นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.), นางฐิตาภา สมิตินนท์ รองผู้อํานวยการสํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), ศาสตราจารย์ ดร. พฤทธา ณ นคร ผู้อํานวยการสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (SIIT) และนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การพัฒนาทักษะวิชาชีพเพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือการพัฒนากําลังคนด้าน ICT/Digital ของประเทศ
โดยการบูรณาการความร่วมมือทางวิชาการของ 4 องค์กรชั้นนำครั้งนี้ เพื่อพัฒนากำลังคนด้าน ICT/Digital ของประเทศให้รองรับกรอบความตกลงที่เกี่ยวข้องภายใต้ประชาคมอาเซียน โดยร่วมดำเนินการแลกเปลี่ยนข้อมูลและทักษะความรู้ที่เกี่ยวข้องและการจ้างงานในอุตสาหกรรม ICT/Digital ออกแบบและปรับปรุงรูปแบบวิชาหรือโครงการศึกษา โดยร่วมจัดทำแหล่งการเรียนรู้ด้าน ICT/Digital และจัดกิจกรรมส่งเสริมทักษะด้านปัญญาประดิษฐ์ อีกทั้งจัดทำกรอบแนวทางการประเมินระดับทักษะความสามารถของนักปัญญาประดิษฐ์อันเป็นที่ยอมรับโดยทุกภาคส่วน และเป็นประโยชน์ต่อแรงงานในการเข้าสู่ระบบแรงงาน ทั้งในระดับประเทศและระดับอาเซียน อันจะนำไปสู่การส่งเสริมโอกาสทางวิชาชีพและคุณภาพชีวิตของผู้ประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์ไทยในอนาคต
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ความร่วมมือในการลงนาม MOU ครั้งนี้ถือว่าเป็นอีกโครงการตามพันธกิจหลักด้าน “การพัฒนากำลังคน” ของสภาดิจิทัลฯ ในฐานะองค์กรสำคัญที่ทำงานร่วมกับภาคเอกชน รัฐบาล และภาคประชาชน โดยต้องการส่งเสริมการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของคนไทยในทุกระดับให้มีมาตรฐานสากล ซึ่งจะช่วยเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและรองรับการพัฒนาด้าน “เศรษฐกิจดิจิทัล” หรือ Digital Economy ให้กับประเทศไทย ซึ่งอยู่ภายใต้นโยบายพันธกิจของสภาดิจิทัลฯ ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง
ประธานสภาดิจิทัลกล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างสภาดิจิทัลฯกับทั้ง 3 องค์กรรัฐครั้งนี้ สภาดิจิทัลฯ ให้ความสำคัญต่อทักษะของบุคลากรทางเทคโนโลยี ถือเป็นประเด็นการพัฒนาที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเพื่อให้เกิดการรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลในอนาคตได้อย่างราบรื่น เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะออกแบบแนวทางในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรและเตรียมความพร้อมด้านทักษะ จึงจำเป็นต้องมีการกำหนดกรอบรายละเอียดทักษะวิชาชีพ เช่น ด้านปัญญาประดิษฐ์ในระดับต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบงานด้านดิจิทัลในอนาคต อีกทั้งยังเป็นโอกาสที่ดีอีกครั้งของสภาดิจิทัลฯ ในการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในด้านการพัฒนาทักษะวิชาชีพต่างๆ อันจะนำไปสู่ยกระดับขีดความสามารถสู่การแข่งขันด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศในอนาคตต่อไป
“การเชื่อมโยงกลไกตลาด เชื่อมโยงความร่วมมือภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จะสร้าง Digital Workplace เพื่อ Upskill Reskill ผ่านการสร้างแรงจูงใจให้พัฒนาทักษะดิจิทัล เมื่อเรียนจบมา มีทักษะตามที่กำหนด ก็จะมีผลตอบแทนที่สูงขึ้น จะทำให้แรงจูงใจเกิดการปรับเปลี่ยนกระบวนการศึกษา ทั้งในระหว่างเรียน และหลังจากจบมาทำงาน ทั้งนี้ หากปราศจาก Incentive หรือกลไกตลาด ก็จะเปลี่ยนแปลงได้ไม่เร็วนัก” นายศุภชัยกล่าว
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด