“ซีพีเอฟ” (CPF) ผู้ดำเนินธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารแบบครบวงจร เตรียมออกและเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนชุดใหม่ เพื่อทดแทนหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนชุดเดิม ให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ เดิมและประชาชนทั่วไปช่วงต้นปี 2565 โดยมีอันดับความน่าเชื่อถือองค์กรที่ A+ และอันดับความน่าเชื่อหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนที่ A- จากทริสเรทติ้ง เสนอขายผ่านสถาบันการเงินชั้นนำ 6 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย และบริษัทหลักทรัพย์เกียรตินาคินภัทร
นายไพศาล จิระกิจเจริญ ประธานผู้บริหารฝ่ายการเงิน บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ “ซีพีเอฟ” (CPF) ผู้ดำเนินธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารแบบครบวงจร ภายใต้วิสัยทัศน์ “ครัวของโลก” เปิดเผยว่า “ซีพีเอฟ” มีแผนที่จะใช้สิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน ไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัทฯ (“หุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ”) ที่เสนอขายเมื่อปี 2560 และจะทำการเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ชุดใหม่ ทั้งนี้เพื่อเป็นการตอบแทนผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ชุดเดิม บริษัทฯ จะให้สิทธิพิเศษให้สามารถจองซื้อหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ชุดใหม่ได้ก่อนในช่วงต้นปี 2565 สำหรับอัตราผลตอบแทนและรายละเอียดการจองซื้อจะเปิดเผยให้ทราบในภายหลัง
สถาบันการเงินผู้จัดจำหน่ายให้ความเห็นว่า “หุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ของบริษัทฯ เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนสูง และสามารถรับความเสี่ยงได้มากกว่าหุ้นกู้ทั่วไป รวมถึงเป็นผู้ลงทุนที่ต้องการกระจายการลงทุนให้มีความหลากหลายด้วยการจัดสรรเงินลงทุนบางส่วนมาลงทุนในหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ของบริษัทฯ ซึ่งความน่าสนใจของหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ นั้น นอกจากจะได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนที่ A- และอันดับความน่าเชื่อถือองค์กรที่ A+ จากบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ซึ่งสะท้อนความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอาหารในระดับสากลแล้ว บริษัทฯ ยังมีเป้าหมายในการเดินหน้าสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนภายใต้วิสัยทัศน์ “ครัวของโลก” อย่างแข็งแกร่งอีกด้วย”
ทั้งนี้ “ซีพีเอฟ” ดำเนินธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจรใน 17 ประเทศทั่วโลก โดยจำแนกประเภทธุรกิจหลักได้เป็น 3 ประเภท คือ 1.ธุรกิจอาหารสัตว์ (Feed) 2.ธุรกิจผลผลิตจากการเลี้ยงสัตว์และแปรรูปเนื้อสัตว์ (Farm and Processing) และ 3.ธุรกิจอาหาร (Food) ด้วยวิสัยทัศน์ที่มุ่งสู่การเป็น “ครัวของโลก” ซีพีเอฟจึงได้ขยายธุรกิจไปยังประเทศต่างๆ เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ที่ทันสมัย สนับสนุนการผลิตและการแปรรูปเนื้อสัตว์อย่างมีคุณภาพ ขยายการผลิตอาหารพร้อมรับประทานเพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจ รวมไปถึงการคิดค้นนวัตกรรมด้านเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารอย่างต่อเนื่อง และยังให้ความสำคัญในการใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับแนวหน้าของอุตสาหกรรม และสร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้นอย่างเหมาะสมด้วยความใส่ใจในผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน
ขณะเดียวกันซีพีเอฟยังมุ่งมั่นที่จะสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งที่ผ่านมาซีพีเอฟได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืน หรือ Dow Jonses Sustainability Indices (DJSI) เป็นปีที่ 7 ติดต่อกัน เป็นการตอกย้ำการดำเนินงานของบริษัทฯ ด้วยความรับผิดชอบ จากการบริหารจัดการกระบวนการผลิตอาหารปลอดภัยตลอดห่วงโซ่การผลิตและใส่ใจสิ่งแวดล้อม เพื่อร่วมสร้างความมั่นคงทางอาหาร และเป็นเครื่องยืนยันว่ามาตรฐานการพัฒนาด้านความยั่งยืนของบริษัทฯ เทียบเท่ามาตรฐานระดับโลกและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และล่าสุดซีพีเอฟยังได้รับรางวัลความยั่งยืนระดับ Silver Class และได้ประกาศเผยแพร่ใน The Sustainability Yearbook 2021 จัดโดย S&P Global ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนระดับโลกในฐานะ “ครัวของโลก” ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในเส้นทางการเติบโตอย่างยั่งยืนของบริษัทฯ ที่แสดงถึงผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนที่โดดเด่นของบริษัทฯ อีกด้วย
ทั้งนี้ ผู้ลงทุนซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ชุดเดิม และผู้ลงทุนทั่วไปที่สนใจจองซื้อหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ชุดใหม่ ของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ในครั้งนี้ สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากร่างหนังสือชี้ชวน หรือติดต่อผ่านสถาบันการเงิน ดังนี้
* ซึ่งรวมถึงธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ในฐานะหน่วยงานขายของบริษัทหลักทรัพย์เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน)
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด