โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เผยแผนปฏิบัติการในทุกมิติพร้อมรับมือสู้สถานการณ์ COVID-19 | Techsauce

โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เผยแผนปฏิบัติการในทุกมิติพร้อมรับมือสู้สถานการณ์ COVID-19

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในขณะนี้ ประเทศไทยตรวจพบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไวรัส COVID-19 จำนวนมากกว่า 2,000 ราย พบกระจายมากกว่า 60 จังหวัดทั่วประเทศ และยังมีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ฉุกเฉิน เพื่อยกระดับการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 รวมถึงทุกภาคส่วนต่างให้ความร่วมมือเพื่อช่วยประเทศชาติให้ผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ 

ขณะเดียวกันในภาคโรงพยาบาลเอกชนไม่ได้นิ่งนอนใจ ต่างเร่งหาแนวทางบริการผู้ป่วยและยกระดับมาตรการเข้มงวดขึ้นเพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต เช่นเดียวกับโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ที่ได้สร้างมาตรฐานการดูแลรักษาและให้บริการในระดับสากล ซึ่งขณะนี้ บำรุงราษฎร์ได้เตรียมแผนปฏิบัติการและรับมือในทุกมิติ หากมีการแพร่กระจายเชื้อ COVID-19 ในวงกว้างมากขึ้น 

ผศ.นพ.ก่อพงศ์ รุกขพันธ์ Executive Consultant & Senior Associate Chief Medical Officer (Medical Quality & Informatics) ในฐานะผู้ขับเคลื่อนศูนย์บัญชาการ COVID-19 โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เปิดเผยว่า ในขณะนี้ บำรุงราษฎร์มีความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 หากมีการแพร่กระจายในวงกว้าง โดยโรงพยาบาลได้พิจารณาศักยภาพของโรงพยาบาลใน 4 ส่วนหลักๆ ที่มีความสำคัญอย่างมาก คือ 1) ศักยภาพในการรองรับผู้ป่วย 2) ความสามารถในการตรวจคัดกรองและคัดแยกผู้ป่วย  3) ทรัพยากรที่จะนำมาสนับสนุนเพียงพอในระยะเวลาอีกนานเพียงใด และ 4) สมรรถนะของบุคลากรของโรงพยาบาล ซึ่งบำรุงราษฎร์มีศักยภาพและมีมาตรการอย่างเข้มข้นครอบคลุม 4 ประเด็นหลักนี้ โดยขออธิบายเป็นส่วนๆ ดังนี้

1.    ศักยภาพในการรักษาผู้ป่วย COVID-19 และโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เนื่องด้วยบำรุงราษฎร์เป็นโรงพยาบาลที่มุ่งสู่การรักษาในขั้นจตุตถภูมิ (Quaternary Care) ที่ให้การบริบาลทางการแพทย์ที่มีความซับซ้อนอย่างมากด้วยนวัตกรรมขั้นสูง และด้วยมาตรฐานคุณภาพระดับสากล โดยมีทีมดูแลผู้ป่วยวิกฤต (Critical Care Team) ที่เข้มแข็งและเป็นเสาหลักของโรงพยาบาล และมีทีมแพทย์ทางเดินหายใจ มีทีมแพทย์เคลื่อนย้ายผู้ป่วย และมีทีมแพทย์ครอบคลุมทุกสาขา พร้อมดูแลผู้ป่วยทั้งผู้ใหญ่และเด็ก นอกจากนี้ ยังมีทีมห้องปฏิบัติการที่มีศักยภาพที่ได้การรับรองมาตรฐานห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ระดับสากล จากวิทยาลัยพยาธิแพทย์อเมริกัน College of American Pathologists (CAP) ซึ่งถือเป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกของประเทศไทยที่ได้การรับรอง CAP อย่างเต็มรูปแบบที่เปิดบริการสำหรับผู้ป่วย สะท้อนให้เห็นถึงการเตรียมพร้อมมาโดยตลอด และสามารถพัฒนาต่อยอดถอดรหัสพันธุกรรมเป็นห้องปฏิบัติการตรวจเชื้อ COVID-19 ได้ทันที ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกที่ได้การรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในการตรวจหาเชื้อ COVID-19

2.    ความสามารถในการตรวจคัดกรองและคัดแยกผู้ป่วย โรงพยาบาลเสริมสมรรถนะสูงสุดในการตรวจหาเชื้อระยะที่ 3 หมายความว่า ในระยะที่ 3 นี้ จะไม่สามารถทราบต้นทางหรือไม่สามารถตามรอยได้ว่าผู้ป่วยรายนี้ไปติดมาจากที่ไหน หรือไปสัมผัสใครมา เป็นการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบต้นตอของการแพร่กระจาย ฉะนั้นทุกโรงพยาบาลจะต้องเพิ่มมาตรการในการคัดกรองผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันผู้ที่ยังไม่ป่วยไปสัมผัส โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นกำลังคัดกรองสำคัญและถือเป็นด่านหน้าที่ต้องต่อสู้เพื่อรักษาผู้ป่วยให้ปลอดภัย นั่นหมายถึงการตรวจคัดกรองและคัดแยกผู้ป่วยมีความสำคัญมาก ทั้งนี้ บำรุงราษฎร์ได้เตรียมการในระยะ 3 มาตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 แล้ว โดยมีแผนดำเนินการในการทยอยออกมาตรการเป็นระยะ ๆ ผ่านศูนย์บัญชาการ (Hospital Incident  Command System) เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในช่วงเวลานั้น ๆ ขณะนี้บำรุงราษฎร์ได้เปิด “Special Clinic” แยกพื้นที่ออกมาจากอาคารบริการปกติ ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมกราคม 2563 เพื่อตรวจหาผู้ป่วยที่ไม่ทราบว่าติดต่อมาจากที่ใด โดยคลินิกพิเศษนี้จะเป็นจุดคัดแยก ซึ่งไม่ปะปนกับคลินิกการรักษาอื่น ๆ และค้นหาโรคได้อย่างทันท่วงที รวมถึงจัดตั้งคลินิกโรคหวัด ที่จะดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีอาการหวัดหรือมีไข้หวัดโดยเฉพาะ เพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาได้อย่างทันท่วงทีก่อนที่จะแพร่กระจายในวงกว้าง รวมถึงมีมาตรการทำความสะอาด และกำจัดขยะที่เข้มแข็งและมีการฆ่าเชื้อด้วยน้ำยาคุณภาพสูงตามมาตรฐานสูงสุดในระดับสากลของ Workplace Hygiene ทั้งนี้มีเป้าหมายที่สำคัญคือความปลอดภัยของทุกท่านในโรงพยาบาลทั้งผู้ป่วย ญาติมิตร แพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล

3.    ทรัพยากรและอุปกรณ์ โรงพยาบาลได้วางแผนการรับมือกับสถานการณ์ COVID-19 มาตั้งแต่ได้รับสัญญาณเตือนครั้งแรก จากประสบการณ์ที่สั่งสมกว่า 40 ปี และได้ผ่านสถานการณ์โรคระบาดในอดีต ทั้งไข้หวัดนก SARS รวมถึง MERS ทำให้เราเตรียมการและวางแผนอย่างรัดกุม และได้มีการสำรองทรัพยากรทั้งหลาย อาทิ ชุดน้ำยาตรวจ ยาและเวชภัณฑ์ต่าง ๆ อุปกรณ์ทางการแพทย์และวัสดุสิ้นเปลืองต่าง ๆ  เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว เพื่อเตรียมรองรับการแพร่ระบาดกระจายในวงกว้าง โดยศึกษาจากประสบการณ์ของเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน, อิตาลี, อิหร่าน และประเทศอื่น ๆ เป็นบทเรียน และนำมาพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพในการรองรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 

4.    สมรรถนะของบุคลากรโรงพยาบาล โรงพยาบาลมีการจัดทำเหตุการณ์จำลองผ่าน Simulation Learning Center ให้บุคลากรทุกส่วนที่เกี่ยวข้องได้มาฝึกฝน ซ้อมเสมือนจริง เสริมความมั่นใจในการปฏิบัติงานได้สูงสุด รวมถึงมีการจัดตั้งทีมวิชาการ ที่เราเรียกว่า "ทีมขงเบ้ง" ซึ่งเป็นที่ปรึกษา ที่คอยช่วยหาข้อมูลข่าวสารจากทุกช่องทางทั่วโลกเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจทุกก้าวของบำรุงราษฎร์ในการดูแลผู้ป่วยอย่างรอบคอบและสมดุลในทุกมิติ ดังนั้น ทุกมาตรการที่โรงพยาบาลนำมาใช้นั้น มีงานวิจัยรองรับและเป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล

ผศ.นพ.ก่อพงศ์ รุกขพันธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า บำรุงราษฎร์ได้มีการวางแผนไว้อย่างรอบด้านและมีการจัดเตรียมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ เป็น 3 แถว ซึ่งหากนักรบเสื้อกาวน์แถวหน้าของเราบอบช้ำ เราก็มีแถว 2 และแถว 3 พร้อมสลับกันออกมาปฏิบัติภารกิจแทน และเพื่อให้แพทย์ที่สูงอายุได้ลดความเสี่ยงจากการรับเชื้อ โรงพยาบาลจึงมีมติให้ท่านได้พักภารกิจในการดูแลผู้ป่วยในช่วงเวลานี้เป็นการชั่วคราว จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย เนื่องจากประสบการณ์ในประเทศอิตาลีพบว่าแพทย์สูงอายุเสียชีวิตจำนวนมาก และโรงพยาบาลไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้น 

นอกจากนี้ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ยังได้จัดเตรียมแยกพื้นที่เฉพาะ เรียกว่า “Detached Areas” ซึ่งเป็นพื้นที่แยกออกจากพื้นที่บริการทั่วไป ตามมาตรการควบคุมเชื้ออย่างเคร่งครัดเพื่อลดความเสี่ยงในการปนเปื้อนหรือการสัมผัสในวงกว้าง กำหนดพื้นที่ชัดเจนสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการน้อย อาการปานกลาง และอาการหนัก เพื่อให้การดูแลที่ปลอดภัยสูงสุดอย่างเหมาะสม รวมถึงได้ร่วมกับองค์กรแพทย์ของโรงพยาบาล ในการจัดเตรียมนักรบซึ่งเป็นแพทย์ของเราเพื่อความพร้อมการเผชิญกับ COVID-19 ที่จะเข้ามา โดยมีการระดมแพทย์ในสาขาต่าง ๆ รวมถึงแพทย์ในคลินิกโรคหวัด ซึ่งจะเป็นอีกทางหนึ่งที่จะเตรียมรับมือกับผู้ป่วยในระยะที่ 3 ที่ไม่พบต้นตอในการรับเชื้อ สัมผัสเชื้อ แต่มีอาการไข้ ไอ มีอาการเหมือนหวัด ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะถูกแยกออกจากการให้บริการแบบปกติ เพื่อมาตรวจหาผู้ป่วยที่เป็น COVID-19 ต่อไป

ขณะที่บำรุงราษฎร์ยังให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก นับตั้งแต่การนำร่องโดยการติดตั้งเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ Thermal Imaging Cameras มาช่วยคัดกรองผู้ที่มีอุณหภูมิสูงออกจากผู้ป่วยปกติเป็นแห่งแรกๆ ตั้งแต่เดือนมกราคม ในทุกทางเข้าอาคาร (point of entry) รวมถึงได้พัฒนาเทคโนโลยีการถอดรหัสทางพันธุกรรม แบบ Realtime PCR รวมถึงเตรียมความพร้อมอุปกรณ์ Rapid test ในการตรวจหาภูมิของการติดเชื้อ COVID-19 ซึ่งใช้เวลาเพียง 10 นาทีก็จะทราบผล โดยใช้เลือดเพียง 2-3 หยด ทันทีเมื่อผ่านการอนุมัติจากทางราชการ บำรุงราษฎร์ก็พร้อมให้บริการ ทำให้มีห้องปฏิบัติการที่สามารถตรวจวินิจฉัยหาเชื้อ COVID-19 เองได้ และจากบทเรียนของอู่ฮั่น ที่พบสถิติผู้ป่วยวิกฤตอยู่ที่ร้อยละ 6.1 นั่นหมายความว่า การเคลื่อนย้าย ผู้ป่วยมีความสำคัญมากเช่นกัน โรงพยาบาลจึงได้นำนวัตกรรมเทคโนโลยีแคปซูลความดันลบที่ใช้เคลื่อนย้ายผู้ป่วย และยังมีอุปกรณ์ช่วยเสริมต่าง ๆ รวมถึงชุดมนุษย์อวกาศ ที่แพทย์สวมใส่เรียกว่า Powered Air Purifying Respirator (PAPR) ตรงบริเวณหมวกจะมีเครื่องช่วยหายใจ ที่จะคอยปั๊มอากาศเข้ามาเหมือนไปเดินบนโลกพระจันทร์ รวมถึงการใช้หุ่นยนต์ Pulsed Xenon UV Robot ทำความสะอาดด้วยแสงยูวี เพื่อฆ่าเชื้อโรคบริเวณที่แสงสัมผัสอย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่ทิ้งสารปรอทตกค้าง นับเป็นเทคโนโลยีที่ได้นำมาใช้เพื่อเสริมมาตรฐานความปลอดภัยในโรงพยาบาล 

ผศ.นพ.ก่อพงศ์ รุกขพันธ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “นับจากนี้ บำรุงราษฎร์ยังคงมุ่งมั่นพัฒนายกระดับมาตรฐานทางการแพทย์ต่อไป และขอให้ผู้มาใช้บริการมั่นใจในมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุดของโรงพยาบาล ซึ่งถือเป็น DNA วัฒนธรรมขององค์กรในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และไม่ได้หยุดแค่โรค COVID-19 เนื่องด้วยจาก World Economic Forum ได้กล่าวไว้ว่าจะเป็น Global Risk ตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยจะมีโรคอุบัติใหม่และโรคระบาดเข้ามาท้าทายวงการแพทย์ และบำรุงราษฎร์ได้ทำแผนเตรียมตั้งรับมาโดยตลอด ที่ผ่านมาโรงพยาบาลได้ผ่านประสบการณ์มาหลายช่วงเหตุการณ์ในการ outbreak โรคอันตรายถึงชีวิต โรงพยาบาลจึงให้ความสำคัญในการรับรองมาตรฐานการบริหารความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ DNV-MIR Managing Infection Risk  นับเป็นแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียและนอกทวีปอเมริกาเหนือ เพื่อให้ผู้รับบริการมีความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยด้านการควบคุมโรคติดเชื้อ ในการรักษาพยาบาลตลอดทั้งกระบวนการอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ขั้นตอนการคัดกรอง การวินิจฉัย การดูแลรักษา ไปจนถึงการติดตามผลตามมาตรฐานระดับสากล และเพื่อเตรียมพร้อมต่อการรับมือกับโรคอุบัติใหม่ที่เกิดมากขึ้นในช่วงระยะ 10 - 20 ปีนี้

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

กรุงศรีตั้ง ปาลิดา อธิศพงศ์ นั่งรักษาการกรรมการผู้จัดการของ Krungsri Finnovate เดินหน้าสตาร์ทอัปไทย

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ประกาศแต่งตั้ง นางสาวปาลิดา อธิศพงศ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งรักษาการกรรมการผู้จัดการ Krungsri Finnovate...

Responsive image

ทีทีบี จับมือ databricks ผสานพลัง Data และ AI สร้างอนาคตการเงินที่ดีขึ้นให้คนไทย

ทีทีบี ตอกย้ำความมุ่งมั่นผลักดันดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับวงการธนาคารไทย จับมือพันธมิตร databricks พร้อมเดินหน้าสร้าง Data-driven Culture ปักธงก้าวสู่ธนาคารที...

Responsive image

LINE SCALE UP เปิดรับสตาร์ทอัพทั่วโลก ต่อยอดธุรกิจกับ LINE ก้าวสู่ระดับสากล

LINE SCALE UP เปิดตัวอย่างเป็นทางการในงาน LINE Thailand Developer Conference 2024 ที่ผ่านมา เฟ้นหาสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ และพร้อมต่อยอดธุรกิจร่วมกับ LINE สู่เป้าหมายยกระดับธุรกิจสตา...