จากปิดเมืองสู่ฟื้นฟู: วิกฤตการว่างงาน บาดแผลทางเศรษฐกิจ สู่การสร้างงานและศักยภาพแรงงานในระยะยาว | Techsauce

จากปิดเมืองสู่ฟื้นฟู: วิกฤตการว่างงาน บาดแผลทางเศรษฐกิจ สู่การสร้างงานและศักยภาพแรงงานในระยะยาว

การตกงานจากการปิดเมือง

นักเศรษฐศาสตร์ Paul Krugman เปรียบโควิด-19 เป็น “induced coma” เพราะมาตรการที่ต้องใช้ในการกำจัดการแพร่ระบาดล้วนแล้วแต่จำต้องหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เมื่อใดเศรษฐกิจถูกบังคับให้หยุดนิ่ง เมื่อนั้นปัญหาว่างงานก็จะตามมา

หลังจากที่รัฐบาลไทยประกาศภาวะฉุกเฉินเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2562 ซึ่งส่งผลให้มีการ ‘ล๊อกดาวน์’ ได้แก่ การปิดพื้นที่สาธารณะทั่วประเทศ ปิดน่านฟ้าไทย ระงับการเดินทางข้ามจังหวัด และเคอร์ฟิว การล็อกดาวน์ส่งผลให้มีคนตกงาน ว่างงาน ไม่มีงานทำอย่างฉับพลัน สูงถึงร้อยละ 16.8 ของกำลังแรงงาน (ไม่นับข้าราชการและพนักงานรัฐวิสากิจ) จากผลการสำรวจที่ทางทีดีอาร์ไอทำร่วมกับสำนักงานสถิติเมื่อเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมที่ผ่านมา 14,287 ราย ทั่วประเทศไทย หากแปลงเป็นกำลังแรงงานที่มีอยู่ประมาณ 33.9 ล้านคน (ไม่นับข้าราชการและพนักงานรัฐวิสากิจ) ก็จะถือว่ามาตราการล็อกดาวน์ส่งผลให้มีคนที่มีงานทำก่อนโควิดตกงานประมาณ 5.69 ล้านราย จากการทำวิเคราะห์เพิ่มเติมเพื่อเสาะหาว่ากลุ่มคนที่มีงานทำก่อนโควิดลักษณะใดมีความเสี่ยงในการตกงานในช่วงปิดเมืองมากที่สุด พบว่าเยาวชนอายุ 15-24 ปี หรือกลุ่มเจน Z และ ผู้ทำอาชีพรับจ้างทั่วไปไม่ประจำ (ลูกจ้างรายวัน/ผู้รับเหมาช่วง) เป็นผู้มีความเสี่ยงในการตกงานมากที่สุดจากการปิดเมือง  

ทั้งนี้ เนื่องจากประเทศไทยสามารถควบคุมการระบาดภายในประเทศได้อย่างดีเยี่ยม ส่งผลให้เศรษฐกิจเริ่มกลับมาหมุนเวียนฟื้นตัวได้อีกครั้งจากการคลายล็อกดาวน์เป็นระยะ ๆ (phase) จากการสำรวจครั้งที่สองในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม เป็นช่วงคาบต่อระหว่างคลายล็อกระยะ 4-5 ซึ่งอนุญาตให้เกือบทุกประเภทธุรกิจรวมถึงสนามกีฬาและสถานบันเทิงสามารถกลับมาเปิดกิจการได้  พบว่าสัดส่วนคนว่างงานน้อยลงเหลือร้อยละ 10.1 หรือประมาณ 3.4 ล้านราย 

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขสัดส่วนว่างงานที่นำเสนอมาข้างต้นอาจมีความคลาดเคลื่อนไปบ้างเพราะมาจากการวิเคราะห์ผลสำรวจแบบออนไลน์ที่อาจไม่ครอบคลุมแรงงานที่เข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต แต่ก็น่าจะพอสรุปได้ว่า “สัดส่วนคนว่างงานน้อยลงตามลำดับการเปิดเมือง” นอกจากนั้นผลกระทบต่อผู้ประกอบการก็น้อยลงจาการที่มีคนตอบว่า ‘เลิกขาย/ปิดกิจการ’ น้อยลง แต่ในขณะเดียวกันกลับพบคำตอบว่า ‘ยอดขายลดลง’ มากขึ้นเมื่อเทียบระหว่างสองช่วงเวลาสำรวจ ยอดขายที่น้อยลงสะท้อนปัญหาด้านอุปสงค์ที่ยังไม่ฟื้นตัวดีนัก เมื่อผนวกกับความไม่แน่นอนสูงของภาวะเศรษฐกิจในอนาคต มีผลทำให้การจ้างงานมีแนวโน้มเป็นแบบไม่เต็มเวลามากยิ่งขึ้น (สลับหรือลดวันทำงาน) และหมายความว่าต่อให้การว่างงานลดน้อยลง รายได้ของผู้ที่กลับมามีงานทำอาจจะไม่ได้เท่าเดิมก่อนช่วงโควิดระบาด 

บาดแผลทางเศรษฐกิจ

มีการกล่าวถึงผลกระทบระยะยาวของการระบาดโควิด-19 หลายประการ ข้อที่น่ากังวลมากคืออาจเกิดสิ่งที่เรียกกันว่าแผลเป็นทางเศรษฐกิจ (economic scar) ซึ่งหมายถึงผลกระทบเชิงลบที่จะไม่จางหายไปแม้ว่าการระบาดโควิด-19 และมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมจะหายไปแล้วก็ตาม ในเรื่องการจ้างงานอาจเกิดแผลเป็นทางเศรษฐกิจในหลายรูปแบบ เช่น สำหรับคนเจน Z (15-24 ปี) ซึ่งส่วนหนึ่งกำลังอยู่ในช่วงวัยเรียนและอีกส่วนหนึ่งเริ่มทยอยเรียนจบและออกมาเป็นกำลังแรงงานเต็มตัว จะมีปัญหาในการหางานทำ เพราะเอกชนมีการชะลอการจ้างงาน และยิ่งช่วงเวลาที่ไม่สามารถหางานทำได้นานเท่าไหร่ บัณฑิตจบใหม่จะยิ่งขาดโอกาสพัฒนาและสะสมทักษะ พลาดโอกาสที่จะเติบโตในหน้าที่การงานและได้รับรายได้มากขึ้นตามประสบการณ์ทำงาน กลายเป็นแผลเป็นระยะยาวแก่บัณฑิตรุ่นโควิดเหล่านี้

สำหรับคนวัยทำงานเต็มตัวอย่างเจน Y (25-39 ปี) และ เจน X (40-55 ปี) รายได้ที่ลดลงสวนทางกับหนี้สินครัวเรือนที่พอกพูนมากขึ้นจะเป็นอุปสรรคต่อการเก็บออมสร้างเนื้อสร้างตัวของคนในวัยทำงาน ส่งผลให้การขยับสถานะทางสังคม (social mobility) เป็นไปได้ยากขึ้น รวมทั้งขยายความเหลื่อมล้ำทางรายได้และทรัพย์สินระหว่างชนชั้นให้กว้างยิ่งขึ้นไปอีก 

อีกกลุ่มแรงงานที่ได้รับผลกระทบมากและกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ยาก คือ แรงงานในกลุ่มธุรกิจที่มีกำลังการผลิตส่วนเกินเนื่องจากได้รับผลกระทบรุนแรง และแรงงานในกลุ่มธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีทดแทนแรงงาน (automation) ในกระบวนการผลิตหรือการให้บริการ  เช่น แรงงานในภาคท่องเที่ยว แรงงานในอุตสาหกรรมบางประเภท ฯลฯ โดยเฉพาะหากเป็นแรงงานสูงอายุและมีการศึกษาและทักษะน้อย ก็อาจถูกเลิกจ้างถาวรแม้ปัญหาโควิดจะหายไปแล้วก็ตาม กลายเป็นแผลเป็นในตลาดแรงงานที่มีขนาดใหญ่และยากต่อการหามาตรการช่วยเหลือได้

ผลกระทบของโควิดยังสามารถส่งผ่านไปถึงคนรุ่นลูกหลานต่อไปได้ เนื่องจากคู่สมรสในครัวเรือนรายได้น้อยมักจะประกอบอาชีพในลักษณะคล้ายกัน ซึ่งหมายความว่าทั้งคู่มีโอกาสที่รายได้จะสูญหายในช่วงปิดเมืองและซ้ำร้ายเสี่ยงถูกเลิกจ้างพร้อมกันเพราะพิษเศรษฐกิจ ทำให้ครอบครัวขาดเสาหลักในการหารายได้ ส่งผลโดยตรงกับความเป็นอยู่ของคนในครอบครัวทั้งในด้านสุขภาพและโภชนาการ ที่สำคัญการลงทุนด้านการศึกษาของบุตรหลานอาจลดลง ขาดการเรียนหรือการบำรุงโภชนาการที่เหมาะสม ขยายความเหลื่อมล้ำในด้านทุนมนุษย์ (Human capital) ลดศักยภาพในการขยับสถานะระหว่างรุ่น (Intergenerational mobility) และบางครอบครัวที่มีรายได้ค่อนข้างน้อยอาจติดกับดักวัฏจักรความยากจน (Poverty cycle) ในท้ายที่สุด  

การสร้างงานและส่งเสริมศักยภาพแรงงานในระยะยาว

เราอาจกำหนดเป้าหมายของนโยบายแรงงานออกเป็น 3 เป้าหมาย  ได้แก่ (1) เยียวยาแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดและมาตรการควบคุม (2) ฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจ และ (3) ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยนไปหลังโควิด 

มาตรการในปัจจุบันของไทยมุ่งเน้นที่เป้าหมายแรกและเป้าหมายที่สอง เห็นได้จากที่ภาครัฐได้ดำเนินมาตรการเยียวยาแรงงานทั้งในและนอกระบบประกันสังคมที่ได้รับผลกระทบในช่วงแรกของการระบาดไประดับหนึ่งแล้ว มาตรการอุดหนุนผู้ประกอบการเพื่อรักษาการจ้างงาน  ผ่านการอนุมัติสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำที่รัฐบาลได้ดำเนินการไปแล้วและลดหย่อนภาษีสำหรับการไม่เลิกจ้างของ SMEs อย่างไรก็ตามมาตรการสร้างงานที่มีความมั่นคงจะเป็นกุญแจสำคัญในการเร่งฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญ มาตรการหลังจากนี้จะต้องมุ่งผลสัมฤทธิ์ในกลุ่มเป้าหมายที่เหมาะสมและชัดเจน 

มีความพยายามจากหลายกระทรวงที่ได้เสนอโครงการที่อาจมีผลต่อการสร้างงานที่ตอบรับการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานหลังโควิด ผ่านงบฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 วงเงิน 4 แสนล้านบาท เช่น สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ร่วมมือกับภาคเอกชนจัดการฝึกอบรมแรงงานอุตสาหกรรม 6,000 คน มากกว่า 40 คอร์สด้าน Automation อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ เพื่อเคลื่อนย้ายแรงงานที่ตกงานหรือเสี่ยงตกงานในอุตสาหกรรมเก่ามายังอุตสาหกรรมแห่งอนาคต 

นอกจากโครงการที่ปรับแรงงานให้เข้ากับโครงสร้างใหม่ ยังมีโครงการหนึ่งโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ของบประมาณกว่า 1.99 พันล้านบาท ในการฝึกอบรมนักศึกษาจบใหม่ที่อาจจะมีทักษะพื้นฐานด้านดิจิทัลไม่เพียงพอหรือไม่ตรงกับความต้องการของตลาด 50,000 คน เป็นเวลา 3 เดือน และมีเงินให้ผู้เข้าร่วมโครงการ เดือนละ 10,000 บาท ผู้เข้าร่วมสามารถเลือกอบรมได้อย่างน้อย 2 ใน 4 หลักสูตร ได้แก่ (1) การสร้างคอนเทนท์ออนไลน์ (2) การจัดการข้อมูลเพื่อทำ Big Data (3) การตลาดออนไลน์ และ (4) การค้าขายออนไลน์ หลังการฝึกจะมีการทำจับคู่หางาน (job matching) เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถได้คนที่มีทักษะตรงกับความต้องการ โดยคาดว่าการจับคู่หางานนี้น่าจะทำภายใต้แพลตฟอร์ม “ไทยมีงานทำ” ทั้งนี้ตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการคือ ผู้ผ่านหลักสูตร 5,000 คน สามารถพัฒนาเป็นผู้ประกอบการด้านดิจิทัลได้ และ อีก 15,000 คน ได้รับการจ้างงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจดิจิทัล ทั้งสองโครงการนี้มีจุดเด่นร่วมกันคือมีความชัดเจนว่าใครคือกลุ่มเป้าหมายอันได้แก่ กลุ่มแรงงานที่ถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีหรืออยู่ในกำลังการผลิตส่วนเกิน และกลุ่มบัณฑิตจบใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่นำเสนอในหัวข้อก่อนหน้า และยังเป็นการพัฒนาทักษะที่ยึดโยงกับความต้องการของตลาดแรงงานหลังโควิด-19 

อีกโครงการที่มุ่งเน้นไปยังนักศึกษาจบใหม่คือ โครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐและเอกชน (Co-payment) โดยกระทรวงแรงงาน ซึ่งรัฐบาลช่วยเอกชนและนักศึกษาจบใหม่ผ่านการสนับสนุนค่าจ้าง 50% สำหรับนักศึกษาจบใหม่ ตามวุฒิการศึกษา สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาทต่อเดือนต่อคน ตลอดระยะเวลาการจ้าง 1 ปี (ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2564) โครงการนี้มีอัตรารองรับที่ 260,000 คน ข้อมูล ณ วันที่ 29 กันยายน พบว่ามีการรับแจ้งจากนายจ้างแล้ว 78,855 อัตรา จากนายจ้าง 1,048 ราย

แม้ทั้งสามโครงการจะพยายามส่งเสริมการจ้างงานแต่อาจจะยังไม่เพียงพอ เพราะตัวเลขพนักงานโรงงานที่ตกงานและเด็กจบใหม่ที่ไม่สามารถมางานทำได้ สูงกว่าจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการตั้งเป้าไว้เกือบเท่าตัว เช่น นักศึกษาจบใหม่ปีการศึกษา 2563 จำนวน 500,000 สุ่มเสี่ยงที่จะเป็นผู้ว่างงาน ในขณะที่สองโครงการท้ายรับสมัครผู้เข้าร่วมประมาณ 300,000 ราย หากนับจำนวนผู้ว่างงานและจำนวนผู้ทำงาน 0 ชั่วโมง ในไตรมาส 2 ปี 2563 จะเป็นจำนวน 3.27 ล้านคน ซึ่งโครงการต่าง ๆ อาจจะดูดซับได้ไม่ทันท่วงทีก่อให้เกิดผลในระยะยาวต่อไปได้

นโยบายอีกด้านที่ควรเร่งดำเนินการ คือการลดผลกระทบต่อครัวเรือนรายได้น้อยและผลกระทบข้ามรุ่น ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าวิกฤตโควิดสามารถส่งผลกระทบสู่คนรุ่นลูกหลานผ่านการลงทุนที่ลดลงด้านการศึกษาและคุณภาพโภชนาการได้ ดังนั้นรัฐควรปรับปรุงนโยบายการคุ้มครองทางสังคมให้มีความครอบคลุมและเพียงพอมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ระบบประกันสังคมที่ดูแลภาวะว่างงานของแรงงานนอกระบบไม่ได้ เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดที่ยังไม่ถ้วนหน้า และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ตกหล่นคนยากจนที่แท้จริง ฯลฯ โครงสร้างเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขเพื่อที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังในยามเกิดวิกฤต และสร้างการเติบโตอย่างทั่วถึง (inclusive growth) ในอนาคตทั้งระหว่างและหลังวิกฤติโควิดได้ 

หมายเหตุ: บทความนี้เป็นหนึ่งในผลงานโครงการศึกษาผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19: กลไกการรับมือและมาตรการช่วยเหลือ โดยการสนับสนุนของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ภายใต้แผนงาน economic and social monitor เพื่อการจัดทำรายงานสถานการณ์และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โดยใช้ข้อมูลการสำรวจจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

PLEX MES ก้าวสู่อนาคต ยกระดับอุตสาหกรรมการผลิต ด้วย Smart Manufacturing Solutions

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา วงการอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ด้วยการแนะนำ PLEX MES โซลูชันที่เปรียบเสมือน "สมองดิจิทัล" สำหรับโรงงานยุคใหม่ ระบบนี้ถูกออกแบบ...

Responsive image

ทีทีบี คว้ารางวัลธนาคารที่ดีที่สุดเพื่อลูกค้าธุรกิจ Thailand Best Bank for Corporates

ทีเอ็มบีธนชาต (ttb) คว้ารางวัล Thailand Best Bank for Corporates จาก Euromoney Awards 2024 ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการสนับสนุนธุรกิจไทยด้วยโซลูชันดิจิทัลและความยั่งยืนผ่านกรอบ B+ESG พร...

Responsive image

AstraZeneca รับรางวัล Most Innovative Company จาก BCCT จากความมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรม AI ด้านสุขภาพ

แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) เข้ารับรางวัล Most Innovative Company (รางวัลบริษัทยอดเยี่ยมด้านนวัตกรรม) จาก สภาหอการค้าอังกฤษแห่งประเทศไทย ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของบริษัทในการเป็นผู...