริโภคในอาเซียนรอบล่าสุด (ประกอบด้วยประเทศสิงคโปร์, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย และเวียดนาม) จากเว็บไซต์ในเครือ PropertyGuru Group (พร็อพเพอร์ตี้กูรู กรุ๊ป) 

พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นด้านอสังหาริมทรัพย์โดยรวมของทั้งภูมิภาคมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564 สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคสามารถปรับตัวให้พร้อมอยู่ร่วมกับโควิด-19 เพื่อดำเนินชีวิตต่อไปให้เหมือนปกติได้และมีความมั่นใจในการซื้อที่อยู่อาศัยอีกครั้ง โดยคะแนนดัชนีความเชื่อมั่นของชาวอินโดนีเซียอยู่ที่ 57% ซึ่งสูงที่สุดในอาเซียน ตามมาด้วยของชาวสิงคโปร์อยู่ที่ 51% ชาวเวียดนามอยู่ที่ 47% ด้านชาวมาเลเซียอยู่ที่ 46% ขณะที่ชาวไทยอยู่ที่ 45% ซึ่งต่ำกว่าทุกประเทศในตลาดอาเซียน 

ขณะเดียวกันอสังหาริมทรัพย์ถือเป็นทรัพย์สินที่มีความผันผวนต่ำเมื่อเทียบกับการลงทุนแบบอื่น แม้ผู้บริโภคไม่ได้อยู่อาศัยเองแต่มองถึงโอกาสต่อยอดลงทุนในระยะยาว จึงเป็นอีกปัจจัยที่ส่งเสริมให้ดัชนีความเชื่อมั่นที่อยู่อาศัยรอบล่าสุดนี้เติบโตเช่นกัน เห็นได้ชัดจากการที่ 3 ใน 4 ของผู้บริโภคในประเทศมาเลเซีย (77%), อินโดนีเซีย (77%), เวียดนาม (77%) และไทย (78%) เผยว่า ตั้งใจจะซื้อบ้านใหม่เพิ่มโดยที่ยังเก็บบ้านเดิมเอาไว้ 

ขณะที่สิงคโปร์มีเพียงแค่ 46% เนื่องจากมากกว่าครึ่งวางแผนจะขายบ้านเดิมก่อนที่จะซื้อบ้านใหม่ โดยเหตุผลสำคัญในการซื้อบ้านเพิ่มนั้นผู้บริโภคชาวมาเลเซีย (53%) ชาวอินโดนีเซีย (66%) และชาวสิงคโปร์ (63%) มองที่การลงทุนเป็นหลัก ด้านชาวเวียดนามส่วนใหญ่ต้องการซื้อให้บุตรหลาน (54%) ขณะที่เหตุผลชาวไทยซื้อบ้านใหม่เพื่อตั้งใจเก็บไว้อยู่ตอนเกษียณ (31%)

เมื่อโควิดตั้งอยู่และยังไม่ดับไป ส่งผลกระทบอย่างไรต่อคนหาบ้านอาเซียน

ข้อมูลจากแบบสอบถามความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อตลาดที่อยู่อาศัยล่าสุดใน 5 ตลาดหลักของอาเซียน เผยให้เห็นมุมมองและความต้องการที่อยู่อาศัยที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคหลังเผชิญการแพร่ระบาดฯ มาอย่างยาวนาน ตัวแปรสำคัญที่มีผลต่อการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยจึงไม่ใช่แค่ราคาอีกต่อไป แต่คนหาบ้านยังมองเรื่องสุขภาพและความสะดวกในการใช้ชีวิตเป็นหลักด้วย 

หลังจากปรับตัวอยู่ร่วมกับการแพร่ระบาดฯ ที่ยาวนาน ชาวสิงคโปร์ส่วนใหญ่เผยว่าเทรนด์ที่อยู่อาศัยที่ต้องการในอนาคตแม้จะไม่มีการแพร่ระบาดฯ แล้วคือ การมีบ้าน/คอนโดฯ ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น (42%) เนื่องจากต้องการพื้นที่ใช้สอยที่รองรับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่บ้านของสมาชิกในครอบครัว และมากกว่าครึ่งของชาวสิงคโปร์ (55%) คาดว่าราคาอสังหาฯ จะมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นหลังวิกฤติโควิด-19 สิ้นสุดลง ซึ่งเกือบ 3 ใน 4 (73%) ของชาวสิงคโปร์เผยว่าโครงการที่เดินทางสะดวกด้วยระบบขนส่งสาธารณะเป็นคุณสมบัติที่อยู่อาศัยที่สำคัญและจำเป็นต้องมีทั้งในปัจจุบันและยุคหลังโควิด-19

อย่างไรก็ดี ชาวสิงคโปร์นั้นมีมุมมองด้านความต้องการดูแลสุขภาพในอนาคตที่แตกต่างจากประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน โดยส่วนใหญ่ (43%) มองว่าโครงการที่อยู่อาศัยที่ใกล้กับสถานพยาบาล/ศูนย์ดูแลสุขภาพไม่ได้มีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อ/เช่าที่อยู่อาศัย เนื่องจากทุกพื้นที่ในประเทศสามารถเข้าถึงบริการดังกล่าวได้อย่างเท่าเทียมกันอยู่แล้ว 

ขณะที่เทรนด์ที่อยู่อาศัยที่ชาวมาเลเซียมองว่าตอบโจทย์การใช้ชีวิตในอนาคตมากที่สุดคือ บ้าน/คอนโดฯ ที่ใกล้ชิดธรรมชาติมากถึง 53% สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการใช้ชีวิตท่ามกลางพื้นที่สีเขียวทดแทนที่ไม่ได้ไปแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติในยุคโควิด ขณะที่ 2 ใน 3 ของชาวมาเลเซีย (67%) เผยว่า ที่อยู่อาศัยที่ตั้งอยู่ใกล้โรงพยาบาลเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดเมื่อวางแผนซื้อบ้านเพื่อรองรับการดูแลสุขภาพในอนาคต 

นอกจากนี้ 69% เผยว่าบ้าน/คอนโดฯ ที่ตั้งอยู่ใกล้สิ่งอำนวยความสะดวกอย่างครบครันถือเป็นคุณสมบัติหลักที่ที่อยู่อาศัยต้องมีทั้งในปัจจุบันและเมื่อการแพร่ระบาดฯ สิ้นสุด โดยมากกว่าครึ่งของชาวมาเลเซีย (57%) คาดหวังว่าหากการแพร่ระบาดฯ จบลง ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะหันมาแข่งจัดโปรโมชั่นที่คุ้มค่าเพื่อเร่งระบายสินค้าคงค้างในตลาด ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้ที่ต้องการมีบ้าน/คอนโดฯ เนื่องจากชาวมาเลเซียส่วนใหญ่ (47%) มองว่าอุปสรรคสำคัญที่สุดในการยื่นขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยในตอนนี้มาจากหน้าที่การงานและรายได้ที่ไม่มั่นคง

ด้านเทรนด์ความต้องการที่อยู่อาศัยของชาวอินโดนีเซียนั้น เกือบครึ่ง (47%) ต้องการอาศัยในทำเลที่ไม่แออัดหรือย่านชานเมือง เนื่องจากยังมีความกังวลเรื่องสุขอนามัยและการรักษาระยะห่างทางสังคม ครึ่งหนึ่งของชาวอินโดนีเซีย (50%) คาดว่าเมื่อการแพร่ระบาดฯ สิ้นสุดลงจะส่งผลให้ราคาที่อยู่อาศัยปรับตัวสูงขึ้นตามกลไกของตลาดที่ฟื้นตัว 

สำหรับคุณสมบัติสำคัญอันดับต้น ๆ ที่บ้าน/คอนโดฯ ยุคโควิดต้องมีในมุมมองของชาวอินโดนีเซียนั้นจะให้ความสำคัญใน 2 ปัจจัยเท่ากัน คือ โครงการที่ใกล้ชิดธรรมชาติ (60%) และอยู่ในทำเลที่เดินทางสะดวกด้วยระบบขนส่งสาธารณะ (60%) อย่างไรก็ดี ปัจจัยหลักที่ชาวอินโดนีเซียใช้พิจารณาเมื่อยื่นขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยมาจากอัตราการผ่อนชำระถึง 78% เนื่องจากหลังเผชิญวิกฤติการแพร่ระบาดฯ ที่ยาวนาน ส่งผลกระทบต่ออาชีพและรายได้ที่ไม่แน่นอนซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดเมื่อขอสินเชื่อบ้าน (57%)

3 ใน 5 ของชาวเวียดนาม (61%) เผยว่าเทรนด์ที่อยู่อาศัยที่มองหาในอนาคตคือ มีบ้าน/คอนโดฯ ที่ใกล้ชิดธรรมชาติ/มีพื้นที่ทำสวน สอดคล้องกับแผนดูแลสุขภาพที่ชาวเวียดนามส่วนใหญ่ (48%) มองว่าที่อยู่อาศัยในอนาคตต้องตั้งอยู่ใกล้โรงพยาบาล เพื่อรองรับการดูแลสุขภาพยามเจ็บป่วย สะท้อนให้เห็นถึงการเตรียมพร้อมเพื่อสร้างสุขภาพที่ดีทั้งจากภายนอกและภายใน 

นอกจากนี้ ชาวเวียดนามให้ความสำคัญกับสมาชิกในครอบครัวมาเป็นอันดับต้น ๆ โดยคุณสมบัติสำคัญของที่อยู่อาศัยในฝันอันดับแรกคือ ต้องมีสนามเด็กเล่นหรือแหล่งเรียนรู้รองรับการใช้ชีวิตของบุตรหลาน (58%) นอกจากนี้ชาวเวียดนาม 48% คาดว่าผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะเปิดตัวโปรโมชั่นมากขึ้นเพื่อกระตุ้นการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยที่คงค้างในยุคหลังโควิด อย่างไรก็ตาม เกือบ 4 ใน 5 (79%) มองว่า ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ควรกังวลและให้ความสำคัญเกี่ยวกับสถานการณ์อุปทานล้นตลาดด้วย หลังจากมีบทเรียนจากภาคอสังหาฯ ในจีนที่เผชิญวิกฤตขาดสภาพคล่อง 

ชาวไทยให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากขึ้น โดยเกือบ 9 ใน 10 (88%) วางแผนเลือกซื้อ/เช่าที่อยู่อาศัยที่อยู่ใกล้โรงพยาบาล ซึ่งถือว่าสูงที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน โดย 66% มองว่าคุณสมบัติสำคัญที่บ้าน/คอนโดฯ ยุคใหม่จำเป็นต้องมีคือ การออกแบบให้อากาศถ่ายเทสะดวกและมีแสงธรรมชาติเพียงพอ นอกจากนี้ มากกว่า 3 ใน 4 ของชาวไทย (77%) เผยว่าอัตราดอกเบี้ยเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่พิจารณาเมื่อต้องยื่นขอสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดย 59% เผยว่าความไม่มั่นคงของหน้าที่การงานและความผันผวนของรายได้ถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าถึงสินเชื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 และเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่อเนื่อง 

ขณะที่ชาวไทยถึง 95% มองว่า ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ควรกังวลกับภาวะอุปทานล้นตลาดในปัจจุบัน เพื่อป้องกันวิกฤติฟองสบู่ในตลาดอสังหาฯ เนื่องจากกำลังซื้อผู้บริโภคจะยังไม่ฟื้นตัวในเร็ว ๆ นี้ รวมทั้งมาตรการพิจารณาสินเชื่อของธนาคารที่มีความเข้มงวดขึ้น อาจทำให้ดีมานด์การซื้อไม่เพียงพอจะดูดซับอุปทานคงค้างได้ทันท่วงที 

อย่างไรก็ดี มีเพียงผู้บริโภคกลุ่มมิลเลนเนียลชาวไทยเท่านั้นที่เผยว่ายังไม่มีแผนย้ายออกจากบ้านพ่อแม่ภายใน 1 ปีข้างหน้า (54%) เนื่องจากต้องการอยู่ดูแลพ่อแม่ และยังไม่มีเงินเก็บมากพอที่จะซื้อ/เช่าที่อยู่อาศัยของตัวเอง ต่างจากกลุ่มมิลเลนเนียลชาวอินโดนีเซีย, ชาวสิงคโปร์ และชาวเวียดนามที่มากกว่าครึ่งเผยว่าตั้งใจจะย้ายออกภายในปีหน้า (85%, 76% และ 51% ตามลำดับ) ซึ่งถือเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตในตลาดอสังหาฯ

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

กรุงศรีตั้ง ปาลิดา อธิศพงศ์ นั่งรักษาการกรรมการผู้จัดการของ Krungsri Finnovate เดินหน้าสตาร์ทอัปไทย

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ประกาศแต่งตั้ง นางสาวปาลิดา อธิศพงศ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งรักษาการกรรมการผู้จัดการ Krungsri Finnovate...

Responsive image

ทีทีบี จับมือ databricks ผสานพลัง Data และ AI สร้างอนาคตการเงินที่ดีขึ้นให้คนไทย

ทีทีบี ตอกย้ำความมุ่งมั่นผลักดันดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับวงการธนาคารไทย จับมือพันธมิตร databricks พร้อมเดินหน้าสร้าง Data-driven Culture ปักธงก้าวสู่ธนาคารที...

Responsive image

LINE SCALE UP เปิดรับสตาร์ทอัพทั่วโลก ต่อยอดธุรกิจกับ LINE ก้าวสู่ระดับสากล

LINE SCALE UP เปิดตัวอย่างเป็นทางการในงาน LINE Thailand Developer Conference 2024 ที่ผ่านมา เฟ้นหาสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ และพร้อมต่อยอดธุรกิจร่วมกับ LINE สู่เป้าหมายยกระดับธุรกิจสตา...