ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติอนุมัติให้ B.Grimm Power Korea Limited (บริษัทย่อยที่ บี.กริม เพาเวอร์ ถือหุ้น 100%) เข้าทำการซื้อหุ้น 49.9% ใน KOPOS Co., Ltd. ภายใต้ Share Sale and Purchase Agreement กับ Renewable Energy Korea Co., Ltd. ในฐานะผู้ขาย ภายใต้มูลค่าการซื้อขายหุ้นรวม 3,500,000 ดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดี การเข้าทำธุรกรรมดังกล่าวยังขึ้นอยู่กับการได้รับอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแลของสาธารณรัฐเกาหลี
โดยการเข้าร่วมลงทุนใน KOPOS Co., Ltd. ในครั้งนี้ ทำให้ BGRIM มีส่วนร่วมเป็นผู้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมและโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิตรวม 95.78 เมกะวัตต์ ในสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งถือเป็นอีกความสำเร็จต่อการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาธุรกิจด้านพลังงานทดแทนของบริษัทให้เติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้
ในปัจจุบัน สาธารณรัฐเกาหลีถือเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยมีการวางแผนพลังงานทดแทนไว้อย่างชัดเจน มีประสิทธิภาพ เพื่อการพัฒนาประเทศเข้าสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero) และการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Growth) ตามแผน carbon neutrality ให้บรรลุผลสำเร็จภายในปี 2050
ทั้งนี้ การดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ พลังงานลม รวมถึงระบบการกักเก็บพลังงาน ESS เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของ BGRIM ที่มุ่งขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน ภายใต้รูปแบบสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับภาครัฐทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ เพื่อให้บริการไฟฟ้าและระบบสาธารณูปโภคที่มีประสิทธิภาพและเสถียรภาพสูงอันเป็นรากฐานสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ BGRIM เป็นผู้ผลิตพลังงานชั้นนำระดับโลก จากปัจจุบัน บริษัทมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงประมาณ 74% และจากพลังงานทดแทนประมาณ 26%
ปัจจุบัน BGRIM มีโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วรวม 50 โครงการ และตั้งเป้ากำลังการผลิตเติบโตจากจำนวน 3,058 เมกะวัตต์ ณ สิ้นปี 2563 ให้เพิ่มขึ้นได้ไม่ต่ำกว่า 7,200 เมกะวัตต์ภายในปี 2568 โดยมุ่งสู่เป้าหมาย 10,000 เมกะวัตต์ ให้สำเร็จภายในปี 2573 และมีรายได้ต่อปีกว่า 100,000 ล้านบาท
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด