เปิดผลประกอบการ 3 ธนาคารใหญ่ปี 66 ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกสิกรไทย และ SCBX แจงผลประกอบกว่า 40,000 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากปีที่ผ่านมา
ในปี 2566 เศรษฐกิจไทยในภาพรวมอยู่ในทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยมีแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น และการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวดีตามค่าใช้จ่ายในหมวดบริการ รวมทั้งแรงสนับสนุนจากการจ้างงานและรายได้แรงงานที่ปรับดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาคการส่งออกยังคงชะลอตัว ตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่อ่อนตัว สำหรับในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจไทย ยังคงเผชิญความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก ได้แก่ การเติบโตในอัตราที่ชะลอลงของประเทศเศรษฐกิจหลัก ผลกระทบจากการที่ธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ คงดอกเบี้ยไว้ในระดับที่สูงเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่อาจกระทบต่อการส่งออกและภาคการผลิตของไทย ตลอดจนปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
ธนาคารกรุงเทพตระหนักถึงความท้าทายที่เพิ่มขึ้นในการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันและอนาคตของลูกค้า จากเศรษฐกิจที่ยังคงมีความไม่แน่นอน สภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ความก้าวหน้า ของเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ที่กระทบการดำเนินธุรกิจ บริบทโลกที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลเพิ่มขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายและกฎเกณฑ์ของทางการ ธนาคารกรุงเทพ ในฐานะ “เพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน” จึงมุ่งเน้นให้คำแนะนำและสร้างองค์ความรู้ด้านธุรกิจในเชิงลึก ให้สามารถ ปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างเหมาะสม พร้อมสนับสนุนการสร้างพันธมิตรในระบบนิเวศทางธุรกิจ และการลงทุนใหม่ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ธนาคาร มีความพร้อมที่จะดูแลลูกค้าให้ได้ประโยชน์จากโอกาสในการขยายกิจการไปยังต่างประเทศเพื่อการเติบโต อย่างยั่งยืน
ธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อยรายงานกำไรสุทธิสำหรับปี 2566 จำนวน 41,636 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 42.1 จากปีก่อน จากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิร้อยละ 28.0 โดยอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ ที่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับภาวะอัตราดอกเบี้ยสุทธิกับต้นทุนเงินรับฝากที่ทยอยเพิ่มขึ้นจาก การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก รวมถึงการปรับอัตราเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนา ระบบสถาบันการเงินเข้าสู่ระดับเดิมตั้งแต่ต้นปี 2566 ส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ร้อยละ 3.02 สำหรับรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลงเล็กน้อย จากธุรกิจหลักทรัพย์ตามปริมาณการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ที่ลดลง
ขณะที่ค่าธรรมเนียมจากบริการประกันผ่านธนาคารและบริการกองทุนรวม และธุรกิจบัตรเครดิตปรับตัวดีขึ้น สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.5 ตามการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และส่วนหนึ่งจากค่าใช้จ่ายเพื่อการพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน โดยอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานลดลงอยู่ที่ร้อยละ 48.8
ทั้งนี้ จากการที่ธนาคารมีการตั้งสำรองด้วยความระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง ในไตรมาส 4 ปี 2566 ธนาคารจึงตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลงร้อยละ 18.1 จากไตรมาสก่อน ส่งผลให้ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2566 มีจำนวน 33,666 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีก่อน
ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2566 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,671,964 ล้านบาท อยู่ในระดับใกล้เคียง กับสิ้นปีก่อน โดยมีสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่เพิ่มขึ้น ขณะที่สินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายกลางและรายปลีกลดลง สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อรวมยังคงอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ที่ร้อยละ 2.7 ทั้งนี้ จากการที่ธนาคารยึดหลักการตั้งสำรองด้วยความระมัดระวังและรอบคอบอย่างต่อเนื่อง ทำให้อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ในระดับแข็งแกร่ง ที่ร้อยละ 314.7
ธนาคารมีเงินรับฝาก ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2566 จำนวน 3,184,283 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจาก สิ้นปีก่อน และมีอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากอยู่ที่ร้อยละ 83.9 ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยอยู่ที่ร้อยละ 19.6 ร้อยละ 16.1 และร้อยละ 15.4 ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2566 ยังคงขยายตัวในลักษณะไม่ทั่วถึง (K-Shaped Recovery) โดยการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว ในขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจในส่วนอื่นยังเผชิญแรงกดดันจากการปรับขึ้นของต้นทุน ภาระหนี้และค่าครองชีพของครัวเรือน และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอีกทั้งตลาดการเงินโลกในระหว่างปีค่อนข้างผันผวน โดยเริ่มฟื้นตัวกลับในช่วงปลายปีหลังจากที่ตลาดการเงินประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ได้แตะจุดสูงสุดแล้ว สำหรับในปี 2567 แม้เศรษฐกิจไทยน่าจะเติบโตดีขึ้น แต่ยังมีความท้าทายที่หลากหลายจากเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงจากการเติบโตที่ชะลอลง โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง และเศรษฐกิจจีนที่ยังเผชิญกับปัญหาความเปราะบางของภาคการเงินและตลาดอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้ ยังต้องติดตามปัจจัยในประเทศ รวมถึงมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจของภาครัฐด้วยเช่นกัน
สำหรับปี 2566 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 42,405 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.55% เมื่อเทียบกับปีก่อนซึ่งเป็นฐานที่ต่ำ รวมถึงภาวะเศรษฐกิจที่ทยอยปรับตัวดีขึ้นในบางส่วน อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังคงตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปริมาณสูงใกล้เคียงกับปีก่อน เพื่อรองรับความไม่แน่นอนจากปัจจัยทางเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้น โดยธนาคารยังคงยึดหลักความระมัดระวังในการพิจารณาตั้งสำรองฯ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากกำไรจากการลงทุนในตราสารทางการเงินต่าง ๆ ตามสภาวะตลาด ผ่านนโยบายการกระจายความเสี่ยงการลงทุนในสินทรัพย์ทั่วโลก รวมทั้งรายได้ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจท่องเที่ยวจากการเปิดประเทศ ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นตามสภาวะตลาด แม้ว่าการเติบโตของเงินให้สินเชื่อชะลอตัวลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมุ่งเน้นการจัดการคุณภาพสินทรัพย์ เพิ่มความยืดหยุ่นในการดูแลช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มต่าง ๆ ประกอบกับการยกระดับกระบวนการเพิ่มศักยภาพการปล่อยสินเชื่อใหม่ของธนาคารให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ในส่วนของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับรายได้ที่เพิ่มตามปริมาณธุรกิจ โดยอัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) อยู่ที่ 44.10% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 43.15%
รายได้จากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจำนวน 19,396 ล้านบาท หรือ 11.19% โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจำนวน 148,444 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.61% ตามสภาวะตลาด ทั้งนี้ รายได้ดอกเบี้ยสุทธิยังไม่ได้หักต้นทุนการบริหารจัดการหนี้ในเรื่องต่าง ๆ และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และเมื่อเทียบกับฐานของสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ มีอัตราผลตอบแทน (Net interest margin : NIM) อยู่ที่ 3.66% นอกจากนี้ รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจำนวน 3,950 ล้านบาท หรือ 9.81% ส่วนใหญ่เกิดจากการบริหารจัดการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ และรายได้จากธุรกรรมเพื่อค้าและปริวรรตเงินตราต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นตามปริมาณธุรกิจ สอดคล้องกับการฟื้นตัวบางส่วนของภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลงจำนวน 1,702 ล้านบาท หรือ 5.17% หลัก ๆ จากค่านายหน้าจากการซื้อขายหลักทรัพย์ ค่าธรรมเนียมรับจากการโอนเงิน และรายได้สุทธิจากการรับประกันภัยที่ลดลงซึ่งเป็นไปตามสภาวะตลาด
ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss : ECL) ในปี 2566 มีจำนวน 51,840 ล้านบาท ซึ่งยังเป็นการตั้งในปริมาณสูงใกล้เคียงกับปีก่อน จากการพิจารณาตามหลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่องเพื่อเสริมความแข็งแกร่งรองรับความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นจากสภาวะเศรษฐกิจโลก และเพื่อดูแล ช่วยเหลือเสริมศักยภาพการดำเนินธุรกิจให้ลูกค้า เพิ่มความความยืดหยุ่นในการจัดการคุณภาพสินทรัพย์ โดยอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 อยู่ที่ระดับ 152.23%
ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ เพิ่มขึ้นจำนวน 10,215 ล้านบาท หรือ 13.67% หลัก ๆ จากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับรายได้ตามปริมาณธุรกิจ เช่น ค่าใช้จ่ายในการให้บริการลูกค้า ค่าใช้จ่ายทางการตลาด และค่าใช้จ่ายทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้สามารถตอบโจทย์การให้บริการ และรองรับความต้องการของลูกค้า รวมทั้งการดูแลรักษาความปลอดภัยข้อมูลลูกค้า นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงานเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในช่วงต้นปี สำหรับอัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) อยู่ที่ 44.10% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 43.15%
ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 ธนาคารและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 4,283,556 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2565 จำนวน 37,187 ล้านบาท หรือ 0.88% หลัก ๆ เกิดจากการเพิ่มขึ้นของรายการระหว่างธนาคารและตลาดเงินสุทธิ ซึ่งเป็นการบริหารสภาพคล่องตามปกติของธนาคาร รวมถึงสินทรัพย์ทางการเงินต่าง ๆ ตามสภาวะตลาดภายใต้การบริหารจัดการอย่างมีคุณภาพ ในขณะที่เงินให้สินเชื่อสุทธิชะลอตัวลงเล็กน้อย จากการยกระดับกระบวนการเพิ่มศักยภาพการปล่อยสินเชื่อใหม่ของธนาคารให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และการจัดการคุณภาพสินทรัพย์ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว รวมทั้งการช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มเปราะบางภายหลังจากมาตรการช่วยเหลือของธนาคารแห่งประเทศไทยสิ้นสุดลงในปี 2566 ซึ่งมีส่วนช่วยให้ลูกค้ามีสถานะทางการเงินที่ดีขึ้น สามารถประกอบธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง และสามารถขับเคลื่อนการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโดยรวม นอกจากนี้ การรับรู้ดอกเบี้ยค้างรับได้พิจารณาจากจำนวนที่คาดว่าจะได้รับจริง ทั้งนี้ เงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (%NPL gross) อยู่ที่ระดับ 3.19% สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารกสิกรไทยตามหลักเกณฑ์ Basel III ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 ยังคงมีความแข็งแกร่งอยู่ที่ 19.41% โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 17.44%
รายได้จากการดำเนินงานรวม 171,103 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.8% จากปีก่อน ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานมีจำนวน 71,781 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.7% จากปีก่อน โดยมีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้อยู่ที่ 42% ลดลงจากปีก่อนหน้าที่ระดับ 45.2% สะท้อนถึงการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างรัดกุม และการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
บริษัทฯ ได้ตั้งเงินสำรองจำนวน 43,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.9% จากปีก่อน แสดงถึงการบริหารคุณภาพสินเชื่ออย่างรอบคอบ เพื่อรองรับความเสี่ยงจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทยที่ไม่ทั่วถึง และความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ ในขณะที่อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ 160% เท่ากันกับปีที่แล้ว
คุณภาพของสินเชื่อโดยรวมอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ดี โดยอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ สิ้นปี 2566 อยู่ที่ 3.4% ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 3.3% ในปีก่อน เงินกองทุนตามกฎหมายของบริษัทฯ อยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 18.8% และมีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) ที่ระดับ 9.3%
นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ในปี 2566 บริษัท เอสซีบี เอกซ์ มุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ยังคงได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากวิกฤตโควิด ภายใต้การฟื้นตัวเศรษฐกิจในประเทศที่ไม่ทั่วถึง ภาวะหนี้ครัวเรือนที่สูง ตลอดจนความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกที่เพิ่มสูงขึ้น บริษัทฯ เติบโตสินเชื่อผู้บริโภคแบบไม่มีหลักประกันเพิ่มขึ้นในอัตรา 24% จากปีก่อน โดยมียอดสินเชื่อคงค้างในส่วนนี้จำนวนกว่า 165,000 ล้านบาท เป็นการตอบรับแนวนโยบายภาครัฐเรื่องการเข้าถึงบริการทางการเงินสำหรับผู้มีรายได้น้อย (financial inclusion) ของประเทศ นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้เปิดโอกาสให้นักลงทุนรายย่อยเข้าถึงการลงทุนหุ้นกู้ของบริษัทฯ ที่ให้ผลตอบแทนมั่นคง ผ่านช่องทางดิจิทัลอย่างทั่วถึง ภายใต้สภาวะตลาดทุนที่มีความผันผวนสูง
สำหรับกลยุทธ์ในระยะต่อไป บริษัทฯ จะเน้นการเติบโตธุรกิจจากการเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ และบริหารต้นทุนให้เหมาะสม บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าพัฒนาขีดความสามารถด้านเทคโนโลยี เสริมสร้างความมั่นคงทางการเงิน เพื่อเป็นตัวจักรสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจ ขยายการบริการลูกค้าอย่างทั่วถึง และสร้างมูลค่าผู้ถือหุ้นอย่างต่อเนื่อง”
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด